ผ้าซิ่นน้ำถ้วมทำไมถึงเรียกว่าผ้าซิ่นน้ำถ้วมค้นหาคำตอบได้ที่นี่

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ผ้าซิ่นน้ำถ้วม ทำไมถึงเรียกว่าผ้าซิ่นน้ำถ้วม

ขอบคุณ ภาพและเนื้อหา จากครัวหย้องของงามแม่หญิงล้านนา

ซิ่นน้ำถ้วม(ภาษาอักขระทางล้านนา) หรือซิ่นน้ำท่วม(ภาษาทางภาคกลาง)  เป็นชื่อของผ้าถุงของไทยวนเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง มีแหล่งกำเนิดอยู่ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมตอนสร้างเขื่อนภูมิพล ผู้คนในยุคหลังจึงเรียกชื่ออย่างนั้น หากจะกล่าวถึงบริเวณที่สร้างงานหัตถศิลป์มีชื่อดังกล่าวนี้ให้ชัดเจน ก็คือพื้นที่ทะเลสาบดอยเต่าของจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด ซึ่งอดีตเป็นชุมชนโบราณเจริญในทุกๆด้าน แต่ประวัติศาสตร์ทั้งมวลของเมืองต้องล่มสลายไป เมื่อมีการสร้างเขื่อนหลวงแห่งนี้



ฟังเรื่องแหล่งที่มาของซิ่นน้ำถ้วมแล้วจุกอกตันคอ ด้วยว่าน้ำขื่นน้ำขมล้นขึ้นจมูก ซิ่นน้ำถ้วมมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เช่นเดียวกับซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ซิ่นมีองค์ประกอบสามส่วนคือส่วนที่เป็นตีนจก ตัวซิ่น และหัวซิ่น นักภูษิตาภรณ์พิลาสหลายท่านสรุปว่า ซิ่นน้ำถ้วมมีลวดลายใกล้เคียงกับซิ่นของชาวหอคำหลวงเชียงใหม่คือซิ่นตีนจกดิ้นเงินดิ้นทอง ตามที่เห็นในภาพถ่ายโบราณ ซิ่นแบบเก่ามักจะทอลายห่าง เป็นแบบอย่างของตีนจกโบราณของทุกพื้นที่ก่อนคลี่คลายเพิ่มลายเพิ่มฝ้ายให้หนาขึ้นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน ซิ่นน้ำถ้วมไม่ใช้ดิ้นเงินดิ้นทองวาววับอย่างของชาวหอคำหลวง เพียงแต่แซมดิ้นและซอนไหมในบางส่วนของลวดลายเท่านั้น จึงงามอย่างพอดีๆ

     

ซิ่นน้ำถ้วมเป็นของเก่าหายาก พอๆกับซิ่นไหมคำของนางกษัตริย์เชียงตุงหรือซิ่นดิ้นเงินดิ้นทองเชียงใหม่ ที่หายากเพราะเรื่องมันมีอยู่ว่า...

“...กาละแต่เดิมนั้น วังลุงเมืองหอดหรือเมืองฮอดอย่างเรียกขานกัน ในอดีตเป็นเมืองก้านกุ่งรุ่งเรือง มีสายแม่ระมิงค์เป็นเส้นทางผ่านจากเมืองใต้ขึ้นมาสู่เวียงพิงค์ล้านนานับตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงวันสร้างเขื่อน กล่าวกันว่าพระนางจามเทวีกษัตริยาจากเมืองละโว้ใช้เส้นทางนี้ขึ้นมาสู่หริภุญไชยนคร ตำนานหลากหลาบันทึกเรื่องราวผู้คนทั้งสองฟากฝั่งครั้นเมื่อถึงสมัยกึ่งพุทธกาล มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่ระมิงค์ที่จังหวัดตาก น้ำได้ท่วมเมืองประวัติศาสตร์นี้จนจมมิด ฟังว่าผู้คนหนีตายกันจ้าละหวั่น ที่ย้ายไปอยู่ตามที่จัดสรรก็มากมี ที่ห่วงไร่นาทรัพย์สินอันเคลื่อนย้ายไม่ได้ก็หลายอยู่ คนเฒ่าที่ห่วงพระเจ้าพระธรรมก็ยอมตายเฝ้าพระเจ้าพระธรรมที่นั่นก็มีนัก บางผู้ไม่เชื่อตามคำบอกของทางการว่าน้ำจะท่วมขึ้นถึงที่ดอน ก็ยั้งท่ารออยู่ พอน้ำเอ่อมาแท้จะเก็บเข้าของครัวฮอมก็ไม่ทันกาล ละขว้างม้างหม้ายหายสูญไปเสียสิ้น หุบเขาดอยเต่าเป็นเมืองใหญ่กว้าง วัดวาอารามมากมี หีบพระธรรมถูกหามหนี้น้ำเอาขึ้นฝากไว้ในถ้ำและซอกผา น้ำยังเอ่อตามขึ้นท่วมซ้ำ คนเรือหาสมบัติบันทึกเรื่องราวในช่วงนั้นว่า “เห็นหีบธรรมลอยน้ำเป็นร้อยเป็นพันก็สังเวช” ชาวหมู่ผู้คนพากันหนีตายพลัดหายไปจากถิ่น นางแม่เรือนและแม่อุ๊ยอันเคยได้รังสรรค์ผ้านุ่งครัวใบทั้งมวลก็ละทิ้งกี่แลหูกทอไว้ใต้น้ำ ขนาดสิ่งที่จะใช้ยังชีพอย่างหม้อชามรามไหยังละขว้าง ไปหาเอาทางหน้า นับประสาอะไรกับเครื่องนุ่งพันกายไม่ตายก็หาใหม่ หอบมาแต่ผ้าซิ่นไม่กี่ผืนอันที่ได้เคยทอเมื่อตอนอยู่ม่วนกินหวาน หวังจะเอาไว้นุ่งไปเฝ้าพระแก้วเจ้าจุฬามณีเมืองฟ้าเมื่อยามละสังขารสิ่งทั้งมวลจึงปล่อยให้น้ำอันสร้างไฟฟ้ามากลบหายอยู่ใต้ธรณีนทีใหญ่กว้างนั้น แล...”



ครั้นเมื่อย้ายไปอยู่ยังเนินภูจอมดอย ความอดอยากยากกลั้นยิ่งทบทวี ผ้าใหม่ครัวใหม่ได้จากการบริจาค อันจะให้คิดทอใหม่ใส่ลายอย่างวิจิตรอย่างเดิม ใจก็ไม่นิ่งพอ เนิ่นนานหลายเดือนหลายปี วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไป เอาสิ่งใหม่ที่เจริญกว่ามาแทนที่ ผ้าซิ่นงดงามที่เป็นเอกลักษณ์ก็ไม่มีผู้สืบสาน เมื่อราวต้นปี พ.ศ. 2540 นุสรา เตียงเกตุ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าแม่แจ่มได้สำรวจหาผู้ที่ยังสืบทอดซิ่นน้ำถ้วมและจื่อจำลวดลายจนทอได้เมืองฮอดพบว่า ค้างแต่รุ่นหลานอายุ 50 ปีในขณะนั้นมีเพียงท่านเดียว ที่สืบจำจากแม่อุ๊ยอันได้ดับจิตตายลาจากไปหลายปีแล้ว จนบัดนี้ล่วงมาหกเจ็ดปีหลานคนนั้นจะตายจะยังก็ไม่รู้แจ้ง ซิ่นน้ำถ้วมผืนใหม่ยังไม่เคยได้เห็น ซิ่นน้ำถ้วมถ้าจะจบสิ้นดิ้นตายแลสลายตำนานสานศิลป์ไปเสียแล้ว ลายงามอันวิเศษได้จมจ่อมสูญหายอยู่ใต้ห้วงมหานทีศรีดอยเต่านั้นแล หากจะเหลือค้างก็คงเป็นซิ่นน้ำถ้วมอย่างสันป่าตอง จอมทอง อันซิ่นน้ำถ้วมอย่างดอยเต่าวังลุง ดูจะหาชมได้ยากยิ่ง

น้ำเหนือเขื่อนงดงามยามตะวันต้อง เรือแพสำราญพานักท่องเที่ยวขึ้นล่องชมสองฟากฝั่ง ชาวดอยเต่าแต่เดิมเคยมีที่นาอันอุดมเคยมอบราบกราบสาพระเจ้าในวิหารหลวงกลับต้องพลัดไปอยู่ที่กันดารหว่านทุกข์ เป็นดินแดงฝุ่นมุกไม่มีฝน ต่อเมื่อยามน้ำลด น้ำทางเหนือบ่ไหลส่ง คนอยู่บนเรือบินบินเลาะส่องทะเลสาบ ยังเห็นยอดเจดีย์และหลังคาวิหารวิบหว่ำอยู่ใต้น้ำ คนอวนลากอวนมาเกี่ยวกับแผ่นทองจังโกหุ้มพระธาตุ เกี่ยวช่อฟ้าป้านลมก็มีบ่อยสิ่งที่เหลือคือซากปูนกับแผ่นอิฐ จะไปเหลืออะไรกับหูกฟืมและกี่ทอ เส้นฝ้ายเส้นไหมแลลวดลายแห่งซิ่นเมืองฮอด ก็อิดหอดโหยหิวไปตามประสา กลายเป็นซิ่นน้ำถ้วมเหลือค้างในโลกหล้านี้ไม่กี่ผืน ชีวิตมนุษย์มีได้กับเสีย ได้เขื่อนได้ไฟฟ้า เสียบ้านเสียเมืองเสียงานหัตถศิลป์ปิ่นหล้า มีทั้งคนร่ำไห้และหัวเราะ บางท่านว่าเสียสินแต่ได้ทรัพย์ ได้พรกรุฮอดได้เครื่องทอง ได้พระพุทธรูปล้ำค่าในเจดีย์ ได้หัวใจพระเจ้า พระธรรมร่ำรวย ดีกว่าให้น้ำท่วมหายสูญ ขอจบเรื่องซิ่นน้ำถ้วมไว้แค่นี้ ฟังว่าเหมือนน้ำตาจะไหลท่วมล้นหัวใจไปแล้ว

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/Sin1/sin1.html