เทคนิคการขิด - ลายผ้าขิดของกลุ่มชนต่างๆ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ลายผ้าขิดของกลุ่มชนต่างๆ

ผ้าลายขิดในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีลักษณะ ลวดลาย สีสัน และการใช้งานแตกต่างกันไป ในภาคอีสาน กลุ่มวัฒนธรรมที่นิยมทอผ้าลายขิดได้แก่

ผ้าลายขิด ชาวภูไทหรือผู้ไทย

กลุ่มนี้ใช้วิธีการทอผ้าแบบขิดค่อนข้างมากโดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่บริเวณจังหวัดมุกดาหารทอผ้าไหมด้วยวิธีขิดงดงามมาก แตกต่างจากผ้าทอที่เรียกว่าแพรวาของจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ใช้วิธีจกผสมอยู่ด้วย

ชาวภูไทหรือผู้ไทยเรียนรู้ลวดลายโดยศึกษา จาก ผ้าแซ่ว ซึ่งเปรียบเหมือนครู ผ้าแซ่วรวมแม่ลายสำคัญ ๆ ไว้ในผืนผ้าเดียวกัน เป็นต้นแบบลายแก่ผู้หัดทอและที่ใช้วิธีผสมลวดลายต่าง ๆ ในผืนเดียวกัน นับเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดของคนไทยในภาคอีสาน เป็นการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ทอรุ่นหลัง

ชาวอีสานโดยทั่วไปนิยมทอผ้าขิดเพื่อทำเป็นหมอน สังเกตว่าลวดลายขิดจะอยู่บริเวณส่วนกลางของตัวหมอน ส่วนหน้าหมอนนั้น นิยมเย็บปิดด้วยผ้าฝ้ายสีแดง

ลวดลายหมอนขิดส่วนใหญ่ เป็นลวดลายที่ผู้ทอได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อ เช่น ลายแมงงอด ลายอึ่ง ลายช้าง ลายม้า ลายพญานาค ลายดอกแก้ว ลายดอกจันทร์ ลายตะเภาหลงเกาะ ลายขอ ลายสิงห์ ลายคชสีห์อองน้อย ลายแมงมุม ลายกาบ ลายหอปราสาท  หรือธรรมาสน์ เป็นต้น

แต่เดิมชาวภาคอีสานนิยมทอลวดลายขิดด้วยเส้นใยฝ้ายสีคราม  ส่วนปัจจุบันนิยมใช้สีสันสดใส และพัฒนาการย้อมด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ ใบไม้ ได้ผ้าสีออกสีน้ำตาลด้วยเช่นกัน

 

ชาวภูไทหรือผู้ไทย  แต่งกายแบบดั้งเดิม ร่วมแห่ขบวนจุลกฐิน

 

ผ้าแพรวาขิดไหมของชาวภูไทเป็นผ้าสไบที่ใช้พาดเบี่ยงไหล่ไปงานบุญสำคัญ ๆ



ผ้ากั้นส่วม (ห้องหอ) ลายขิด สาวชาวภูไท ทอไว้ใช้เป็นผ้าม่านกั้นประตูห้องนอนเมื่อแต่งงาน


  
ผ้าตุ้มลายขิดไหมชาวภูไทใช้คลุมไหล่ในฤดูหนาวและใช้เป็นผ้าคลุมโลงศพ

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/textilek/textilek01/textilek01.html

<- ย้อนกลับไปยังหน้ารวม ผ้าขิด ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร