วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

รู้จักผ้าซิ่นหมี่ตา

ผ้าซิ่นตา หรือผ้าซิ่นหมี่ตา กลุ่มวัฒนธรรมลาวครั่งพูดภาษาในตระกูลไทลาว อาศัยอยู่ในบริเวณจังหวัดอุทัยธานี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดชัยนาทและจังหวัดพิจิตร ในภาคกลางของประเทศไทยได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั่งแต่สมัยรัตนโกสินทร์โดย ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองเวียงจันทน์และบริเวณใกล้เคียง ในฝั่งซ้ายของลุ่มน้ำโขงผ้าซิ่นตาเป็นผ้าซิ่นที่ผู้หญิงในกลุ่มวัฒนธรรมลาว ครั่งทอไว้ใช้นุ่งในโอกาสพิเศษ อาทิ นุ่งเป็นผ้าซิ่นเจ้าสาวในประเพณีแต่งงาน และใช้นุ่งไปในงานบุญประเพณีสำคัญๆ ตลอดจนใช้นุ่งไปทำบุญที่วัด ฝีมือความประณีตงดงามของผ้าซิ่นตาแสดงถึงความละเอียดอ่อนของจิตใจผู้ทอเป็น ความภาคภูมิใจในความดีงาม ฝีมือความสามารถในการทอผ้าของตนให้ผู้อื่นได้ชื่นชม
ผ้าซิ่นตากลุ่มวัฒนธรรมลาวครั่งดั้งเดิมจะมีทั้งการทอจากเส้นใยฝ้ายและเส้นใยไหมผสมกันนิยมสีสันสดใส สะดุดตาสะดุดใจผู้พบเห็น



ผ้าซิ่นตากลุ่มวัฒนธรรมลาวครั่งจะประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

    1.ส่วนตีนซิ่น จะเป็นตีนจกกล่าวคือเชิงซิ่นนี้จะทอด้วยเทคนิคการจก โดยนิยมทำเป็นตีนแดงใช้ด้ายเครือเส้นยืนสีแดงและเส้นด้ายพุ่งสีแดง ส่วนเส้นพุ่งพิเศษในการจกจะใช้สีสันสดในอาทิ เหลือง เขียว ส้ม แดง ครีม เป็นต้นลักษณะโครงสร้างลายค่อนข้างใหญ่ และนิยมจกเฉพาะส่วนบนของตีนซิ่น เว้นพื้นแดงส่วนล่าง

2.ส่วนตัวซิ่น
เป็นซิ่นตะเข็บเดียวทอด้วยเส้นไหมหรือเส้นฝ้ายโดยจะต้องทอเทคนิค “มัดหมี่” สลับกับการทอด้วยเทคนิค “ขิด” ลายมัดหมี่ดั้งเดิมนิยมมัดลายนาคหรือลายหงส์ส่วนลายขิด นิยมทอลายดอกแก้วการทอจะทอเป็นลายริ้วตามขวางแล้วนำมาเย็บเป็นผ้าซิ่นลายตาม ยาวของลำตัวคำว่า “ผ้าซิ่นตา” มาจากการเรียกส่วนตัวซิ่นที่การทอลายริ้วคั่นกับมัดหมี่ซึ่งเรียกกันเต็ม ๆ ว่า ผ้าซิ่นหมี่ตา โดยมีทั้งหมี่ตาใหญ่และหมี่ตาน้อย

    3.ส่วนหัวซิ่น มีขนาดประมาณ 1 คืบเป็นผ้าฝ้ายทอเป็นลายริ้วสีสลับขิดสำหรับผืนที่นำมาประกอบคำบรรยายผืนนี้ ไม่ได้ต่อส่วนหัวซิ่นซึ่งผ้าซิ่นตาโบราณจากการสำรวจพบทั้งแบบต่อหัวซิ่นและ ไม่ต่อหัวซิ่น

เอกลักษณ์ของผ้าซิ่นตา กลุ่มวัฒนธรรมลาวครั่ง คือ โครงสีของผ้าซิ่นจะเป็นสีเอกรงค์โดยนิยมใช้สีแดงเป็นหลักซึ่งย้อมจากครั่ง ส่วนตัวซิ่นจะทอด้วยเทคนิคมัดหมี่สลับขิด ลายขิดขนาดใหญ่เรียก “ตาใหญ่” ลายขิดขนาดเล็กหรือเป็นเพียงลายริ้วเรียก “ตาน้อย”

 


การนุ่งผ้าซิ่นตาของสตรีกลุ่มวัฒนธรรมลาวครั่งจะนุ่งป้ายทบธรรมดา และมีผ้าซิ่นซ้อนเป็นผ้าซิ่นฝ้ายสีขาว นุ่งซ้อนทับด้านในเพื่อถนอมเส้นใยของผืนผ้าซิ่นตาให้มีอายุการใช้งานยาวนาน คงความงดงามอยู่นานเท่านาน

  ปัจจุบันผ้าซิ่นตาได้สูญหายไปจากวิถีชีวิตประจำวันของกลุ่มวัฒนธรรมลาวครั่งเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ยังคงมีการทอเพื่อจำหน่ายให้กับผู้สนใจผ้าพื้นเมือง ผ้าซิ่นตาจึงเป็นดั่งบันทึกวัฒนธรรมล้ำค่าบนผืนผ้าที่ควรอนุรักษ์ไว้ให้คง อยู่คู่ชาติพันธุ์เผ่าไทสืบไป

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/NaNatextile2008/sinta/sinta.html