ลวดลายผ้าจกกลุ่มชนเชื้อสายไทยพวนหรือลาวพวน (1)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
29/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ลวดลายผ้าจกกลุ่มชนเชื้อสายไทยพวนหรือลาวพวน (1)

ไทพวนหรือลาวพวน เป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากเมืองพวนแขวงเชียงขวางของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย และในภาคกลางบางจังหวัดชาวไทยเชื้อสายพวนในประเทศไทยที่มีการทอผ้าจกกันมาก ที่สุดคือกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย  จังหวัดสุโขทัย   อำเภอฟากท่า  อำเภอลับแล  และอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์  อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
กลุ่มไทพวนในภาคกลางที่ยังคงมีการทอผ้าจกกันอยู่บ้างคือ กลุ่มที่อยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งยังมีการทอกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ประปรายไม่กี่ครอบครัวเท่านั้น


ผ้าจกไทพวนบ้านหาดเสี้ยว

กลุ่มผู้สืบเชื้อสายไทพวนในชุมชนหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นกลุ่มที่รักษาวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีการทอผ้าไว้เป้นอย่างดี ผ้ามีบทบาทสำคัญในชีวิตชาวหาดเสี้ยวตั้งแต่การเริ่มต้นชีวิต

  • ผ้าห่มตาแดง เป็นของกำนัลที่เพื่อนบ้านมอบให้สำหรับเด็กอ่อน เด็กคนหนึ่งๆ กว่าจะเติบโตต้องใช้ผ้าห่มตาแดงถึง 9 ผืน
  • ผ้าขาว  เป็นการตอบแทนคุณหมอตำแยที่ทำคลอดให้
  • ผ้ากราบ  เป็นผ้าที่มารดาต้องเตรียมไว้ให้ลูกชายเมื่ออายุครบบวช  และในพิธีบวชก็ต้องมีผ้าประดับประดาช้างที่ร่วมขบวนอีกด้วย


นอกจากนี้ยังมีผ้าห่อคัมภีร์ ผ้ากั้ง ผู้หญิงหาดเสี้ยวจึงต้องทอผ้าเตรียมไว้สำหรับสมาชิกทุกคนของครอบครัวเพื่อ ใช้ในการดำเนินชีวิตตลอดไปผ้าแต่ละชนิดมีความหมายเป็นสื่อทางสังคมของชาวไท พวน เป็นเครื่องบ่งบอกสถานภาพของผู้สวมใส่

   นุ่งผ้าซิ่นตีนดำหมายถึงคนที่แต่งงานแล้ว
นุ่งผ้าซิ่นตีนแดง ซิ่นตีนจกหมายถึงสาวโสด
ผู้ชายในชุมชนหาดเสี้ยวเอง ก็แบ่งแยกการใช้ผ้าขาวม้า
คนรุ่นหนุ่มจะใช้ผ้าขาวม้าสีสดใสมีจกรูปช้าง  รูปมา
ผู้สูงอายุจะใช้แต่ผ้าขาวม้าสีเข้มไม่มีลวดลาย

การทอผ้าของชาวหาดเสี้ยวมีไว้สำหรับ “นุ่งห่ม” โดยแท้ ผ้าซิ่น จัดเป็นผ้าที่มีการทอแพร่หลายที่สุด ทั้งในส่วนที่ทอขายและทอนุ่งเอง ผ้าซิ่นหาดเสี้ยวมีแบบและลวดลายสีสันต่างๆ มากมาย แต่ละชนิดจะมีชื่อเรียกเฉพาะแตกต่างกันออกไปถึง 16 ชนิด ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นซึ่งมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน

ผ้าที่ทอเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษต่างๆ นี้โดยมากเป็นการทอจก ชาวบ้านที่ตำบลหาดเสี้ยวจึงมีความสามารถในการทอผ้าจกและสืบทอดกันมาจน ปัจจุบัน การทอผ้าจกโดยเฉพาะการทอเป็นซิ่นตีนจกทำกันอย่างแพร่หลายทั้งในบ้านหาด เสี้ยวบ้านหาดสูง บ้านใหม่ และบ้านแม่ราก ผ้าที่ผลิตในบริเวณหมู่บ้านเหล่านี้รู้จักกันทั่วไปว่า”ผ้าหาดเสี้ยว”อาจ เป็นเพราะเป็นแหล่งกลางในการซื้อขายผ้าทอพื้นบ้านแม้ผ้าที่ทอจากเขตอื่นของ สุโขทัยที่มีขายอยู่ในบริเวณหาดเสี้ยวก็มักถูกเรียกรวมไปว่าเป็นผ้าหาด เสี้ยวด้วยผ้าทอสาดเสี้ยวในปัจจุบันยังคงรักษาลักษณะเฉพาะถิ่นเฉพาะกลุ่มชน ไว้ แล้วลวดลายสีสันในปัจจุบันจะพัฒนาไปตามความต้องการของตลาด สิ่งที่ยังคงอยู่คือองค์ประกอบหลักของลวดลาย ซึ่งมีลักษณะแสดงให้เห็นรูปแบบของผ้าทอของชาวไทยเชื้อสายพวนในบริเวณภาค เหนือตอนล่างของประเทศไทย โดยมีลักษณะของลวดลายดังนี้

ลายหลัก

ลายหลักคือลายขนาดใหญ่ที่สุดในผ้าตีนซิ่น อยู่ตรงกลางของผ้าตีนจก เด่นชัดกว่าลายอื่นๆ ลายหลักที่เป็นลายเฉพาะของผ้าตีนจกหาดเสี้ยวดั้งเดิมยังคงสืบทอดกันมาจนปัจจุบันมี 9 ลายคือ

1. ลายเครือน้อย

ลายเครือน้อย หมายถึงลายหลักที่มีส่วนประกอบของตัวลายหลักน้อยมากเป็นลายง่ายๆ ส่วนประกอบของลายจะเป็นนกหมู่ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะลายเครือน้อย ไม่นิยมนำนกหมู่ไปประกอบลายอื่น และยังมีลายฟันปลา ลายสร้อยหมาก และลายสร้อยสาอยู่ตรงเชิ่งซิ่น แต่เดิมลายนี้ต้องต่อกับซิ่นมุก



2. ลายเครือกลาง

ลายเครือกลาง คล้ายกับลายเครือน้อยแต่เพิ่มความยากในการจกลายมากขึ้น ส่วนประกอบหลักของลายนี้เป็นลายนกคุ้มนก 2 ตัวหันหน้าเข้าหากัน ลายนกคาบ นก 2 ตัวคาบดอกไม้อยู่ตรงกลาง ลายพันคิง ลายดอกหมี่ และลายสร้อยสาลายนี้ใช้ต่อกับซิ่นเข็น


3. ลายเครือใหญ่

ลายเครือใหญ่ คือลายที่มีดอกไม้เพิ่มขึ้นตรงกลางเครือซึ่งไม่มีใน 2 ลายแรก ส่วนประกอบของลายนี้เป็นลายนกคุ้ม ลายนกคาบ ลายดอกหมี่ ลายฟันปลา ลายพันคิง และลายเครือขอใช้ต่อกับซิ่นมุก 

(มีต่อ)

ต้นฉบับ : 

http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/NaNa_July/thaiphuan/thaiphuan.html

http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/NaNa_July/thaiphuan/thaiphuan1/thaiphuan1.html