วัฒนธรรมการแต่งกายของไททรงดำ (1)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

วัฒนธรรมการแต่งกายของไททรงดำ


หญิงสาวไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง ว่างเว้นจากการทำนาทำไร่จะมานั่งทอผ้า   

ขอบคุณ ภาพและเนื้อหาบางส่วนจากผ้าทอพื้นเมืองในภาคกลาง

ไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง เป็นกลุ่มไทกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในเขตสิบสองจุไท บริเวณลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง ในเวียดนามภาคเหนือ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของ ไทดำ ไทแดง และไทขาว เมื่อ ฝรั่งเศสเข้าปกครองเวียดนาม ได้เรียกชนเผ่าที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำดำว่า ไทดำที่เรียกว่าไทดำ เพราะชนดังกล่าวนิยมสวมเสื้อผ้าสีดำซึ่งย้อมด้วยต้นห้อมหรือคราม แตกต่างกับชนเผ่าที่อยู่ใกล้เคียงเช่น ไทขาวที่นิยมแต่งกายด้วยผ้าสีขาว และไทแดงที่ชอบใช้ผ้าสีแดงขลิบตกแต่งชายเสื้อ

ในสปป.ลาว ไทดำได้อพยพเข้าสู่หลวงน้ำทาในปี พศ.2438 เพราะเกิดศึกสงครามแย่งชิงอำนาจกันระหว่างบรรดาหัวหน้าของไทดำกลุ่มต่าง ๆ ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกในหลวงน้ำทาที่บ้านปุ่งบ้านทุ่งดี บ้านทุ่งอ้ม บ้านน้ำแง้นและบ้านทุ่งใจใต้ ต่อมาเกิดความไม่สงบในสิบสองจุไทขึ้นอีก เนื่องจากศึกฮ่อซึ่งเป็นพวกกบฏใต้เผงที่ถูกทางการจีนปราบปรามแตกหนีเข้ามาปล้นสะดม และก่อกวนอยู่ในเขตสิบสองจุไท ทำให้ชนเผ่าไทดำอพยพจากเมืองสะกบและเมืองวา แขวงไลเจา เข้าตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านปุ่งบ้านนาลือและบ้านใหม่ ในปี พ.ศ.2439 เมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงได้กระจายกันออกไปตั้งหมู่บ้านอยู่ทั่วเขตทุ่งราบหลวงน้ำทา ของสปป.ลาว

ในประเทศไทย คนไทยเรียกไทดำว่า ลาวโซ่ง คำว่า โซ่ง คงจะมาจากคำว่า ซ่วง หรือ ซ่ง ซึ่งเป็นภาษาไทดำ หมายถึงกางเกง ไทดำได้ถูกอพยพเข้าสู่ดินแดนของประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ใน พ.ศ.๒๓๒๒ เมื่อกองทัพไทยไปตีเวียงจันทน์ แล้วกวาดต้อนไทดำที่อพยพมาจากสิบสองจุไท ส่งไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองเพชรบุรี ต่อมาได้กวาดต้อนเข้ามาเพิ่มเติมอีก ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ใน พ.ศ.๒๓๓๕ และสมัยรัชกาลที่ ๓ ใน พ.ศ.๒๓๘๑ ซึ่งตั้งถิ่นฐานกระจายกันอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี พิจิตร พิษณุโลก กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี ชุมพร และสุราษฏร์ธานี ปัจจุบันเรียกคนเหล่านี้ว่าไทยโซ่ง

ไทดำมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เช่นภาษาพูดและภาษาเขียน อาชีพ การแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ การดำรงชีวิตประจำวันยังคงผูกพันกับประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อดั้งเดิมอยู่เป็นอันมาก ลักษณะทางสังคมของไทดำยังคงรักษาขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีและพิธีกรรมไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในความเป็นปึกแผ่นและการดำรงเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์

การแต่งกาย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เสื้อผ้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันกับอีกชนิดหนึ่งคือ สำหรับใส่ในงาน ประเพณี หรืองานรื่นเริงต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งชายและหญิงมักนิยมใช้ผ้าฝ้ายทอมือย้อมคราม สำหรับเสื้อผ้าที่ใส่ใน พิธีกรรมจะจัดทำขึ้นเป็นพิเศษและปราณีสีดำตกแต่งด้วยผ้าไหมชิ้นเล็ก ๆ ส่วนใหญ่มีเครื่องประดับเป็นเงิน ผู้หญิงมี “ผ้าเปียว” คล้องคอ ส่วนเด็ก ๆ จะมีหมวกคล้ายถุงผ้าปักไหมหรือด้ายสวยงาม เรียกว่า “มู”

ขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อของลาวโซ่งเกี่ยวกับการใช้ผ้าได้แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะของการใช้ ดังต่อไปนี้

การแต่งกายของผู้หญิง

ผ้าซิ่น

การใช้ผ้าซิ่นเป็นเอกลักษณ์ของหญิงชาวสยามประเทศเผ่าพันธุ์ส่วนใหญ่จะนุ่งผ้าที่ทอกันขึ้นมาใช้เองตั้งแต่อดีตถึงยุคปัจจุบัน ชาวลาวโซ่งก็เช่นกัน ทุกครัวเรือนผู้หญิงจะเป็นผู้ทอผ้าขึ้นมาใช้เองเป็นผ้าฝ้ายทอมือ ประกอบไปด้วยเชิงบนซิ่นเป็น“หัวซิ่น” “ตัวซิ่น” เชิ่งล่างซึ่งเป็น “ตีนซิ่น”ย้อมครามจนเป็นสีครามจนเป็นสีครามเข้าเกือบดำ นำมาทอสลับลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของลาวโซ่ง

                   

การแต่งกายของผู้สูงอายุผู้หญิงชาวไทยทรงดำ

ผู้หญิงในชีวิตประจำวันจะนุ่ง  “ซิ่นลายแตงโม” หรือ “ลายชะโด” ลักษณะเฉพาะของผ้าลายแตงโมจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่ 1 คือหัวซิ่นจะเป็นสีครามไม่มีลวดลายกว้างประมาณ 12 นิ้ว ส่วนที่ 2 จะเป็นลายโดยใช้เทคนิคการทอขัด แต่พิเศษที่ว่าเป็นฝ้ายแกมไหม คือใช้ไหมสีแดงเป็นเส้นยืน ทอเส้นพุ่งด้วยฝ้ายสีครามสลับสีผ้าอ่อนเป็นทางเล็ก ๆ คล้ายลายบนผลแตงโม เวลาทอเสร็จจะมองไม่เห็นไหมสีแดงเลย ชิ้นที่ 3 กว้างประมาณ 1 ฟุต มีลวดลายสีขาวสองสามริ้ว เย็บติดเป็นตีนซิ่น ถ้าสามีตายต้องเลาะตีนซิ่นนี้ออก เพื่อไว้ทุกข์ ส่วนเสื้อใช้แขนยาวทรงกระบอก ตัวเสื้อเย็บเข้าตัว คอตั้งผ่าอกตลอด ติดกระดุม เงินถี่ 10 เม็ด เรียกว่า เสื้อก้อม บางทีจะใช้ผ้าคาดอกเรียกว่า ผ้าเปียว ปักลวดลายไว้ที่ชายทั้งสอง ชายหญิงที่แต่งงานแล้ว จะใช้ผ้าเปียวสีดำหรือครามแก่

การนุ่งซิ่นลายแตงโม จะต้องจับขอบบนของผ้านุ่งทั้งซ้ายและขวามาทบเกยกันตรงกลาง และพับขอบผ้าลงมาโดยไม่ต้องคาดเข็มขัดหรือผูกเชือก ผ้าก็ไม่หลุด

 ตำนานผ้าซิ่นลายแตงโม

เป็นคำบอกเล่าสืบต่อกันมา การที่ผ้าซิ่นลายแตงโมใช้เส้นยืนสีแดงเป็นหลัก เส้นพุ่งเป็นสีดำหรือครามเข้าเกือบดำนั้นเรื่องราวก็มีอยู่ว่า

เป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่โบราณกาล ผู้ชายที่เป็นสามีเป็นผู้นำของครอบครัวมีหน้าที่ออกจากบ้านไปเข้าป่าหักร้างถางพง เป็นแหล่งทำมาหากินทำไร่ไถนาหาเผือกหามัน ปล่อยให้ภรรยาอยู่กับเหย้าเฝ้าเรือน จนกว่าสามีจะกลับบ้าน

สาวเจ้าจะนั่งทอผ้าไป ใจก็ประหวัดนึกถึงสามีที่เข้าป่าหลายวัน อันความรักความคิดถึงย่อมจะมีอยู่ในตัวของทุกคน มันวิ่งแล่นอยู่ทุกลมหายใจยิ่งกว่ากระสวยที่พุ่งผ่านเป็นเส้นขัดให้เป็นผืนผ้าในกี่ทอผ้าที่กำลังทออยู่

สาวเจ้าจึงใช้สีแดงย้อมเส้นยืน ซึ่งเป็นสีที่ใช้แทนหัวใจที่โหยหาอาวรณ์ในคนรักที่จากกัน ส่วนเส้นพุ่งใช้สีครามเข้าเกือบดำแทนตัวเอง ใช้ทอทับเป็นเส้นขัดให้เกิดเป็นเนื้อผ้า โดยซ่อนเส้นยืนสีแดงเอาไว้ เมื่อเวลานุ่งผ้าซิ่นลายแตงโมคอยสามี ต้องแสงแดดแวววับของเหลือบสีแดงสะท้อนออกมา เสมือนหนึ่งเป็นสื่อสัญญาณแห่งความรักที่มีต่อกัน แม้จะเห็นเพียงราง ๆ ก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อปกปิดความอายที่เป็นคุณสมบัติของหญิงสาวชาวลาวโซ่งโดยแท้

ผ้าซิ่นลายแตงโม จะต้องนำมาต่อหัวซิ่นสีครามเข้มเกือบดำ ส่วนตีนซิ่นเย็บต่อให้มีความหนาเพื่อป้องกันไม่ให้ชายผ้าซิ่นขาดง่ายเกินไป

โดยหลักการของการทอผ้าทั่ว ๆ ไปเส้นยืนจะมีขนาดเล็กกว่าเส้นพุ่งการทอผ้าแบบลาวโซ่งจึงสามารถที่จะซ่อนสีแดงของเส้นยืนเอาไว้อย่างมิดชิด แต่ไม่สามารถจะซ่อนอณูของสีที่เหลือบเอาไว้ เมื่อเวลาต้องแสงแดดจะมีสีของเส้นยืนสะท้อนออกมาให้เห็น นี่แหละภูมิปัญญาของพื้นบ้าน


                    ผ้าซิ่นลายแตงโมของหญิงชาวไทยทรงดำ

เสื้อก้อม

เสื้อก้อม เป็นเสื้อของผู้หญิงชาวลาวโซ่ง สีดำด้วยการย้อมครามตัดเย็บด้วยมือ ฝีเข็มละเอียด จนสามารถสวมได้ทั้งสองด้าน ลักษณะเป็นเสื้อคอกลมผ่าหน้า แขนกระบอก เข้ารูปติดกระดุมเงินถี่มาก ประมาณ 9 – 11 เม็ดถ้าฐานะดีก็จะติด 2 แถว กระดุมนั้นทำด้วยเงินเก่า ตีด้วยฝีเข็มเป็นยอดแหลมมีลายกลีบบัว ติดห่วง ปัจจุบันหายากมาก เสื้อก้อมเป็นเสื้อที่ใช้คู่กับผ้าซิ่นเป็นชุดลำลองหรือชุดประจำเผ่าของชาวลาวโซ่งหญิง ใช้สวมไปทุกแห่ง ถ้าไปวัดก็พาดผ้าเปียว หรือ ผ้าสไบอีก 1 ผืน ถ้าไปตลาดก็สะพายกะเหล็บ ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ละเอียดยิบ ใช้แทนกระเป๋า หรือถ้าจะเข้าป่าก็สะพายย่าม ใช้ผ้าเปียวก็นำมาโพกศีรษะแทนหมวก

การแต่งกายของหญิงสาวชาวไทยทรงดำกับกะเหล็บที่ใช้ในพิธีแต่งงาน

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/thaisongdam/thaisongdam.html

อ่านต่อที่ วัฒนธรรมการแต่งกายของไททรงดำ (2) ->

<- ย้อนกลับไปที่หน้า รวม link การแต่งกายของคนไทย ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร