วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
23/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ภาพรวมการทอผ้าในประเทศไทย

ปัจจุบันการทอผ้ายังคงเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นศิลปะที่มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย  หลายแห่งยังคงลวดลาย  และสัญลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้ โดยเฉพาะชุมชนที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์บางกลุ่ม ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มเอาไว้จนถึงทุกวันนี้ โดย     สามารถแบ่งผ้าพื้นเมืองของกลุ่มชนตามภาคต่าง ๆ ได้ดังนี้




        1.การทอผ้าในภาคเหนือแถบล้านนาไทย (จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน) ประกอบด้วยชาวไทยวน และไทลื้อ  ซึ่งในปัจจุบันยังรักษาวัฒนธรรมใน รูปแบบและลวดลายที่สืบทอดกันมา โดยเฉพาะการทอซิ่นตีนจก ผ้าขิต และผ้าที่ใช้เทคนิค “เกาะ” เป็น ต้น นอกจากนี้ยังมีการทอผ้าไหมยกดอก และการทอซิ่นไหมต่อตีนจกยกดิ้นเงินดิ้นทอง รวมถึงผ้าที่เป็น เอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด เช่น ผ้าม่อฮ่อมที่ จ.แพร่ และผ้าลายน้ำไหล จ.น่าน เป็นต้น


         2.การทอผ้าในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง (จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ และ
สุโขทัย จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี สระบุรี ลพบุรีนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ) ส่วนใหญ่  เป็นกลุ่มชนชาวไทยวน และชาวไทยลาว เช่น พวน โซ่ง ผู้ไท ครั่ง ซึ่งอพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในช่วงต่าง ๆ ของประวัติิศาสตร์ไทย  คนไทยเหล่านี้ยังคงรักษาวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไว้ได้โดย เฉพาะ วัฒนธรรมการทอผ้าของผู้หญิงที่ใช้เทคนิคการทำตีนจก และขิต เพื่อตกแต่งเป็นลวดลายบนผ้าที่ใช้นุ่งในเทศกาลต่างๆหรือใช้ทำที่นอนหมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า  ผ้าขาวม้า ฯลฯ



         3.การทอผ้าในภาคอีสาน กลุ่มคนไทยเชื้อสาย ลาวเป็นกลุ่มชนใหญ่ของภาคอีสาน  กระจายกันอยู่ตามจังหวัดต่างๆ และมีวัฒนธรรมการทอผ้าอันเป็นประเพณีของผู้หญิงที่สืบทอดกันมาช้านานเกือบ ทุกชุมชน  แต่ละกลุ่ม แต่ละเผ่า ก็จะมีลักษณะและลวดลายการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง โดยเฉพาะผ้ามัดหมี่  ผ้าแพรวา  ผ้าขิต  ผ้าปูม  และผ้าไหมหางกระรอก



          4.การทอผ้าในภาคใต้  ภาคใต้มีชื่อเสียงในเรื่องของการทอผ้ายก ทั้งยกฝ้าย   ยกไหม ยกดิ้นเงินดิ้นทอง สำหรับลวดลายยังคงอนุรักษ์ลวดลายดั้ง เดิมไว้ เช่น ลายราชวัตร  ลายดอกพิกุล ลายลูกแก้ว ลายก้านแย่ง และลายรูปสัตว์์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์สร้างสรรค์ลวดลายที่แปลกใหม่ และสวยงามขึ้น  สำหรับแหล่งทอผ้ายกที่สำคัญในภาคใต้ คือ จังหวัดนครศรีีธรรมราช สุราษฏร์ธานี สงขลา และตรัง

 


ต้นฉบับ http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_1/B_4/b_4.html

 

ย้อนกลับไปยังหน้ารวม link ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทย ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ผ้ามหาวิทยาลัยนเรศวร