ชนเผ่ากะเหรี่ยง-ดูต้นไม้คายน้ำเรียนรู้วิถีคนดอย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/04/2008
ที่มา: 
http://www.karencenter.com/


ดูต้นไม้คายน้ำเรียนรู้วิถีคนดอย


ต.ห้วยห้อมตั้งอยู่บนดอยสูง ท่ามกลางธรรมชาติสวยสดงดงามของอ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน สภาพพื้นที่เป็นภูเขาที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของป่า เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่ไหลตลอดทั้งปี ชุมชนชาวเขาเผ่าปกากะญอยังคงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม มีภาษาพูดเป็นของตนเอง และดำรงวิถีชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว
เจดา เด่นธีรัตน์ ชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ เล่าว่า ที่ดอยห้วยห้อมมีแมกไม้นานาพันธุ์ขึ้นอยู่มากมาย บางต้นอายุนับร้อยปี ไม่ว่าจะเป็นต้นตะแบก ประดู่ สนภูเขาหลายร้อยต้นขึ้นอยู่กระจัดกระจายให้สัตว์ป่าได้พึ่งพาอาศัย ตั้งแต่เกิดมาพอจำความได้ก็ได้สัมผัสกับธรรมชาติ ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไมลำธารจึงมีน้ำไหลตลอดทั้งปี ทั้งๆ ที่เป็นช่วงหน้าแล้ง สังเกตและค้นคว้าอยู่หลายปี จึงพอรู้ได้ว่าช่วงหน้าแล้งบนดอยจะหนาว ต้นไม้จะเก็บกักน้ำค้างเอาไว้ในช่วงกลางคืน แล้วคายน้ำออกทางรากในเวลากลางวัน  คนที่อยู่สูงกว่าจะช่วยกันนำก้อนหินมากั้นเป็นคูเพื่อทำให้น้ำไหลช้าลง เพื่อการเก็บกักน้ำ จากนั้นนำกระบอกไม้ไผ่ทำเป็นท่อระบายน้ำ คนที่อยู่ต่ำกว่าก็จะทำกันแบบนี้ลงไปเลื่อยๆ จนน้ำไหลลงสู่หุบเขา เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้จะทำให้น้ำไหลทิ้งโดยไม่จำเป็น เมื่อถึงเวลาว่างจะช่วยกันเก็บใบไม้ออกจากบ่อน้ำ เพื่อป้องกันการอุดตัน  จากการมีน้ำอยู่ตลอดทั้งปี ความชุ่มชื้นของพื้นดิน ทำให้มีต้นไม้สมุนไพรเกิดขึ้นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นฟ้าทลายโจร ม้ากระทืบโรง เสลดพังพอน ฯลฯ ชาวบ้านจะไปหามาเก็บไว้รักษาโรค ไม่เคยได้ไปหาหมอในเมือง อีกอย่างพวกเราไม่มีบัตรประชาชน จึงไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร
นางศรีนวล คงดำรงศักดิ์ ชาวเขาเผ่าปกากะญอ เล่าว่า การประกอบอาชีพส่วนใหญ่จะปลูกข้าว ผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ เราจะปลูกข้าวช่วงเดือนพ.ค. โดยปลูกตามสันเขาพอได้อยู่ได้กิน ส่วนในแปลงข้าวจะปลูกผักควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นแตงกวา ถั่วฝักยาว แตงไทย ข้าวโพด ฯลฯ ไม่เคยใส่ปุ๋ยและขี้วัวขี้ควายพืชผักก็งาม นอกจากนี้แมลงต่างๆ ก็ไม่เคยรบกวน เรียกว่าเกษตรธรรมชาติ 100% ไม่มีสิ่งเจือปนและสารตกค้างใดๆ ส่วนคนที่ไม่มีที่นาปลูกข้าวก็เลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเป็ด ไก่ และวัว การเลี้ยงวัวจะเลี้ยงตามหุบเขา โดยปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ เพียงไล่ออกไปแล้วปล่อยทิ้งไว้ พอช่วงเวลาตอนเย็นมันก็จะกลับมาบ้านเอง ไม่ต้องไล่ต้อนให้เสียเวลา คนที่นี่มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันเสมอ บ้านไหนที่ไม่ได้ปลูกข้าว ปลูกผัก เพื่อนบ้านก็จะเอาสัตว์เลี้ยงไว้ไปแลกเปลี่ยน ไม่ได้ทำเพื่อขาย แต่บ้านไหนไม่ได้ปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ก็จะจักสานจำพวกกระติบข้าว หวด ตะกร้า ฯลฯ เพื่อเอาไปแลกข้าว แลกปลา ที่เหลือนำมาใช้เอง
ด้านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจะทอใช้เอง โดยทำจากฝ้ายที่ปลูกตามเขาแซมไปกับต้นไม้ที่เกิดตามธรรมชาติ ใช้สีธรรมชาติย้อม ใบห้อมจะเป็นสีเขียว ต้นยอป่าออกสีแดงอมน้ำตาล ขนุนหรือขมิ้นออกสีเหลืองอ่อนๆ นำมาต้มกลั่นเอาแต่น้ำ แล้วนำฝ้ายที่ปั่นเสร็จลงไปย้อม จะได้สีสันสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า นอกจากนี้การแต่งกายยังมีเครื่องเงินประดับตามตัว เด็กหญิงนิยมใส่เสื้อที่มีลวดลายของธรรมชาติ กระโปรงดำ สวมถุงเท้ายาวลวดลายงามตาเหมือนปล้องอ้อยสูงถึงหัวเข่า ส่วนหญิงสาวจะสวมใส่เสื้อผ้าขาวทั้งตัว บ่งบอกว่ายังไม่มีใครตีตราจอง ถึงแม้ใครจะว่าชาวเขางมงาย นับถือผีสางนางไม้ แต่เราไม่เคยทำลายธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชีวิต ไม่เคยคิดเนรคุณธรรมชาติ มีแต่ตอบแทนพระคุณที่ให้อยู่อาศัย ธรรมชาติคือคุณครูชั้นดีที่มีแต่ให้ เราจึงรักษาไว้อย่าให้ใครมาทำลาย ถึงเวลาที่ต้องช่วยกัน ปกป้องและรักษา
อย่าให้คนเพียงไม่กี่คนเข้ามาทำลาย

ที่มา :  ข่าวสด 13 มีนาคม 2548 หน้า 5

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก : http://www.karencenter.com/