เครื่องนุ่งห่มของสตรีชาวพวนหาดเสี้ยว สุโขทัย (2)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

เครื่องนุ่งห่มของสตรีชาวพวน (2)

   

ชายชาวพวนหาดเสี้ยว
ในงานไร่นาหรือตีเหล็ก ถ้าไม่ถอดเสื้อก็ใช้เสื้อคอกลมป่านแขนยาวหรือแขนสามส่วน ย้อมสีครามหรือสีดำมะเกลือผูกแบบเสื้อม่อฮ่อม หรือติดกระดุมกางเกงขาสั้นกรอมเข่าสีเดียวกัน เรียกว่ากางเกงกุย ผ้าข้าวม้าพันเอวเป็นประจำ ชุดไปงานพิธีจะนุ่งโจงกระเบนใช้ผ้าฝ้ายเสื้อแขนยาวสีนวลหรือสีขาวคอปิด ติดกระดุมแบบเดียวกับที่นิยมในกรุงเทพฯ แต่งผมด้วยน้ำมันตานี หรือน้ำมันละหุ่งสมัยก่อนนิยมใส่ต่างหูเงินแบบติดกับใบหูหรือแบบระย้า เช่นเดียวกับฝ่ายหญิง ผ้าขาวม้าเคียนพุงเหน็บมีดซุยไว้ข้างหลังถ้าเหน็บไว้ข้างหน้าถือว่าไม่สุภาพ เป็นนักเลงใส่แหวนเกลี้ยงทำด้วยทองคำหรือเงิน

หญิงชาวพวนหาดเสี้ยว

หญิงสาวทุกคนต้องทอผ้าเป็นก่อนอายุ 16 ปี และจะหัดทำตีนจกก่อนจะทอผ้าชนิดอื่นเพราะถือว่าการทอผ้าตีนจกเป็นกรรมวิธี การทอผ้าที่ยุ่งยากที่สุด ต้องอาศัยความอดทนและความประณีตมาก เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักความยากลำบากตั้งแต่เล็กเมื่อทอตีนจกเป็นแล้ว นอกจากจะทำให้หญิงสาวทุกคนมีผ้าตีนจกประจำตัวแล้ว การหัดทอผ้าชนิดอื่นจะง่ายกว่ามาก หญิงสาวอายุ 18 ปี จะเกล้าผมสูงบนกระหม่อมจนถึงอายุ 20 ปีจึงเปลี่ยนเป็นจุกผมแบบขัดกระเทียมปักปิ่นด้วยเงินหรือทองคำถ้าออกเรือน จึงจะถอดปิ่นได้


ชุดเสื้อผ้าประวันของหญิงชาวพวน เช่นทำงานในไร่นาหรือทอผ้า ปั่นฝ้าย เป็นเสื้อแขนยาวคอปิด กระดุมเงินกลมย้อมด้วยสีเข้ม เช่น สีครามหรือสีดำมะเกลือ ผ้าถุงลายมุกหรือลายเข็น เวลาไปงานที่วัดหรือประเพณีสำคัญๆ ต่างๆจะคาดสไบฝ้ายสีสด นุ่งผ้าลายตีนจก ใช้เครื่องสำอาง เครื่องประดับครบ เครื่องสำอางที่ใช้ประจำคือ ดินสอพอง ซึ่งพบมากทางบ้านท่าเหนือใกล้หาดเสี้ยว แป้งดินสอพองนี้นำมาอบให้หอมด้วยเครื่องหอม ใช้ปะหรือทาหน้าและตัว นิยมกินหมากให้ปากแดง ฟันดำ นิยมกินกันทั้งหญิงสาวและคนมีอายุปัจจุบันหญิงสาวไม่กินหมากแล้ว ยังกินหมากเฉพาะคนแก่

 

 

นิยมใส่ผมด้วยน้ำมันตานีหรือน้ำมันละหุ่งผสมเครื่องหอมเครื่องประดับที่ ใช้เครื่องเงินและทองคำ ได้แก่ตุ้มหูเงิน ตุ้มหูทองคำประดับพลอยขาวติดใบหู และตุ้มหูชนิดระย้าทำด้วยเงินหรือทองคำ แหวนเงินหรือแหวนทองคำ นิยมแหวนเกลี้ยงไม่นิยมใส่หลายวงและไม่ใช้เข็มขัด ข้อมือรัดข้อทำด้วยเงินหรือทองคำลายตะขาบคล้ายโซ่ถ้ามีฐานะจะมีสร้อยสะพาย คาดรอบตัวไขว้กันทั้งสองข้าง เป็นสร้อยคอลายดอกประดับพลอย เช่นเดียวกันกับตุ้มหูชนิดกับใบหู คนสูงอายุจะนิยมหิ้วย่ามใบเล็กใส่หมวกและมีเครื่องใช้กระจุกกระจิก ผู้หญิงเวลาไปวัดจะหาบคอนกระบุงไป

ผู้หญิงสาวสมัยก่อนจะเคร่งครัดในการแต่งกายมาก โดยหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานเขาจะใส่ผ้าซิ่นตีนแดงแฮ้งตู้ (แฮ้งตู้คือการเคียนนม หรือรัดนมด้วยผ้าคาดอกสีสันสวยงาม เช่นสีเหลือง สีขาว) คนแต่งงานแล้วจะใส่ซิ่นตีนดำ แฮ้งตู้ด้วยผ้าสีดำย้อมมะเกลือ หรือสีน้ำเงินย้อมด้วยคราม ลวดลายของผ้าถุงสตรี พวนที่สืบเนื่องกันมาแต่โบราณมีลายอ้อมขาว , ลายตะผะน้อย , ลายดอกแดงเหย่อ , ลายซิ่นมุก , ลายตะผะใหญ่ (หรือตาเติบ) ,ลายตามะโดน , ลายตามะนาว , ลายตะว้า(หรือตาหว้า) , ลายซิ่นเข็น

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/training2007/TaiPuan/TaiPuan1.html


<- ย้อนกลับไปที่หน้า รวม link การแต่งกายของคนไทย ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร