ชนเผ่ากะเหรี่ยง - ขึ้นปีใหม่

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/04/2008
ที่มา: 
http://www.karencenter.com/

 ขึ้นปีใหม่


ลมร้อนมาแล้ว.........
กลางวันแดดจัด อากาศร้อนอบ แต่กลางคืนอากาศบนเขาในป่า กำลังเย็นสบาย ช่วงนี้เป็นช่วงเตรียมตัวสำหรับทำการเกษตรในฤดูกาลของการผลิตใหม่ เตรียมพื้นที่สำหรับปลูกข้าวไร่ซ่อมแซมเครื่องมือทางการเกษตร ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะหลังคาบ้าน เพื่อเตรียมรับฝนที่จะมาเยือน บางคนออกหาของป่าแต่ส่วนใหญ่ทำงานเล็กน้อยอยู่ที่บ้านฤดูกาลได้ผ่านพ้นความหนาวเย็นของฤดูหนาว ซึ่งเปรียบเสมือนยามค่ำคืน มาสู่รุ่งสาง ความสดใสสว่างของฤดูร้อน

ชาวกะเหรี่ยงในป่าเขาจึงถือฤดูร้อนเป็นฤดูกาลเริ่มต้นของปี โดยกำหนดวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ตามจันทรคติ เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่งจะตรงกับประมาณเดือนเมษายนของทุกปี  เดือนเมษายน ถือกันว่าเป็นเดือนร้อน อากาศร้อนจัด ดังนั้นการจัดงานขึ้นปีใหม่ นอกจากเป็นการเปลี่ยนฤดูกาลแล้ว ยังเป็นการดับความรุ่มร้อนของชีวิตเพื่อชีวิต สังคม และธรรมชาติ จะสงบเย็นตลอดไปในปีถัดไป

วันที่จะกระทำพิธีต้องตรงกับวันพระ โดยเฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำ หรือแรม 14 ค่ำ เดือน 5 เพราะวันพระเป็นวันที่มีความหมายทางพระพุทธศาสนา เป็นวันดี วันมงคล และเป็นวันที่กะเหรี่ยงหยุดงาน ไม่ทำไร่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ตัดฟันต้นไม้ ไม่ขุดดิน
ในตอนเช้าเป็นพิธีทอดสะพานและค้ำต้นโพธิ์ต้นไทร เรียกในภาษากะเหรี่ยงว่า "บ่งโถ่งดุโคล้ง" (บ่ง = ทอด, โถ่ง = สะพาน, ดุ = พิง หรือ วาง, โคล้ง = ต้นโพธิ์ หรือต้นไทร)  ผู้ชายช่วยกันจัดเตรียมไม้ทำสะพานข้ามลำห้วย โดยมากเป็นการซ่อมแซมสะพานเก่าที่ทรุดโทรม เมื่อได้ไม้มา ทุกคนช่วยกันซ่อมแซมสะพานให้แข็งแรงและสวยงาม หมู่บ้านของกะเหรี่ยงมักตั้งอยู่ริมลำห้วย ดังนั้น สะพานข้ามลำห้วย จึงมีความสำคัญมาก  ทำสะพานเสร็จ จะทำราวจับเพื่อให้เดินสะดวก  ทุกคนช่วยกันล้างถูทำความสะอาด และประพรมลูบไล้ด้วยน้ำขมิ้น แป้งหอม เพื่อให้สะพานสะอาดหอม เสร็จแล้ว คนเฒ่าคนแก่นำไหว้สะพาน ลำห้วย แม่พระคงคา และแม่พระธรณี ซึ่งมีบุญคุณต่อการดำรงชีพ แล้ววางธูปเทียนที่จุดบูชา และดอกไม้ที่บริเวณสะพาน บางคนทำบุญด้วยการแขวนของกินของใช้บนราวสะพาน เพื่อให้ผู้ต้องการหรือเด็ก ๆ นำไปใช้ไปกิน เมื่อเสร็จพิธีแล้ว

เมื่อไหว้บูชาเสร็จ จะปล่อยปลา ปล่อยเต่า หรือสัตว์อื่น ๆ เพื่อเป็นการทำบุญต่อสัตว์  จากนั้น จะยกขบวนเดินไปที่ต้นโพธิ์ต้นไทร เพื่อทำการค้ำต้นโพธิ์ต้นไทร  ต้นโพธิ์ต้นไทรเป็นต้นไม้ใหญ่มีอายุยืนยาว มีประโยชน์ต่อทุกชีวิต ยามผลสุก มีสัตว์จำนวนมาก โดยเฉพาะนกต่าง ๆ ได้พึ่งพิงเป็นแหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัย ทั้งเป็นต้นไม้ที่ร่มเย็นขึ้นที่ใด ที่นั้นจะร่มรื่น
ที่สำคัญคือเป็นต้นไม้ประจำพระพุทธศาสนาเป็นต้นไม้ของพระพุทธโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเสมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้า ทุกคนเตรียมไม้ไผ่ขนาดไม่ใหญ่นัก คนละหนึ่งลำ ลูบไล้ประพรมด้วยน้ำขมิ้น แป้งหอม นำไปพิงไว้รอบต้นโพธิ์ต้นไทรคนเฒ่าคนแก่นำไหว้บูชาคุณของต้นโพธิ์ต้นไทร และต้นไม้อื่นทั้งหมด ขอให้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ความร่มเย็นแก่ทุกชีวิตในหมู่บ้านและขอให้ทุกคนมีอายุยืนยาวดุจต้นโพธิ์ต้นไทรที่งอกงามเคียงคู่พระพุทธศาสนา

มีนิทานกะเหรี่ยงเล่าว่า
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชายคนหนึ่ง ไปให้หมอดูดวงชะตา หมอดูกำหนดวันตายมา สมัยนั้นยังวาจาสิทธิ์กันอยู่ ใครพูดอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น เขากลุ้มใจมากที่จะต้องตาย  วันหนึ่ง ขณะเดินไปเรื่อย ๆ เขาพบหนองน้ำเล็ก ๆ น้ำแห้งลงมาก มีปลาเหลืออยู่ตัวหนึ่งเขาสงสารจึงจับปลาไปปล่อยในหนองน้ำใหญ่ เดินไปพบทางลงหุบเขาแล้วไต่ขึ้นมาใหม่ เห็นว่า เดินขึ้นลงลำบาก จึงตัดไม้ทำสะพานข้ามหุบเขานั้นไปเดินมาพบต้นโพธิ์ต้นไทรกำลังจะล้มมีเสียงลั่นเอี๊ยด ๆ ก็ตัดไม้ค้ำต้นโพธิ์ต้นไทรไว้

เมื่อถึงกำหนดเขายังไม่ตายจึงไปถามหมอดู หมอดูถามว่าเขาทำอะไรไปบ้าง เขาเล่าให้ฟัง หมอดูจึงว่า นั่นแหละเพราะผลกรรมที่เขาทำไว้ จึงทำให้เขาไม่ตาย จากนั้นมาจึงมีการปล่อยสัตว์ทอดสะพาน และค้ำต้นโพธิ์ต้นไทร เพื่อเป็นการต่ออายุ

นิทานเรื่องนี้ แสดงถึงความเชื่อของกะเหรี่ยงในป่าเกี่ยวกับเรื่องของกรรมว่า กรรมดี หรือ การกระทำที่เป็นกุศล ย่อมส่งผลดีถึงตัวผู้กระทำ พืช สัตว์และธรรมชาติ ทั้งกรรมเก่าหรือชะตาชีวิต หรือพรหมลิขิตนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการกระทำในปัจจุบัน

ช่วงบ่าย เป็นพิธีกินน้ำสุกซึ่งจะแยกกันทำที่บ้านของแต่ละครอบครัว พิธีกินน้ำสุกมีเฉพาะหมู่บ้านของเรา และหมู่บ้านใกล้เคียงไม่กี่หมู่บ้าน เป็นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามาจากการผูกข้อมือหรือมัดมือ ซึ่งเป็นเรื่องของ "ขวัญ" และ "ผี" โดยใช้ด้ายสีขาวผูกบริเวณข้อมือ ต่อมามีกะเหรี่ยงบางพวก ใช้ด้ายสีเหลืองผูกแทนสีขาว เพราะเห็นว่าสีเหลืองเป็นสีของพระสงฆ์ และพระพุทธศาสนาด้ายสีเหลืองเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ผี ซึ่งใช้ด้ายสีขาว

แถบหมู่บ้านเรา เห็นว่าการผูกหรือยึดถือนั้น ไม่ใช่ผูกด้วยเส้นด้าย แต่ต้องเป็นการผูกที่จิตใจ จิตใจที่บริสุทธิ์ สะอาดสุกสว่าง จึงไม่มีการผูกข้อมือ หากใช้การกินน้ำที่ต้มสุกแล้วแทน การกินน้ำสุก เปรียบเสมือนน้ำสัญญา ว่าจะยึดถือประพฤติแต่สิ่งดีงาม สะอาด บริสุทธิ์ และสุกสว่าง ดุจน้ำที่กินไป  ก่อนกินน้ำสุก ลูกหลานจะนำน้ำขมิ้นมาล้างเท้าพ่อแม่หรือคนเฒ่าคนแก่ โดยพ่อแม่คนเฒ่าคนแก่ นั่งพนมมือให้พรขณะที่ลูกหลานช่วยกันใช้น้ำขมิ้นล้างและลูกไล้หลังเท้า แล้วพนมมือรับพร เสร็จแล้วกราบ

ก่อนการทำพิธีสำคัญ หรือ เดินทางไกล จะต้องมีการล้างเท้าพ่อแม่ เพื่อความเป็นสิริมงคลของลูกหลานทุกคนพิธีขึ้นปีใหม่ จึงเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ คือ พระพุทธเจ้าสายน้ำ แผ่นดิน ป่าไม้ ธรรมชาติ แม้กระทั่งพ่อแม่ ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ยึดถือปฏิบัติด้วยคุณงามความดีในพระพุทธศาสนา และมีความสัมพันธ์อันงดงามระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

ลมร้อนกระพือพัดเป็นลมหมุน ผ่านที่ใดก็ร้อนระอุไปทุกระแหง
อากาศภายนอกร้อนตามฤดูกาลที่แปรผัน แต่ภายในจิตใจของพวกเรากะเหรี่ยง สงบเย็นตามธรรมชาติอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก : http://www.karencenter.com/