ชนเผ่าในประเทศไทย ชนเผ่าอิ้วเมี่ยน (Iu Mien)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/04/2008
ที่มา: 
ศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชาวไทยภูเขา (ศอข .) http://www.contothailand.org/independentfile/INDEX.ASP

ชนเผ่าอิ้วเมี่ยน (Iu Mien)

            เมี่ยน ( เย้า) ได้รับการจัดให้อยู่ในพวกมงโกลอยด์ คือ เป็นชาวเขาสายจีน- ธิเบต ในกลุ่มจีนเดิม เรียกตนเองว่า " เมี่ยน" (MIEN) หรือ " อิ้วเมี่ยน" (IU MIEN) มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศจีนตอนใต้ แถบมณฑลกวางสี กวางเจา และยูนนาน เมี่ยนที่เข้ามาในประเทศไทยสันนิษฐานว่าอพยพมาจากประเทศจีน และอพยพลงมาเรื่อย ๆ โดยเข้ามาในลาว ( ราว พ. ศ. ๒๓๙๓) และพม่าก่อน แล้วจึงอพยพเข้ามาในประเทศไทย ในส่วนนี้ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า เมี่ยน ( เย้า) เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อไหร่ คาดว่าประมาณราว พ. ศ. ๒๔๓๓ หรือประมาณเมื่อ ๑๐๐ ปีเศษ ที่ผ่านมา( อ้างจาก สายเมือง, ๒๕๒๙, อ้างจาก ขจัดภัย, ๒๕๒๘, อ้างจาก วนัช, ๒๕๒๘, หน้า ๑ ( เอกสารโรเนียว)

 

 

โครงสร้างการปกครอง
ชาวเมี่ยนมีผู้นำทางวัฒนธรรม เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ เทียบเท่ากับผู้ใหญ่บ้าน เมี่ยนเรียกว่า " ล่างเจี๊ยว " คอยดูแลความประพฤติของชาวบ้าน คอยส่งเสริมให้เกิดความรักใคร่สามัคคี รู้จักประนีประนอม เป็นผู้ให้ความเป็นธรรม คอยไกล่เกลี่ยเวลาที่เกิดกรณีพิพาท หรือมีเรื่องบาดหมาง โดยใช้กฎและระเบียบของสังคมชาวเมี่ยน ตามจารีตประเพณีเป็นเกณฑ์ตัดสิน คล้ายกับเป็นผู้รักษากฎระเบียบการอยู่ร่วมกันของสังคม ( ศูนย์ศิลปชนแห่งประเทศไทยและคณะ, ๒๕๓๕, หน้า ๑๐๔- ๑๐๕)
โครงสร้างทางสังคม


  • ครอบครัว

ระบบครอบครัวของชาวเมี่ยนมีทั้งครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย โดยปกติแล้ว ครอบครัวขยายนั้นจะขยายทางฝ่ายผู้ชาย คือ บุตรชายแต่งงานก็จะนำภรรยามาอยู่บ้าน ส่วนบุตรสาวเมื่อแต่งงานแล้ว ก็ต้องไปอยู่บ้านของฝ่ายชาย จะมีในกรณีที่บ้านของฝ่ายหญิงมีลูกสาวคนเดียว เมื่อแต่งงานกันฝ่ายชายต้องมาอยู่ที่บ้านภรรยา                                                     เมื่อมีลูกก็ต้องใช้ตระกูลและนับถือผีบรรพบุรุษของฝ่ายหญิง เนื่องจากทางฝ่ายหญิงไม่มีผู้สืบตระกูลและเลี้ยงดูพ่อแม่ ในกรณีเช่นนี้ฝ่ายชายไม่ต้องจ่ายค่าสินสอด และต้องอยู่เลี้ยงดูพ่อแม่ของภรรยาตลอดไป


  • การแต่งงาน

หญิงชายมีอิสระในการเลือกคู่ โดยใช้ความรักและความเหมาะสมเป็นหลักใหญ่ ไม่มีการบังคับแต่อย่างใด จะมีบ้างก็บางกรณีที่พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า เหมาะสมกันฝ่ายชายก็ขยันขันแข็ง ฝ่ายหญิงก็ขยันทำงาน อีกทั้งพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายเป็นเพื่อนกัน ในกรณีนี้ก็อาจจะให้ลูกแต่งงานกัน แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องถามความสมัครใจของลูกด้วย การแต่งงานของเมี่ยนแบ่งได้ ๒ แบบ คือ การแต่งงานเล็กและการแต่งงานใหญ่ การแต่งงานเล็กนั้นกระทำที่บ้านผู้หญิง ส่วนการแต่งงานใหญ่นั้นกระทำที่บ้านผู้ชาย มีการกินเลี้ยงกันถึง ๓ วัน ๓ คืน ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก เมื่อหญิงแต่งงานและลอดประตูผีออกไปแล้ว ถือว่าขาดจากการนับถือผีบรรพบุรุษของตนแล้ว ต้องไปนับถือผีบรรพบุรุษของฝ่ายสามีต่อไป

ค่านิยมทางสังคมบางอย่าง

การซื้อเด็กเผ่าอื่นมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ทั้งนี้เพื่อเพิ่มแรงงานภายในครอบครัว เด็กที่ถูกซื้อมาเป็นบุตรบุญธรรม ก็จะได้รับการปฏิบัติเหมือนกับลูกคนหนึ่ง ไม่มีการแบ่งแยก จะใช้แซ่ตระกูลและนับถือผีบรรพบุรุษเดียวกัน เด็กที่ถูกซื้อมาเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อยร้อยละ ๑๐ จะซื้อมาจากพวก ม้ง อาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ ขมุ ลาว และไทย( ขจัดภัย อ้างแล้ว, ๒๕๒๘)


  • การกระจายตัว

จากการสำรวจเมื่อปี พ . ศ. ๒๕๓๘ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา และสภาความมั่นคงแห่งชาติ พบว่ามีจำนวนประชากรเมี่ยนที่อยู่ในประเทศไทยราว ๔๗, ๓๐๕ คน ไม่นับผู้ที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ อาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในเขตจังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง มีจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในจังหวัดที่อยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร เชียงใหม่ สุโขทัย และมีกระจายอยู่บ้างในเขตจังหวัดตาก และเพชรบูรณ์


  • ระบบเศรษฐกิจ

เดิมชาวเผ่าเมี่ยนยึดหลักการผลิตเพื่อยังชีพ แต่ปัจจุบันต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ต้องทำการผลิตเพื่อการค้า ได้แก่การผลิต ข้าวโพด ขิง พริก ถั่วแดง ฟักทอง มะขาม ลิ้นจี่ มะม่วง นอกจากพืชเศรษฐกิจดังกล่าวแล้ว ชาวเมี่ยนก็ยังต้องพึ่งตนเอง โดยการทำไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยตามที่เรียกและพลอยเข้าใจผิด ๆ มานาน กล่าวคือ จะใช้พื้นที่เพาะปลูกหมุนเวียน ๔ - ๕ ปีและไม่เกิน ๗ ปี เพื่อจะย้อนกลับมาทำที่เดิมอีก ( ทิ้งระยะนานเท่าใดขึ้นอยู่กับจำนวนครัวเรือน และบริเวณพื้นที่ของชุมชน) เพื่อให้ดินได้ฟื้นตัว สร้างความชุ่มชื้นและต้นไม้จะขึ้นมาอีกโดยทั่วไปแล้วเมื่อฟัน- เผาเสร็จ เมี่ยนจะปลูกพืชทำกินไม่เกิน ๒ ปีติดกัน จากนั้นจะย้ายแปลงหมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ( อ้างจาก จดหมายข่าว ชีวิตบนดอย ฉบับที่ ๖, ๒๕๓๔, หน้า ๑๔)


  • ลักษณะบ้าน

ลักษณะบ้านเรือนของเมี่ยนปัจจุบันแยกออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ
- ลักษณะแบบดั้งเดิม
- ลักษณะแบบปัจจุบัน

-ลักษณะแบบดั้งเดิม

จะปลูกบ้านคร่อมดิน ใช้พื้นดินเป็นพื้นบ้าน วัสดุที่ใช้ได้จากไม้ไผ่ ไม้สักและไม้เนื้อแข็ง ใช้สำหรับทำเสาเท่านั้น บ้านมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาอาจมุงด้วยหญ้าคา ไม้เกล็ด ไม้สัก ซึ่งนำมาถากเป็นแผ่นๆ ใบหวายและไม้ไผ่ ฝาบ้านอาจเป็นไม้เนื้ออ่อนแล้วถากให้เรียบ การกั้นฝาบ้านจะกั้นเป็นแนวตั้ง บางทีก็ใช้ไม้ไผ่สานขัดแตะ จะมุงหลังคาเทลาดต่ำลง เป็นการออกแบบป้องกันภายในบ้านจากลมและฝน พื้นโล่ง นอกจากที่สำหรับนอน จะมีทั้งพื้นและผนังกั้น ห้องต่างๆ จะถูกแบ่งด้วยไม้ไผ่สานขัดแตะ หรือไม้เนื้ออ่อนเป็นแผ่น จะมีประตูทางหน้าบ้าน หลังบ้าน และด้านข้างซึ่งถือกันว่า เป็นประตูผี ขนาดของบ้านขึ้นอยู่กับสมาชิกในครอบครัว

-ลักษณะแบบปัจจุบัน

จะมี ๒ ลักษณะ คือ จะปลูกยกพื้นเหมือนบ้านคนพื้นราบ วัสดุที่ใช้อาจเป็นไม้สักทั้งหลัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องหรือสังกะสี ออกแบบปลูกสร้างโดยช่างไม้ที่จ้างจากพื้นราบ
อีกลักษณะหนึ่ง ปลูกคร่อมดิน ซึ่งพัฒนามาจากบ้านแบบดั้งเดิม แต่ได้เปลี่ยนวัสดุในการปลูกสร้าง ซึ่งเป็นไม้ไผ่, ใบหวาย, หญ้าคา มาเป็น ไม้สักทั้งหลัง หลังคามุงกระเบื้องหรือสังกะสี ( อ้างจาก คู่มือการทำงานกับชาวเขา, กันยายน ๒๕๓๑, หน้า ๒- ๓)


  • ครอบครัวและเครือญาต


ครอบครัวของเมี่ยนนั้นส่วนมากจะเป็นครอบครัวขยาย คือ มีคู่สมรสในครอบครัวหลายคู่ เช่น ปู่ - ย่า พ่อ- แม่ ลูกชาย- ลูกสะใภ้ และหากครอบครัวใดมีลูกชายหลายคน ก็อาจจะมีคู่สมรสมากขึ้น สมาชิกในครอบครัวก็อาจจะมีตั้งแต่ ๒- ๒๐ คน ซึ่งประกอบด้วย ปู่ ย่า บิดา มารดา ลูกชาย ลูกสะใภ้ ลูกสาวที่ยังไม่แต่งงาน หลาน( ลูกของลูกชาย) ในครอบครัวก็จะมีหัวหน้าครอบครัว ทุกคนจะต้องเคารพเชื่อฟังหัวหน้าครอบครัว และแต่ละคนในครอบครัวก็จะเคารพกันตามศักดิ์ ให้ความเคารพแก่ผู้อาวุโส การนับญาติจะเกิดขึ้นทางฝ่ายชาย
ในแต่ละตระกูลจะมีรุ่นของตระกูล บางตระกูลมี ๔ รุ่น บางตระกูลก็มีถึง ๕ รุ่น การนับรุ่นจะนับตั้งแต่รุ่นแรกไปเรื่อยๆ จนครบ ๔ หรือ ๕ รุ่น ( ขึ้นอยู่กับแต่ละตระกูล) แล้วก็จะเวียนกลับมานับที่รุ่นแรกใหม่ เวียนไปเช่นนี้เรื่อยๆ หากต้องการทราบว่าคน ๆ นั้นเป็นญาติหรือไม่ ก็ต้องทราบก่อนว่ามาจากตระกูลไหน เมื่อทราบว่ามาจากตระกูลเดียวกัน นั่นก็หมายความว่าเป็นญาติกัน ก็มักจะถามต่อเพื่อให้ทราบว่าเป็นลูกของใคร การถามเช่นนี้จะทำให้ทราบว่าเป็นรุ่นไหน และเป็นญาติกันอย่างไร จะเรียกกันแบบไหน เช่น เป็นปู่ ลุง ป้า อา หลาน หรือรุ่นเดียวกัน


  • ศาสนา / ความเชื่อ

ชาวเมี่ยนมีความเชื่อในเรื่องของสิ่งเหนือธรรมชาติ สิ่งที่เมี่ยนนับถือ คือ เทวดา หรือ เทพและวิญญาณบรรพบุรุษ (Pantheism) เทพที่ชาวเมี่ยนนับถือและถือว่าสำคัญที่สุด มี ๑๘ องค์ด้วยกัน มีอำนาจลดหลั่นกันมาตามลำดับ ในจำนวน ๑๘ องค์นี้มีอยู่ ๓ องค์ที่ถือว่ามีอำนาจสูงสุด เรียกว่า " ฟามฌิง" หรือสามดาว เทพทั้ง ๑๘ องค์นี้ จะมีภาพวาดซึ่งถือเสมือนเป็นเสื้อของเทพ เวลาอัญเชิญมาในพิธีก็จะสถิตในรูปวาด รูปวาดนี้ตามปกติจะม้วนห่อไว้ในห่อผ้าหรือกรุ ซึ่งเรียกว่า " เมี้ยนคับ" จะเอาออกมาก็เฉพาะในพิธีสำคัญๆ เท่านั้น เช่น พิธีบวช หรือพิธีศพ
ผีที่ต้องเซ่นไหว้เป็นประจำ ได้แก่ ผีเรือนหรือวิญญาณบรรพบุรุษ จะทำแท่นบูชาไว้ในบ้านติดฝาผนังปิดด้วยกระดาษ ไม้ไผ่ ไม่มีรูปปั้นหรือรูปภาพอย่างใด นอกจากมีกระถางธูปเล็กๆ ถ้วยข้าว ถ้วยน้ำ
ในหมู่บ้านของเมี่ยนจะมีหมอผี หรือหมอศาสนาในการประกอบพิธีกรรม เรียกว่า " ซิมเมี้ยนเมี่ยน" ประกอบพิธีกรรมต่างๆ และทำหน้าที่หมอรักษาประจำหมู่บ้านไปด้วย เมี่ยนจะมีคำภีร์หรือตำราเขียนเป็นภาษาจีน มีไม้เสี่ยงทายคู่หนึ่ง มีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง ทำความเคารพแบบคนจีน   
คนเมี่ยนเชื่อว่าในร่างกายของคนเรามีขวัญอยู่ทั้งหมด ๑๑ ขวัญ ขวัญพวกนี้ชอบออกไปจากร่างกายคนเมื่อยามเจ็บป่วย ได้รับอันตรายหรือตกใจ การรักษาจำเป็นต้องเรียกขวัญกลับมา (ขจัดภัย อ้างแล้ว, ๒๕๒๘, หน้า ๖๙- ๗๐)


  • การแต่งกาย

เครื่องแต่งกายของชาวเมี่ยนในอดีต จะทำการผลิตขึ้นมาใช้เองตั้งแต่กระบวนการแรก คือ ปลูกฝ้าย ปั่นด้าย ทอผ้า และนำมาปักลวดลายก่อนเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย ผู้หญิงเมี่ยนทุกคนจะต้องหัดปักผ้าตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ พอเริ่มเป็นสาวรุ่นอายุ ๑๓ - ๑๔ ปี ก็จะปักลวดลายสำหรับตัวเอง แต่ละคนจะปักลวดลายอย่างประณีต

เครื่องแต่งกายของผู้หญิงเมี่ยน ประกอบด้วย
๑. กางเกง ( โหว)
กางเกงของผู้หญิงมีลักษณะคล้ายกางเกงขาก๊วย แต่จะปักด้วยลวดลายที่สวยงามมาก วิธีนุ่งก็คล้ายกับนุ่งกางเกงขาก๊วย บางทีก็อาจใช้สายผ้ารัดให้แน่อีกชั้นก่อนจะพันทับด้วยผ้ามัดเอว
๒. เสื้อ ( อลุย)
ตัวเสื้อเป็นสีดำยาวคลุมถึงเท้า ผ่าหน้าตลอด สาบเสื้อด้านในจะปักด้วยลวดลายรอบคอลงมาถึงเอว และติดด้วยไหมพรมสีแดงรอบคอจนถึง เอวเช่นกัน ตัวเสื้อชิ้นหน้าและชิ้นหลังจะแยกกัน โดยด้านข้างจะผ่าตั้งแต่ชายจนถึงเอวทั้งสองข้างและติดพู่สีแดง ส่วนด้านหลังเป็นผ้าผืนเดียวยาวคลุมส้นเท้า แขนยาว รอบปลายแขนจะขลิบด้วยผ้าสีขาว แดง ดำ และเดินด้วยด้ายที่สานขึ้นเองสีขาว - แดง ( อาจมีสีอื่นด้วย) กระดุมเสื้อจะทำด้วยเงินเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมทำที่เกี่ยวด้านใน เสื้อตัวหนึ่งจะใช้กระดุม ๑๒ อัน ส่วนมากจะติดเฉพาะเสื้อที่ใช้ในงานสำคัญๆ เท่านั้น โดยทั่วไปจะใช้เข็มกลัด
๓. ผ้าโพกศีรษะ ( ฆ่องเป่ว)
จะเป็นผ้าสีดำ มีความยาวประมาณ ๔ - ๕ วา กว้างประมาณ ๑ ฟุต ปลายผ้าทั้งสองข้างจะปักด้วยลวดลายสวยงาม การโพกศีรษะของเมี่ยนมี ๒ แบบ คือ แบบหนึ่งจะโพกแบบวนรอบๆ ศีรษะ แล้วปล่อยให้ชายผ้าที่มีลวดลายโผล่มาสองข้างซ้าย- ขวา ส่วนอีกแบบหนึ่งนั้น มีลักษณะคล้ายกากบาท จะไม่ปล่อยชายออกมาแต่จะมีการปักลวดลายเมื่อโพกศีรษะแล้วลายจะอยู่กลางหน้าผากพอดี
๔ . ผ้าพันเอว ( หละ ซิน)
จะมีลักษณะเช่นเดียวกับผ้าโพกศีรษะวิธีการนุ่ง จะสวมกางเกงก่อน แล้วโพกศีรษะ จากนั้นสวมเสื้อ แล้วพันด้วยผ้าพันเอว โดยมัดแล้วปล่อยชายทั้งสองข้างไว้ข้างหลัง ส่วนเสื้อสองแผ่นหน้าก็จะม้วนแล้วผูกเอวไว้ เพื่ออวดลวดลายที่สวยงามของกางเกง

เครื่องแต่งกายของผู้ชายเมี่ยน
ประกอบด้วย
๑. การเกง ( โหว)
กางเกงของผู้ชายมีลักษณะแบบกางเกงขาก๊วย ไม่ปักลวดลาย ใช้ผ้าสีดำ หรือสีกรม
๒. เสื้อ ( อลุย)
ตัวเสื้อจะเป็นผ้าทอสีดำหรือสีกรม แขนยาว ปลายแขนกุ้นด้วยผ้าสีขาว - แดง- ดำ เช่นเดียวกับชายเสื้อ มีกระเป๋า ๒ ข้างปักด้วยลวดลายตัวเสื้อผ่าคล้ายเสื้อคนจีน ใช้กระดิ่งเงินติดเป็นกระดุม


  • วิธีการนุ่ง

สวมกางเกงก่อน แล้วสวมเสื้อทับ ในสมัยก่อนผู้ชายก็โพกศีรษะด้วยเช่นกัน แต่ในปัจจุบันนี้ ไม่นิยมโพกกันแล้ว อาจเพราะยุ่งยากและไม่สะดวก


  • ภาษา

คำว่า " เย้า" ไม่มีในภาษาของเผ่า " เมี่ยน" เนื่องจากเป็นคำเรียกที่กำหนดโดยทางราชการ ซึ่งไม่เคยมีใครทราบที่มาอย่างแน่ชัด คำว่า " เมี่ยน" แปลว่า " คน" หรือ " มนุษย์" ภาษาเมี่ยนจัดอยู่ในกลุ่มภาษา จีน- ธิเบต ด้วยเหตุนี้                                                 ชาวเมี่ยนระดับอาวุโสจึงมักจะพูดภาษาจีนกลางได้ อ่านและเขียนภาษาจีนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ จะอ่านและเขียนตัวอักษรจีนได้อย่างวิจิตรไม่แพ้ชาวจีนที่มีการศึกษา หากกล่าวถึงภาษาพูดของเมี่ยนแล้ว จะเป็นคำโดด สามารถผันวรรณยุกต์ได้ครบทั้ง ๕ ระดับเสียง เวลาทำพิธีกรรมก็จะใช้ภาษาจีนโบราณ แต่อ่านออกเสียงเป็นภาษาเมี่ยน                         ปัจจุบันนี้มีบางส่วนใช้อักษรโรมัน หรือภาษาไทย เนื่องจากอิทธิพลของมิชชั่นนารีที่เข้าไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหมู่ชาวเขา ( ศูนย์ศิลปชนแห่งประเทศไทย และคณะ อ้างแล้ว, ๒๕๓๕, หน้า ๑๐๔)

 



อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.contothailand.org/independentfile/INDEX.ASP