บทความเกี่ยวกับชนเผ่า เรืองความเป็นชาติพันธุ์ (Ethnicity)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/04/2008
ที่มา: 
ศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชาวไทยภูเขา (ศอข .) http://www.contothailand.org/independentfile/INDEX.ASP
ความเป็นชาติพันธุ์ (Ethnicity)     

หลาย ท่านอาจสงสัยว่าทำไมคนที่อยู่บนภูเขา ในประเทศไทยจึงกลายเป็นชาวเขา ไม่ใช่ชาวเราเหมือนคนไทยทั่วไป และโดยมากชาวเขาเหล่านี้ก็ไม่มีสิทธิที่พึงมีตามกฏหมายด้วย เป็นเหตุให้ไม่ได้รับการบริการและการปฏิบัติตลอดจนทัศนคติ มุมมองที่ดีจากบางหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน เราเชื่อว่าเมื่อท่านอ่านบทความนี้จบแล้ว จะทำให้ท่านเห็นภาพและเข้าใจถึงสาเหตุเหล่านี้มากขึ้น
ที่มา : หนังสือ "แนวความคิดพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม"
บทความโดย : อานันท์ กาญจนพันธุ์
อาจาย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความเป็นชาติพันธุ์(Ethnicity)

ความพยายามของมนุษย์ที่จะแยกแยะความแตกต่างทางวัฒนธรรมมีมานานแล้ว ในระยะแรกๆนั้น มักจะแยกแยะกันตามลักษณะรูปธรรมของวัฒนะรรมที่มองเห็นได้ชัดเจน เช่น ความแตกต่างของภาษาพูดบ้าง เครื่องแต่งกายบ้าง และวิธีการดำรงชีวิตบ้าง แต่หลังจากลัทธิล่าอาณานิคมได้ขยายตัวออกไปทั่วโลก ชาวยุโรปตะวันตกได้เริ่มใช้ อคติทางชาติพันธุ์ (Ethnocentrism)มาเป็นพื้นฐานในการแยกแยะความแตกต่างทางวัฒนธรรมมากขึ้น ด้วยการจัดแบ่งประชากรในโลกออกเป็น เชื้อชาติตามสีผิว (Race) ซึ่งแฝงนัยของลำดับชั้นของความยิ่งใหญ่ไว้ด้วย เพราะมักจะจัดให้ชาวผิวขาวของตนเองนั้นเป็นเชื้อชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ส่วนชาวสีผิวอื่นๆก็จะลดลำดับความสำคัญรองๆลงมา แต่ชาวผิวสีดำจะถูกจัดให้อยู่ในลำดับต่ำที่สุดในระยะต่อๆมา การจัดลำดับเช่นนี้ก็ถูกทำให้เป็นจริงเป็นจังมากขึ้นเรื่อยๆ จนยึดถือกันเสมือนว่าเป็นจริงตามธรรมชาติ โดยไม่มีการตั้งคำถามใดๆทั้งตัวเหยื่อเองและผู้ได้รับประโยชน์จากการจัด ลำดับเช่นนี้ ในที่สุดก็ก่อให้เกิดลัทธินิยมเชื้อชาติตามสีผิวอย่างบ้าคลั่งหรือ ลัทธิเหยียดสีผิว (Racism) ซึ่งเป็นสาเหตุของโศกนาฏกรรมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นมาจนนับ ครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา นักมานุษยวิทยาคนสำคัญของอเมริกาคือ Franz Boas ได้ค้นพบจากการวิจัยจำนวนมากว่า สายพันธุ์ทางชีววิทยากับวัฒนธรรมและภาษาไม่จำเป็นจะสอดคล้องต้องกันเสมอไป และเสนอให้แยกประเด็นของเชื้อชาติตามสีผิวออกจากภาษาและวัฒนธรรม พร้อมๆกับต่อต้านลัทธิเหยียดสีผิว จนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 1950 ความคิดของ Franz Boasก็เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในอเมริกา และตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา นักมานุษวิทยาส่วนใหญ่ก็ยืนยันตรงกันว่า การจัดลำดับเชื้อชาติตามสีผิวนั้นเป็นไปไม่ได้ ส่วนลัทธิเหยียดสีผิวนั้นมีอยู่จริง หลังจากปี ค.ศ. 1970 นักมานุษวิทยาจึงเสนอให้หันมาเน้นการศึกษาเกี่ยวกับ ความเป็นชาติพันธุ์ (Ethnicity) เพราะเป็นกระบวนการแสดงความเป็นตัวตนทางวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชน แทนการจัดลำดับเชื้อชาติตามสีผิว ซึ่งถือเป็นกระบวนการกีดกันทางสังคม
พร้อมๆกันนั้นนักมนุษยวิทยาตะวันตกก็เสนอให้เรียกกลุ่มชน ที่แสดงความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมว่า กลุ่มชาติพันธุ์(Ethnic Groups) แทน ชนเผ่า (Tribe) ซึ่งแฝงไว้ด้วยแนวความคิดวิวัฒนาการ ที่จัดให้ชนเผ่าเป็นกลุ่มชนบทในสังคมแบบบุพกาลดั้งเดิม ในความหมายที่ล้าหลังและแฝงนัยในเชิงดูถูกดูแคลนไว้ด้วย เพราะเป็นขั้นตอนแรกของวิวัฒนาการของสังคมที่ยังไม่มีรัฐ ก่อนที่จะก้าวไปสู่สังคมรัฐแบบจารีต และสังคมทันสมัยในที่สุด ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า แนวความคิดวิวัฒนการเป็นเพียงการคาดคะเนที่เต็มไปด้วยอคติต่างๆ โดยไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันในเชิงประวัติศาสตร์ได้เสมอไป เช่น ชาวเขาในประเทศไทยมักจะถูกเรียกว่าเป็นชนเผ่า ทั้งๆที่ในประวัติศาสตร์ ชาวเขาบางกลุ่มไม่ว่าจะเป็นชาวอาข่าก็ดี ชาวลีซอก็ดี หรือชาวลาหู่ก็ดี ล้วนสืบทอดวัฒนธรรมเดียวกันกับกลุ่มชนที่เคยปกครองอาณาจักรน่านเจ้าในอดีต มาก่อน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้อาจยังไม่มีข้อยุติ เพราะในภาษาไทย คำว่าชนเผ่ามีนัยแตกต่างจากความหมายชนเผ่าของชาวตะวันตกอยู่บ้าง ตรงที่คนทั่วไปจะใช้กับชนเผ่าไทยด้วย ซึ่งน่าจะแสดงว่า ภาษาทั่วไปใช้คำว่า ชนเผ่า ในความหมายเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในทางวิชาการด้วย ดังนั้นชนเผ่าในภาษาไทยจึงน่าจะมีสองนัย แต่เพื่อหลีกเลี่ยงนัยในเชิงงดูถูกที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้คำว่าชนเผ่า ในงานทางวิชาการจึงควรใช้กลุ่มชาติพันธุ์เมื่อพูดถึงกลุ่มชนที่แตกต่างกัน ทางวัฒนธรรม

การเมืองของความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์
ในปัจจุบันการเมืองของความสัมพันธุ์ทางชาติพันธุ์ นับว่าเป็นประเด็นสำคัญอย่างมากในการศึกษาความเป็นชาติพันธุ์ เพราะกลายเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของการสร้างความหมาย เพื่อการแยกแยะกลุ่มชนต่างๆ บนพื้นฐานของความสัมพันธุ์เชิงอำนาจ ในกรณีของสังคมไทย การเมืองในลักษณะเช่นนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกของกระบวนการสร้างรัฐ ประชาชาติ เมื่อผู้นำทางการเมืองและการปกครองในกรุงเทพฯ ที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจ เริ่มสร้างภาพของ ความเป็นคนอื่น (The Otherness)ให้กับกลุ่มชนต่างๆในชาติ ด้วยการมองว่า กลุ่มชนที่อยู่ห่างออกไปจากศูนย์กลางเป็นคนบ้านนอก และถ้าอยู่ห่างออกไปอีก ก็ถึงกับเรียกว่าเป็นคนป่า ทั้งๆที่พวกเขาต่างก็อยู่ร่วมในรัฐประชาชาติเดียวกัน นัยที่เกิดขึ้นจากการสร้างภาพดังกล่าว ได้กลายเป็น วาทกรรม (Discourse) หรือการนิยามความหมายเชิงอำนาจ ที่ผลักดันให้กลุ่มชนที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของอำนาจ ต้องตกอยู่ในสภาวะไร้อำนาจ ที่ผลักดันให้กลุ่มชนที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของอำนาจ ต้องตกอยู่ในสภาวะไร้อำนาจ หรือที่เรียกว่า สภาวะชายขอบของสังคม (Marginality) ซึ่งเท่ากับเป็นกระบวนการกีดกันให้กลุ่มชนที่อยู่ห่างไกลเหล่านั้น ต้องสูญเสียสิทธิต่างๆที่พึงมีพึงได้จากการพัฒนาต่างๆในรัฐชาติ ในทางสังคมวิทยาจะเรียกกระบวนการเช่นนี้ว่า กระบวนการสร้างสภาวะความเป็นชายขอบ (Marginalization) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับกลุ่มชนที่อยู่ห่างไกลจากอำนาจ ทั้งในแง่ของระยะทางและความสัมพันธ์ ดังจะพบว่าในปัจจุบัน แม้จะอยู่ในกรุงเทพฯ แต่คนในชุมชนแออัดก็ต้องตกอยู่ในสภาวะเป็นคนชายขอบ เพราะอยู่ห่างไกลจากความสัมพันธุ์เชิงอำนาจ สำหรับกลุ่มชนที่อยู่ห่างไกลจากอำนาจในแง่ระยะทางด้วยแล้ว ก็จะยิ่งไร้อำนาจมากขึ้น เช่นในกรณีของชาวเขาในภาคเหนือ

ยิ่งกว่านั้น ความเป็นคนชายขอบของชาวเขามักจะถูกตอกย้ำอย่างต่อเนื่องตลอดมาเป็นระยะเวลา นาน ภายใต้การเมืองของความสัมพันธุ์ทางชาติพันธุ์ ดังปรากฏให้เห็นได้จากวาทกรรม ที่สร้างภาพให้ชาวเขาเป็นต้นตอของภัยต่างๆ ทั้งในแง่ของความมั่นคง ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อการร้าย ผู้อพยพ และพวกผู้ปลูกฝิ่น และในแง่ของผลกระทบต่อธรรมชาติ ในฐานะที่ทำไร่เลื่อนลอยและตัดไม้ทำลายป่า แม้ว่าภาพเหล่านี้จะเป็นเพียงความรู้สึก ที่ไม่สามารถยืนยันได้ในทางวิชาการ ซึ่งพยายามอธิบายถึงเงื่อนไขที่ซับซ้อนและการมองปัญหาอย่างแยกแยะ แต่อคติทางชาติพันธุ์ที่สะสมมานาน ทำให้มองภาพของชาวเขาอย่างตายตัว ในฐานะเป็นคนอื่นและเป็นภัยฝังลึกอยู่ในสังคมไทยผลที่ตามมาก็คือ ชาวเขามักจะถูกกีดกันต่างๆ นานา ทั้งในแง่ของสิทธิในความเป็นพลเมือง สิทธิในการตั้งถิ่นฐาน และสิทธิในการจัดการทรัพยากร จนขยายตัวเป็นปัญหาของความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัจจุบัน เมื่อชาวเขาต้องถูกคุกคามและถูกกดดันให้ย้ายตั้งถิ่นฐานออกจากป่า เพราะรัฐไม่รับรองสิทธิของชาวเขาในการตั้งถิ่นฐานอยู่ในป่า ทั้งๆที่พวกเขาอยู่อาศัยมาก่อนขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะหาประโยชน์จากวัฒนธรรมของชาวเขา ดังปรากฏในรูปของ กระบวนการทำให้ชาติพันธุ์เป็นสินค้า ซึ่งหมายถึงการใช้วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นสินค้า สำหรับการหารายได้จากการท่องเที่ยวในรูปต่างๆไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย หัตถกรรม และวิถีชีวิต ในกระบวนการดังกล่าวจะมีการสร้างภาพของชาวเขาให้เป็นเสมือนชุมชนดั้งเดิม ที่น่าทึ่ง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสความแปลกที่แท้จริง จึงเท่ากับยิ่งตอกย้ำภาพของชาวเขาที่หยุดนิ่งตายตัวมากขึ้น

ในปัจจุบัน การเมืองของความสัมพันธุ์ทางชาติพันธุ์ ได้ขยายตัวออกไปอย่างหลากหลายและซับซ้อน เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บนที่สูงไม่ยอมตั้งรับแต่ฝ่ายเดียวเช่นในยุคก่อน แต่หันมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆที่พึงมีพึงได้ในฐานะพลเมืองไทย พร้อมๆกับการออกมาแสดง ความมีตัวตนทางชาติพันธุ์ (Ethnic Identity) ด้วยการสร้างอัตลักษณ์ของชาวเขาผ่านทั้งพิธีกรรมและการแสดงออกต่างๆที่แสดง ว่าชาวเขานั้นมีความรู้และศักยภาพในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่า ในด้านหนึ่งก็เพื่อตอบโต้อคติต่างๆ ที่มีอยู่ในวาทกรรมของรัฐ ในอีกด้านหนึ่งก็เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ชาวเขาเอง ซึ่งในทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเรียกกระบวนการข้างต้นนี้ว่า การเปิดพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรม(Social and Cultural Space)ของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เปรียบเสมือนพื้นที่ในการแสดงออกของ สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Rights) รวมทั้ง ภูมิปัญญาความรู้ (Indigenous Knowledge) เพื่อนิยามการดำรงอยู่ทางวัฒนธรรมอย่างแตกต่าง และกำหนดความสัมพันธุ์ทางสังคมของตนเองกับกลุ่มอื่นๆในสังคม แทนที่จะปล่อยให้ผู้อื่นเป็นผู้กำหนดฝ่ายเดียว ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นสิทธิชุมชนอย่างหนึ่ง ที่รัฐในระบอบประชาติธิปไตยจะต้องยอมรับ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคม

นอกจากบทบาทของกลุ่มชาติพันธุ์เองแล้ว ในการเมืองของความสัมพันธุ์ทางชาติพันธุ์ยังต้องรวมเอาบทบาทของกลุ่มทาง สังคมอื่นๆไว้ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มองกลุ่มชาติพันธุ์ในเชิงบวก เช่น นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน (Non – Govermental Organization,NGO) ซึ่งมักจะทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์เอง เพราะกลุ่มต่างๆเหล่านี้มีส่วนก่อให้เกิดความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยความพยายามสร้าง ภาพตัวแทน (Representation) ของกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นมาแทนที่ภาพอคติ แต่ก็มักจะเป็นภาพที่แผงความหมายในเชิงอุดมคติที่หยุดนิ่งและตายตัว เช่นเดียวกับภาพอคติที่เคยมีมาแต่เดิม เช่น การให้ภาพชาวปกาเกอญอเป็นกลุ่มชนที่มีวิถีชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติ แม้จะเป็นในเชิงบวกก็ตาม แต่ภาพทำนองนี้ขาดพลังเพราาะมักจะขาดนัยของการเปลี่ยนแปลงและการขัดแย้งที่ เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ ทำให้เป็นเพียงวาทกรรมสำหรับการโต้ตอบกันแต่จะขาดน้ำหนักสำหรับการผลักดัน การเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่นโยบายและกฏหมาย ทั้งในแง่นโยบายและกฎหมาย ซึ่งทำให้ไม่มีผลต่อการยกระดับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมเท่าที่ควร

ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในพหุสังคม
ดังนั้นการศึกษาความเป็นชาติพันธุ์ในเชิงวิชาการ ได้หันมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับปัญหาการเปลี่ยนแหลง ที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน พร้อมๆกับทำความเข้าใจกับพลวัตของกลุ่มชาติพันธุ์ในการต่อสู้และปรับตัวต่อ แรงกดดันต่างๆในสภาพความเป็นจริงของช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ สิทธิ ความมีตัวตน และภูมิปัญญาของทุกๆกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้ผลของการศึกษานั้นมีพลังอย่างแท้จริง ในการเสนอทางเลือกที่มีลักษณะหลากหลาย ให้กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์พหุสังคม และการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคกับทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในพหุสังคมนั้น เพราะความเป็นจริงของรัฐประชาชาติในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ทั้งสิ้น การปฏิเสธและการไม่ยอมรับความจริงในข้อนี้ นับวันก็จะเพิ่มความขัดแย้งและรุนแรงขึ้นในสังคมโดยไม่จำเป็น

ดังจะเห็นได้ว่า เกือบทุกประเทศในโลกนี้จะมีประชากรที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์อย่างหลาก หลาย เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ของความสัมพันธุ์ ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและการผสมผสานกันทางวัฒนธรรมกันมานาน ก่อนที่จะเกิดรัฐประชาชาติขึ้น เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี้เอง แต่การอยู่ร่วมกันของกลุ่มชนชาติก็ไม่ได้ก่อนให้เกิดความขัดแย้งเสมอไป หากไม่มีความพยายามเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ในทางตรงกันข้าม กลับพบว่าในบางสังคมจะมีการผสมผสานกันทางวัฒนธรรมได้อย่างดี ขณะที่ในอีกหลายสังคมก็อยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าจะคงความแตกต่างของแต่ละชาติพันธุ์เอาไว้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าสังคมนั้นๆ ได้เคารพสิทธิของความแตกต่างทางชาติพันธุ์อย่างเท่าเทียมกัน ที่จริงแล้วสังคมหนึ่งสามารถเคารพในความแตกต่างได้อย่างหลากหลาย นอกจากชาติพันธุ์แล้ว ก็อาจจะเคารพความแตกต่างในทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ความแตกต่างในความรู้ และความแตกต่างในความเชื่อเป็นต้น ในทางวิชาการจะเรียกสังคมที่เคารพในความแตกต่างอย่างหลากหลายนี้ว่าพหุสังคม ซึ่งมักจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงเมื่อสังคมนั้นๆได้พัฒนาความเป็น ประชาธิปไตยมากขึ้น

Admin - canaundesign@yahoo.com 15/9/1999

อ้างอิงข้อมูลจาก   http://www.contothailand.org/independentfile/INDEX.ASP