ข้อมูลผ้าไทยภาคเหนือตอนล่าง - ผ้าเมืองพิษณุโลก

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
24/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ข้อมูลทั่วไปจังหวัดพิษณุโลก

   “พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ หวานฉ่ำแท้กล้วย ตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา”


จังหวัดพิษณุโลก เดิมมีชื่อเรียกว่า “เมืองสองแคว” เนื่องจากเมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย  ใน สมัยสุโขทัยจังหวัดพิษณุโลกมีฐานะเป็นเมืิองลูกหลวง  ต่อมาในสมัยอยุธยา  พิษณุโลกทวีความสำคัญมากขึ้น  เพราะเป็นเมืองกึ่งกลางระหว่างกรุงศรีอยุธยา และอาณาจักรฝ่ายเหนือ และเคยเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยานานถึง 25 ปี ในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ หลังจากนั้นพิษณุโลกได้กลับมามีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงเช่นเดิม

ความสำคัญของเมืองพิษณุโลกในสมัยอยุธยา  คือ  เป็น เมืองที่กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาจะส่งพระมหาอุปราช หรือ พระราชโอรสมาปกครอง และยังเป็นเมืองหน้าด่านที่จะสกัด กั้นกองทัพพม่า นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่สมเด็จพระนเรศวร  มหาราช วีรกษัตริย์ของไทยทรงพระราชสมภพ  และมีเหตุการณ์ที่สำคัญอีก

เหตุการณ์นั่นคือในสมัยกรุงธนบุรีเมื่อครั้ง กองทัพของอะแซหวุ่นกี้มาตีเมืองพิษณุโลกในปี พ.ศ.2318 อะแซหวุ่นกี้ต้องเผชิญการต่อสู้อย่างทรหดกับเจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ถึงขนาดต้องขอ ดูตัว และได้ทำนายเจ้าพระยาจักรีว่าต่อไปในภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์

จังหวัดพิษณุโลก เป็นจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่างมีพื้นที่ประมาณ 10,815 ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำน่านซึ่งไหลผ่านบริเวณตัวเมือง มีอาณาเขตติดต่อกับ  จังหวัด อุตรดิตถ์และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ทางทิศ เหนือ ทิศใต้  ติดต่อกับจังหวัดพิจิตร  ทิศตะวันออก  ติดต่อกับจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดเลย ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัด สุโขทัยและจังหวัดกำแพงเพชร  แบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ คือ  อำเภอเมือง  อำเภอวังทอง  อำเภอพรหมพิราม   อำเภอบางระกำ อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอนครไทย อำเภอวัด โบสถ์ อำเภอชาติตระการ และอำเภอเนินมะปราง

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_5/B_8/b_8.html


การทอผ้าของจังหวัดพิษณุโลก

     กลุ่มชนที่ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดพิษณุโลก มีคนที่อาศัยอยู่ดั้งเดิม นอกนั้นเป็นคนที่อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นกลุ่มชนชาวไท  - ลาว  ได้แก่ ไทครั่ง  ที่ได้ทำการอพยพมาสมัย รัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนไทดำหรือลาวโซ่งนั้น  ได้อพยพมาจากทางเพชรบุรี กลุ่มชนชาวเขา ได้แก่ ม้งและกะเหรี่ยง และกลุ่มชนชาวอิสาน อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอมีทั้งกี่บ้านและ กี่กระตุก  ซึ่งมีการทออยู่ดั้งเดิมเพื่อใช้เอง  ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  และจากศูนย์
ส่ง เสริมศิลปาชีพ ทอขึ้นเพื่อจำหน่าย

วัสดุที่ใช้มีทั้งฝ้ายไหม และด้ายสำเร็จรูป จากการที่กลุ่มชนในจังหวัดพิษณุโลกส่วน ใหญ่อพยพมาจากที่อื่น ดังนั้นจึงได้นำเอาวัฒนธรรมการทอผ้าและลวดลายเข้ามา  ทำให้ลวดลายส่วนใหญ่ ไม่ใช่ลวดลายดั้งเดิมของจังหวัด แต่ในปัจจุบันทางราชการเข้าไปสนับสนุนต้องการให้ทอผ้าพื้นเมืองสีม่วง ลวดลายดอกปีบ ให้เป็นสัญลักษณ์ผ้าพื้นเมืองของจังหวัดพิษณุโลก

แหล่งทอผ้าจังหวัดพิษณุโลก

  • อำเภอวังทอง       บ้านม่วงหอม บ้านม่วงหอมน้อย ตำบลแก่งโสภา
  • อำเภอเนินมะปราง  บ้านซำรัง บ้านหนองหญ้าปล้อง ตำบลชมพู
  • อำเภอชาติตระการ  บ้านน้ำภาคน้อย บ้านนาเมือง บ้านสวนเมี่ยง บ้านเนินสุวรรณ บ้านเทอดชาติ บ้านศูนย์ศิลปาชี
  • อำเภอนครไทย     บ้านป่าปอปิด บ้านแก่งทุ่ง ตำบลบ่อโพธิ์

แหล่งข้อมูล
1.  ผ้าทอพื้นเมือง - การสำรวจผู้ผลิตทั่วประเทศ  มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543
2.  จากการสัมภาษณ์นางวันทา  โกสากุล
3.  จากการสัมภาษณ์นายกร  จันทร์หอม
4.  จากการสัมภาษณ์นางนิภา  สาศิริ
5.  จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่พัฒนาการอำเภอชาติตระการ    

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_5/B_8/C10/c10.html


ผ้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพิษณุโลก

1. ผ้าม่วงหอม ของบ้านม่วงหอม   ตำบลแก่งโสภา  อำเภอวังทอง เป็นผ้ามัดหมี่ ทอด้วยกี่กระตุก วัสดุที่ใช้เป็นด้ายสำเร็จรูปหรือไหมประดิษฐ์ ย้อมด้วยสีเคมี เอกลักษณ์ลวดลายผ้าที่สำคัญ คือ ลายดอกปีบ ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลก

ส่วนลวดลายดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา ได้แก่ ลายข้าวหลามตัดใหญ่ ลายดาวกระจาย  เป็นต้น  นอกจากนี้ยังได้มีลวดลายประยุกต์ที่กลุ่มทอผ้าบ้านม่วงหอมส่งเข้าประกวด และได้รับรางวัลในประเภทมัดหมี่อีกหลายลาย เช่น

ลายเชิงเทียนผสมผีเสื้อ ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ  1  จากการประกวดหัตถกรรมผ้าทอสำเร็จรูป เมื่อ 6 ธ.ค. 2541
ลายดอกปีบ   ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดผ้าพื้นเมือง จ.พิษณุโลก เมื่อ 8 มี.ค. 2543
ลายพุ่มข้าวบิณฑ์   ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 จากการประกวดผ้าพื้นเมือง จ.พิษณุโลกเมื่อ 8 มี.ค. 2522

2. ผ้าม่วงหอม บ้านน้อยม่วงหอม    เป็นกลุ่มที่แยกมาจากกลุ่มทอผ้าบ้านม่วงหอม เป็นผ้ามัดหมี่   ทอด้วยกี่กระตุก วัสดุที่ใช้เป็นด้ายสำเร็จรูปหรือไหมประดิษฐ์  ลวดลายที่ทอ ได้แก่  ลายจรวด  ลายร่างแห  ลายเมวดี ลายดาวกระจาย นอกจากการทอแบบมัดหมี่แล้ว    ยังมีการทอด้วยการขิดซึ่งได้รับการฝึกอบรมจากวิทยากรกลุ่มทอผ้าบ้านคลองเตย  ลวดลายของผ้าขิด ได้แก่ ลายดอกแก่น  ผลิตภัณฑ์ที่ทำ  คือ ผ้าขาวม้า ผ้าพื้น ผ้าพื้นสอดดิ้น ผ้้ามัดหมี่และผ้าขิด

3. ผ้าทอบ้านคลองเตย อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นการทอด้วยวิธีการมัดหมี่ การขิด ชาวบ้าน ที่ทอผ้าที่นี่ได้อพยพมาจากจังหวัดยโสธร   อุปกรณ์ที่ใช้เป็นกี่กระตุก   วัสดุที่ใช้เป็นด้ายสำเร็จรูปหรือไหม ประดิษฐ์ ย้อมด้วยสีเคมี ผลิตภัณฑ์ที่ทำ คือ ผ้าทอตัวอักษร ผ้าขาวม้า ผ้าถุงมัดหมี่ ผ้าลายสก๊อต ผ้าลายเกร็ด เต่า เอกลักษณ์ของผ้าทอที่นี่ คือผ้าขิดผสมมัดหมี่ ลวดลายโบราณ เช่น ลายไทย ลายขอแมงมุม ลายงูเหลือม ลายมัดหมี่สับปะรด ลายดอกพิกุล ลายดอกมะลิ เป็นต้น และผ้าสายฝน

ผ้าสายฝนมี 2 ลักษณะ คือ

  • ผ้าสายฝนที่เกิดจากการมัดย้อมเส้นด้าย    กรรมวิธีคล้ายกับการ ย้อมมัดหมี่    แต่จะทอในลักษณะผ้าพื้น   ผืนผ้าที่ออกมาจะมีลักษณะสีเหลื่อมล้ำกัน
  • ผ้าสายฝนที่เกิดจากการควบเส้น เป็นการนำเส้นด้าย 2 สี ปั่นเข้า ด้วยกันในกระสวย ซึ่งเป็นด้ายพุ่งบวกกับเส้นยืนอีก 1 เส้น

4. ผ้าทออำเภอนครไทย  ชาวบ้านที่นี่อพยพมาจากอำเภอด่านซ้าย จ.เลย อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอด้วยกี่พื้นบ้านและกี่กระตุก วัสดุ ที่ใช้เป็นด้ายสำเร็จรูปหรือไหมประดิษฐ์ เดิมย้อมด้วยสีธรรมชาติ        ปัจจุบันย้อมด้วยสีเคมี ลวดลายของมัดหมี่เป็นลายดอกแก้ว ลายขาเปีย ลายขออุ้มหน่วย เป็นต้น นอกจากมัดหมี่แล้วยังมีการทอลายขิด
ปัจจุบันได้รับการส่งเสริมจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม


  
5. ผ้าทออำเภอเนินมะปราง มีการทอผ้าอยู่ 2 หมู่บ้าน คือ บ้าน ซำรัง และบ้านหนองหญ้าปล้อง พื้นเพดั้งเดิมของชาวบ้านที่นี่อพยพมาจากอิสาน เช่น จังหวัดอุบลราชธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมาและเพชรบูรณ์ เป็นต้น อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอเป็นกี่กระตุก และ กี่พื้นเมือง วัสดุที่ใช้เป็นฝ้าย ไหม และด้ายโทเร ซึ่งที่นี่ได้ทำการเลี้ยงไหมเอง ประเภทผ้าที่ทอมีผ้าไหมมัดหมี่ ลวดลายที่ทอ เช่น ลายนกต้นสน ลายสายสัมพันธ์ ลายดอกจำปี เป็นต้น ผ้าไหมพื้น ผ้าขาวม้า ผ้าหน้าหมอน


   
6. ผ้าทออำเภอชาติตระการ
  ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนลาวอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอเป็นกี่
กระตุก วัสดุที่ใช้เป็นไหมและฝ้าย ลักษณะการทอเป็นการทอแบบมัดหมี่   ขณะนี้ทางราชการเข้าไปสนับสนุนโดยให้ทอผ้าสีม่วงลวดลายดอก ปีบ  ลายลูกแก้ว  ลายลูกกรง  ลายสับปะรด นอกจากมัดหมี่แล้วยังมีการทอจกด้วยผลิตภัณฑ์ที่ทำเป็นผ้าซิ่น

 ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_5/B_8/C11/c11.html

กลับไปหน้ารวม link ข้อมูลผ้าภาคเหนือ จากพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร