ชนเผ่าในประเทศไทย ชนเผ่าอาข่า (Akha)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/04/2008
ที่มา: 
ศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชาวไทยภูเขา (ศอข .) http://www.contothailand.org/independentfile/INDEX.ASP

ชนเผ่าอาข่า (Akha)
อาข่าเป็นชาวเขาเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเรียกตนเองว่า อาข่า คนไทยและคนเมียนมาร์เรียกว่า อีก้อ หรือ ข่าก้อ ลาวและชนชาติอินโดจีนตอนเหนือเรียกอีก้อว่า โก๊ะ คนจีนเรียกว่า โวนี หรือ ฮานี ซึ่งหมายรวมถึงชนเผ่าที่พูดภาษาโลโลในมณฑลยูนนานทางตอนใต้ด้วย
นักมานุษยวิทยาและนักภาษาศาสตร์บางท่านได้จัดอีก้ออยู่ในตระกูลภาษา จีน-ธิเบต กลุ่มภาษาย่อยธิเบต-พม่า ในจีนตอนต้นพบว่าอาข่าอาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วไปปะปนกับชาวจีน หมู่บ้านอาข่าบางแห่งเป็นสังคมผสมระหว่างอาข่ากับจีน ทั้งนี้เกิดจากผู้ชายจีนไปแต่งงานกับหญิงสาวอาข่า

ประวัติความเป็นมาของอาข่ายังไม่สู้ กระจ่างนัก อย่างไรก็ตามการค้นคว้าศึกษาของนักมานุษยวิทยาหลายท่านได้ให้ข้อเท็จจริง ว่าอาข่ามีถิ่นฐานเดิมอยู่ตามบริเวณภูเขาสูงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและ ตะวันตกเฉียงใต้ของจีนมีอาข่าอยู่มากในมณฑลยูนนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคว้นสิบสองปันนาและไกวเจา แต่เดิมอาข่ามีอาณาจักรอิสระของตนเองอยู่บริเวณต้นแม่น้ำไท้ฮั้วสุย หรือแม่น้ำดอกท้อในแคว้นธิเบต ต่อมาถูกชนชาติอื่นรุกรานจนถอยร่นลงทางใต้ เข้าสู่มณฑลยูนนานและไกวเจา เป็นเวลานานหลายพันปีมาแล้ว และเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าครองแผ่นดินใหญ่จีน อาข่าและเผ่าอื่นๆ อีกหลายเผ่าได้อพยพมาทางตอนใต้อีกแล้วกระจัดกระจายเข้าไปยังแคว้นเชียงตุง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเมียนมาร์ในแคว้นหัวโขงภาคตะวันตกและ แคว้นพงสาลีภาคใต้ของลาว และในจังหวัดเชียงรายตอนเหนือสุดของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ในประเทศต่างๆ ดังนี้
*แคว้นเชียงตุงในรัฐฉานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเมืองเล็กบางเมืองตะวันออกเฉียงใต้ประเทศเมียนมาร์
*มณฑลไกวเจา และยูนนานตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
*แคว้นหัวโขงทางตะวันออกเฉียงเหนือ และแคว้นพงสาลีทางเหนือของประเทศลาว
*จังหวัดเชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ แพร่ กำแพงเพชร ตาก ของประเทศไทย
ชาวอาข่า จัดอยู่ในตระกูลภาษาธิเบต-พม่า กลุ่มโลโล เดิมมีอาณาจักรอิสระ อยู่บริเวณต้นน้ำไทฮั่วสุยในธิเบต ต่อมาเมื่อชนชาติอื่นรุกรานจึงอพยพถอยร่นลงมาทางใต้เข้าสู่ประเทศจีน พม่า ลาว และไทย โดยเข้ามาทางอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีมานี้ และกระจายตัวตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ และตาก
จำนวนประชากร ๖๘,๖๕๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๗.๔๓ ของจำนวนประชากรชาวเขาในประเทศไทย(ปี พ.ศ. ๒๕๔๕) อาข่ามี ๓ กลุ่มย่อย คือ
* อาข่าอุโล
* อาข่าโลบิซา
* อาข่าลอปือ หรือหม่อโป๊ะ

ลักษณะทางสังคม
ระบบครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวขยายฝ่ายชายหรือลูกชายเมื่อแต่งงาน แล้วจะนำภรรยาเข้ามาอยู่ในบ้านด้วย แต่การหลับนอนกับภรรยานั้นต้องหลับนอนในบ้านหลังเล็ก ซึ่งสร้างไว้หลังบ้านหลังใหญ่ หากมีลูกชายหลายคนก็มีบ้านหลังเล็กหลายหลัง เมื่อพ่อตายลูกชายคนโตจะเป็นหัวหน้าครอบครัวต่อไป
ลักษณะการตั้งหมู่บ้าน อาข่าชอบตั้งหมู่บ้านตามภูเขาที่มีระดับความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ ๓,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ ฟุต จากระดับน้ำทะเล ภูเขาหรือสันเขาที่เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านจะต้องมีพื้นที่กว้างขวาง เพียงพอสำหรับเด็กๆวิ่งเล่นและใช้เป็นที่ชุมนุมแหล่งน้ำมากนัก ปกติแหล่งน้ำจะอยู่ในหุบเขาใกล้หมู่บ้าน อีก้อไม่นิยมต่อรางน้ำเข้าหมู่บ้าน ทั้งนี้เพราเชื่อว่าผีน้ำอาจนำอันตรายต่างๆมาสู่ชาวบ้านได้
ในการเลือกตั้งหมู่บ้าน บุคคลสำคัญของหมู่บ้านประกอบด้วยหัวหน้าหมู่บ้าน หัวหน้าพิธีกรรมของหมู่บ้าน ช่างตีเหล็ก และผู้อาวุโสในหมู่บ้านจะเป็นผู้เลือกสถานที่ เมื่อตกลงใจเลือกสถานที่ได้แล้ว หัวหน้าพิธีกรรมจะทำการเสี่ยงทายขอที่จากผีเจ้าที่ โดยใช้ไข่ ๓ ฟอง จะตั้งหมู่บ้านบริเวณนั้นไม่ได้เพราะผีไม่อนุญาตต้องหาที่ตั้งหมู่บ้านใหม่

ระบบการปกครอง
สังคมอาข่าให้การยอมรับผู้อาวุโสมากในทุกกลุ่มบ้านจะมีกลุ่มผู้อาวุโส เป็นหลักในการปกครอง เป็นผู้ตัดสินปัญหาต่างๆของหมู่บ้านผู้ใหญ่บ้านซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก ทางราชการจะมีหน้าที่เป็นเพียงผู้ประสาน งานกับฝ่ายปกครองเท่านั้น หน่วยการปกครองของอาข่าก็คือหมู่บ้าน อาข่าไม่ชอบอยู่ภาใต้การปกครองของชนเผ่าอื่นๆ หมู่บ้านแต่ละแห่งมีหัวหน้าหมู่บ้าน เป็นผู้ปกครอง ซึ่งโดยทั่วไปจะมีหัวหน้าหมู่บ้าน ๑ คน เป็นผู้นำเรียกว่า “ หยื่อมะ” มีความรับผิดชอบทั้งด้านการปกครองและพิธีกรรมของชุมชน หัวหน้าหมู่บ้านนี้มีหน้าที่รักษากฎระเบียบ ทำการปรับไหมและตัดสินคดีร่วมกับคณะผู้อาวุโสของหมู่บ้านตำแหน่งหัวหน้า หมู่บ้านสืบเชื้อสายมาจากหัวหน้าหมู่บ้านคนก่อนๆเมื่อหัวหน้าหมู่บ้านตายลง ไป บุตรชายคนโตที่อยู่ในหมู่บ้านจะรับตำแหน่งแทน หากไม่มีบุตรชายดังกล่าวก็ให้ญาติที่ใกล้ชิดที่สุดรับตำแหน่งแทน การเป็นหัวหน้าหมู่บ้านโดยการสืบสกุลนี้ในทางปฏิบัติมิได้มีการผูกขาด หรือถือปฏิบัติเข้มงวดจนถือว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่ากรณีที่หัวหน้าตายลงโดยไม่มีทายาทสืบทอดตำแหน่งบุคคล ที่ไม่ได้สืบเชื้อสายหัวหน้ามาก่อนอาจได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน โดยการเสนอให้ชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นรับรองก่อนเพื่อเป็นหัวหน้าต่อไป
นอกจากหัวหน้าหมู่บ้านแล้วก็ยังมีคณะกรรมการหมู่บ้านตามแบบประเพณีซึ่ง ประกอบด้วยช่างตีเหล็ก ผู้ช่วยหัวหน้าหมู่บ้าน(ผู้ช่วยหยื่อมะ)หมอผีและบรรดาผู้อาวุโสชาย คณะกรรมการหมู่บ้านมีบทบาทมาก ในการตัดสินคดีความ การจัดพิธีกรรมประจำปี ตลอดจนการย้ายหมู่บ้าน
ปัจจุบันการปกครองท่องถิ่นของทางราชการได้เข้าไปสู่ชุมชนอาข่า ซึ่งจะมีผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับแต่งตั้งโดยทางอำเภอ อย่างไรก็ตาม การปกครองตามประเพณียังมีความสำคัญเช่นกัน
ลักษณะทางเศรษฐกิจ
อาชีพหลักของอาข่าคือการทำไร่ ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด เป็นพืชหลักเพื่อใช้บริโภค ปลูกถั่ว งา ข้าวฟ่าง และพืชส่งเสริมต่างๆ เป็นพืชเงินสด การเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพรองอีก้อเลี้ยงหมู และไก่ เพื่อประกอบพิธีกรรมและบริโภค เลี้ยงสุนัขไว้ล่าสัตว์และเฝ้าบ้านนอกจากนั้นก็เลี้ยงควาย ม้า แกะ ฯลฯ ไว้ขาย
การเกษตรถือเป็นอาชีพหลักของอาข่า ในอดีตทำการเกษตรเพื่อยังชีพเท่านั้น จะขายก็ต่อเมื่อเหลือจากการบริโภคแล้ว การเกษตรเป็นแบบไร่เลื่อนลอยเปลี่ยนที่ทำการเพาะปลูกไปเรื่อย เมื่อดินจืดก็จะหาที่เพาะปลูกใหม่ แต่ในปัจจุบันนี้อาข่าเปลี่ยนจากการทำไร่เลื่อนลอยมาเป็นการทำไร่แบบหมุน เวียนมากขึ้น ทั้งนี้เพราะพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีน้อย ประชากรเพิ่มขึ้น แต่ที่ดินมีอยู่อย่างจำกัด ครอบครัวหนึ่งๆ อาจจะมีที่ดินในครอบครองประมาณ ๒-๓ แปลงเพ่อหมุนเวียนในการปลูกข้าวไร่ นอกจากการปลูกข้าวไร่แล้วอาชีพรองลงมาคือการเลี้ยงสัตว์ รับจ้างและหาของป่าขาย ในฤดูแล้ง อาข่านำต้นอ้อไม้กวาดมาขายให้แก่คนพื้นที่ราบ ซึ่งปีหนึ่งๆทำรายได้ให้แก่พวกเขาเป็นจำนวนไม่น้อย อาข่ามีนิสัยขยันขันแข็งในการทำงาน หนักเอาเบาสู้ สังคมเปลี่ยนแปลง ทำให้คนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวออกจากบ้านไปทำงานรับจ้างอยู่ในเมืองหรือรับ จ้างคนไทยทำการเกษตรกันมาก โดยทั่วไป มีฐานะพอมีพอกิน ผู้ที่ยากจนจริงๆ มักจะเป็นพวกติดยาเสพติด หรือเป็นคนพิการหรือติดเชื้อเอดส์
ระบบความเชื่อ
อาข่ามีความเชื่อและนับถือผีเหมือนชาวเขาเผ่าอื่นๆ ในรอบปีหนึ่งๆอีก้อมีพิธีกรรมที่สำคัญ ได้แก่ พิธีปีใหม่ โล้ชิงช้า พิธีเลี้ยงผีหมู่บ้าน พิธีเลี้ยงผีบ่อน้ำ พิธียะอุผิ พิธีหุ่มหมี้ พิธีส่งผี พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ฯลฯเนื่องจากอาข่ามีความเชื่อเรื่องผี และสิ่งเร้นลับในธรรมชาติ จึงต้องคอยระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อสิ่งกังกล่าว ดังนั้นก่อนทำสิ่งใดอาข่าจุตรวจดูโชคลางเสียก่อน บางทีก็มีการเสี่ยงทาย บางทีก็ถือเอาปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติว่าเป็นการบอกลางดีลาง ร้าย
อาข่านับถือผีและผีบรรพบุรุษซึ่งถือว่าเป็นผีที่ดีทีสุด ทุกครัวเรือนจะมีหิ้งผีบรรพบุรุษไว้เซ่นไหว้ปีละ ๙ ครั้ง รองลงมาได้แก่ผีใหญ่ซึ่งถือว่าเป็นหัวหน้าผีทั้งปวง และเป็นตนเดียวที่อยู่บนสวรรค์มีหน้าที่ดูแลและความทุกข์ให้แก่อาข่า
พิธีกรรมของชุมชนมีอยู่ด้วยกัน ๙ พิธีคือ
* พิธีขึ้นปีใหม่ จัดขึ้นในเดือนธันวาคมใช้เวลา ๔ วัน
* พิธีทุ่มมี้ เป็นพิธีเกี่ยวกับการเกษตร มีในราวปลายเดือนเมษายนก่อนลงมือทำไร่
* พิธีทำประตูหมู่บ้าน ทำประตูหมู่บ้านทุกๆปีเพื่อระลึกถึง “ สุมิโอ” บรรพบุรุษของอาข่า มีขึ้นราวกลางเดือนเมษายนใช้เวลา ๒ วัน
* พิธียะอุผิ เป็นพิธีบวงสรวงผีใหญ่จัดขึ้นราวๆ ปลายเดือนเมษายนใช้เวลา ๓ วัน
* พิธีเลี้ยงผีบ่อน้ำ เป็นพิธีเซ่นบวงสรวงบ่อน้ำประจำหมู่บ้านเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชไร่จัดให้มีขึ้นในเดือนเมษายนก่อนลงมือทำไร่
* พิธีโล้ชิงช้า พิธีนี้จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงเทพธิดาผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พืชผล ที่กำลังงอกงามในไร่จัดให้มีขึ้นรางเดือนสิงหาคม-กันยายน
* พิธีกินข้าวใหม่ จัดขึ้นเพื่อฉลองรวงข้าวสุกและขอบคุณต่อผีไร่ จัดขึ้นราวเดือนตุลาคม
* พิธีส่งผีเมื่อสินฤดูฝนของทุกๆปี ราวๆปลายเดือนตุลาคม เมื่อว่างจากงานในไร่ จะทำพิธีไล่ผีออกจากหมู่บ้าน ผีเหล่านี้อาจจะมากับน้ำฝนเมื่อสิ้นฤดูฝนแล้วจะถูกขับไล่ออกไปจากหมู่บ้าน พร้อมๆกับฤดูฝนที่กำลังจะหมดไป
* พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ แม้ว่าจะมีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษทุกครั้งที่มีการเลี้ยงผีอย่างอื่นแล้วก็ตาม แต่ยังมีพิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพบุรุษอีกครั้งหนึ่งหลังจากปีใหม่ ซึ่งจะมีขึ้นราวๆ ต้นเดือนมกราคมของทุกปี


อ้างอิงข้อมูลจาก http://www.contothailand.org/independentfile/INDEX.ASP