ชนเผ่ากะเหรี่ยง-เรียนทากับป่าความรู้

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/04/2008
ที่มา: 
http://www.karencenter.com/

เรียน 'ทา' กับป่าความรู้

หน่อเกเลอิ
“ตาโดะเถอะเก อะกอปู เกละเกลอะ อะเนอ แลซูซู ปกาเกอะญอจะขออยู่ที่นี่ ตายที่นี่ ไม่ยอมให้ใครมาแยก” พะตีนุติ พาอุน ผู้เชี่ยวชาญการ 'อื่อทา' หรือร้องเพลง ชาวปกาเกอะญอบ้านทุ่งหลวง แปลความหมายของ ‘ทา’ ข้างต้นให้
ทา คือเพลง หรือท่วงทำนองที่กล่าวเป็นภาษิตคำสอนของปกาเกอะญอ ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน นิยมร้องกันในพิธีสำคัญๆ เช่น ประเพณีมัดมือ งานแต่งงาน ทำบุญ งานศพ เป็นต้น ส่วนที่ได้ยินว่า โดทา คือการท่องตามบททาที่มีโดยยังไม่ได้ใส่ท่วงทำนอง
ปัจจุบันการอื่อทา กำลังจะสูญหายไปตามกระแสของโลกยุคเทคโนโลยีที่พยายามบีบให้รับข้อมูล และไม่เห็นความสำคัญของสิ่งใกล้ตัวที่มีคุณค่า จะเหลือก็เพียงการโดทาเท่านั้นที่ยังแพร่หลายในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่
พะตีนุติ เสริมว่า เคยทำหลักสูตรท้องถิ่น ต่อเนื่องมาจากแนวคิดของสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชนเผ่าสันทรายน้อย แต่ทำได้เพียงสองรุ่น และยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร สอดคล้องกับที่ ครูพิชัย จุลเดช คุณครูโรงเรียนบ้านทุ่งหลวง ซึ่งจากบ้านที่ภาคใต้มาเป็นครูในหมู่บ้านนี้นานกว่า 20 ปี อธิบายว่า “เราเคยมีหลักสูตรสถานศึกษา คือให้ชาวบ้านที่มีความรู้ในเรื่องท้องถิ่นเข้ามาสอนในโรงเรียนได้ในเกณฑ์ร้อยละ 30 แต่กรอบของหลักสูตรกลับถูกกำหนดจากเจ้าหน้าที่ส่วนกลางเป็นหลัก”
ข้อจำกัดในการขยายพื้นที่วัฒนธรรมท้องถิ่น อันจะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อการสร้างงานและสร้างชุมชนให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เรียกว่าเป็นจุดบอดของการทำงานในโรงเรียน ดังนั้น ระบบที่สร้างขอบข่ายให้ต้องเข้าไปศึกษาตามๆ กัน จึงไม่ช่วยให้อยู่กับชุมชนของตัวเองได้อย่างมีสุขจริง

“ปกาเกอะญอหมายถึงคนเรียบง่าย ตามคำแปลในภาษาไทย ความเชื่อของปกาเกอะญออาจจะขัดแย้งกับความเชื่อในโรงเรียน แต่ก็ทำให้รู้จักตัวเอง” แซวะ โอโด่เชา ลูกไม้ใกล้ต้นของพะตีจอนิ โอโด่เชา ปราชญ์ผู้เฒ่าปกาเกอะญอ ชี้ถึงสิ่งที่ได้รับจากการรู้จักรากของตัวเอง

ด้วยสภาพพื้นที่และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เป็นผลให้เกิดกระบวนการสร้างการเรียนรู้ในชุมชนขึ้น โดยวิทยาลัยจัดการทางสังคม ที่มุ่งเน้นเปิดประตูภูมิปัญญาไท ร่วมงานกับวิทยาลัยจาวบ้านลุ่มน้ำวางตอนบน ซึ่งทำงานคลุกคลีอยู่กับปกาเกอะญอ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้นอกห้องเรียนโครงการ ‘ห้องเรียนชุมชน’ ที่จัดขึ้น จึงยิ่งช่วยย้ำให้ทราบถึงวิถีชนเผ่าปกาเกอะญอที่ดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพิงป่า และเชื่อว่าป่าเป็นสายเลือดที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต เช่น การเชื่อว่าเด็กที่เกิดมาทุกคนจะต้องมีต้นเดปอ ไว้เก็บสายสะดือชีวิตของเด็กคนนั้นๆ พ่อจึงต้องเลือกไม้ต้นที่สมบูรณ์ที่สุด และดูแลรักษาต้นไม้นั้นอย่างดี หากทำไม่ดีก็จะต้องขอขมาหรือเรียกขวัญ เพื่อให้เด็กคนนั้นมีสุขภาพกายและใจที่ดี  แต่หลายครั้งคนภายนอกกลับสร้างความแปลกแยกด้วยการท้วงว่า ปกาเกอะญอเป็นชาวเขาที่ชอบตัดไม้ทำลายป่าด้วยการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งตรงข้ามกับที่ปกาเกอะญอเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นการทำไร่หมุนเวียน และการตัดไม้ก็มีเฉพาะพื้นที่ป่าใช้สอยของชุมชนเพื่อให้เกิดความสมดุลเท่านั้น ส่วนป่าที่อยู่อาศัยและป่าอนุรักษ์ พวกเขาจะไม่เข้าไปทำลาย
หมู่บ้านทุ่งหลวง เป็นหมู่บ้านปกาเกอะญอในพื้นที่ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกำลังสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน แต่ที่ผ่านมาชุมชนได้รับผลกระทบจากความเข้าใจผิดของหน่วยงานราชการและบุคคลภายนอกตลอดเวลา ทำให้หลายครั้งต้องร่วมมือกันเรียกร้องสิทธิในการทำกินกลับมา รวมถึงการบวชป่า ที่แสดงว่าปกาเกอะญอรักษาป่าอยู่เสมอ ทั้งนี้ เพราะตระหนักว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอลักษณะนี้ แซวะ ในฐานะเยาวชนบ้านหนองเต่า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำวาง แสดงความคิดเห็นว่า “เราต้องทำให้แหล่งเรียนรู้ไม่ติดอยู่แค่ในห้องเรียน หรือสิ่งใด แต่คือชีวิตจริง เป็นสิ่งที่ยึดถือกันจริงๆ และต้องเข้าไปอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตจริงให้ได้”  นอกจากนี้ แซวะยังเล่าถึงสิ่งที่เขาอยากเรียนรู้เป็นพิเศษว่า “ทา เป็นการร้อยรัดวิถีชีวิตของปกาเกอะญอให้เชื่อมโยงถึงกัน และยังโยงไปถึงประเพณี ภูมิปัญญาชาวบ้าน และเห็นถึงความสัมพันธ์ของคนกับป่า”

ไม่ต่างอะไรกับ ‘ทา’ บทหนึ่ง ที่เด็กๆ บอกโดยวิธี ‘โดทา’ ว่า “เนอะเมซือซา กวาเซกลอ เซกลอเจาะจื๊อลอโอถ่อ” แปลว่า ถ้าคิดถึงฉัน ให้ดูรอยมีดที่อยู่บนต้นไม้รอยมีดนั้น นั่นคือรอยมีดของพี่  เด็กปกาเกอะญอหลายคนบอกว่าในทาแต่ละบท ตีความได้ถึง 7 อย่าง แต่ที่ชัดๆ ของทาบทนี้มีสองความหมาย คือหนึ่ง พูดถึงการทำงานของคน ซึ่งต้องดูที่ผลของงาน หากทำดีคุณค่าก็จะปรากฏ และอีกความหมายพูดถึงชายหนุ่มที่คิดถึงคนรักในยามที่จากกัน เขาจึงบอกให้หญิงคนนั้นมองดูรอยมีด ซึ่งหมายถึงการกระทำที่ชายหนุ่มทำเอาไว้ เพื่อเป็นการแสดงความคิดถึงกัน คำสอนที่แยบคาย ใจที่อ่อนโยน ทำให้มองเห็นความดีงามที่ปกาเกอะญอทำเพื่อแหล่งชุมชนของเขา ทา จึงเป็นการอ่านคนปกาเกอะญอด้วยคำสอนที่แยบยล และน่าสังเกตว่า ‘ทา’ ของปกาเกอะญอนั้น เป็นสากลในหมู่ชนเผ่า โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นของชนเผ่าบ้านไหน เพราะต่างก็มีวัฒนธรรมร่วมเดียวกัน คือถ้าใช้ทาเป็นสื่อ ก็จะสามารถส่งสารถึงกันได้อย่างไร้พรมแดนภาษา

“ผมกำลังดึงเยาวชนให้เข้ามาเรียนรู้ชุมชนมากขึ้น ให้ทำกิจกรรมร่วมกัน ให้พะตีมาสอนวิถีปกาเกอะญอประกอบ และเห็นความตั้งใจของพวกเขาอยู่มาก” นิพล ศรีเอื้องดอย ผู้นำเยาวชนบ้านทุ่งหลวง เล่าถึงวิธีการที่จะทำให้ชุมชนเติบโต

สายใยของคนปกาเกอะญอเริ่มชัดเจนขึ้นในที่ที่ไม่เคยไป และขณะเดียวกันก็กำลังจะเกิดขึ้นกับกลุ่มเยาวชนที่ตั้งหน้าตั้งตาฝึกซ้อมนิทานเรื่อง ‘หน่อหมื่อเอ’ ซึ่งถือเป็นเรื่องเอกที่น่าทึ่งสำหรับคำทำนายอนาคต  “ใน ‘หน่อหมื่อเอ’ มีทามากกว่าหนึ่งหมื่นบท แต่ต้องให้พะตีจากหลายๆ หมู่บ้านมาร่วมคิดด้วย ส่วนเด็กๆ เองก็จะได้สื่อสารผ่านการเล่นละคร” เป็นเหมือนคำประกาศร้องเรียกของพะตีจอนิ ให้หน่อฉ่าตรูที่กำลังหลงทางกลับมาเรียนรู้วิถีดั้งเดิมอีกครั้ง  ความร่วมมือนี้จะยิ่งชัดเจนขึ้น หากปกาเกอะญอนำหลักการทำงานของ อดีตพ่อหลวงแก้ว จิเก แห่งบ้านทุ่งหลวง ที่แสดงทัศนะให้นำไปปฏิบัติตามว่า “ถ้ามีความรู้ต้องปลดปล่อยออกมา สมองก็จะโป่ง เมื่อโป่งและปลดปล่อย ปัญญาก็จะเกิด”  ไม่ต่างอะไรกับที่ พิชัย จ่อวาลู เด็กหนุ่มบ้านหนองเต่า ผู้เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตแล้วเลือกเดินหน้ากลับมาศึกษาพื้นเพของตัวเอง บอกว่า “การอื่อทายาก แต่การโดทาเป็นสิ่งที่ผมพยายามเรียนรู้อยู่ สำหรับผม หวังจะเป็นไผ่ที่ลำต้นแข็งแรง รักถิ่นฐาน และเข้าใจวิถีปกาเกอะญอได้อย่างพะตี” พิชัย ทิ้งท้ายอย่างหนักแน่นด้วยทาที่ศึกษาผ่านคนรุ่นพะตี ว่า

“กอลาขู่แกล๊ะ แบกะเลอะเจ๊ะ โชโหม่แนเหน่ ก่อมึ้เต่อเก หมายถึง ฝรั่งขุดทางหว่านด้วยเงิน โลกจะสุขนั้นอย่าได้คิดเสีย”

แบบอย่างที่สืบทอดผ่านวิถีชีวิต ความเชื่อ และวัฒนธรรม เริ่มปรากฏรูปรอยของความหวังแล้วว่าจะเกิดหัวใจบริสุทธิ์ของชนเผ่าปกาเกอะญอ ที่ไม่หวั่นเกรงการถูกทดลองและสามารถอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้อย่างเท่าทันต่อไป ล้อมกรอบ

พบห้องเรียนชุมชน “ป่าความรู้ลุ่มน้ำแม่วาง” และเชิญชมละคร ‘นิทานหน่อหมื่อเอ’ โดยเด็กๆ ปกาเกอะญอ ในงานมหกรรมห้องเรียนชุมชน ที่ สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2548 นี้ สอบถามรายละเอียด โทร.0-2623-2838-9

ที่มา :  กรุงเทพธุรกิจ 21 กุมภาพันธ์ 2548

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก : http://www.karencenter.com/