วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ผ้าจกเมืองลองของดีเมืองแป้ (2)

รูปลักษณ์ของลายหลักและลายประกอบบนผ้าจกเมืองลองของดีเมืองแพร่ 

ลายหลัก (ต่อ)

6.ขอไล่


ผ้าจกชิ้นนี้เส้นยืนสีน้ำตาล เส้นพุ่งสีน้ำตาล เส้นสอดสีเหลือง ลายขอไล่เป็นลายหลักแซมลายขอในกรอบสามเหลี่ยม ลวดลายชิ้นนี้เป็นของเดิมที่ยังไม่ได้พัฒนา (เป็นผ้าเก่าที่เก็บรักษาไว้ของวัดสะแล่ง)

7.สำเภาลอยน้ำ



ลายสำเภาลอยน้ำเป็นลายหลักที่เก่าแก่มีมากมายหลากหลายรูปแบบทั้งนี้ทั้งนั้นสุดแล้วแต่ช่างแกะลายจะผูกลายสำเภาน้ำในรูปแบบอะไร


ลายสำเภาลอยน้ำในผ้าจกผืนนี้ออกจะดูยากสักหน่อยว่าตรงไหนเป็นเรือสำเภาตัวสำเภาจริงๆ มีลักษณะคล้ายตัวขอทั้งสองโดยมีดอกตะล่อมเป็นส่วนหัวเรือไข่ปลาเล็กๆ เป็นกรอบสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีไข่ปลาทั้ง 2 ข้างเป็นน้ำทะเลส่วนด้านล่างเป็นเงาสะท้อนของสำเภา ในกรอบสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดมีนกคู่เป็นส่วนประดับ นี่แหละภูมิปัญญาของช่างทอที่คิดรูปแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนมากนัก ตัวลายสำเภาลอยน้ำยังมีกรอบใหญ่ล้อมรอบอีกทีหนึ่ง มีส่วนประกอบที่สามารถถอดเป็นลายประกอบที่สวยงามนำไปใช้ในส่วนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดีผ้าจกชิ้นนี้ทอบนพื้นสีกรมท่า เส้นสอดเป็นสีม่วงและสีเหลืองอมส้มเล็กน้อยเป็นการใช้คู่สีที่ถูกต้องตามหลักขององค์ประกอบสี



8.สำเภาลอยน้ำ


ลายสำเภาลอยน้ำเป็นลายของเก่าที่มีตั้งแต่ดั้งเดิม เท่าที่พบเห็นมีความหลากหลายของตัวลาย จนไม่สามารถที่จะแยกว่าลายไหนจะเก่ากว่ากัน
ผ้าจกชิ้นนี้เส้นยืนเป็นสีดำ เส้นพุ่งเป็นสีดำ เส้นสอดเป็นสีชมพูอ่อนวิธีการทอผ้าจกชิ้นนี้ยังไม่เข้าขั้น โดยเฉพาะการใช้สีเส้นสอดเป็นสีชมพูและสีครีม น้ำหนักของสีเบาเกินไปจึงไม่สามารถที่แยกลวดลายใช้ชัดเจนได้โดยเฉพาะส่วนที่เป็นลายแซมของกลุ่มสามเหลี่ยม ลายจริงๆ นั้นเป็นแบบลายขอทั้ง 2 ข้าง ส่วนตรงยอดสามเหลี่ยมจะเป็นดอกตะล่อม ลายตรงกลางเป็น แม่ลายนกเข้าโฮง การให้สีไม่ชัดเจนก็เป็นเหตุผลงานนั้นขาดความสวยงาม

ลายประกอบ

1.นกคู่กินน้ำฮ่วมต้น



ลวดลายของนกคู่กินน้ำฮ่วมต้นที่ช่างแกะลายนำมาผูกไว้ในผ้าจกมีมากมายหลากหลายรูปแบบ ลวดลายชุดนี้ก็เป็นอีกแบบหนึ่งที่ใช้เส้นยืนสีดำเส้นพุ่งสีดำ เส้นสอดสีน้ำตาลอ่อน ตัวนกคู่กินน้ำฮ่วมต้นใช้สีฟ้าใส ตัวกรอบที่ล้อมกลุ่มนกเอาไว้นั้นดัดแปลงจากของเก่า


การใช้กรอบล้อมแม่ลายนั้นมีมากมายหลากหลายรูปแบบ อย่างชิ้นที่ 2 ลักษณะของกรอบแบบนี้ช่างทอนิยมใช้สีอิสระเป็นหลัก ส่วนแม่ลายนกคู่กินน้ำฮ่วมต้นนั้นจะใช้ลายชุดต่างๆ
ช่างแกะลายจะผูกแม่ลายเป็นแบบกลุ่มสามเหลี่ยมและหกเหลี่ยมเป็นกลุ่มลายเครือนกคู่กินน้ำฮ่วมต้น


2.นกคู่กินน้ำฮ่วมต้น


นกคู่กินน้ำฮ่วมต้นจัดเป็นลวดลายยอดนิยมก็ว่าได้ เพราะผ้าจกบางชิ้นจะมีลายนกคู่กินน้ำฮ่วมต้นอยู่ถึง 2 -4 แถวจะแตกต่างกันก็อยู่ที่ลวดลายนกคู่กินน้ำฮ่วมต้น ตัวอย่างผ้าจกชิ้นนี้ (เฉพาะส่วนที่นำเสนอเท่านั้น) เริ่มต้นด้วยลายฟันปลา นกคู่กินฮ่วมน้ำต้นในกรอบหัวใจกลับหัว ลายประแจ นกคู่กินน้ำฮ่วมต้น สลับกับลายขอคู่ ลวดลายเหล่านี้จัดเป็นลายประกอบเสียส่วใหญ่การผูกลวดลายจึงขึ้นอยู่กับ ช่างแกะลายจะดัดแปลงอย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนของเส้นยืน จะต้องใช้เส้นสอดจำนวนกี่เส้น แม่ลายในแต่ละแถวจะต้องมีจำนวนเส้นยืนที่เท่ากันอีกด้วย เป็นการสร้างมิติของลวดลายในผ้าจกให้สวยงาม

3.นกคู่กินน้ำฮ่วมต้น


ลวดลายเครือนกคู่กินน้ำฮ่วมต้นชุดนี้ใช้เส้นยืนสีดำ เส้นพุ่งสีแดง เส้นสอดสีครีมและสีน้ำทะเล ลวดลายชุดนี้ดัดแปลงจากดอกตะล่อมนำมาร้อยเรียงเป็นแนวใช้กรอบ สามเหลี่ยมตัดหัวล้อมตัวนกคู่กินน้ำฮ่วมต้น อีกแถวหนึ่งเป็นนกคู่กินน้ำฮ่วมต้นในหนองน้ำ

ต้นฉบับ :  http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/NaNa/Chok%20Muang%20Phrae/chok%20m...

<- ย้อนกลับไปยังหน้ารวม link ลายผ้า, ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร