วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
23/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

การทำเส้นฝ้าย

โดยทั่วไปช่วงเวลาการเก็บฝ้ายจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือ ธันวาคม เมื่อเก็บดอกฝ้าย แล้วจะนำมาตากผึ่งแดดให้แห้งสนิท แล้วเก็บสิ่งสกปรกที่เจือปน ออกจนหมด นำไปแยกเมล็ดฝ้าย ออกจากปุยฝ้าย ด้วยวิธีการนี้เรียกว่า “อิ้วฝ้าย” แล้วนำปุยฝ้ายไปดีด ให้ปุยฝ้ายแตกตัวละเอียดฟูขึ้นด้วยแรงสั่นสะเทือนของสายดีด ซึ่งเรียกว่า “กงดีดฝ้าย” จากนั้นนำปุยฝ้ายที่ดีดจนเป็นปุยละเอียดดี แล้วไปล้อด้วย “ไม้ล้อ” โดยใช้ไม้ล้อคลึงบนแผ่นปุยฝ้ายที่วางอยู่บน “กระดานล้อ” ให้เป็นแท่งกลมยาว  แล้วดึงไม้ล้อออกแท่งกลมยาวที่ล้อเสร็จแล้ว เรียกว่า “ดิ้ว” หลังจากนั้นจึงนำไปเข็นฝ้ายให้เป็น เส้นใย โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “หลา” ที่มีสายพานเชือกโยงจากหลา ไปปั่นหมุนแกนเหล็กไน เพื่อล้อฝ้ายให้เป็นเส้นใยพันม้วนอยู่กับแกนเหล็กไน เมื่อเต็มเหล็กไนแล้ว จึงจัดฝ้ายเข้า “ไม้ขาเปีย”

เพื่อทำเป็นไจหรือปอย โดยกะขนาดเอง หลังจากนั้นจึงนำเส้นฝ้ายไปย้อมสีที่ต้องการ ในบางท้องถิ่น นิยมนำเส้นด้ายไป “ฆ่า” ด้วยการชุบน้ำข้าวหรือให้ฝ้ายมีความเหนียว คงทนไม่ขาดง่าย  จากนั้นจึงนำไปใส่กงเพื่อกวักเส้นด้าย แล้วนำมาปั่นหลอดแยกเส้นฝ้ายออกเป็น 2 จำพวกคือ เส้นยืน และเส้นพุ่ง เพื่อใช้ในการทอผ้าต่อไป

 

 

 

ต้นฉบับ http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_1/B_5/C_3/c_3.html


<- ย้อนกลับไปยังกระบวนการทอผ้า ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ผ้ามหาวิทยาลัยนเรศวร