เครื่องนุ่งห่มของสตรีชาวพวนหาดเสี้ยว สุโขทัย (1)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

เครื่องนุ่งห่มของสตรีชาวพวน

การแต่งกายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ซึ่งจะบ่งบอกลักษณะเผ่าพันธุ์ และเอกลักษณ์ของชุมชนสังคมไทยประกอบไปด้วย กลุ่มชนที่มีเชื้อสายแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ผู้เขียนและอาจารย์มัลลิกา มังกรวงษ์ ได้ออกศึกษาวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนซึ่งมีความน่าสนใจแตกต่างกันไป บทความนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนใคร่จะเสนอให้เห็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ซึ่งนอกจากอาหารการกินอยู่ เครื่องใช้ไม้สอย ภาษา ความเชื่อ และประเพณีแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าสมใจใคร่รู้ก็คือการแต่งกาย ผู้เขียนอยากเสนอให้เห็นถึงการแต่งกายในชีวิตประจำวัน ซึ่งนับวันแต่จะหมดไปกับกระแสสมัยใหม่ที่เร่งรีบ ในสมัยหนึ่งซึ่งผู้เขียนเป็นเด็กนักศึกษา เคยได้ไปศึกษาที่หมู่บ้านหาดเสี้ยว ยังจำได้ถึงหญิงชาวพวน

นุ่งผ้าถุงพื้นบ้านมีผ้าแฮ้งตู้ (เคียนนมและเกล้าผมเดินหาบกระจาดแถว ๆตลาดหาดเสี้ยว ซึ่งในสมัยก่อนเป็นตลาดไม้และทั้งหญิงและชายส่วนมากยังแต่งกายแบบพื้นเมือง เป็นสิ่งที่ประทับอยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืมดูแล้วช่างเหมือนกับภาพเขียนบนจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์จังหวัดน่านไม่มีผิด เรายังพอพบเห็นได้ตามหมู่บ้านซึ่งก็มักจะเป็นพ่อเฒ่าแม่เฒ่าและนับวันจะลางเลือนจนหมดไปในที่สุดน่าเสียดายคนรุ่นหลัง ๆ ที่จะไม่ได้เห็นภาพประทับใจเช่นนั้นอีกดังที่บรรพบุรุษดำเนินมา ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงผ้าที่มีลักษณะพิเศษเช่น ตีนจกหรืออื่น ๆ ซึ่งจะหาอ่านได้ทั่ว ๆ ไปเพราะมีการเขียนถึงทั้งกรรมวิธี ลวดลายอันงดงามปราณีตคุ้นตาท่านผู้อ่านแล้ว แต่อยากจะขอกล่าวถึงผ้าถุงที่ใช้สอยในชีวิตประจำวันของชาวไทยพวน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีความสวยงามและเสน่ห์ที่แฝงเร้นอยู่กับสีสันลวดลาย และผูกพันอยู่กับจารีตประเพณีเก่าแก่ อันเป็นสิ่งแสดงถึงภูปัญญาและชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของชาวบ้าน


หมู่บ้านหาดเสี้ยว หมู่บ้านหาดสูง เดิมเป็นชาวลาวเวียงจันทน์ อพยพเข้ามาอยู่ก่อน ต่อมาถูกพวกแกว(ญวน) ซึ่งปกครองแถบนี้อยู่ก่อนบีบบังคับเก็บส่วยมาก จึงอพยพหนีไปและลาวพวนซึ่งอพยพมาจากเมืองพวน ตอนใต้ของเมืองหลวงพระบางในประเทศลาว มีทั้งอพยพมาด้วยความสมัครใจและถูกกวาดต้อนลงมาในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าฯก็มี ชาวพวนนี้อพยพลงมาอยู่ที่ต่าง ๆของประเทศไทย เช่นที่จังหวัด น่าน , ปราจีนบุรี , ฉะเชิงเทรา , สุพรรณบุรี , ราชบุรี , และส่วนหนึ่งได้อพยพมาอยู่ ณ อำเภอศรีสัชนาลัย บริเวณหมู่บ้านหาดสูง , บ้านหาดเสี้ยว , บ้านบ้านใหม่ , บ้านป่าไผ่ , บ้านแม่รากและบ้านป่างิ้วด้วย ซึ่งกระจายอยู่ในกลุ่มเดียวกัน

จารึกที่วัดหาดเสี้ยวกล่าวไว้ว่าได้สร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2387 ปีถามเมา (ปีเถาะไทย) ในคิมหันต์ฤดู (ฤดูร้อน) เดือนกินตะหม่า (เดือนห้าไทย) ซึ่งแต่เดิมชื่อวัดโพธิ์ไทย มาจนถึงปี พ.ศ. 2460 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญานวโรรส เสด็จและทรงโปรดรับสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อเสียใหม่ จากจารึกของวัดหาดเสี้ยวเองทำให้เราทราบว่าชุมชนพวนมาตั้งรกรากอยู่บริเวณ นี้ไม่ต่ำกว่า 150 ปีแล้ว

ขอขอบคุณเนื้อหาและรูปภาพจากหนังสือSILK

ตำบลหาดเสี้ยว ตั้งอยู่บนเส้นทางสวรรคโลก จังหวัดอุตรดิตถ์ ห่างจากอำเภอสวรรคโลกประมาณ 28 กิโลเมตรเป็นตำบลที่มีลำน้ำยมผ่านกลางหมู่บ้าน ด้านฝั่งติดถนนเรียกว่าหมู่บ้านหาดเสี้ยว เรียกฝั่งตรงข้ามว่าหมูบ้านหาดสูง บ้านหาดเสี้ยวมีคนหนาแน่นมากกว่า เนื่องจากอยู่ติดทางคมนาคมมีการเปลี่ยนแปรไปตามสภาพความเจริญสมัยใหม่ ซึ่งแต่เดิมห้องแถวบริเวณตลาด และติดถนนจะเป็นห้องแถวไม้ ปัจจุบันเป็นตึกเกือบทั้งหมดส่วนด้านหมู่บ้านหาดสูงหรือบ้านหาดเสี้ยวด้านใน ที่ติดกับแม่น้ำ ยังคงเป็นเรือนไม้เก่าใช้ต้นซุงเป็นเสาปลายเสาใช้คาคบหรือผ่าเป็นง่ามรองรับ คาน (คล้ายวิธีปลูกบ้านของลาวโซ่ง) ใต้ถุงสูงชั้นเดียว การปลูกบ้านเรือนจะปลูกเรียงติดกันไป สามารถเดินติดต่อกันได้ทั้งหมู่บ้าน อาจจะมีรั้วไม่ไผ่ขัดกั้นบ้าง หรือบางบ้านจะปลูกรั้วกินได้ เช่น ผักปังหรือกระถิน ทุกบ้านจะมีหูกทอผ้าประจำอยู่ทั้งใต้ถุนบ้านและบนเรือน บางเรือนมีถึงแปดหูก ทอผ้าทั้งหมู่บ้านหาดเสี้ยวและหมู่บ้านหาดสูง



การประกอบอาชีพของชาวพวน ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงจะทอผ้าใช้เอง และเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านทำไว้สำหรับแลกเปลี่ยนหรือนำไปขายในงานพระแท่น (พระแท่นดงรัง จังหวัดอุตรดิตถ์ เดือน 3 ขึ้น 10 ค่ำ) มาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันนี้ยังทำหัตถกรรมเช่น ย่าม ผ้าห่ม หมอน ผ้าถุง ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่นตีนจก ไปขายยังงานพระแท่นทุก ๆปี

นอกจากทอผ้าใช้เองแล้ว เมื่อไม่ใช่ฤดูกาลงานพระแท่นชาวบ้านยังใช้เวลาว่างจากการทำนาผลิตผลงานเพื่อ ส่งขายร้านในตลาด โดยเฉพาะร้านของคุณสาธร โสรัจประสพสันติ ซึ่งนอกจากท่านจะเป็นผู้สนับสนุนงานพื้นบ้านให้คงอยู่แล้วยังได้ช่วยเหลือ ชาวบ้านให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว โดยท่านเป็นคนกลางนำผลผลิตของชาวบ้านนำมาวางขายที่ร้านสาธร คุณสาธรเป็นชาวพวนโดยสายเลือดท่านได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจ อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาวพวนโดยส่วนหนึ่งได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ลาวพวนขึ้น และได้เสียสละเวลาและเงินทองเป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นวิทยากรบรรยายเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน และเยาวชนของชาติในการเข้าศึกษาวัฒนธรรม ท้องถิ่นของชาวพวนซึ่งผู้เขียนต้องขอกราบขอบพระคุณที่ท่านได้กรุณาเผยแพร่ ความรู้ให้เป็นวิทยาทาน ณ ที่นี้ด้วยนอกจากผู้หญิงทอผ้าแล้ว ผู้ชายหาดเสี้ยว ยังทำไร่ ทำนาและแต่เดิมนั้นมีอาชีพตีเหล็กด้วย ซึ่งความสามารถในการตีเหล็กเป็นที่เลื่องลือมาก จะมีคนไกลบ้านที่ต่างๆมาจ้างให้ตีเหล็กทุกชนิดทั้งดาบ พร้า มีด เครื่องมือใช้ในทางเกษตรกรรม ในครัวเรือน ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่สานต่ออาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรษแล้ว ยังคงเหลือช่างตีเหล็กสูงอายุเพียงคนเดียวของหมู่บ้านคือ คุณตาจันทร์ พึ่งกุศล ปัจจุบันอายุ 74 ปีซึ่งยังคงใช้วิธีตีเหล็กในแบบเก่า

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/training2007/TaiPuan/TaiPuan.html


<- ย้อนกลับไปที่หน้า รวม link การแต่งกายของคนไทย ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร