วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
23/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

 ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทย

ผ้าเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมประจำชาติ  และความคิดสร้างสรรค์ของคนในชาติ  ในการรู้จักทำเครื่องนุ่งห่มและผลิตภัณฑ์ใช้สอยในชีวิตประจำวันของคนไทย คนไทยรู้จักการทอผ้ามาตั้งแต่สมัย ก่อนประวัติศาสตร์  สังคมในชนบทถือว่างานทอผ้าเป็นหน้าที่ของผู้หญิงทำกันในครัวเรือนยามว่างจาก การทำไร่ทำนา การทอผ้าจึงมีทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย


พัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งลวดลายและสีสันของผ้า สืบทอดเป็นเวลาตามจินตนาการของช่างทอ และอิทธิพลจากปัจจัยอื่น ๆ ในอดีตนั้น ผ้าจัดเป็นวัสดุหลักในการแต่งกายและเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะทางสังคมของผู้ แต่งรวมทั้งตำแหน่งและกำหนดชั้นวรรณะของผู้สวมใส่ ด้วยเหตุนี้ การทอผ้าสำหรับบุคคลที่ใช้จึงมี 3 ประเภทใหญ่ๆ   คือ ประเภทแรก เป็นผ้าทอสำหรับ ประชาชนทั่วไป ซึ่งมีทั้งผ้าที่ใช้สอยในชีวิตประจำวัน และผ้าที่ใช้ในโอกาสพิเศษ เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ ขนบธรรมเนียม  ประเพณีของกลุ่มชน เช่น  ผ้าสำหรับ นุ่งห่มใช้ในงานทำบุญ งานนักขัตฤกษ์ งานเทศกาลหรือพิธีการสำคัญ ๆ ประเภทที่สอง เป็นผ้าสำหรับชนชั้นสูง เจ้านายและพระมหากษัตริย์  เช่น ผ้าปักโ่บราณ ประเภทต่าง ๆ และ ประเภทที่สาม เป็นผ้าสำหรับพระภิกษุสงฆ์ และเครื่องใช้ใน พระพุทธศาสนา  เช่น  ผ้าห่มคัมภีร์ใบลาน เป็นต้น  ผ้าไทยมีหลายรูปแบบและ มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นในแต่ละภูมิภาค ซึ่งมีวิวัฒนาการความเป็นมาหลายยุคหลายสมัย อาทิ

  • ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 - 21 ดินแดนของภาคเหนือเป็นที่ตั้ง ของอาณาจักรล้านนา ไทยมีความรุ่งเรืองกล่าวกันว่าชาวล้านนาเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการทอผ้าใช้เองโดยเฉพาะผ้าฝ้าย มีการทออย่างแพร่หลายถึงขั้นส่ง  จัดจำหน่าย ไปยังอาณาจักรใกล้เคียงผ้าฝ้ายที่มีชื่อเสียงในยุคนี้มีสีสันนานาชนิด เป็นต้นว่า ผ้าสีจันทร์ขาว ผ้าสีจันทร์แดง ผ้าสีดอกจำปา  เป็นต้น
  • ส่วนอาณาจักรสุโขทัยระมาณ 755 ปี มาแล้ว ชาวสุโขทัยทอผ้าใช้เองทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหมสีต่าง ๆ เฉพาะผ้าฝ้าย เป็นผ้าสีห้าสี เรียก “ผ้าเบญจรงค์” คือ ผ้าสีแดง เหลือง ดำ เขียว และขาว ประชาชนทั่วไปใช้ผ้าฝ้ายเป็นหลัก ส่วนผ้าชั้นดีที่ใช้สอย ในราชสำนักจะมีช่างหลวงเป็นผู้ทอและส่วนหนึ่งสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ เช่น ผ้าไหมและผ้าแพรจากจีน นอกจากนั้นในสมัยนี้ยัง มีการใช้ผ้ามาตกแต่งบ้านเรือนทำผลิตภัณฑ์ประเภทหมอน ฟูก ธงทิว สัปทน ม่าน ฯลฯ
  • ในสมัยอยุธยา ประมาณ 400 ปีมาแล้ว ผ้านับว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งนับตั้งแต่การ ใช้สอยเป็นเครื่องนุ่งห่มโดยตรงตลอดจนการใช้ผ้าเข้าไปเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีความ เชื่อ วัฒนธรรม ศาสนา และสังคม  ในสมัยนี้ผ้านับว่ามีความสำคัญในการค้าและเศรษฐกิจของ ประเทศ  นอกจากนั้นผ้ายังใช้เป็นสิ่งเทียบแทนค่าเงิน  พระมหากษัตริย์ทรงใช้ผ้าเป็นเครื่องปูน บำเหน็จรางวัล หรือบางทีใช้พระราชทานต่างเงินเดือนปีละหนเท่านั้น เรียกว่า “ผ้าหวัดรายปี” ซึ่ง ส่วนมากเป็นผ้าสมปัก ทอด้วยไหมเพลาะ ตรงกลางผ้าเป็นสีมีลวดลาย สำหรับประชาชนทั่วไปผู้ ชายมักใช้ผ้าฝ้าย และผ้านุ่งโจงกระเบนพื้นเรียบ และผ้าขาวม้า ส่วนผู้หญิงใช้ผ้าสไบ
  • ปัจจุบัน การทอผ้าพื้นบ้านของไทยมีกระจายไปทั่วเกือบทุกภาค แต่ที่มีมากได้แก่ ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ รูปแบบของผ้าจะแตกต่างกันไปตามคตินิยม ความเชื่อและ ขนบธรรมเนียมประเพณีของเชื้อชาติแต่ละกลุ่มชน เช่น กลุ่มชนพื้นเมืองล้านนาทางภาคเหนือ นิยมทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมที่มีลวดลายด้วยวิธีการยก และจกเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นกลุ่มชนคน ไทยเชื้อสายไทครั่ง ไทพวน และไทยวน และลาวอีสานนิยมทอผ้าด้วยวิธีจกและมัดหมี่ คนพื้น เมืองในภาคใต้นิยมทอผ้ายก เป็นต้น


เครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้า แต่ละภูมิภาคมีลักษณะใกล้เคียงกัน อุปกรณ์ที่สำคัญ   ได้แก่ อิ้ว กง ไนหรือหลา กวัก กระสวย กี่หรือหูก ขั้นตอนในการทอเริ่มจากการทำเส้นด้ายด้วยวัสดุจากฝ้ายหรือไหมนำไปย้อม   ด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมี  แล้วนำไปทอตามลวดลายที่กำหนด และประเภทของผ้าที่ต้องการ

ข้อมููล หนังสือรูปแบบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทย  กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม.


ต้นฉบับ http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_1/A1_1/a1_1.html

 

ย้อนกลับไปยังหน้ารวม link ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทย ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ผ้ามหาวิทยาลัยนเรศวร