วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

วิธีการทอผ้าขิด   
เนื้อหาและภาพ จากหนังสือผ้าไทย
 
การทอผ้าขิด

การทอผ้าขิด  เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่คนไทยได้สืบทอดกันมานาน และแพร่หลายในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสานซึ่งทอผ้าขิดมากกว่าท้องถิ่นอื่นๆ

คำว่า ขิด เป็นภาษาพื้นบ้านของภาคอีสานมาจากคำว่า สะกิด หมายถึงการงัดช้อนขึ้น การสะกิดขึ้น

คำว่า ผ้าขิด จึงเป็นการเรียกขานชื่อผ้าตามกระบวนการทอ คือ ผู้ทอใช้ไม้เก็บขิดสะกิดช้อนเครือเส้นยืนขึ้นเป็นจังหวะตามลวดลายตลอดหน้าผ้า และพุ่งกระสวยสอดเส้นพุ่งพิเศษและเส้นพุ่งเข้าไปตลอดแนวเครือเส้นยืนที่ถูกงัดช้อนขึ้นนั้น ช่วงจังหวะของความถี่ห่างที่เครือเส้นยืนถูกกำหนดไว้ด้วยไม้เก็บขิดจึงเกิดเป็นลวดลายขิดขึ้น วิธีการทอผ้าแบบ ขิด จึงเป็นรูปแบบการทอผ้าที่สร้างลวดลายขณะทอผ้าบนกี่ (หูก)

วิธีการเก็บขิดเพื่อสร้างลวดลายในประเทศไทยมี 3 วิธี คือ   

1) คัดไม้ขิดโดยไม่มีการเก็บตะกอ

วิธีการเก็บขิดแบบนี้เหมาะสำหรับการทอลวดลายที่ไม่ซับซ้อนมาก  และต้องการเปลี่ยนลวดลายบ่อย ๆ ไม้ขิดที่เก็บลวดลายจะเรียงกันไปตามลำดับบนเครือเส้นยืนซึ่งอยู่ด้านหลังฟืม


2) เก็บขิดเป็นตะกอลอย

การเก็บขิดวิธีนี้ ต้องผ่านการคัดไม้ขิดแบบแรกเสียก่อน เสร็จแล้วใช้ด้ายเก็บลายตามไม้ขิดที่คัดไว้ทุกเส้น เรียกว่า เก็บตะกอลอย วิธีนี้สะดวกกว่าวิธีแรกคือไม่ต้องเก็บ   ขิดทุกครั้งในเวลาทอ แต่ใช้วิธียกตะกอลอยไล่ไปแต่ละไม้จนครบ วิธีการนี้ทำให้ทอลวดลายซ้ำ ๆ กันได้ โดยไม่ต้องเก็บลายใหม่ทุก ๆ ครั้งเหมือนวิธีแรก แต่ถ้ามีจำนวนตะกอมาก ๆ ก็ไม่เหมาะสมกับวิธีการนี้เช่นกัน


3) เก็บตะกอแนวตั้ง

การเก็บตะกอแนวตั้ง พัฒนาจากแบบการเก็บขิดดั้งเดิมให้ทอได้สะดวกรวดเร็วขึ้นสามารถทำลวดลายที่ซับซ้อนและมีจำนวนตะกอมากๆได้

ผ้าขิดส่วนใหญ่ใช้เส้นใยฝ้ายมากกว่าเส้นใยไหม โดยทอเป็นผ้าขิดสำหรับใช้สอย เป็นหมอนผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ผ้าคลุมไหล่ ผ้าห่อคัมภีร์ และผ้าม่าน นอกจากนี้ยังมีการทอทอผ้าลายขิดด้วยฟืมหน้าแคบ เพื่อใช้เป็นหัวซิ่นและตีนซิ่นอีกด้วยโดยลักษณะลวดลายและการใช้สอยจะแตกต่างไปตามเอกลักษณ์ของกลุ่มวัฒนธรรม

ลักษณะเฉพาะของผ้าทอลายขิด สังเกตดูได้จากลายซ้ำของเส้นพุ่งที่ขึ้นเป็นแนวสีเดียวกันตลอด อาจจะเหมือนกันทั้งผืนหรือไม่เหมือนกันทั้งผืนก็ได้ แต่ต้องมีลายซ้ำที่มีจุดจบแต่ละช่วงของลายเห็นได้ชัด

 


<<<  การคัดไม้ขิดโดยไม่มีการเก็บตะกอ

 

 

<<< การเก็บตะกอนแนวตั้งไม้ขิดที่เก็บลวดลายสามารถใช้จำนวนตะกอมาก ๆ ได้

 

 

การทอผ้าโดยใช้ตะกอแนวตั้งเก็บลวดลาย
ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/textilek/textilek.html

<- ย้อนกลับไปยังหน้ารวม ผ้าขิด ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร