วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

จังหวัดลำพูน


ผ้าฝ้ายลายประยุกต์

   
เอกลักษณ์ ลวดลาย และการใช้ประโยชน์

จังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดในภาคเหนือที่มีการทอผ้ายกกันอย่างแพร่หลายในหลายอำเภอได้พบผ้าทอยกดอก (ไหม/ฝ้าย/โทเร) และสอดด้วยดิ้นเงินและดิ้นทอง ทั้งลวดลายดั้งเดิมลวดลายประยุกต์ หรือลวดลายที่คิดขึ้นใหม่ ได้แก่ ลายอินเดีย

(สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้นำตัวอย่างลายมาจากอินเดีย) ลายดอกพิกุล ลายแววมยุรา ลายแก้วชิงดวง ลายพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าเสือ ลายพิกุลขอบ (ต้นแบบคาดว่ามาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ) ลายต้นสน ลายราชวัติ ลายระย้า  ลายเกล็ดเต่า ลายรูปสัตว์ ลายเม็ดมะยม ลายริ้ว ลายขนมเปียกปูน เป็นต้น ได้พบว่าจะทอเป็นผ้านุ่ง ผ้าสไบ ผ้าผืนสำหรับตัดชุด ผ้าห่อคัมภีร์ เป็นต้น

ผ้าไหมยกดอกดิ้นทองลายแววมยุราผสมลายหางนกยูงและลายพุ่มข้าวบิณฑ์

การสืบทอดทางวัฒนธรรม

แม้ว่าในยุคต้นเมืองลำพูนหรือหริภุญชัย ซึ่งปกครองโดยพระนางจามเทวี ราชธิดาแห่งกษัตริย์ละโว้ มีความเจริญรุ่งเรืองมาหลายยุคสมัย แต่เมื่อมาถึงสมัยพระเจ้าเม็งราย เมืองลำพูนได้ถูกรวบรวมเข้าไปเป็นอาณาจักรเดียวกับล้านนา สันนิษฐานได้ว่าการสืบทอดทางวัฒนธรรมหรือศิลปะของการทอผ้าในพื้นที่ดังกล่าวเกิดจากอิทธิพลของชาวล้านนาแต่ดั้งเดิม ทำให้ลวดลายของผ้าส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับในจังหวัดอื่นๆ

ทางภาคเหนือ แม้ว่าศิลปะด้านอื่นๆ จะแตกต่างกันในยุคปัจจุบันได้มีหน่วยงานราชการในพื้นที่ได้ให้การสนับสนุนหรือส่งเสริมในรูปของการอบรมขั้นตอนและวิธีการทอผ้าให้กับหัวหน้ากลุ่มในพื้นที่ เพื่อให้นำมาถ่ายทอดต่อแก่ชาวบ้านในชุมชนแต่เดิมการแต่งกายของผู้ชายชาวลำพูนจะมีความคล้ายคลึงกับชาวเหนือกลุ่มอื่น ๆ ทั่วไป คือบริเวณท่อนกลางลำตัวจะใส่ผ้าเตี่ยว ยาวประมาณ 2 – 2.5 หลา กว้าง 2 – 3 ฟุต

การนุ่งเริ่มจากด้านหลังแล้ววนมาด้านหน้า ชายที่เหลือม้วนเป็นเกลียวสอดใต้ขา แล้วหยักรั้งขึ้นมาเหน็บไว้ที่เอวด้านหน้า ผู้ชายมักจะปล่อยอกเปลือย และมีผ้าขาวม้า 1 ผืน ซึ่งใช้ได้สารพัดประโยชน์ตั้งแต่ใช้โพกศีรษะ เช็ดหน้า ใช้เป็นเข็มขัดและนุ่ง ในปัจจุบันเริ่มใส่เสื้อมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้หญิงและนุ่งกางเกง ผ้าหม้อห้อมหรือที่เรียกว่า “เตี่ยวสะดอ” ส่วนลักษณะการแต่งกายของผู้หญิงในสมัยก่อนจะนิยม ใช้ผ้าแถบคาดอก และนุ่งผ้าซิ่น ลักษณะของผ้าและความงามในลวดลายผ้านั้นจะขึ้นอยู่กับฐานะหรือรายได้ของผู้สวมใส่ และยังมีผ้าสไบ ลักษณะเป็นผ้าแถบเล็กๆ ใช้พาดไหล่ (ในปัจจุบันยังมีการใช้อยู่ มักใช้เมื่อเวลามีพิธีกรรมต่างๆ )

การแต่งกายของผู้หญิงในปัจจุบันก็ยังคงนิยมนุ่งผ้าซิ่น เสื้อจะมีรูปแบบคล้ายกับท้องถิ่นอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งเป็นการเลียนแบบกันเนื่องจากการติดต่อสื่อสาร นอกจากนี้ยังได้พบว่ามีการทอผ้าเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาเช่น สบง จีวร หมอน ผ้าห่อคัมภีร์ และสังฆาฏิ เป็นต้น

ผ้ายกไหมดิ้นทองลายแก้วชิงดวง

กระบวนการ ปัญหา และอุปสรรค ทางด้านการผลิตและการจำหน่าย  

การจัดหาวัตถุดิบที่ใช้ในการทอผ้ายกทั้งฝ้าย ไหม และโทเรจัดหาโดยการซื้อสำเร็จจากจังหวัดเพชรบูรณ์หรือร้านค้าอื่นๆ ทั่วไป ย้อมด้วยสีวิทยาศาสตร์ทอโดยใช้ทั้งกี่ธรรมดาและกี่กระตุก ลวดลายที่ใช้ในการทอมีทั้งลายดั้งเดิมสืบทอดจากบรรพบุรุษและลายที่ประยุกต์จากลายเดิม หรือคิดขึ้นใหม่โดยผู้ทอหรือผู้ว่าจ้างทอ มีการใช้ดิ้นเงิน ดิ้นทองมาเป็นเส้นพุ่งเพิ่มพิเศษ

ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นอิทธิพลของผ้าทอจากเปอร์เซียและอินเดียพบว่าผ้าทอยกจากตำบลเวียงยอง ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง และตำบลป่าซาง ตำบลแม่แรง ตำบลม่วงน้อยอำเภอป่าซางมีชื่อเสียงมากในเรื่องของความสวยงาม เคยได้รับรางวัลชุดแต่งกายประจำชาติที่สวยงามที่สุดในการประกวดนางงามจักรวาล

ปัจจุบันการทอผ้าได้เปลี่ยนแปลงเป็นการทอเพื่อหวังผลทางด้านการค้า ผู้ทอส่วนหนึ่งได้ยึดเป็นอาชีพหลักโดยได้เข้าทำงานในบริษัทผู้ผลิตผ้าต่าง ๆ และทอลวดลายตามที่บริษัทกำหนด อีกกลุ่มหนึ่งทำงานอิสระ เพื่อนำไปจำหน่ายเอง ส่งร้านค้าทั้งในและนอกพื้นที่เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนหรือส่งเสริมทางด้านการจำหน่ายจากอุตสาหกรรมจังหวัดในรูปของการจัดศูนย์แสดงสินค้าหัตถกรรมในแต่ละอำเภอเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนมีความสนใจหรือมีความตื่นตัวในการทอผ้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ก็กลับพบว่าสภาพปัญหาในปัจจุบันคือ ขาดผู้ถ่ายทอดความรู้หรือสืบทอดเอกลักษณ์ของการทอผ้าในพื้นที่อย่างเพียงพอ

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/PHAYOK/PHAYOK1/phayok1.html