ชนเผ่ากะเหรี่ยง-ไร่หมุนเวียนกะเหรี่ยง วิถีคนอยู่กับป่า

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/04/2008
ที่มา: 
http://www.karencenter.com/

ไร่หมุนเวียนกะเหรี่ยง วิถีคนอยู่กับป่า
ข่าวสด วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2548 ปีที่ 15 ฉบับที่ 5253
-ปิยะ จรบุรี
เมื่อย่างเข้าสู่เดือนมีนาคม-เมษายน อาจเป็นสัญญาณบอกถึงฤดูร้อน เป็นช่วงเวลาหยุดพักของชาวนาทั่วไป แต่สำหรับชาวกะเหรี่ยงแล้วถือเป็นวิถีแห่งการเริ่มต้นทำงาน ไร่ที่ปล่อยทิ้งร้างไว้มากกว่า 3-5 ปี ถึงเวลาเข้าไปถากถางอีกครั้ง เพราะเข้าสู่กระบวนการหาเลี้ยงด้วยอาชีพเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม  ฝนที่จะมาถึงช่วงปลายเดือนพฤษภาคม คือตัวเร่งชาวกะเหรี่ยงต้องรีบลงมือทำงาน เพราะระยะเวลาการทำไร่มีข้อจำกัดเพียงแค่หนึ่งปี
ไร่หมุนเวียน อาชีพหลักของกะเหรี่ยงที่สืบทอดมายาวนับร้อยปี ยังเป็นงานหลักหล่อเลี้ยงครอบครัวของชุมชนกะเหรี่ยงหลายแห่ง ที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-นเรศวร
"พวกเราอาศัยอยู่ในป่าทุ่งใหญ่มาตั้งแต่ก่อนมีกฎหมายป่าอนุรักษ์ด้วย และตลอดเวลาที่อยู่พวกเราก็ไม่เคยทำลายป่า แต่ตรงกันข้ามพวกเราพยายามเรียนรู้วิธีการที่จะดำรงชีพอยู่ในป่า และอาชีพหลักของพวกเราคือไร่หมุนเวียน ซึ่งถูกมองว่าทำลายป่านั้นความจริงไม่ใช่ เพราะวิถีชีวิตของเราต้องอาศัยป่า   "ขอบอกว่าไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย มันแตกต่างกัน"

นายไพบูลย์ ช่วยบำรุงษ์วงศ์ ผู้ใหญ่บ้านกองม่องทะ ต.ไล่โว่ อ.สังขละ จ.กาญจนบุรี เล่าถึงวิถีกะเหรี่ยง
ไร่หมุนเวียน คือการทำไร่ผสมผสาน โดยปลูกทั้งข้าว พริก และพืชผักหลายในชนิดลงบนแปลงบริเวณเชิงเขา เพราะพืชผักบางชนิดเป็นตัวล่อแมลงเพื่อเป็นอาหารของแมลงอีกชนิด ถือเป็นภูมิปัญญาของกะเหรี่ยงในเรื่องกำจัดแมลง และยังเป็นรักษาสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง เพราะไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง สำหรับผลผลิตส่วนใหญ่เก็บไว้ใช้บริโภคภายในครัวเรือน โดยเฉพาะข้าว ส่วนพริกและผักอื่นๆ อาจแบ่งขายบ้างตามสมควร  อย่างไรก็ตามคนพื้นราบและเจ้าหน้าที่ป่าไม้บางส่วนยังมองว่า ไร่หมุนเวียนคือไร่เลื่อนลอย และปลูกฝังกันแม้กระทั่งในตำราเรียนว่าไร่กะเหรี่ยงนั้นเป็นตัวการทำลายป่า

ผู้ใหญ่ไพบูลย์ บอกว่า เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะไร่หมุนเวียนคืออาชีพเดียว ดังนั้นกะเหรี่ยงจะไม่ทำลายต้นน้ำลำธารโดยเด็ดขาด
"การเลือกทำเลทำไร่นั้นมีข้อห้ามอยู่มากหลาย อาทิ ห้ามทำไร่ในเขตต้นน้ำหรือตาน้ำ ห้ามทำไร่ระหว่างสองฝั่งแม่น้ำ ห้ามทำไร่บนยอดเขา และเมื่อทำไร่เสร็จในปีนั้นแล้วต้องปล่อยทิ้งไว้ให้พื้นดินมีโอกาสฟื้นตัวอย่างน้อย 3 ปี"  ผู้ใหญ่บ้านกองม่องทะ บอกอีกว่า ในหมู่บ้านจะมีไร่อยู่หลายแปลง แต่ทุกแปลงเป็นของส่วนกลางโดยหมุนเวียนผลัดกันทำ และพื้นที่ที่ใช้มากน้อยแล้วแต่ขนาดครอบครัว แต่ส่วนมากราว 5 ไร่ หรือใช้ข้าว 2 ถัง โดยไร่หนึ่งทำแค่ปีเดียว จากนั้นปล่อยทิ้งไว้เป็นไร่ซากเวลาอย่างน้อย 3 ปี หรืออาจมากกว่านั้น เพื่อให้พื้นดินฟื้นตัว  เมื่อปล่อยทิ้งไว้ 3-5 ปี ไร่ซากซึ่งเคยใช้ทำไร่จะเป็นป่าที่ดูเหมือนสมบูรณ์ เมื่อกลับไปเผาไร่หักล้างถางป่าอีกครั้งจึงดูเหมือนทำลายป่า แต่ความจริงไม่ใช่เพราะนั่นคือไร่ซาก

"ที่สำคัญคือพวกเราไม่เคยบุกรุกพื้นที่เพิ่ม จะวนใช้พื้นที่ไร่ซากเดิมซึ่งบุกเบิกมาเป็นร้อยปี และต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในไร่เราจะไม่เผาหรือตัดโค่นเพื่อปล่อยไว้เป็นร่วมเงาและที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็ก แต่จะตัดโค่นต้นไม้เล็กและป่าไผ่เท่านั้น ไม่เคยบุกรุกป่าใหญ่หรือป่าดงดิบเลย

"เพราะเราถือว่าป่าใหญ่คือแหล่งกำเนิดของต้นน้ำ ตรงกันข้ามป่าที่ถูกบุกรุกทำลายล้วนเป็นน้ำมือของนายทุนและคนมีเงินที่ครอบครองเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบธรรม" ผู้ใหญ่บ้านชาวกะเหรี่ยง กล่าว

ขณะที่พี่เอิบ เชิงสะอาด หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-นเรศวร บอกว่า จากการทำงานคลุกคลีกับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่มานาน เข้าใจถึงวิถีทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นวิธีการทำไร่โดยให้คนอยู่กับป่าได้ แต่ต้องยอมรับมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ยังบุกรุกป่าเพิ่ม ซึ่งต้องว่ากันไปตามกฎหมาย
"ชาวกะเหรี่ยงมีกฎลงโทษกับคนที่บุกรุกป่าเพิ่มกันเองในหมู่บ้าน และทุกครั้งก่อนทำไร่ก็มีการประสานกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายการทำไร่หมุนเวียนให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทุกคนเข้าใจ เพราะเรื่องแบบนี้ถ้าไม่เคยเรียนรู้มาก่อนก็ยังคงเข้าใจว่าคนเหล่านี้ทำลายป่า    "ทำไร่หมุนเวียนไม่ใช่ทำลายป่า แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่กับป่า โดยไม่ทำลายป่า" พี่เอิบกล่าวทิ้งท้าย

แสงแดดยามเย็นผ่อนอุณหภูมิความร้อนลดลง หลายแห่งเผาและหักร้างถางไร่ซากเกือบเสร็จสิ้นแล้ว เพียงรอคอยให้เถ้าที่คุกรุ่นจากควันไฟแห้งสนิท จากนั้นรอฤดูฝนที่จะมาถึงพื้นที่ก็พร้อมเข้ากระบวนทำไร่หมุนเวียนเพื่อยังชีพต่อไปขณะที่ไร่ซากที่ผ่านการทำกินไปแล้วหลายไร่อยู่ในสภาพฟื้นตัว พื้นดินเหล่านั้นจะมีเวลาสะสมธาตุอาหารอีกหลายปีพอสมควรก่อนที่ถูกใช้ประโยชน์อีกครั้ง  ลำห้วยโยคีที่ไหลผ่านหมู่บ้านกะเหรี่ยงหลายแห่งในต.ไล่โว่ ยังมีน้ำไหลตลอดปี ยามเย็นจึงเป็นศูนย์รวมของคนหมู่บ้านได้มาพึ่งพา ชีวิตง่ายๆ แบบกะเหรี่ยงยังดำเนินไปตามวันเวลา

คือวิถีที่จะอยู่กับป่า โดยไม่ทำลายป่า


ที่มา :  ปิยะ จรบุรี
ข่าวสด วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2548 ปีที่ 15 ฉบับที่ 5253
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก : http://www.karencenter.com/