วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ผ้าจกเมืองลองของดีเมืองแป้ (3)

รูปลักษณ์ของลายหลักและลายประกอบบนผ้าจกเมืองลองของดีเมืองแพร่ 

ลายประกอบ (ต่อ)

4.นกเข้าโพรง


ลวดลายส่วนนี้เป็นผลงานการออกแบบขั้นต้นโดย นายโกมล พานิชพันธ์ นำมาตั้งชื่อใหม่ว่า "สระปทุม" ทอไว้ในผ้าจกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในมหามงคลสมัยฉลอง สิริราชสมบัติ 50 ปี ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน โดยกำหนดสีเป็นสีเงินสีทองในฐาน เพื่อรฤกถึงวังสระปทุมเท่านั้นเอง(ของเดิมคือนกเข้าโฮง)


5.นกคู่กินน้ำฮ่วมต้น


ผ้าจกชิ้นนี้ก็เป็นอีกผืนหนึ่งที่ใช้ลายนกคู่กินน้ำฮ่วมต้น เป็นการเรียงตัวนกคู่กินน้ำฮ่วมต้นในแนวยาวโดยไม่มีอะไรมาสลับ ใช้สีของเส้นเป็นตัวแปรสลับกันเท่านั้น แซมด้วยไข่ปลาเป็นการแก้ปัญหาในความไม่ลงตัวของลายในแนวนอน เพื่อปิดช่องว่างที่มากเกินไป


การจัดช่องว่างในผ้าจกไม่ใช่จะทำกันได้อย่างง่ายๆ กัน ต้องอาศัยความใจเย็น ความละเอียดอ่อน ช่างสังเกตโดยเฉพาะช่วงที่ทอผ้าตอนเริ่มต้นเพราะจากจุดนี้จะสามารถนำไปแก้ไข ในส่วนต่างๆ การผูกลายมีหลักอยู่ตรงที่จำนวนเส้นสอดจะต้องมีจำนวนที่เท่ากันในทุกๆ ลายที่ต้องผูกลายไว้ในผ้าจกผืนเดียวกัน

 


6.ขอหัวใจ


ลายขอหัวใจ แซมด้วยจุดสี่เหลี่ยมเล็กๆ และสามเหลี่ยมที่ดัดแปลงมาจากลายฟันปลา เป็นการแก้ไขให้เป็นลายเครือขอหัวใจ ด้วยจุดประสงค์ที่ไม่ต้องการให้มีช่องว่างนั้นเอง

7.ลายจกสามเหลี่ยม

แม่ลายจกสามเหลี่ยมชิ้นนี้ สามารถนำมาจกล้วงให้เป็นลายพิเศษดังตัวอย่างสามารถที่จะนำประกอบในส่วนต่างๆ ของตัวเสื้อได้ดี

8.ฟันปลา


เป็นลายประกอบเกิดจากความไม่ลงตัวของช่องไฟในผ้าจก ที่ช่องว่างไม่เกิน 10 เส้นยืน จึงแทรกเอาไว้เพราะช่องว่างที่เหลืออยู่นั้นไม่สามารถที่จะผูกลายอื่นๆ ได้ จึงนิยมใช้ลายฟันปลาเมื่อเกิดการแกะลายแล้วไม่ลงตัวของลวดลายเท่านั้นเอง
ส่วนในภาพที่ 2 เป็นการพัฒนาลวดลายฟันปลาไปอีกแบบหนึ่งบางครั้งอาจจะพบลวดลายแบบนี้ในผ้าจกผืนเดียวกัน
มีมากกว่า 4 แถวซึ่งเป็นการซ้ำแม่ลายมากเกินไป ถึงแม้จะแกะเป็นลายแบบอื่นๆ แล้วก็ตามแต่รูปทรงยังเป็นลายฟันปลาอยู่นั้นเอง

 

9. ขอประแจ


ผ้าจก 2 ชิ้นนี้เป็นภาพขยาย เส้นยืนสีดำ เส้นพุ่งสีดำ เส้นสอดสีชมพู สีบานเย็น ลวดลายเป็นแบบขอประแจ การผูกลายย่อมมีการดัดแปลงซึ่งขึ้นอยู่กับการเก็บลาย หรือแกะลาย

10.มะลิเลื้อย


ผ้าจกชิ้นนี้ใช้เส้นยืนสีดำ เส้นพุ่งสีดำ เส้นสอดสีเหลือง ลวดลายเป็นมะลิเลื้อย

11.เถาไม้เลื้อย


ผ้าจกชิ้นนี้ใช้เส้นยืนสีดำ เส้นพุ่งสีดำ เส้นสอดสีม่วง ลวดลายเป็นแบบเถาไม้เลื้อยแกะไปทั่วบนผืนผ้าจก

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/NaNa/Chok%20Muang%20Phrae/chok%20m...

<- ย้อนกลับไปยังหน้ารวม link ลายผ้า, ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร