ชนเผ่ากะเหรี่ยง-เขียนกะเหรี่ยงด้วยอักษรไทย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/04/2008
ที่มา: 
http://www.karencenter.com/

ขอเขียนด้วยคน

ภาษาแรกที่มนุษย์เรียนรู้คือภาษาพูด ภาษาในระดับถัดมาคือภาษาเขียน ทว่า ปัจจุบัน ทั้งการพูด-การเขียน นับเป็นองค์ประกอบสำคัญ ของพื้นฐานทางวัฒนธรรมในทุกๆ ชาติพันธุ์ รมณ รวยแสน รายงานถึงความพยายาม ในการสร้างภาษาเขียน ของชาวกะเหรี่ยงโปว์ ในประเทศไทย
"สิ่งที่คนกะเหรี่ยงมักสอนลูกสอนหลาน คือ เรื่องความขยัน ต้องทำมาหากิน เรื่องปากเรื่องท้องสำคัญที่สุด แต่ละบ้านถึงมีลูกหลานหลายคน เพื่อจะได้ช่วยกันทำงาน" ขาว มิตรสาริต กะเหรี่ยงเฒ่าวัย 60 ปี อธิบายผ่านล่ามด้วยภาษากะเหรี่ยงโปว์ถึงสิ่งสำคัญๆ ในชีวิตของคนกะเหรี่ยง ที่อยากให้ตกทอดไปรุ่นลูกรุ่นหลาน   กะเหรี่ยงโปว์อย่างเฒ่าขาว หรือคนอื่นๆ ที่บ้านหนองอึ่งใต้ อำเภออมก๋อย ไม่ได้มีสมุดบันทึก หรือหนังสือที่จะเขียนรวบรวมเรื่องราวของวิถีชีวิต หรือภูมิปัญญาหลายร้อยหลายพันเรื่อง ที่บรรพบุรุษได้เคยลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน เพื่อส่งทอดให้กับลูกให้หลานได้ทุกเรื่อง เป็นเล่มๆ แต่ส่งต่อความรู้กันจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งด้วยการบอกเล่า

"ก็ทำไร่ทำนากันไม่ได้มาคิดเรื่องตัวหนังสือ มีเรื่องอะไรจะบอกจะสอนลูกหลานก็เล่าให้เขาฟัง อยากให้เขาทำนาเป็นก็พาเขาไปทำนา พิธีกรรมเลี้ยงผีก็เหมือนกัน ที่ใครมีลูกก็ต้องสอนลูก มีหลานก็ต้องสอนหลานให้เป็น" เหตุผลหนึ่งที่กะเหรี่ยงเฒ่าซึ่งเป็นที่นับถือของคนในหมู่บ้าน เล่าถึงเหตุผลหนึ่งที่บ้านหนองอึ่งใต้ไม่มีตัวหนังสือใช้กัน

ที่จริงชนชาติกะเหรี่ยงในพื้นที่อื่นๆ ส่วนใหญ่ก็มีตัวหนังสือใช้ โดยดัดแปลงจากอักษรพม่า เช่นเดียวกับที่ตัวหนังสือไทยก็ดัดแปลงมาจากตัวอักษรมอญและเขมร โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้กะเหรี่ยงบางกลุ่มมีตัวหนังสือเขียนใช้ และบางกลุ่มไม่มีตัวหนังสือใช้ ส่วนหนึ่งมาจากธรรมชาติของการตั้งถิ่นฐานของคนกะเหรี่ยง  การตั้งชุมชนมักอยู่ตามป่าเขา และด้วยการตั้งบ้านเรือนอยู่ตามแหล่งน้ำเล็กๆ อย่างห้วยเขา ไม่อยู่ตามลุ่มน้ำใหญ่อย่างที่คนไทยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และทำไร่หมุนเวียน จึงทำให้ชุมชนที่ตั้งมักเป็นชุมชนเล็กๆ และอยู่ลึกเข้าไปในป่า อย่างที่บ้านหนองอึ่งใต้ ที่แม้จะอยู่ห่างจากตัวอำเภออมก๋อยเพียง 37 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ต้องใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง ที่จะใช้รถโฟร์วีลไต่เขาเข้าไปถึง และทำไม่ได้อย่างสิ้นเชิงเมื่อเป็นฤดูฝน  กลุ่มกะเหรี่ยงที่อยู่ตามป่าลึกมาก ภาษาเขียนก็เข้าไปไม่ถึง โดยเฉพาะชุมชนที่ทำกินแบบพอเลี้ยงชีพไม่ได้มีการติดต่อค้าขาย ความจำเป็นในการสื่อสารด้วยภาษาเขียนมีน้อย แต่สำหรับกลุ่มกะเหรี่ยงที่อยู่ใกล้เมืองจะมีการนำภาษาเขียนที่อยู่ใกล้ๆ มาประยุกต์อย่างอยู่ใกล้พม่า ก็ใช้อักษรพม่า
นอกจากในประเทศพม่าแล้ว ชนชาติกะเหรี่ยงยังอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า และลึกเข้ามาในประเทศไทย อย่างตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี และบางส่วนในเชียงใหม่ แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่า กะเหรี่ยงสกอ ที่เรียกตัวเองว่า ปกาเกอะญอ จะปรับภาษาพม่ามาเป็นภาษาเขียนเพื่อการสื่อสาร มีการบันทึกไม่ว่าจะเป็นตำรายา คำสอนในพุทธศาสนา  ส่วนอีกกลุ่มคือ กะเหรี่ยงโปว์ หรือที่เรียกในเชิงการเมืองว่าเป็นกะเหรี่ยงพุทธ ใกล้ชิดกับมอญ จึงมีกะเหรี่ยงโปว์บางกลุ่มเขียนหนังสือด้วยอักษรมอญ ต่อมาในระยะหลังมีกลุ่มมิชชันนารีเผยแพร่ศาสนาคริสต์เข้ามา และเห็นว่ากะเหรี่ยงบางกลุ่มยังไม่มีภาษาเขียน หรือที่มีก็เขียนได้ไม่มากจึงนำภาษาอังกฤษ หรือโรมันเข้ามาให้กะเหรี่ยงเขียนสื่อสารแต่ก็ไม่เป็นที่นิยม  แม้ที่ผ่านมาจะมีการจัดทำภาษาเขียนของภาษากะเหรี่ยงโปว์ด้วยภาษาโรมัน ซึ่งจะใช้ในวงจำกัดเฉพาะในงานเผยแพร่ศาสนาคริสต์ จึงไม่ได้นำมาใช้โดยทั่วไปในหมู่บ้านที่นับถือศาสนาพุทธและผีอย่างที่บ้านหนองอึ่งใต้ เพราะภูมิปัญญาและเรื่องราวเล่าขานของคนกะเหรี่ยงโปว์ที่แม้จะมีเป็นร้อยเป็นพัน แต่ก็มีไม่กี่เรื่องที่คนเฒ่าคนแก่ไม่อยากให้ผิดให้เพี้ยนไปจากที่บรรพบุรุษเป็นแม้แต่น้อย

"ใครอยากจะทำอะไรก็ทำ แต่ขอให้นับถือพุทธ ให้เลี้ยงผี และเด็กผู้หญิงให้ใส่ชุดขาว ถ้าอยากใส่กางเกงหรือเสื้อยืด ก็ให้ใส่ไว้ข้างใน แล้วใส่ชุดขาวคลุมข้างนอก" เฒ่าขาว ว่า พิธีกรรมเลี้ยงผี ผีที่เปรียบเสมือนครรลองคลองธรรมใครละเมิดก็ถือเป็นผิดผี

..............................................................

ดังนั้น เมื่อสำนักบริหารการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จะใช้โอกาสที่กะเหรี่ยงโปว์ที่บ้านหนองอึ่งใต้ยังไม่มีภาษาเขียนใช้ เข้ามาใช้อักษรไทยแทนเสียงภาษากะเหรี่ยงโปว์ โดยมีเป้าหมาย 2 ประการ หนึ่ง-เพื่อลดตัวเลขจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือ ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญขององค์กร เด็กๆ สามารถเรียนภาษาไทยได้ง่ายขึ้น โดยใช้อักษรไทยเป็นเหมือนสะพานเชื่อม เพื่อทำให้เด็กๆ เรียนภาษาไทยได้ง่ายขึ้น รวมทั้งผู้ใหญ่ด้วย ที่อาจจะไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาไทยเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาระดับสูงต่อๆ ไป และสอง-เพื่อใช้ประโยชน์เมื่อต้องติดต่อราชการ ไปโรงพยาบาล หรืออ่านป้ายอะไรบ้างเล็กๆ น้อยๆ
กระบวนการจัดทำภาษาเขียนโดยใช้อักษรไทยแทนเสียงภาษากะเหรี่ยงโปว์ ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาสื่อเพื่อการรู้หนังสือแบบทวิภาษา เริ่มดำเนินการเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยไม่ได้รับการปฏิเสธจากคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนาที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของกะเหรี่ยงพุทธ โดยทีมทำงานประกอบไปด้วยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ของศูนย์บริหารการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ (ศบอ.) อมก๋อย ครูอาสาสมัคร กศน.และชาวกะเหรี่ยงโปว์รุ่นใหม่ ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 2-3 คน และยังมีสถาบันภาษานานาชาติ Summer Institute of Linguistics  ทั้งหมดเข้าไปทำงานร่วมกับกะเหรี่ยงโปว์เจ้าของภาษาในหมู่บ้านจนกระทั่งได้พยัญชนะภาษาไทยที่ใช้เขียนตามเสียงภาษากะเหรี่ยงโปว์ โดยมีพยัญชนะทั้งหมด 25 ตัว และมีสระเสียงสั้น 11 ตัว สระเสียงยาว 20 ตัว  ก่อนหน้านี้ มีการทำภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ด้วยอักษรไทยมาแล้วที่กาญจนบุรี ซึ่งมีสำเนียงที่ต่างกันเหมือนคนไทยภาคเหนือกับภาคอีสาน แต่ก็นำมาใช้ช่วยเทียบเคียงกับภาษากะเหรี่ยงโปว์ที่อมก๋อย มาใช้ร่วมกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชนิดที่บอกผลลักษณะการออกเสียงของนักภาษาศาสตร์

"ให้ครูที่เป็นกะเหรี่ยงโปว์จำนวน 3 คน อ่านแล้วดูว่าแต่ละเสียงของแต่ละคำที่พูดนั้น ออกเสียงได้ ขณะที่ออกเสียงนั้น ฟันอยู่ตรงไหน ลิ้นอยู่อย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ก็ใช้อักษรไทยแทนเสียงได้ ที่ไม่ได้ก็ใช้อักษรที่ใกล้เคียงและใส่สัญลักษณ์กำกับลงไปอย่าง เสียง เฆ่ะ ก็ใช้ ฆ แล้วขีดเส้นใต้ ต้องให้คนเฒ่าคนแก่ช่วยฟังว่าออกเสียงอย่างนี้ใช่หรือเปล่า" นิติพงษ์ แง้โว้ ครูนิเทศก์ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์ ว่า แม้จะใช้ตัวอักษรไทยแต่ก็จะเรียกตามคำที่ตกลงกันให้เป็นแบบกะเหรี่ยงอย่าง ก.ไก่ ในภาษาไทย ก็เรียก ก.กช๊าง หมายถึงช้าง ในแบบของกะเหรี่ยง  ภายหลังจากมีพยัญชนะแล้วก็มีเป้าหมายจะใช้บันทึกเรื่องราวความเป็นมาของคนในหมู่บ้าน ภูมิปัญญา ประเพณีวัฒนธรรม ที่เดิมตกทอดมาด้วยการบอกเล่า ขณะนี้มีนิทานที่เด็กๆ ที่เขียนตัวหนังสือที่คิดขึ้นใหม่ได้แล้วช่วยกันจดบันทึกนิทานคำสอนเก่าๆ จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ พิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการเลี้ยงผี โดยใช้เวลาไม่นานสามารถบันทึกได้กว่า 20 เรื่องแล้ว

"ผมอายุ 30 กว่า รู้สึกว่าสิ่งที่ได้รับตกทอดมานั้นมีอยู่สักสิบเปอร์เซ็นต์ มันก็ทำให้รู้สึกว่าแล้วรุ่นลูกรุ่นหลานผมจะเอาอะไรบอกต่อลูกหลาน" เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ นิติพงษ์ ดีใจที่สามารถมีการจดบันทึกได้ โดยเฉพาะระหว่างที่ทำเวิร์กชอปในการจัดทำพยัญชนะก็ทำได้พบและบันทึกการเรียกเดือนทั้ง 12 เดือนในภาษาโปว์ แต่ละเดือนไม่ได้เป็นแค่ชื่อบ่งบอกฤดูกาลเท่านั้น แต่ความหมายนั้นเป็นกิจกรรมที่จะต้องทำในแต่ละเดือน

"ก็เรียกเดือนเป็นภาษาไทยกันจนติดปากแล้ว อย่างมกราคม กุมภาพันธ์ ทั้งที่จริงการเรียกเดือนแบบกะเหรี่ยงนั้น คิดไว้แล้วว่าเดือนไหนเหมาะสมที่จะมีกิจกรรมอะไรอย่าง มีเดือนสร้างบ้าน ก็เป็นช่วงเวลาเดียวที่เหมาะสมจะสร้างบ้าน ก่อนหน้านั้น 6 เดือน 7 เดือนจะต้องทำนากันไม่ว่าง ถ้าไม่สร้างเดือนนี้ก็ไม่มีเวลาสร้างอีกแล้วทั้งปี" นิติพงษ์ เล่าว่า เขาตื่นเต้นและก็ภูมิใจ เมื่อรู้ความหมาย

ในการเรียนการสอนที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา 'แม่ฟ้าหลวง' ที่บ้านหนองอึ่งใต้ ขณะนี้ได้นำพยัญชนะที่คิดขึ้นใหม่เข้าไปสอนในหลักสูตรสำหรับเด็กก่อน โดยแบ่งการเรียนการสอนออกเป็นกลุ่มๆ สำหรับเด็กอายุ 11-14 ปี สอนการอ่านพยัญชนะและสระ กลุ่มอายุ 7-10 ปี เริ่มฝึกให้ผสมคำอย่างง่าย กลุ่มอายุ 11-14 ปี สอนการผสมคำในระดับที่ยากขึ้น และจะให้เขียนนิทานเป็นภาษาเขียนใหม่ เนื้อหาบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงโปว์ และในกลุ่มอายุ 15-18 ปี จะสอนการผสมคำที่ยากมากยิ่งขึ้น ส่วนหนังสือที่ให้จัดทำก็จะมีเนื้อหามากขึ้น  เด็กๆ อย่าง หลั่งโจ เด็กชายอายุ 15 ปี เขาก็ได้สนุกที่ได้จดบันทึกนิทานที่พ่อเล่าให้ฟัง 3 เรื่องแล้ว แต่ที่ประทับใจ คือ ชื่อของข้าวแต่ละชนิดพ่อแม่เขาปลูก ข้าวสีดำ ข้าวสีดำ ก็เรียกชื่อต่างกัน มีบืงโท๊แล บืงซ๊าเม่ะ และที่อยากรู้อีกก็เป็นเรื่องการเลี้ยงผี ที่ไร่ ที่นา เขาว่าเขาเคยเห็นแต่จำไม่ได้ว่าต้องทำอย่างไร รวมไปถึงในงานศพที่มีเพลงซอที่ไม่รู้ว่าพูดถึงอะไร  นอกจากเด็กๆ ที่ต้องเรียนภาษาที่คิดใหม่แล้ว สำหรับผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นหนึ่งทีมทำงานอย่าง ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ วางแผนจะเขียนป้ายต่างๆ ในหมู่บ้านด้วยภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ให้พอคุ้นหูคุ้นตากับภาษาไทย ตามเป้าหมายการทำงานลดจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือลง

"การเรียนภาษาไทยด้วยวิธีใช้ตัวอักษรไทยเข้าไปเขียนแทนเสียงของภาษาของเขา ซึ่งก็ไม่มีภาษาเขียนด้วย ก็ทำให้ง่ายขึ้น แทนที่เขาต้องเริ่มต้นเรียนด้วยความยากก็ให้เขาเริ่มต้นที่เรื่องใกล้ตัว ก็ได้ประโยชน์ทั้งเรื่องลดจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือ และเขาเองก็มีตัวอักษรสำหรับจดบันทึกและได้รักษาวัฒนธรรมของตัวเองด้วย และภาษาที่คิดขึ้นใหม่เขาก็มีส่วนสร้างออกมาเองด้วย ก็จะรู้สึกมีอำนาจ ซึ่งก็นำมาซึ่งความภูมิใจ มั่นใจ และเป็นอิสระ" ดร.สุชิน เล่าถึงวิธีการลดจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือที่ใช้ประสบความสำเร็จมาแล้วในต่างประเทศโดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์

ปูสกรีนล้อมกรอบ

พาดหัว

เรื่อง

สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการนำอักษรไทยเข้าไปแทนเสียงภาษาของชนเผ่านั้น ว่า ที่ผ่านมามีความพยายามในลักษณะดังกล่าวหลายต่อหลายครั้งโดยเฉพาะกลุ่มกะเหรี่ยงที่ยังไม่มีภาษาเขียน นักภาษาศาสตร์บางกลุ่มก็เข้าไปสอนให้ใช้ภาษาอังกฤษ หรือบางครั้งก็เป็นระบบภาษาศาสตร์ (phonetics) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งภาษาไทยด้วย  เพราะคนกะเหรี่ยงในพื้นที่อื่นๆ ส่วนใหญ่ใช้ภาษาเขียนเป็นอักษรพม่า หรืออักษรมอญ ถ้าต้องการส่งเสริมให้มีภาษาเขียนก็ควรจะเป็นภาษาที่เขาสามารถใช้สื่อสารกับชนชาติเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ ได้ด้วย เนื่องจากแม้จะประสบความสำเร็จในแง่ที่ทำให้คนทั้งหมู่บ้านเขียนภาษาใหม่ได้ แต่เมื่อเขาไม่สามารถใช้สื่อสารกับชนชาติเดียวกันในพื้นที่อื่น ก็เป็นเรื่องที่ไร้ความหมาย

"มันเป็นภาษาที่เกิดใหม่รู้กันแค่ 10-20 คนในหมู่บ้านที่หัดอ่านหัดเขียนมาด้วยกัน เขาก็เขียนกันเองอ่านกันเองในหมู่บ้าน ภาษานั้นก็ไม่เติบโตไม่ได้งอกงามไปได้ในที่สุดก็เป็นภาษาที่ตาย เพราะกะเหรี่ยงที่อื่นมาอ่านก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้เรียนด้วย และเขาก็ไปอ่านภาษาเขียนที่กะเหรี่ยงส่วนใหญ่ใช้ ที่มีบันทึกไว้มากเป็นแสนเป็นล้านฉบับไม่ได้"

สุรพงษ์ ยกตัวอย่างว่า เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ที่หมู่บ้านเขาเหล็ก อำเภอศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี ก็มีนักภาษาศาสตร์เข้าไปใช้ตัวอักษรไทยแทนเสียงภาษากะเหรี่ยง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าในช่วงแรกๆ ที่เข้าไปก็ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี เขาตื่นเต้นจริงๆ เพราะว่ามีกิจกรรม มีคนเข้าไป แต่พอนักภาษาศาสตร์ออกมาภาษามันก็ตาย

"ต้องเปลี่ยนกระบวนการใหม่ถ้าอยากสอนภาษาไทยก็สอนไปเลย แต่ถ้าจะส่งเสริมเขาให้มีภาษาเขียนเป็นของตัวเอง ก็หาคนเฒ่าคนแก่ที่รู้ภาษาพม่ามาสอน ให้กะเหรี่ยงสอนกะเหรี่ยง จะรักษาวัฒนธรรมหนึ่งโดยการเอาอีกวัฒนธรรมหนึ่งแม้ด้วยความปรารถนาดีแต่ก็ถือเป็นการทำลาย" สุรพงษ์ ว่า

วัฒนธรรมที่โดดเด่นของคนกะเหรี่ยง คือ การอยู่ร่วมกับป่า ในสมัยหนึ่งที่อังกฤษปกครองพม่า อังกฤษนิยมใช้ความซื่อสัตย์ ไม่เรื่องมาก ขยัน และไม่โง่ คนกะเหรี่ยงจำนวนหนึ่งได้รับการศึกษาสูง ภายหลังที่พม่าเป็นอิสรภาพ รัฐบาลพม่าปกครองแบบรวบเป็นประเทศเดียว ไม่ทำตามสัญญาที่แบ่งเป็นรัฐ ทำให้กะเหรี่ยงหลายกลุ่มไม่ยอม แข็งข้อ หลายกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง และเป็นที่ยอมรับอย่างกะเหรี่ยงเคเอ็นยู

"คนไทยรุ่นหนึ่งรู้เรื่องพระรถเมรี 100 เปอร์เซ็นต์ และมีการจดบันทึกไว้ แต่ที่สุดคนไทยรุ่นถัดๆ มาก็ไม่ได้รู้เรื่องพระรถเมรีเต็ม 100 เหมือนเมื่อก่อน มันหายไปกับช่องว่างต่างๆ ทั้งวัยและเวลา จดไว้แต่จำไม่ได้และไม่ได้ใช้ก็ไม่สำคัญเท่าไม่ได้จดแต่จำได้ เรื่องสืบทอดความรู้เป็นไปตามธรรมชาติเมื่อไม่มีภาษาเขียนเขาก็ต้องเล่า"

สุรพงษ์ ลงความเห็นว่า การสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมแบบบอกเล่าปากต่อปากนั้นก็ทำให้กะเหรี่ยงอยู่ได้มาเป็นพันปี ไม่จำเป็นต้องมีภาษาเขียนแต่อย่างใด

ที่มา :  รมณ รวยแสน /กรุงเทพธุรกิจ 17 กุมภาพันธ์ 2548

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก : http://www.karencenter.com/