ลวดลายพรรณพฤกษาในผ้าขิด กับความเชื่อของชนเผ่าไท

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
24/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

 ลวดลายพรรณพฤกษาในผ้าขิด กับความเชื่อของชนเผ่าไท

ผ้าขิดเป็นผ้าโบราณของชนเผ่าไท บรรพชนเผ่าไทน่าจะได้คิดเทคนิคการทอผ้าขิดมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งยังอยู่รวมกันก่อนที่จะแยกออกเป็นเผ่าต่าง ๆ เพราะปรากฏการทอผ้าลายขิดที่เป็นลวดลายร่วมกันอยู่เป็นจำนวนมาก ลวดลายขิดที่ไทเผ่าต่าง ๆทอลวดลายที่เหมือนกัน ถือได้ว่าเป็นลวดลายขิดดั้งเดิมของชนเผ่าไท ส่วนใหญ่เป็นลวดลายที่ได้มาจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว อาทิ ลายคน ลายสัตว์ ลายพรรณพฤกษาลายสิ่งของเครื่องใช้ เป็นต้น

ลวดลายขิดดั้งเดิมดังกล่าวมักเป็นลายที่เกิดจากจินตนาการและความเชื่อ ของชนเผ่าไท ดังเช่น ลวดลายพรรณพฤกษาในผ้าขิด บรรพชนเผ่าไทได้ประดิษฐ์ลวดลายขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ มาตั้งแต่ครั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ลวดลายพรรณพฤกษาในผ้าขิดที่บรรพชนเผ่าไทน่าจะได้คิดขึ้นตั้งแต่ยุคหินใหม่ ลายแรกคือ


ภาพผ้าขิดไทอีสาน ลายตุ้มมะจับ(หมากจับ)

ลายหมากจับ ซึ่งสันนิษฐานว่าคงจะได้พัฒนามาจากลายกากบาท อันเป็นลวดลายสมัยก่อนประวัติศาสตร์ดังหลักฐานการพบที่ถ้ำคน วัดพ่อตาลูกเขยจังหวัดอุดรธานี , ถ้ำผาแต้ม อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหารและเพิงหินหลังถ้ำมืด อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาได้มีการพัฒนาลวดลายขิดหมากจับให้เหมือนกระจับยิ่งขึ้น ซึ่งชาวไทอีสานจะทอขึ้นเพื่อใช้สำหรับแขก (วิมลพรรณ 2516) ในผ้ามัดหมี่ไทอีสานก็จะมัดย้อมและทอเป็นลายหมากจับเช่นกัน ส่วนในลวดลายไทพัฒนาเป็นลายบัวกระจับ

   
ลายกากบาท ที่ถ้ำคน จังหวัดอุดรธานี , ถ้ำผาแต้มจังหวัดอุบลราชธานี และเพิงหินหลังถ้ำมืดจังหวัดมุกดาหาร

ลายพรรณพฤกษายุคหินใหม่ ลายต้นดอกไม้พบที่ถ้ำไก่ เทือกเขาภูพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้พัฒนาทอเป็นลายต้นสนหรือลายสร้อยใบบุ่นในผ้าขิดไทอีสาน และลายต้นสนในผ้ามัดหมี่ไทอีสาน การนำลายต้นสนมาเป็นลายของผ้าขิดและผ้ามัดหมี่ เพราะชาวไทอีสานมีความเชื่อว่าชีวิตคนควรจะมีระเบียบวินัยเช่นเดียวกับใยของ ต้นสนถ้าใครปฏิบัติได้ก็จะทำให้ชีวิตมีความสุขสงบ และมีระเบียบในตัวเอง (ประไพศรี 2536)

  ลวดลายพรรณพฤกษา ที่พบในสมัยหินใหม่คือลายขุดไข่ปลา พบที่ถ้ำผีหัวโตจังหวัดกระบี่ เขียนเป็นภาพคนสวมเสื้อคลุมยาวมีลวดลายประดับเป็นจุด ๆ ได้พัฒนาเป็นลายหมี่เมล็ดงาในมัดหมี่ไทอีสาน ชาวไทอีสานมีความเชื่อว่าเมล็ดงาเป็นเม็ดเล็ก ๆ ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน เมื่อนำมาทอลงบนผืนผ้าจะมีความหมายไปในทางมงคล หมายถึง การมีความสามัคคีอยู่รวมกันเป็นหมู่เล่า(ประไพศรี 2536)

ในสมัยโลหะพบลวดลายบนภาชนะดินเผาลายเขียนสีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานีลวดลายพรรณพฤกษาลายแรกคือ ลายใบไม้บนภาชนะดินเผาสีดำมีลายขิดสมัยต้นอายุราว 5,600 – 3,000 ปีซึ่งได้พัฒนามาเป็นลายบักโม(แตงโม) ในมัดหมี่ไทอีสาน และทอเป็นลายหมากโมในขิดไทอีสาน ชาวไทอีสานจะทอลายหมากโมหรือแตงโมนี้เก็บไว้ใช้ในครัวเรือน (วิมลพรรณ 2516)

ลวดลายพรรณพฤกษาในสมัยโลหะ ลายที่สองคือ ลายคล้ายผักกูด บนภาชนะดินเผาลายเขียนสี อายุราว 2,300 – 2,000 ปี ซึ่งได้พัฒนาทอเป็นลายขิดกูดหรือขิดกาบหลวง (กาบใหญ่) และลายหมี่กาบหลวง ซึ่งชาวไทอีสานจะทอขึ้นเพื่อใช้สำหรับไหว้ผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย (วิมลพรรณ 2516) และลายคล้ายผักกูดบนภาชนะดินเผาลายเขียนสีสมัยโลหะได้พัฒนาทอเป็นลายขิดกาบ น้อย ในผ้าขิดไทอีสาน ลายนี้จะใช้สำหรับแต่งห้องรับลูกเขยในงานแต่งงาน(วิมลพรรณ 2516)

ลวดลายที่สามที่เป็นลายพรรณพฤกษาพบในสมัยโหละคือลายดอกแก้ว บนภาชนะดินเผาลายเขียนสีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดธานี อายุราว 2,300 – 1,800 ปี ได้พัฒนาทอเป็นลายขิดดอกแก้ว ดังเช่น ขิดไทขาวที่เวียดนาม ลายขิดดอกแก้ว ชาวไทอีสานจะใช้สำหรับไหว้ผู้ใหญ่ (วิมลพรรณ 2516)คำว่า ดอกแก้วในภาษาถิ่นอีสานหมายถึงดอกพิกุล ซึ่งเป็นลวดลายโบราณของชนเผ่าไทย


ลายต้นดอกไม้ ที่ถ้ำไก่ จังหวัดอุดรธานี

ส่วนลายดอกไม้สีกลีบที่พบหลักฐานมาตั้งแต่สมัยหินใหม่ที่ถ้ำรูป จังหวัดกาญจนบุรีได้พัฒนามาเป็นลายดอกไม้สี่กลีบในกรอบรูปสีเหลี่ยมจตุรัส หรือรูปขนมเปียกปูน เรียกว่าลายประจำยามหรือลายดอกจันทน์มาตั้งแต่สมัยก่อนทวารวดี ดังปรากฏที่แหล่งโบราณคดีจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมาในสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 11 พบลวดลายดอกจันทน์บนเรือนแก้วดินเผาสมัยศรีวิชัย ที่เมืองเก่า อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีเป็นลายประจำยามดอกจันทน์ สลับลายดอกบัวคู่ ปรากฏการทอลายดอกจันทน์บนผ้าขิดไทแทบทุกเผ่า ดังเช่นผ้าสไบไทลาย ลายขิดดอกจันทน์ ลายนี้ชาวไทอีสานจะใช้ในเทศกาลสงกรานต์ (วิมลพรรณ 2516)

ลวดลายพรรณพฤกษาของชนเผ่าไทอีกลายหนึ่ง คือ ลายดอกสร้อย พบหลักฐานลวดลายในสมัยสุโขทัยบนลายปูนปั้นฐานวัดเจดีย์สี่ห้องที่ จังหวัดสุโขทัย ผ้าไทได้พัฒนาทอเป็นลายดอกสร้อยดังเช่น ผ้าสไบไทลาว ลายขิดดอกสร้อย ชาวไทอีสานจะทอลายขิดดอกสร้อยเพื่อใช้สำหรับแต่งห้องรับแขก (วิมลพรรณ 2516)

นอกจากนั้นยังมีลวดลายพรรณพฤกษาในผ้าไททั้งผ้าขิดและผ้ามัดหมี่บรรพชนเผ่าไทได้ ทอขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆตามความเชื่อของตน อาทิเช่นขิดดอกเบ็งหรือหมากเบ็งหมายถึง บายศรีที่ใช้ในพิธีสู่ขวัญ ชาวไทอีสานจะใช้สำหรับทำบุญในเทศกาลต่างๆ (วิมลพรรณ 2516) ส่วนในผ้ามัดหมี่จะทอเป็นลายหมากเบ็งเช่นกัน ขิก/ส่วนขิดดอกขิก หรือดอกขจร ชาวไทอีสานจะเก็บไว้ใช้ทำบุญในงานบวชนาค (วิมลพรรณ 2516)

 


ลายใบไม้บนภาชนะดินเผาลายเขียนสีที่บ้านเชียงจังหวัดอุดรธานี
 
ลายดอกหนามแท่ง
เป็นดอกขนาดเล็กคล้ายดอกพิกุลแต่มีเพียง 4 กลีบ ต้นมีหนามแหลมคม ผลใช้แทนสบู่ชาวไทอีสานทอเป็นลายดอกหนามแท่ง เพราะมีดอกสี่กลีบนี้ได้แสดงว่าเป็นคนมีความหมายถึง 4 ทิศหรือธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟผู้ทอลายนี้ได้แสดงว่าเป็นคนมีความประณีตละเอียดลออมาก(ประไพศรี 2536)

ลายดอกผักแว่นผักแว่นจะเกิดเป็นกลุ่มและโตเร็ว ผู้ทอลายนี้ได้แสดงว่าเป็นคนที่มีความสามัคคีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีความ ประณีตละเอียดอ่อนและมีความอดทน(ประไพศรี 2536)

ลายหมากบกหรือกระบกเป็นไม้ยืนต้นรับประทานเมล็ดข้างใน มีรสมัน มีลูกมากที่สุด ผู้ทอลายนี้ได้แสดงถึงความอดทนและมีความอุดมสมบูรณ์ต่อไปในภายหน้า(ประไพศรี 2536)


ภาพขิดไทอีสาน ลายหมากเข็ง (บายศรี)

                      


                   
มัดหมี่ไทอีสาน ลายหมากเบ็ง (บายศรี)

ลายพุดซ้อนก็คือลายเดียวกับลายขิดใบฝ้าย ซึ่งพัฒนามาจากลายไท คือ ลายใบเทศหรือใบฝ้ายเทศ ซึ่งก็คือใบพุดตานนั่นเอง ลายดอกพุดซ้อน รวมทั้งลายดอกไม้ไทอีกหลายชนิดคือ ดอกแก้ว ดอกจันทน์ ดอกสร้อย ดอกบานเย็น เป็นต้น เป็นสัญลักษณ์ของความดีงามชาวไทอีสานจะทอขึ้นเพื่อนำไปถวายพระ เพื่อแสดงความเคารพนับถือ และรู้จักกาละเทศะ (ประไพศรี 2536)

ลวดลายพรรณพฤกษาในผ้าขิดที่บรรพชนเผ่าไทได้คิดทอขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อของตนเป็นลวดลายที่ประณีตงดงามสะท้อนให้เห็นความเป็นศิลปินอยู่ในสายเลือด ของชาวไท และสะท้อนถึงภูมิปัญญาอันสูงส่งของบรรพบุรุษของเรา สมควรที่อนุชนรุ่นหลังจะได้ช่วยกันสืบสานมรดกความเชื่อเกี่ยวกับการทอผ้า ขึ้นในโอกาสต่างให้คงอยู่คู่ไทตลอดไป

ขอบคุณหนังสือ SILK จัดทำเมื่อเดือน เมษายน 51
ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/NaNatextile2008/Khit%20textile/Khi...