วัฒนธรรมการแต่งกายของชนภูเขาเผ่าลีซอ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com


วัฒนธรรมการแต่งกายของชนภูเขาเผ่าลีซอ


ลีซอได้ชื่อว่าเป็นเผ่าที่แต่งกายมีสีสันสดใสและหลากสีมากที่สุดในบรรดาชาวเขาทั้งหมดความกล้าในการตัดสินใจและความเป็นอิสระชนสะท้อน ออกมาให้เห็นจากการใช้สีตัดกันอย่างรุนแรงในการเครื่องแต่งกาย


ชาวลีซอเรียกตนเองว่า “ลีซู” (คำว่า “ลี” มาจาก “อิ๊หลี่” แปลว่า จารีต ประเพณีหรือวัฒนธรรม “ซู” แปลว่า “คน” )มีความหมายว่ากลุ่มชนที่มีขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี และมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง ดังนั้นหากมองในแง่วัฒนธรรมและบุคลิกภาพแล้ว อาจกล่าวได้ว่าชาวลีซอ เป็นกลุ่มชนที่รักอิสระ มีระบบจัดการความสัมพันธ์ทางสังคมที่ยืดหยุ่น เป็นนักจัดการที่มีประสิทธิภาพ จะไม่ยอมรับสิ่งใหม่โดยไม่ผ่านการเลือกสรรและจะไม่ปฏิเสธวัฒนธรรมที่แตกต่าง โดยไม่แยกแยะด้วยเหตุนี้เองทำให้ชาวลีซอมีศักยภาพในการปรับตัวเข้ากับความ เปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็สามารถธำรงรักษาอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์เอาไว้ได้เช่นกัน
ความเป็นมา

 


แต่เดิมชาวลีซอมีถิ่นฐานอยู่บริเวณต้นน้ำสาละวินและแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของธิเบต และทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวลีซอได้อพยพเข้าสู่เขตประเทศไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2462 – 2464 จากหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้เมืองเชียงตุงของประเทศเมียนมาร์ มาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนครั้งแรกอยู่ที่บ้านดอยช้าง อำเภอแม่รวย จังหวัดเชียงราย


ลีซอแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มย่อย คือ ลีซอลาย กับลีซอดำ ชาวลีซอที่อยู่ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็นลีซอลาย ส่วนลีซอดำอยู่ในประเทศจีน เมียนมาร์ อินเดีย และไทย ในประเทศไทยมีชุมชนลีซออยู่ 9 จังหวัดคือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ สุโขทัย และลำปาง มีจำนวนประชากรทั้งหมดราว 30940 คน
การแต่งกาย


ลักษณะการแต่งกายของหญิงลีซอมีความโดดเด่นมาก ตั้งแต่ผ้าโพกหัว ที่เป็นทรงป้านกลม ตกแต่งด้วยลูกปัดและพู่ประดับหลากสี เวลาสวมใส่จะส่งให้ใบหน้าของผู้หญิงดูโดดเด่น สวยงาม เสื้อตัวยาวตัดเย็บด้วยผ้าสีสดใสตกแต่งด้วยริ้วผ้าเล็กๆ สลับสี สวมทับ กางเกงขายาว ครึ่งน่องสีดำ มีผ้าคาดเอวที่เมื่อคาดแล้วจะทิ้งชายไปทางด้านหลังเป็นพู่หางม้า ทำจากผ้าหลากสีเย็บเป็นไส้ไก่เส้นเล็กๆ จำนวนกว่า 100 เส้นขึ้นไปเมื่อเคลื่อนไหว พู่จะกวักแกว่งไปด้วยดูน่ารักสวยงามมากและสวมสนับแข้งสีสด


หญิงสาวและหญิงสูงอายุแต่งกายคล้ายกันต่างกันเฉพาะการใช้สี ซึ่งในกลุ่มหญิงสูงอายุจะใช้สีขรึมเข้มกว่า และผ้าโพกหัวก็ใช้ผ้าสีดำโพกพันไว้ ไม่มีลูกปัดและพู่ประดับ


ผู้ชายสวมกางเกงสีสด และสาวเสื้อสีดำตกแต่งด้วยเม็ดเงินคาดเอว ประดับด้วยพู่หางม้าทำจากผ้าเย็บเป็นไส้ไก่สลับสี เวลาคาดเอวจะทิ้งชายลงมาทางด้านหน้า เด็กๆ ยังคงสวมใส่ชุดประจำเผ่าให้เห็นโดยทั่วไป

การผลิต
หน้าที่ผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเป็นของฝ่ายหญิง เช่นเดียวกับชาวเขาเผ่าอื่นๆวัสดุที่ใช้ผลิตปัจจุบันซื้อผ้าทอและด้ายย้อมสีสำเร็จรูปจากโรงงานที่มีขาย ตามร้านเจ้าประจำ ซึ่งเป็นที่รู้จักดีของลีซอแต่ละหมู่บ้าน


ลักษณะการทอผ้าของลีซอ เหมือนกลุ่ม มูเซอคือ เป็นแบบห้างหลัง หรือ สายคาดหลัง (Back strap) การทอผ้าเพื่อเย็บสวมใส่ไม่มี ปรากฏในชุมชนลีซอของประเทศไทย ปัจจุบันมี เพียงการทอผ้าหน้าแคบขนาดเล็กๆ เพื่อนำมาเย็บ ประกอบเป็นย่ามเท่านั้น
การตกแต่ง


ลักษณะการตกแต่งเสื้อผ้า
ส่วนใหญ่เน้นประดับด้วยแถบริ้วผ้าสลับสี ผ้าตัดปะและเม็ดโลหะเงินมีการตกแต่งด้วยลายปักบ้างเล็กน้อย บริเวณช่วงต่อระหว่างผ้าคาดเอวกับพู่ห้อย และด้านข้างสายย่ามช่วงต่อกับพู่ที่จะทิ้งชายลงมาทั้ง 2 ด้านเท่านั้น


นอกจากนั้น ยังมีการตกแต่งเพิ่มเติมให้ดูโดดเด่นขึ้นอีกหลายแบบ เช่น ใช้พู่ไหมพรมหลากสี กระจุกด้าย ลูกปัด และเครื่องเงิน


เครื่องแต่งกายในโอกาสพิเศษจะเห็นได้ว่าผู้ชายเน้นการ
ตกแต่งรอบคอเสื้อด้วยเม็ดเงินส่วนผู้หญิงจะมีเสื้อกั๊กประดับเม็ด
เงินทั้งตัวสวมทับอีกชั้นหนึ่งและเน้นให้โดดเด่นขึ้นด้วยผ้าโพกหัวที่ประดับ
สวยงาม


ลวดลาย ลักษณะลวดลายพื้นฐานซึ่งเป็นที่รู้จักดีในกลุ่มผู้หญิง และส่วนใหญ่ เป็นลวดลายที่เกิดจากการใช้แถบริ้วผ้าสลับสีผสมผสานกับลายตัดผ้าปะมีดังนี้

คัวะเพียะคว้า (ลายหางธนู)

 


ลายเพี่ยะกุมาคว้า (ลายหน้าอกเสื้อ)

 


อ๊ะหน่ายือ(ลายเขี้ยวหมา)ลายนี้ยิ่งทำเขี้ยวได้เล็ก มากเท่าไหร่แสดงว่าผู้ทำมีฝีมือมากเท่านั้น

 


ฟูยีฉี่ (ลายท้องงู)

 


ลายนะหูเมื่ยซืือ (ลายหมวก)

 


ลายอี๊กือจะย่า(ลายริ้วผ้าสลับสี) ใช้สลับหรือกำหนดลาย

จะสังเกตเห็นได้ว่า ในการตกแต่งคอเสื้อผู้หญิงจะใช้ลายเพียง 2 ลาย คือ อี๊กือจะย่า หรือลายริ้วผ้าสลับสี และลายอ๊ะหน่ายือ หรือลายเขี้ยวหมาซึ่งง่ายต่อการ ปรับให้โค้งไปตามแนวรอบคอ

 


ลายอี๊กือจะย่า (ลายริ้วผ้าสลับสี)และอ๊ะหน่ายือ (ลายเขี้ยวหมา) จะใช้ประกอบกับทุกลาย ส่วนลายอื่นๆ ได้แก่ลายคัวะเพียะคว้า (ลายหางธนู) ลายเพียะกุมาคว้า (ลายหน้าอกเสื้อ) ลายฟูยีฉี่ (ลายท้องงู) และลายนะหูเมี่ยซือ(ลายหมวก)ไม่นิยมนำมารวมกัน จะเลือกใช้เพียงลายใดลายหนึ่งนำมาเป็นลายหลักแล้วแต่งประกอบด้วยลายอี๊กือจะย่า และลายอ๊ะหน่ายือ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ตกแต่งแขนเสื้อ เข็มขัด และหมวกเด็ก

 


การเย็บผ้าเป็นไส้ไก่ “ซะยือคือแม่แล่”
ลีซอมีความเชี่ยวชาญในการเย็บผ้าเป็นเส้นเล็ก ๆ ยาวประมาณ 8” – 12” สีสรรสดใสเพื่อนำมามัดรวมกัน ติดปลายแต่ละเส้นด้วยกระจุด้ายเล็กๆสวยงาม เพื่อใช้เป็นพู่ประดับผ้าคาดเอว ทั้งชาย – หญิงและหมวกผู้หญิง เพื่อสวมใส่ในโอกาสสำคัญ จำนวนไส้ไก่มัดหนึ่งๆต้องมากกว่า 200 เส้น มิฉะนั้นพู่ประดับจะแกว่งไกวไม่สวยเวลาเคลื่อนไหวเต้นรำ

 

สรุป

ผ้าลีซอแม้จะไม่มีวิธีการผลิตที่ซับซ้อน และการตกแต่งก็ไม่ได้มีลวดลาย หลากหลายนัก แต่ความโดดเด่นที่ทำให้ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดผ้าชาวเขา มาโดยตลอด มาจากการใช้สีสันที่สดใส สวยงาม ผู้หญิงลีซอกล้าใช้สีฉูดฉาดตัด กันมาจัดวางไว้ได้อย่างลงตัว เหมาะสมอิสระทางความคิด ซึ่งมาจากพื้นฐานของลีซอที่กล่าวว่า “ทุกคนเกิดมามีหัวเข่าเท่ากัน” สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด จากศิลปะบนผืนผ้าและการตกแต่งเครื่องแต่งกายนี่เอง


*** ขอขอบคุณหนังสือผ้าชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ ***

ต้นฉบับ :

http://textile.nu.ac.th/Lisuthai/Lisuthai.html

http://textile.nu.ac.th/Lisuthai/Lisuthai2.html


<- ย้อนกลับไปที่หน้า รวม link การแต่งกายของคนไทย ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร