ข้อมูลผ้าไทยภาคเหนือตอนล่าง - ผ้าเมืองอุทัยธานี

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
24/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ข้อมูลทั่วไปจังหวัดอุทัยธานี

“อุทัยธานี เมืองพระชนกจักรี ปลาแรดรสดี ประเพณีเทโว ส้มโอบ้านน้ำตก มรดกห้วยขาแข้ง แหล่งต้นน้ำสะแกกรัง ตลาดนัดดังโคกระบือ”
จังหวัดอุทัยธานี เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่ น้ำสะแกกรัง  มีการค้นพบร่องรอยของการอยู่อาศัยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์  โดยจะพบหลักฐานได้จากภาพเขียนสีที่เขาปลาร้า ในสมัยสุโขทัย   สมัยอยุธยาอุทัยธานี ไม่ค่อยมีบทบาททางการเมือง มากนัก  และจากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพบว่าจังหวัดอุทัยธานีมีการเจริญเติบโตในสมัย รัตนโกสินทร์ช่วงปี พ.ศ. 2398-2500 เนื่องจากมีการค้าข้าวในเขตลุ่มน้ำสะแกกรังและข้าวกลายเป็นสินค้า ส่งออก จึงทำให้มีการอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนมากขึ้น   จังหวัดอุทัยธานีเป็นจังหวัดใน เขตภาคเหนือตอนล่างมี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาสูง  สภาพป่าไม้อุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางธรรมชาติ   จนทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์กร UNESCO  และยังเป็นตำนานการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติของผู้ชายที่ชื่อ “ สืบ นาคะเสถียร”

จังหวัดอุทัยธานีมีพื้นที่ประมาณ  6,730 ตารางกิโลเมตร  มีอาณาเขตทางทิศเหนือติดต่อกับอำเภอพยุหคีรี อำเภอโกรกพระ และ อำเภอลาดยาว   จังหวัดนครสวรรค์    ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอวัดสิงห์และ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท อำเภอเดิมบางนางบวช   จังหวัดสุพรรณบุรี  ทิศตะวันออก ติดต่ออำเภอพยุหะคีรี  จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอมโนรมย์  จังหวัดชัยนาท  โดยมีแม่น้ำเจ้า พระยาเป็นเส้นแบ่งเขตแดน    ส่วนทิศตะวันตก   ติดต่อกับอำ เภออุ้มผาง จังหวัดตาก อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรีี การปกครองแบ่งออกเป็น 8 อำเภอ  คือ    อำเภอเมืองอุทัยธานี   อำเภอลานสัก    อำเภอหนองขาหย่าง อำเภอหนองฉาง   อำเภอทัพทัน  อำเภอบ้านไร่  อำเภอสว่างอารมณ์ และอำเภอห้วยคต

 ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_5/B_9/b_9.html

 

การทอผ้าของจังหวัดอุทัยธานี


กลุ่มชนที่ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดอุทัยธานี  ได้แก่คนไทยดั้งเดิมซึ่งอาศัยอยู่เขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง  ชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาช่วงก่อนและหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 และกลุ่มชาวลาวซึ่งแบ่งเป็น 2 พวก  หนึ่งคือพวกที่อพยพเข้ามาอยู่ใน  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   แล้วได้อพยพเข้ามาอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานีเนื่องจากประสบปัญหาภาวะขาดแคลน ที่ทำกินและภัยแล้ง สองกลุ่มคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาสมัยรัชกาลที่ 3  เพื่อเสริมกำลังให้กับพระนคร

ชาวลาวที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอุทัยธานีจะเป็นพวกเชื้อสาย   “ไทครั่ง” กลุ่มคนลาวเมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยถึงแม้จะกลมกลืน เป็นคนไทยหมดแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมนั่นคือ การทอผ้า การทอผ้าของจังหวัดอุทัยธานี เป็นการทอด้วยกี่พื้นบ้าน(กี่พุ่ง) และกี่กระตุก วัสดุที่ใช้ในการทอมีทั้งไหมและฝ้าย   ลักษณะการทอมีทั้งมัดหมี่ ขิด และจก

สามารถแยกการทอตามลักษณะการใช้งานได้ 2 ประเภท

1.  การทอเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน   ได้แก่  ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ผ้าโจงกระเบน ผ้าสไบ  ผ้าเบี่ยง   ผ้าคลุมไหล่ ผ้าห่ม ผ้าหน้ามุ้ง ผ้าม่าน หมอนขิด เป็นต้น

เนื่องจากวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทครั่ง   ผู้ชายจะนุ่งผ้าโสร่งตามะกอกในวิถีชีวิตประจำวัน   ผ้า โจงกระเบนมัดหมี่ ผ้าม่วงโรง ใช้ในโอกาสเทศกาลงาน บุญ ส่วนผู้หญิงจะใช้ซิ่นซึ่งบอกถึงสถานภาพและโอกาสของผู้สวมใส่ เด็กผู้หญิงจะใช้ซิ่นดำดาน หญิงสาวถ้าอยู่กับบ้านจะนุ่งซิ่นแหล้ เมื่อออกงานบุญถึงจะนุ่งซิ่นตีนจก โดยตัวซิ่นจะเป็นซิ่นสิบซิ่ว ซิ่นหมี่ โลด ซิ่นหมี่ตาแล้วต่อ ต่อซิ่นด้วยตีนจก ส่วนหญิงสาวจะใช้ตีนแดง หญิงที่สูงอายุจะใช้ตีนดำโครงสร้างของผ้าซิ่นประกอบด้วย


หัวซิ่น 
  ซึ่งนิยมต่อด้วยผ้าฝ้ายสีแดง  ทำลายริ้วในแนวขนานกับลำตัว อาจใช้เทคนิคการขิดทำให้เกิดลวดลาย
     ตัวซิ่น   นิยมทอด้วยมัดหมี่โดยการใช้ วิธีมัดหมี่เส้นพุ่ง โดยย้อมครั้งเดียวและใช้วิธีแต้มหรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า แจะ ในการให้สีสันลวดลายเพิ่มเติม ซึ่งแบ่งย่อยตัวซิ่นออกเป็น
     1.  ซิ่นหมี่ตา ใช้เทคนิคการมัดหมี่สลับกับการจกหรือขิด ทำให้เกิดลวดลายขนานกับลำตัวลวดลายของมัดหมี่จะเป็นลาย นาค หรือ หงส์เป็นส่วนใหญ่
  2.  ซิ่นหมี่ลวด เป็นซิ่นที่ใช้เทคนิคการมัดหมี่และทอต่อเนื่องโดยไม่มีอะไรมาคั่น    ทำให้เกิด ลวดลายอย่างต่อเนื่องลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ลายหมี่สำเภา
3.  ซิ่นหมี่น้อย  เป็นซิ่นที่ใช้เทคนิคการมัดหมี่เป็นลวดลายแถบเล็ก ๆ สลับด้วยฝ้าย หรือไหม พื้นสีต่าง ๆ
4.  ซิ่นถ่าน  ใช้เทคนิคการจกหรือขิดตัวซิ่นทั้งผืน ลวดลายที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ  ลายขิดมะ เขือผ่าโผง


   ตีนซิ่น จะเป็นการทอด้วยเทคนิคการจก ลวดลายหลัก เช่น ลายขอซ้อนดอกกาบ ลายกาบสาม เป็นต้น ส่วนลายประกอบ เช่น ลายอ้อแอ้ ลายสร้อยสา ลายเขี้ยวหมาเป็น
ลายเขี้ยวหมาตาย เป็นต้น

     2.  การทอเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ผ้าปกหัวนาค ผ้าอาสนสงฆ์ ผ้าตุง ผ้าสัมมา เป็นต้น สำหรับผ้าตุงที่ นี่ ผู้ทอนิยมทอชื่อตัวเองใส่ลงไปด้วย ซึ่งเป็นความเชื่อ ความ
ศรัทธา ว่าการทอผ้าตุงถวายวัดเหมือนกับสร้างพระพุทธรูป
เช่นกัน

นอกจากชาวพื้นที่ราบแล้ว จังหวัดอุทัยยังมีชนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่นิยมการทอผ้า  คือชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง บ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้าของชาวกระเหรี่ยงนั้นกล่าวกันว่าเป็นที่ทอ ผ้าแบบเก่าแก่ที่สุดและง่ายที่สุดเรียกว่า “กี่เอว” ดังนั้นผ้าทอของชาวกะเหรี่ยงจะมีหน้าแคบ จึงต้องนำมาต่อกันเพื่อเย็บเป็นเสื้อผ้า และ ผ้าซิ่น

แหล่งทอผ้าที่มีชื่อเสียง

  • อำเภอทัพทััน      บ้านโคกหม้อ ตำบลโคกหม้อ
  • อำเภอบ้านไร่      บ้านเจ้าวัด ตำบลเจ้าวัด บ้านทัพคล้าย บ้านทัพหลวง ตำบลทัพหลวง
    บ้านนาตาโพ ตำบลบ้านบึง  บ้านหนองจอก  ตำบลหนองจอก

แหล่งข้อมูล
1.  สุวิมล วัลย์เครือ และชนิดา ตั้งถาวรสิริกุล ผ้าลาว : การอพยพเคลื่อนย้ายของวัฒนธรรมผ้าจากลุ่มแม่น้ำโขงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา งานวิจัยทุนสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2536
2.  ผ้าทอพื้นเมือง - การสำรวจผู้ผลิตทั่วประเทศ   มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543
3.  มาลี แดงดอกไม้ ผ้าทอลายโบราณ ภูมิปัญญาพื้นบ้านอุทัยธานี บริษัทแสงปัญญาเลิศจำกัด, 2542
4.  การสัมภาษณ์ นางจำปี ธรรมศิริ กลุ่มทอผ้าโบราณ บ้านนาตาโพ อำเภอบ้านไร่
5.  การสัมภาษณ์ นางอรอนงค์ วิเศษศรี กลุ่มทอผ้าบ้านโคกหม้อ อำเภอทัพทัน

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_5/B_9/C12/c12.html


ผ้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุทัยธานี
ผ้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุทัยธานี ได้แก่

1.  ผ้าพื้นเมือง บ้านโคกหม้อ   อำเภอทัพทัน   การทอผ้าพื้นเมืองที่นี่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
1.1  กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านโคกหม้อ เป็นการทอด้วยไหม อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอ เน้นเครื่องใช้แบบโบราณ ใช้กี่พื้นบ้าน หรือ กี่มือ สีที่ใช้ย้อมเป็นสีเคมี เพื่อให้เส้นไหมที่ย้อมมีสีที่สม่ำ
เสมอและสีไม่ตก ศิลปะการทอผ้าไหมของบ้านโคกหม้อมีจุดเด่น
อยู่ 3 ลักษณะ คือ การทอแบบยกดอก การจก และมัดหมี่ ผ้าที่ทอมีทั้งผ้าไหมพื้น และผ้าไหมมัดหมี่
1.2  กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกหม้อ เป็นการทอด้วย
วัสดุที่เป็นด้ายสำเร็จรูป หรือไหมประดิษฐ์ อุปกรณ์ที่ที่ใช้ในการ
ทอเป็น กี่กระตุก  ผ้าที่ทอมีทั้งผ้าพื้นที่เรียกว่า ผ้าสายฝน ผ้าขาวม้า เป็นต้น


     2.  ผ้าทอ อำเภอบ้านไร่ เป็นการทอด้วยกี่พื้นบ้าน  วัสดุที่ใช้ เป็นฝ้าย ลวดลายที่ทอนั้นเป็นลวดลายโบราณที่สืบทอดกันต่อมา โดยเป็นการนำวิถีชีวิต  และสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวันมาถ่ายทอดลงบนผืนผ้าการย้อมมีทั้งใช้สี เคมี  และสีธรรมชาต ลวดลาย เป็นลวดลายโบราณ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ลายนาค  ลาย ขอขื่อ ลายดอกดาว ลายขอหลวง ลายสัตว์ เป็นต้น

ต้นฉบับ :  http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_5/B_9/C13/c13.html

กลับไปหน้ารวม link ข้อมูลผ้าภาคเหนือ จากพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร