จากฝ้ายกลายเป็นเส้น -การปั่นฝ้ายให้กลายเป็นเส้น

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

จากฝ้ายกลายเป็นเส้น -การปั่นฝ้ายให้กลายเป็นเส้น


 การดีดฝ้ายให้แตกฟูเป็นปุยละเอียด

วิธีการ  อีดฝ้าย  อิ้วฝ้าย หรือ  หีบฝ้าย นั้นจะทำโดยการนำปุยฝ้ายที่ตากแห้งสะอาดดีแล้วมาใช้มือหนึ่งจับที่จับ  ค่อย ๆ หมุนฟันเฟืองไปอย่างต่อเนื่อง  อีกมือจับปุยฝ้ายที่เตรียมไว้ใส่เข้าไประหว่างไม้กลมเกลี้ยงขนานชิดกัน  ซึ่งมีฟันเฟืองอยู่ด้านนอก  ส่วนที่เป็นปุยฝ้ายจะถูกหนีบลอดข้ามไปหล่นลงตะกร้าหรือกระบุงที่เตรียมไว้ ส่วนเมล็ดก็จะร่วงลงพื้นทำต่อเนื่องไปจนหมด

การดีดฝ้ายหรือแก้บฝ้าย
นำปุยฝ้ายที่คัดแยกเมล็ดออกหมดแล้วมาดีด โดยใช้ กงดีดฝ้าย  ก๋งยิงฝ้าย หรือ กงแก้บฝ้าย  ซึ่งทำจากซี่ไม้ไผ่  เหลาให้ปลายเรียวทั้งสองข้าง ใช้เชือกผูกที่ปลายทั้งสองข้างเพื่อดัดซี่ไม้ให้โค้งเข้าหากันคล้ายกับคันธนู  อุปกรณ์คู่กันคือปล้องไม้ไผ่ขนาดเล็กยาวประมาณ  6- 8 นิ้ว และกระบุงขนาดใหญ่พิเศษ  ทรงปากกว้างพอประมาณขอบปากกระบุงด้านหนึ่งมัดท่อนไม้ขนาดประมาณ 4 x 6 นิ้ว เพื่อเวลาดีดฝ้าย  ปากกระบุงจะได้ยกหนุนสูงขึ้นจากพื้น  กระบุงขนาดใหญ่นี้เรียกเป็นภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ กันว่า กะเพียด กะเพด หรือกระหลุมยิงฝ้าย

วิธีการดีดฝ้ายหรือแก้บฝ้าย
นำปุยฝ้ายมาใส่กะเพียด  กะเพด  หรือกะลม  แล้วเอามือหนึ่งจับกงดีดฝ้ายหรือก๋งยิงฝ้าย ถือด้านที่เป็นคันธนูไว้ให้เส้นเชือกถูกปุยฝ้าย แล้วใช้อีกมือจับปล้องไม้ไผ่ ขนาดเล็กดีดเส้นเชือกต่อเนื่องไป  เพี่อให้ปุยฝ้ายกระจายตัวเป็นปุยละเอียด  หมั่นคนปุยฝ้ายให้เชือาดีดถูกจนทั่วสม่ำเสมอกันเป็นปุยละเอียดเหมือนกันทั้งหมด การดีดฝ้ายแต่ละครั้งจะไม่ใส่ฝ้ายมากนักจะดีดฝ้ายให้เพียงพอเฉพาะการนำมาม้วนฝ้ายหรือล้อฝ้ายเท่านั้น  ไม่ควรดีดฝ้ายทิ้งค้างไว้เพราะปุยฝ้ายจะคืนตัวจับกันเป็นก้อนเหมือนเดิม

การปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นใยฝ้าย

                                            การม้วนฝ้ายหรือล้อฝ้าย

แป้นล้อฝ้าย
ทำจากไม้เนื้อแข็ง  เป็นแผ่นไม้หนาประมาณ  1  นิ้ว  รูปทรงส่วนใหญ่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ  8 x 10 นิ้ว โดยด้านกว้างด้านหนึ่งจะมีที่จับ

ไม้ล้อฝ้าย  
ทำจากไม้เนื้อแข็ง  รูปทรงคล้ายตะเกียบ  บางท้องถิ่นจะแกะสลักด้ามเป็นหยักเหลื่ยมสวยงาม

วิธีการม้วยฝ้ายหรือล้อฝ้าย คือ
นำปุยฝ้ายที่ดีดเป็นปุยละเอียดแล้ว  วางลงบนแป้นล้อฝ้าย ให้กระจายสม่ำเสมอกัน  ประมาณขนาดให้ใหญ่กว่าฝ่ามือเพียงเล็กน้อย  แล้ววางไม้ล้อฝ้ายไว้บนส่วนปุยฝ้าย จากนั้นให้เอาฝ่ามือถูปุยฝ้ายให้ม้วนขนานเข้าไปกับไม้ล้อฝ้าย  โดยรักษาน้ำหนักมือให้พอเหมาะเพื่อไม่ให้ม้วนฝ้ายแน่นหรือหลวมเกินไป  แล้วดีงไม้ล้อฝ้ายออก  จะได้ฝ้ายเป็นม้วนหลอดกลมยาวประมาณ  8 - 9 นิ้ว บางท้องถิ่นเรียกหลอดม้วนฝ้ายนี้ว่า  ดิ้ว  การม้วนฝ้ายหรือล้อฝ้ายนี้จะต้องทำจนหมดปุยฝ้ายที่ดีดไว้ การม้วนฝ้ายหรือล้อฝ้ายนี้ทำสะสมไว้ได้แล้วทยอยนำไปปั่นเป็นเส้นด้าย แต่ก็ไม่ควรเก็บม้วนฝ้ายหรือล้อฝ้ายไว้นานเกินไป  โดยปกติหลังจากม้วนฝ้ายหรือล้อฝ้ายได้พอประมาณจึงนำไปปั่นเป็นเส้นใยจนหมดม้วนฝ้าย

การปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นใยฝ้ายจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า  กงปั่นฝ้าย  หรือ  หลาปั่นฝ้าย การปั่นฝ้ายนี้ภาษาท้องถิ่นทางภาคอีสานเรียกว่า  การเข็นฝ้าย

การปั่นฝ้าย หรือ  หลาปั่นฝ้าย  ส่วนโครงสร้างทำจากไม้เนื้อแข็ง ส่วนวงล้อนั้นประกอบจากซี่ไม้ไผ่  โครงสร้างส่วนฐานประกอบจากท่อนไม้คล้ายตัวอักษร  T  โดยส่วนหัวมีเสาหลัก  2  ข้างเข้าต่อเป็นเดือยทะลุฐาน ข้างหนึ่งสั้นกว่าเพื่อให้เอียงเข้าหาด้านผู้ปั่น   ส่วนเสาหนักที่ทะฐานขึ้นไปจะยาวเท่ากัน  โดยส่วนกึ่งกลางจะเจาะทะลุใส่คานแกนของวงล้อปั่นฝ้าย  วงล้อนี้จะทำด้วยซี่ไม้ไผ่มัดประกอบกันด้วยเส้นเชือก  มีลักษณะคล้ายวงล้อจักรยาน  ที่คานแกนกลางวงล้อนี้จะต่อยาวออกมาเป็นที่จับสำหรับหมุนปั่นฝ้ายส่วนฐานอีกด้านหนึ่งเข้าเดือยไม้อีกชิ้นหนึ่ง  ซึ่งมีหลักเตี้ย ๆ ขึ้นไปเป็นคานใส่เหล็ก  ด้านหนึ่งยื่นเป็นปลายแหลมเข้าหาด้านผู้ปั่นฝ้าย  เหล็กปลายแหลมนี้เรียกว่า ไน  ซึ่งหมุนโดยแรงเหวี่ยงของเส้นเชือกที่ผูกโยงรอบวงล้อมาหาแกนของเหล็กไน   เมื่อหมุนวงล้อ  เหล็กไนก็หมุนไปด้วย

วิธีการปั่นฝ้ายหรือเข็นฝ้าย   เอาปลายม้วนฝ้ายจ่อไว้ที่ไน ส่วนมืออีกข้างจับที่หมุนให้วงล้อหมุน  ส่วนไนก็จะหมุนตาม  ทำให้แรงเหวี่ยงตีเกลียวม้วนฝ้ายที่จ่อไว้  เมื่อดึงมือที่ถือม้วนฝ้ายออกมาก็จะเป็นเส้นฝ้าย  เมื่อผ่อนมือย้อนกลับเส้นฝ้ายก็จะม้วนอยู่กับเหล็กไน  เมื่อไกล้จะหมดม้วนฝ้ายก็เอาม้วนฝ้ายอันใหม่ทำต่อเนื่องกับม้วนฝ้ายอันเดิมให้เป็นเส้นฝ้ายเดียวกัน  จนเส้นฝ้ายเต็มเหล็กไน  จึงค่อยๆ คลายเส้นใยฝ้ายจากเหล็กไนใส่ไม้เปียฝ้ายหรือไม้เปฝ้าย

การปั่นฝ้ายหรือเข็นฝ้าย


(อ่านต่อคลิกที่นี่)
ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_2/B_7/COTTON/COTTON__1/cotton__1.html