วัฒนธรรมการแต่งกายในภาคใต้ (1)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ขอบคุณ ภาพและเนื้อหาจาก หนังสือผ้าและสิ่งถักทอไท

ภาคใต้ของไทยเริ่มตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงชายแดนประเทศมาเลเซีย เป็นพื้นที่ที่ถูกขนาบด้วยทะเลทั้งสองฟาก และเป็นจุดผ่านของเส้นทางค้าขายติดต่อระหว่างอารยธรรมตะวันออกและตะวันตกมาตั้งแต่อดีต ชึ่งชัดเจนมากในสมัยอยุธยา เพราะเป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าและเป็นท่าเรือ อารยธรรมต่างประเทศหลายอย่างที่เข้าสู่ราชอาณาจักรสยามมักจะผ่านภาคใต้นี้ก่อนเป็นเหตุให้พื้นที่คาบสมุทรตอนนี้ค่อนข้างมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ในด้านการใช้ผ้า มีบันทึกว่าชาวภาคใต้ใช้ผ้าหลายรูปแบบ ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าแพร ผ้าเขียนลายเทียน ผ้ามัดย้อม แต่ผ้าที่มีชื่อที่สุดของภาคใต้กลับเป็นผ้ายก โดยเฉพาะผ้ายกจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่รู้จักในนามของผ้ายกเมืองนคร เป็นผ้าที่ราชสำนักภาคกลางสั่ง ทอและให้ส่งเป็นบรรณาการ ต่อมาในระยะหลังก็มีผ้าที่มีชื่อเสียงตามมาอีกหลายชนิด แต่ชาวบ้านปักษ์ใต้ทั่วไปเดิมนิยมนุ่งผ้าคล้ายผ้าขาวม้ามีสีแดง การนุ่งผ้าปาเต๊ะหรือบาติกที่มีลวดลายสีสันหลากหลายเป็นความนิยมในช่วงหลังจากการรับอิทธิพลของผ้ามาเลเซีย อินโดนีเซีย ชาวไทยมุสลิมภาคใต้นิยมนุ่งโสร่งลายตะรางแบบชาวเบงกอลทั่วไป

ผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช

ผ้ายกเป็นวิธีการทอที่นิยมมากของคนไทยในแต่ละพื้นที่ก็มีวิธีทอและลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไป ภาคใต้ก็เช่นกัน ผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผ้าที่วิจิตรสวยงามขึ้นชื่อมาแต่โบราณเป็นที่นิยมมาแต่ครั้งราชสำนักอยุธยา ผ้ายกเมืองนครฯ ทอด้วยไหมเนื้อละเอียด นิยมเป็นสีเดียวกันเกือบทั้งผืน สอดแทรกลวดลายด้วยดิ้นทองที่แลดูแผ่วเบาแต่เป็นระเบียบ ลวดลายของท้องผ้าและกรอบกรวยเชิงจะมีลักษณะประณีตเหมาะสมกับเป็นของราชสำนักใช้เป็นผ้านุ่งโจงกระเบนหรือเป็นผ้านุ่งแบบหน้านาง

ผ้ายก เมืองนครศรีธรรมราช  


ผ้าทอเกาะยอ  

เป็นผ้าทอจากตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นผ้าที่ทอด้วยใยฝ้าย มีเนื้อแน่น มีทั้งชนิดที่ทอ 2 ตะกอจนถึง 10 ตะกอ การทอแบบเหยียบตะกอแยกเส้นยืนขึ้นลงทำให้เกิดลายตารางคล้ายกับผ้าขาวม้า ชาวภาคใต้นิยมใช้ทำผ้าโสร่งและผ้านุ่ง จุดเด่นของผ้าทอเกาะยอจึงอยู่ที่ลายตารางนั่นเอง ซึ่งมีขนาดเล็กซ้อนๆ กันทอด้วยด้าย 2 สี เช่นสีขาว – แดง   สีขาว-แดงแซมดำ สีขาว-แดงแซมเหลือง จึงมักจะเรียกผ้านี้อีกอย่างว่า ผ้าลายราชวัตร หากมีตารางใหญ่ก็เรียกว่า ราชวัตรใหญ่ นอกจากนี้ก็ยังมีลายดอกไม้เช่นดอกพิกุล ดอกจิก ดอกชุก ดอกรัก ลายบุหงา ลายลูกแก้ว ลายพริกไทย ลายสมุก ลายข้าวหลามตัด  ลายคชกริช เป็นต้น

ผ้าทอเกาะยอ

ผ้าทอนาหมื่นสี

มีแหล่งทออยู่ที่จังหวัดตรัง เป็นเอกลักษณ์อีกแบบหนึ่งของผ้าภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นผ้าทอ ยกดอกแต่เส้นด้ายย้อมสีสดมาก การทอใช้เครื่องทอขนาดใหญ่จึงได้ผ้าผืนกว้าง มีลายเชิงมีรูปแบบคล้ายกับผ้าจากอำเภอหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย


ผ้าทอนาหมื่นสี

อ้างอิงต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/NaNa/SOUTHERN/southern.html

อ่านต่อ วัฒนธรรมการแต่งกายในภาคใต้ (2)->

<- ย้อนกลับไปที่หน้า รวม link การแต่งกายของคนไทย ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร