ชนเผ่ากะเหรี่ยง - การเกิด

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/07/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่ากระเหรี่ยง : การเกิด

การตั้งครรภ์   

เมื่อสตรีกะเหรี่ยงตั้งครรภ์ ก็จะต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวังตังอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้คลอดบุตรอยากเป็นอันตรายแก่แม่และเด็ก อาหารเป็น เรื่องสำคัญ หญิงมีครรภ์ต้องไม่รับประทานอาหาร ที่ไม่คุ้นเคยหรือที่คนอื่นทำมาขาย การดื่มเหล้า เชื่อว่าจะทำให้แท้ง และการกินขนุนจะทำให้ทารก ในครรภ์เกิดมาเป็นโรงผิวหนัง นอกจากนี้นั้นยังห้ามหญิงมีครรภ์ไปงานศพ เพราะวิญญาณผู้ตาย ไปสู่โลกได้ง่ายๆ หากเผอิญไปเห็นศพหรือคนตายเข้า ก็จะต้องทำพิธีเรียกขวัญกันอย่างด่วน และคนในหมู่บ้านก็จะช่วยกันระมัดระวังมิให้เกิดเหตุการณ์ใด ๆ มารังควานหญิงมีครรภ์ เช่นไม่ล้มต้นไม้ขวางทางเดินไว้ เพราะจะทำให้ผู้ไปพบคลอดบุตรยาก ต้องปัดรังควานหรือขอขมากันด้วยไก่หนึ่งตัว
การดูแลรักษาสุขภาพของหญิงกะเหรี่ยงตั้งครรภ์
ในด้านการดูแลสุขภาพให้มีความแข็งแรงนั้นได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากบรรบุรุษเดิมเช่นเดียวกับเผ่าอื่นๆ คือเริ่มตั้งแต่เด็กที่อยู่ในท้องมารดาจนถึงวัยชราภาพ ซึ่งจะเห็นได้จากจะมีข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติทั้งบิดา และมารดาจะมีข้อห้ามและข้อปฏิติดังนี้


ข้อห้ามมารดาช่วงตั้งครรภ์

  • ห้ามกินตัวอ่อนของตัวต่อ
  • ห้ามกินอาหารที่มียาง เช่น เผือก ขนุน 
  • ห้ามกินเนื้อหมูป่าและสัตว์ที่ถูกเสือกัดตาย 
  • ห้ามนอนหลับมากเกินไปและทำงานหนักเกินไป

ข้อพึงปฏิบัติสำหรับบิดาและมารดา
มารดาจะต้องกินผักบำรุงร่างกาย รักษาความสะอาด ทำงานให้พอเหมาะ และรักษาอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ สำหรับบิดาให้รักษาอารมณ์ จิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ และจัดอาหารให้เหมาะสมแก่ภรรยา การคลอด

ตามปกติหญิงกะเหรี่ยงจะให้กำเนิดทารก ในบ้านของตนเองโดยมีสามี มารดา และญาติอื่น ๆ คอยช่วยเหลือ เวลาคลอดจะนั่งชันเข่าบนพื้นโดยโหนผ้าซึ่งผูกห้อยลงมาจากขื่อ ช่วยนวดดันทารกออกจากครรภ์ขณะที่เธอเบ่งอยู่นั้น เมื่อทารกพ้นออกจากครรภ์ เขาจะตัดสายสะดือด้วยผิวไม้ไผ่ และห่อรกด้วยผ้าบรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่ จากนั้นจะให้พ่อของเด็กนำสะดือที่อยู่ในกระบอกไม้ไผ่ ไปแขวนไว้บนต้นไม้ในป่า ต้นไม้ต้นนี้เรียกว่า "ป่าเดปอ" เป็นต้นไม้ที่ใช้เก็บขวัญเด็ก ห้ามตัดต้นไม้ต้นนี้เพราะจะทำให้เด็กล้มป่วย หรือถึงแก่ชีวิตได้ ถ้ามีคนไม่รู้และไปตัดต้นไม้ต้นนั้น จะต้องทำการเรียกขวัญเด็กทันที หญิงกะเหรี่ยงกลัวการคลอดบุตรยาก เพราะรู้กันอยู่ว่าอันตราย การตายของเด็กจะสูงมาก เมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติครอบครัวมักจะตามหมอตำแยมาค้นหาสาเหตุ หากระบุว่า เป็นภูตผีตนใดก็จะทำการเซ่นไหว้กันโดยด่วน  


หลังคลอด
เมื่อคลอดเรียบร้อยแล้ว มารดาก็จะต้องนั่งอยู่ไฟสาววันก่อนจะออกจากบ้านได ้เธอจะนอนราบลงไม่ได้ เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้โลหิตขึ้นสมองตาย บางรายก็จะนั่งกอดหินซึ่งเผาไฟร้อนแล้วห่อผ้าแนบท้องไว้ ระหว่างนี้อาหารที่กินได้ คือ ข้าวกับนํ้าเปล่าหรือข้าวต้มเท่านั้น หลังคลอดจะทำพิธีรับขวัญแม่และเด็ก โดยตามผู้เชี่ยวชาญมาประกอบพิธีสวดทำนํ้ามนต์รดทั่วตัวมารดา เสร็จแล้วสามีหรือบิดาของเธอจะทำพิธีเรียกขวัญให้มารดาและเด็ก วันหลังคลอดมารดาจะเคี้ยวข้าวผสมกับเกลือ และนํ้าจนละเอียดแล้วป้อนให้เด็กเป็นพิธี เมื่อสายสะดือเด็กหลุดก็จะทำพิธีผูกข้อมือเด็ก และผูกคอด้วยสร้อยกรวดเป็นการอวยพรให้แข็งแรงโตเร็ว เมื่อเด็กครบเดือนจึงจะทำพิธีตั้งชื่อ พ่อแม่จะผูกข้อมือเด็กและเจาะหู เพื่อแสดงว่าทารกนี้เป็นคนมิใช่วานร แล้วกล่าว "บัดนี้เจ้าเป็นคนแล้ว" หากเด็กล้มป่วยลงหลังจากคลอดออกมาเพียงไม่กี่คนวัน พ่อแม่ก็จะไปที่ฝังรกเด็กแล้วเรียกขวัญให้กลับเข้าร่าง หากป่วยเมื่ออายุมากกว่าสองสัปดาห์ ขึ้นไปก็จะต้องเซ่นผีด้วยไก่เพื่อซื้อวิญญาณเด็ก เมื่อขึ้นบ้านก็จะเคาะบันไดล่วงหน้าขึ้นไป แล้วรีบเข้าบ้านเพื่อดูให้แน่ใจว่าวิญญาณได้เข้าร่างเด็กแล้ว

 

ความเชื่อเรื่องขวัญของคนกะเหรี่ยง

1. ขวัญหัวใจ 10. ขวัญแย้ 19. ขวัญไก่ป่า 28. ขวัญเม่น
2. ขวัญมือซ้าย 11. ขวัญจิ้งหรีด 20. ขวัญเก้ง 29. ขวัญเลียงผา
3. ขวัญมือขวา 12. ขวัญตั๊กแตน 21. ขวัญกวาง 30. ขวัญกระทิง
4. ขวัญเท้าซ้าย 13. ขวัญตุ๊กแก 22. ขวัญสิงห์ 31. ขวัญแรด
5. ขวัญเท้าขวา 14. ขวัญแมงมุม 23. ขวัญเสือ 32. ขวัญเต่า
6. ขวัญหอย 15. ขวัญนก 24. ขวัญนก 33. ขวัญตะกวด
7. ขวัญปู 16. ขวัญหนู 25. ขวัญข้าว 34. ขวัญกุ้ง
8. ขวัญปลา 17. ขวัญชะนี 26. ขวัญงู 35. ขวัญอีเห็น
9. ขวัญเขียด 18. ขวัญหมูป่า 27. ขวัญตุ่น 36. ขวัญต่อ
37. ขวัญนกแก๊กนกแกง

ปัจจุบัน
เนื่องจากปัจจุบันความเจริญเริ่มเข้าสู่ชนบทการพัฒนาเริ่มเกิดขึ้น จึงทำให้ความเชื่อวัฒนธรรมต่าง ๆ เริ่มลดน้อยลงไป ส่วนใหญ่กะเหรี่ยงในสมัยนี้จะนิยมไปคลอดบุตรในโรงพยาบาล เพราะถือว่าสะดวกสะบาย ไม่วุ่นวายเหมือนแต่ก่อน ยิ่งมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา ยิ่งทำให้เข้ามาคลอดบุตรในเมืองกันมากขึ้นจนมาถึงทุกวันนี้