วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
30/07/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ความหมายลวดลายบนผืนผ้า

  • ลายนกหมู่ (สลับสี)

ลายนกหมู่เป็นลายที่มีความหมายเป็นการไปเป็นหมู่เป็นพวก ไม่มีความขัดแย้งทั้งทางด้านความคิดและการกระทำ บังเกิดความสามัคคี แม่ลายขนาดเล็กนี้มักจะใช้เป็นส่วนประกอบของลายเครือน้อยเท่านั้น ไม่นิยมที่จะนำไปประกอบของลายเครือน้อยเท่านั้น ไม่นิยมที่จะนำไปประกอบลายหลักลายอื่นๆ เพราะจะทำให้ไม่สวยงาม


   

  • ลายนกคุ้ม

ความหมายของลายนกคุ้ม คือการอยู่คุ้มเหย้าคุ้มเรือน คุ้มผัวคุ้มเมีย บังเกิดเป็นสิริมงคลต่อการใช้ชีวิตคู่ครองรัก เป็นลายที่อยู่ต่อลงมา ตัวลายรูปนกตัวเล็กๆ สองตัว ยืนหันหน้าชนกันอยู่ภายในกรอบเป็นคู่ๆ ยืนเรียงไปตามขวางผ้าตีนซิ่นนกแต่ละคู่จะมีการสลับสีเป็นสีต่างๆ ตามความพอใจของช่างทอ แล้วจึงปิดด้วยลายพันคิง ก่อนที่จะเป็นลวดลายอื่นต่อไป

  • ลายนกคาบ

ความหมายบ่งบอกถึงการให้สัจจะวาจาที่จะครองรักร่วมกันอย่างจีรังยั่งยืน มีลักษณะเป็นนกเล็กๆ สองตัวยืนหันหน้าชนกัน เช่นเดียวกับลายนกคุ้ม แต่จะมีข้อแตกต่างตรงที่คาบดอกไม้ร่วมกัน หรือในภาษาถิ่นเรียกกันว่า “กินน้ำฮ่วมต้น” จะไม่มีกรอบล้อม ทำให้เห็นพื้นสีของผ้าตีนซิ่นชัดเจน โดยบนตัวนกแต่ละตัวจะมีเส้นตรงเส้นทแยงที่โยงลงมาจากด้านบนแต่ละคู่จะคั่น สลับด้วยเส้นตรงเส้นทแยง และลายสีเหลี่ยมขนาดเล็กเป็นระยะๆ มีลักษณะเป็นช่องๆเรียงกันไปตลอดแนวขวางของผ้าตีนจก

  • ผ้าขิดลายสิงห์

สิงห์นับเป็นเจ้าแห่งสัตว์ป่า ชาวลาวใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงความปกป้องคุ้มครองให้ปราศจากภัยอันตรายทั้งปวง บางครั้งก็จะปรากฏเป็นลายสัตว์ผสมระหว่างสิงห์กับช้าง โดยตัวเป็นสิงห์หัวเป็นช้างเรียกว่า “มอม” หรือ “คชสีห์” ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ชั้นสูง ลวดลายที่มีตัวมอมมักจะมีรูปเทวดาปรากฏอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งได้แก่ลายเทวดาขี่มอม หรือลายมอมใหญ่ มอมเล็ก จะใช้ทอเป็นหน้าหมอน หรือ ม่าน ในสมัยก่อนนิยมนำผ้าที่ทอลายมอมไปต่อท้ายผ้าชิ้นอื่นเพื่อใช้ในงานมงคล เช่นต่อเป็นผ้าม่านกั้นห้องในพิธีแต่งงานเป็นต้น

 

  • ผ้าขิดลายนาค

นาคเป็นสัตว์ที่ชาวลาวนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เชื่อว่ามีอยู่ในแม่น้ำ ทุกสายคอยให้ความช่วยเหลือปกปักรักษาเมื่อมีภัย ปรากฏในบางตำนานว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวลาว ลวดลายที่เกี่ยวกับนาคที่พบบนผ้าขิดจะมีหลายรูปแบบมากแสดงถึงความยิ่งใหญ่ และมีฤทธิ์ต่างๆ กันมีชื่อเรียกตามอาการที่ปรากฏ

 

 

  • ลายสะเภาหรือหางสะเปา

สะเภาหรือหางสะเปา ส่วนปลายสุดของผ้าซิ่นจกไทยวนทั้งแบบแม่แจ่มหรืออำเภอลองจะจบด้วยลายสะเภา หรือหางสะเปา ซึ่งจินตนาการจากสำเภาทองซึ่งเป็นพาหนะของพระโพธิสัตว์เป็นสัญลักษณ์แห่ง ความรู้และความรุ่งเรืองในดินแดนล้านนา เรือสำเภาทองหรือสะเปาคำ จะปรากฏในพิธีกรรมต่างๆซึ่งมักมีการจำลองสะเปาคำเป็นส่วนประกอบของพิธีเสมอ

ลายหางสะเปาจะเป็นลายส่วนล่างสุดต่อจากแถวห้องนกในผ้าจกแบบแม่แจ่ม มักนิยมจกสีดำสลับสีขาว ซิ่นตีนจกแม่แจ่มบางผืนที่จกหางสะเปาเป็นสีดำทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นซิ่นของผู้เฒ่าผู้แก่มักจะเก็บรักษาไว้หรือทอขึ้นมาเพื่อใช้ใน พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายเช่น การทำบุญถวายไปให้แก่ญาติผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตไปแล้ว สำหรับผ้าจกแบบของอำเภอลองก็อยู่ส่วนปลายสุดต่อจากลายนกกินน้ำร่วมต้นหรือ แถวลายประกอบเล็กๆ อื่นๆ

  • ลายแคทราย

ลายแคทราย เป็นลายหลักที่คิดขึ้นใหม่เป็นลายที่ 9 ของผ้าจกไทยวนราชบุรี เป็นลายที่ออกแบบขึ้นใหม่ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าจกราชบุรีเมื่อพ.ศ. 2538 และได้ทรงปลูกต้นแคทรายไว้ในศูนย์ฯด้วย

 

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/Nana2006/Pattern_fo_textiles/patte...