ชนเผ่ากะเหรี่ยง-กรูโบ วิถีคน วิถีป่า

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/04/2008
ที่มา: 
http://www.karencenter.com/

วิถีคน วิถีป่า
'กรูโบ' หมู่บ้านชายขอบ ที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญในเมือง แต่ในชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ มีเรื่องราว และชีวิตผู้คน ที่ใช้ชีวิตกันอย่างเรียบง่าย ตามอัตภาพ เรียนรู้การพึ่งตนเอง และการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติ ที่เปลี่ยนแปลงไป ชีวิตและวัฒนธรรมของคนที่นี้เป็นอย่างไร กิ่งอ้อ เล่าฮง มีรายงาน

ฤดูร้อนปีนี้บ้านของ ตาเนเต๊อะ และ ยายมะยานิ ยังไม่เปลี่ยนหลังคาที่มุงด้วยใบตองตึง แม้ว่าหลายวันที่แล้วพ่อเฒ่าจะออกไปเก็บใบไม้ที่ว่านี้มาเย็บเป็นตับยาวๆ เพื่อเตรียมรอเปลี่ยนก่อนฝนจะลง ในหมู่บ้านแห่งนี้แต่เดิมไม่ใช่ถิ่นอาศัยของคนกะเหรี่ยงมาก่อน หากเป็นที่อยู่ของชาวมอญที่อพยพหนีสงครามมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ไม่เพียงเท่านั้น 'กรูโบ' หมู่บ้านเล็กกลางป่าแห่งนี้เคยเป็นแหล่งหลบภัยของกลุ่มนักศึกษายุค 14 ตุลาในอดีตอีกด้วย

'ตาเกิดที่นี่ หมู่บ้านนี้เดิมชื่อ เกริงโบ เป็นภาษามอญ แปลว่า ห้วยหวาย ปู่ย่าตายายเล่าให้ฟังว่า เมื่อ 200 ปีที่แล้ว เคยมีคนมอญอาศัยอยู่ แล้วก็มีต้นหวายขึ้นอยู่ตามลำห้วยเยอะแยะ ทีนี้พอมีสงคราม คนกะเหรี่ยงอพยพเข้ามา คนมอญเลยหนีร่นไปอยู่หมู่บ้านอื่น ตั้งแต่นั้นมากะเหรี่ยงก็อยู่มาตลอด ไม่ย้ายไปไหน' ผู้เฒ่ากะเหรี่ยงวัย 73 ย้อนคำบอกเล่าบรรพบุรุษ

 สมัยรุ่นหนุ่มนั้นการใช้ชีวิตถึงจะอยู่ในป่า และเรียนรู้การดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ แต่เมื่อเลือดหนุ่มพลุ่งพล่าน การท่องเที่ยวไปทั่วเขตพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่และในพม่าก็ไม่มีข้อยกเว้น จนกระทั่งได้พบกับมะยานิสาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านเลตองคุ ชีวิตพเนจรของหนุ่มเนเต๊อะจึงหยุดลงที่นี่  ครอบครัวของสองตายายอยู่เพียงลำพัง ยายมะยานิ เคยมีลูกถึง 7 คน แต่หลังจากคลอดออกมาแล้วทุกคนเสียชีวิตหมด เนื่องจากอยู่ในป่าไม่มียาไม่มีหมอ โดยส่วนใหญ่เสียชีวิต เพราะไข้มาลาเรีย ตาเล่าว่า ยุคนั้นยังไม่รู้สาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วย หากมีคนตายก็มักจะคิดว่าเป็นการกระทำของผีป่ามากกว่า เพราะการเดินทางจากหมู่บ้านไปสู่เมืองค่อนข้างจะลำบาก เฉพาะใช้เวลาเดินทางระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้านยังต้องใช้เวลานานมากกว่า 3 วันขึ้นไป  ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนซึ่งมีการปลูกข้าวไร่ด้วยแล้ว การเดินทางออกจากหมู่บ้านจึงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึง ส่วนสิ่งของจำเป็นที่ต้องใช้ในการยังชีพนั้น กะเหรี่ยงส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในป่าก็ใช้ของจากป่า ไม่ว่าจะเป็นปลา พืชผักต่างๆ แต่สิ่งที่ถือว่าขาดไม่ได้ นอกเหนือจากมีดพร้าจอบเสียมแล้ว ก็เป็นพวก เกลือ ผงชูรส และกะปิ

                'พวกพ่อค้าจะเข้ามาในหมู่บ้าน เอาเกลือมาแลกพริก แล้วก็ของใช้ สมัยก่อนที่ยังไม่ขุดถนน ก็เดินมาตามเส้นทางเดินป่า พอเขาขุดถนนแล้วรถก็เข้ามาถึงหมู่บ้านได้ แต่สมัยที่ตายังหนุ่มๆ จะไปไหนมาไหนก็ต้องเดินอย่างเดียว' ตาเนเต๊อะ เล่าอย่างอารมณ์ดี

                'ถนนขุด' ที่เกิดจากฝีมือของคนกะเหรี่ยงนั้น เป็นเส้นทางลาดชันที่ขรุขระเต็มไปด้วยก้อนหินแข็งๆ มีระยะทางเพียง 4 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ชาวบ้านใช้เวลานานหลายปีทีเดียวกว่าจะสามารถใช้งานได้ ตาบอกว่า เหตุที่ชาวบ้านจำเป็นต้องลงมือขุดเส้นทางรถวิ่งนั้นก็เพื่อความสะดวกในการเดินทางของชาวบ้านในการติดต่อกับทางอำเภอ ซึ่งตามปกติแล้ววิถีชาวบ้านที่หมู่บ้านกรูโบมักจะไม่ค่อยเข้าไปในเมืองบ่อยนัก

                น่อมื่อตุ๊ กาญจนเจริญชัย หลานสาววัย 34 ปี บอกว่า ชีวิตในป่านั้นอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงิน หิวก็หาปลา ผัก ในลำห้วย ข้าวไร่ที่ปลูกในแต่ละปีก็พอเพียงกับการบริโภค มีพันธุ์ข้าวให้เลือกปลูกเลือกกินหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่เรียกว่า เบ๊อเท่อ บูบิอาเจ่ะ และอื่นๆ ซึ่งพันธุ์ข้าวพวกนี้จะมีรสชาติและความนิ่มต่างกันไป
'พอทำข้าวไร่เสร็จใช่ไหม เวลาจะกะเทาะเปลือกออก เราก็เอาไปตำที่ใกล้ๆ ลำห้วย คนในหมู่บ้านนี้ไม่ต้องซื้อข้าว แต่ละปีทำข้าวพอกิน ไม่มีหนี้สินก็พอแล้ว 'น่อมื่อตุ๊ เล่าด้วยน้ำเสียงท้องถิ่น

'ครกตำข้าว' ที่กะเหรี่ยงสาวลูกสองกล่าวถึงนั้น หมายถึงการนำไม้แดง หรือไม้สัก ซึ่งปัจจุบันเป็นไม้ล้มในป่า แล้วนำมาตัดเป็นท่อนสี่เหลี่ยมหัวท้าย จากนั้นก็จะขุดให้ลึกเป็นหลุมลึกๆ พอที่จะใส่ข้าวเปลือกลงไปได้ แล้วนำไปฝังในดินใกล้ๆ กับลำห้วย เวลาตำก็จะใช้แรงเหวี่ยงของพลังน้ำโดยมีกังหันทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ท่อนไม้ลงไปทุบข้าวในหลุม โดยตลอดระยะลำห้วยแม่จันทร์จะมีครกตำข้าวฝังอยู่แทบทุกจุด และจะมีชาวบ้านผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนใช้ประโยชน์อย่างไม่ขาดระยะ
น่อมื่อตุ๊ เล่าว่า ทุกครอบครัวในหมู่บ้านจะปลูกข้าวเพื่อไว้กินอย่างเดียว และจะไม่ขายแม้ว่าจะมีเหลือ ยกเว้นพริกกะเหรี่ยง ซึ่งมักจะมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อในช่วงฤดูแล้ง

'อยู่กับป่าก็ต้องพึ่งป่าใช่ไหม ...รู้มั้ยว่า เขตที่เราอาศัย อยู่ในเขตมรดกโลกป่าทุ่งใหญ่นะ' เธอบอกพร้อมทั้งตั้งคำถาม
ก่อนที่จะพูดต่อว่า ในช่วงที่เธอยังเด็กในหมุ่บ้านแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก ในลำห้วยมีปลาหลายชนิด แต่เมื่อคนมากขึ้น มีการล่าสัตว์เพิ่มขึ้น ปลาก็ลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนกระทั่งชาวบ้านรู้สึกว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ธรรมชาติที่มีอยู่ก็จะหมดลง ดังนั้น ชาวบ้านในหมู่บ้านจึงพร้อมใจกันออกกฎห้ามจับปลาในลำห้วยขึ้นมาเป็นอาหารโดยเด็ดขาด หากใครฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงินจำนวน 500 บาท/ปลา 1 ตัว

               'เราสังเกตว่า หน้าร้อนมันจะร้อนขึ้นทุกๆ ปี เมื่อก่อนไม่เป็นยังงี้เลย ไม่เข้าใจว่าเกิดจากอะไร แต่คิดว่าเพราะคนเราใช้ประโยชน์จากป่ามากเกินไปหรือเปล่า ความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นชัด ก็คือ เมื่อก่อนนี้ เราใช้ชีวิตแบบพอกิน พออยู่ ไม่ต้องวิ่งแข่งกับใคร แต่ 2-3 ปีมานี้ พอมีเงินกองทุนหมู่บ้านเข้ามา เขาก็บอกให้เรากู้นะ แต่เราไม่เอา เพราะคิดว่าอยู่ในป่าไม่จำเป็น หลายๆ ครอบครัวที่เขายืมเงินก็ต้อง ทำไร่เพิ่ม แล้วก็ไถป่าเพิ่มขึ้น จะได้มีเงินเยอะๆ มาใช้คืนทักษิณ เป็นหนี้แล้วเราต้องวิ่งตลอด เราเลยไม่เอา เงินมันทำลายเราด้วย ทำลายป่าด้วย' มะซะนิ ให้ข้อคิดอย่างฉาดฉาน  'เงิน' แม้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต แต่สำหรับกะเหรี่ยงสาวคนนี้เธอบอกว่า คือ 'ของร้อน' หากเงินนั้นเป็นสิ่งที่หยิบยืม หรือเกิดจากการกู้หนี้ แต่ถ้าจะให้สิ่งดังกล่าวนี้เป็น 'ของเย็น' จะต้องหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองเท่านั้น หาได้เท่าไหร่ ก็ควรจะใช้เท่านั้น หรืออาจจะเก็บไว้บ้างยามจำเป็นต้องเข้าเมือง และหากอยู่ในป่าอย่างนี้ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน ไม่จำเป็นต้องซื้ออะไรก็ไม่มีประโยชน์

'อยู่อย่างนี้ก็หาปลากิน เราไม่หาใกล้ลำห้วยที่เขาหวงห้าม ก็ขึ้นไปหาไกลๆ ถ้ากินหมดวันนี้ แล้วลูกหลานจะกินอะไร เราว่าอยู่อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน ดูอย่างพ่อเฒ่าเนเต๊อะซิ แกอยู่สองคนตายาย ไม่เห็นเดือดร้อนอะไรเลย เราบอกจริงๆ เลยว่า อยู่ในป่าดีกว่าอยู่ในเมือง เราเคยเข้าไปในเมืองเพื่อทำบัตรประชาชนแล้ว ไม่ชอบเลย เราอยู่อย่างนี้สบายใจกว่า' เธอย้ำด้วยน้ำเสียงท้องถิ่นก่อนจะขอตัวเข้าร่วมพิธี 'ออเคว' กับญาติๆ พลางร้องบอกเมื่อถูกติดตามว่า 'อยากดูก็ขึ้นไปดูได้นะ'

               การทำพิธี 'ออเคว' ของกะเหรี่ยงลัทธิฤๅษีแห่งบ้านกรูโบนั้น หมายถึง การทำพิธีเลี้ยงผี ซึ่งทุกครอบครัวจะต้องจัดขึ้นทุกๆ ปี ถือเป็นการทำพิธีต่อจากการ 'ตุเว' หรือการ 'กินข้าวกลางนา' โดยเจ้าของบ้านจะต้องเตรียมเครื่องเซ่นสังเวย อันประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวสุก 1 ถ้วย ปลาปิ้ง น้ำเปล่า 1 แก้ว โดยหลังจากมีการสวดมนต์ร่วมกันแล้ว ก็จะมีการไหว้ต้นไม้และไหว้แม่พระธรณี ซึ่งทุกคนในครอบครัวไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนจะต้องขึ้นมารวมอยู่กันบนเรือน

                หลังจากทำพิธีเสร็จสิ้นทุกคนจะต้องมารับประทานอาหารร่วมกัน โดยให้แม่กินก่อนต่อจากนั้นก็จะเรียงตามลำดับ เมื่อกินเสร็จแล้ว ก็สวดมนต์ไหว้พระต่อ และระหว่างที่มีการทำพิธีนั้น จะต้องจุดไต้ตามไฟไว้ตลอดทั้งวันทั้งคืน ไม่มีการดับไฟ ยกเว้นเมื่อทำพิธีเสร็จแล้วจึงจะดับไฟได้   มะซะนิ พี่สาวของน่อมื่อตุ๊ เล่าให้ฟังว่า ในช่วงระหว่างที่มีการทำพิธีจะห้ามไม่ให้ทุกคนลงจากบ้านโดยเด็ดขาด หลังจากเสร็จแล้วจึงลงได้ แต่ทุกคนจะต้องมานอนรวมกันในบ้าน ห้ามกับไปนอนบ้านตัวเอง ลูกๆ หลานๆ ไม่ว่าจะอยู่หมู่บ้านไหน ใกล้หรือไกลจะต้องกลับมาทำพิธีร่วมกัน หากครอบครัวใดไม่ปฏิบัติจะทำให้การทำมาหากินฝืดเคือง ทำนา ทำไร่ ไม่ได้ผล

'ออ ภาษากะเหรี่ยง แปลว่า กิน ส่วน เคว หมายถึงการไหว้ เหมือนกับเป็นการเลี้ยงผี เราไม่รู้ว่าเหมือนประเพณีสงกรานต์ของคนไทยหรือเปล่าว่า เมื่อถึงเทศกาลลูกหลานจะกลับมาเยี่ยมบ้านทำบุญร่วมกัน แต่หมู่บ้านเราปฏิบัติมานานแล้ว เราเป็นกะเหรี่ยงดอย ไม่รู้ว่าพวกกะเหรี่ยงน้ำเขาทำหรือเปล่า 'มะซะนิ คนหนี้ท่วมแห่งบ้านกรูโบ บอก  ไม่เพียงการใช้ชีวิตที่ผูกพันอยู่กับป่าและวัฒนธรรมท้องถิ่นเท่านั้นที่ทำให้กะเหรี่ยงบ้านกรูโบรู้จักการ 'ถอย' และ 'ตอบโต้' เมื่อถูกวัฒนธรรมภายนอกเข้าไป ทุกวันนั้นเด็กๆ ในหมู่บ้านได้เรียนรู้โลกภายนอกผ่านเครื่องฉายวีซีดีของโรงเรียนที่มีอยู่เครื่องเดียว ทุกๆ คืน เด็กๆ และผู้ใหญ่จะมารวมกลุ่มกันดูภาพยนตร์เรื่องแล้วเรื่องเล่า ราวกับการชมมหรสพก็ไม่ปาน  ยะลาพ่อ คมศรีสวยคีรี เจ้าของบ้านที่ทำหน้าที่ฉายภาพยนตร์จากซีดี กล่าวว่า ในช่วงฤดูแล้งชาวบ้านไม่มีรายได้ ไม่ได้ออกไปไหน มีบางส่วนที่ออกไปทำไร่เพิ่ม เพราะว่าติดหนี้กองทุนหมู่บ้าน ส่วนตัวเองคงต้องรอให้ฝนลงก่อนจึงค่อยเริ่มไถไร่ อยู่ในป่าไม่มีทีวี มีแต่วีซีดี ที่ครูนำมาให้ใช้เป็นของส่วนรวม ตามปกติแล้วเด็กหนุ่มๆ มักจะชอบดู แต่คนเฒ่าคนแก่ไม่ชอบ และมักจะนิยมร้องเพลงและเล่น 'นาเด่ง' อยู่กับบ้านมากกว่า

' ผมอยากบอกว่า อยู่ในป่า ไม่มีเงินใช้ ก็ไม่เดือดร้อน อยู่ได้สบาย คนในหมู่บ้านถ้าจะใครจะปลูกบ้านสักหลังก็ไม่ต้องเสียค่าจ้าง ขอแรงกัน กินข้าวร่วมกัน เรากินอะไร เพื่อนก็กินอย่างนั้น ไม่มีเงินก็ดี ไม่ต้องใช้ ไม่ต้องฟุ่มเฟือยทำให้ลูกๆ อยากได้ในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์และไม่จำเป็น' ยะลาพ่อว่าอย่างนั้น
ในขณะที่ 'วีบึ' และ 'พอบึ' สองเด็กหนุ่มวัยรุ่น ซึ่งคนหนึ่งทำหน้าที่ช่างตัดผมและคนถูกตัด ยิ้มอย่างอายๆ เมื่อถูกถามว่าไปเรียนตัดผมรองทรงโดยใช้เพียงกรรไกรพลาสติกเล็กๆ เพียงอันเดียวมาจากไหน กัลบกหนุ่มบอกด้วยน้ำเสียงเหน่อๆ ว่า ไม่ได้เรียน แต่เห็นช่างในเมืองเขาตัดก็จำเอามา และก็ไม่ได้คิดค่าจ้าง เพราะเป็นเพื่อนกัน

'หล่อรึยังพี่ 'พอบึถามด้วยนำเสียงเหน่อๆ และขอกระจกจากเพื่อนชายที่นั่งรอคิวอยู่มาส่องซ้ายขวาจนช่างตัดรำคาญ ต้องร้องบอกเป็นภาษาถิ่นแปลว่า 'หยุดก่อนไม่ได้เหรอ เดี๋ยวผมแหว่งหรอก'

เด็กหนุ่มทั้งสองเล่าให้ฟังว่า เขาเคยเข้าเมืองเพียงครั้งเดียวเพื่อทำบัตรประชาชน หลังจากนั้นก็ไม่ได้กลับไปอีกเลย เพราะการเข้าเมืองแต่ละครั้งมีเงิน 500 บาทไม่พอ เพราะต้องเสียค่ารถกว่าจะเดินทางไปถึง อ.อุ้มผาง ไปกลับก็ 300 กว่าบาทแล้ว จึงไม่อยากออกไปไหน และอยู่ในป่าก็สบายกว่า เดินไปไหนก็ได้ ไม่ต้องกลัวหลง  เสียงเพลงจาก 'นาเด่ง' เครื่องดนตรีชิ้นเดียวของพ่อเฒ่าเนเต๊อะจบไปนานแล้ว แต่ชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านแห่งนี้ยังดำเนินต่อไป ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์เพียงเพื่อจะรักษาป่าและผู้คนให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ตามวิถีแห่งคนและวิถีแห่งป่าที่ดำเนินมาแต่ครั้งอดีต

จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ  21 เมษายน 2548

ที่มา :  กิ่งอ้อ เล่าฮง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก : http://www.karencenter.com/