วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

จังหวัดนครศรีธรรมราช

 เอกลักษณ์ ลวดลาย และการใช้ประโยชน์

จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในการทอผ้ายก (ฝ้าย / ไหม / โทเร)มีการทอลวดลายดั้งเดิมได้แก่ ลายราชวัติ ลายสับปะรด ลายดอกมะลิ ลายดอกเขมรกลม ลายดอกพิกุล ลายแมงมุมก้านแย่ง ลายดอกเขมร ลายดอกจัน ลายดอกรัก ลายเขมรหรือลายพระตะบอง ลายลูกแก้ว ลายคดกริชเป็นต้น นอกจากนั้นยังพบลวดลายอื่น ๆ อีกมากที่ไม่ทราบชื่อทั้งที่เป็นลายดั้งเดิมสืบทอดแต่ไม่ได้จดจำชื่อลาย และเป็นลายที่ประยุกต์ขึ้นมาในภายหลัง โดยการเปลี่ยนสีและพัฒนาลวดลาย เพิ่มเติมเข้าไปจากลวดลายเดิม เช่นก้าน ดอก ใบ เกสร ของพรรณไม้ต่าง ๆ เพื่อให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น เป็นต้น จากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่ได้ทอเพื่อนำมาทำเป็นผ้าซิ่น ผ้าสไบ ผ้าขาวม้า ผ้าห่ม และผลิตภัณฑ์แปรรูปได้แก่ เสื้อผ้า เน็คไท ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ ผ้ารองจาน กระเป๋าถือ กรอบรูป พวงกุญแจ เครื่องตกแต่งบ้านเรือน เป็นต้น

 
 ผ้ายกเมืองนคร ลายดอกสับปะรด

 การสืบทอดทางวัฒนธรรม

มีการสำรวจพบว่าวัฒนธรรมการทอผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราชนั้นเริ่มต้นจากในปี พ.ศ. 2320 ตรงกับสมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) มีความสนใจในงานทอผ้าและมีปัญหาหมางใจกับเจ้าเมืองสงขลา

เนื่องจากได้เกณฑ์เอาช่างทอผ้า รวมทั้งบุตรสาวของกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่และ บุตรสาวของราษฎรเมืองสงขลาที่ทอผ้าเป็นมาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช จากหลักฐานดังกล่าวเมืองนครศรีธรรมราชจึงน่าจะได้รับแบบอย่างการทอผ้าจากเมืองสงขลามาบ้างต่อมาในปี พ.ศ. 2354 เกิดกบฏขึ้นที่เมืองไทรบุรี เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ได้ออกไปปราบปราม และกวาดต้อนชาวไทรบุรีมาอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีช่างฝีมือและช่างทอผ้ารวมอยู่ด้วย (เดิมเป็นชาวอินเดียได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในไทรบุรีและสอนงานทอผ้าให้แก่ชาวไทรบุรีก่อน)

จนในที่สุดได้เกิดการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมการทอผ้าเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นงานทอผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราชที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ผ้ายกทองนั้นจะใช้เฉพาะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ส่วนผ้ายกธรรมดาที่ใช้กันทั่วไปมักจะใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ โดยผู้หญิงมักจะนุ่งผ้ายกดอกหน้านาง หรือผ้าเก็บนัด ส่วนผู้ชายนุ่งผ้าหางกระรอกและนิยมใส่สีผ้าแยกตามวัน เพราะฉะนั้นจึงสรุปได้ว่าจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราชน่าจะได้รับแบบอย่างมาจากชาวไทรบุรีที่ถูกกวาดต้อนมาในปี 2354 นั่นเอง

จากการสำรวจพบว่าแหล่งทอผ้ายกของเมืองนครศรีธรรมราชแหล่งสุดท้ายในอดีตอยู่ที่บ้านแม่วิเชียร อายุ 75 ปี เป็นบ้านเก่าของคุณเพิ่ม ณ นคร ภรรยาพระศิริธรรมบริรักษ์ (ถัด ณ นคร)  ธิดาพระยาววิชิตสรไกร (กล่อม) เคยเป็นที่ตั้งโรงละครชาตรี และเป็นแหล่งทอผ้ายกที่มีขนาดใหญ่แหล่งหนึ่งแต่ปัจจุบันได้เลิกไปแล้ว


 ผ้ายกเมืองนคร ลายก้านแย่ง


 ผ้ายกเมืองนคร ลายดอกรัก


กระบวนการ ปัญหา และอุปสรรค ทางด้านการผลิตและการจำหน่าย
 

ที่บ้านมะม่วงปลายแขน ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง บ้านมะม่วงขาวและบ้านมะม่วงตลอด ตำบลนาสาร อำเภอพระพรหม พบการทอผ้ายก โดยใช้วัตถุดิบคือฝ้าย ไหม และโทเร จัดหาโดยการซื้อสำเร็จจากร้านค้าในกรุงเทพมหานคร หรือสั่งซื้อจากร้านค้าในภาคอีสานย้อมโดยใช้สีวิทยาศาสตร์ มีการรวมกลุ่มผู้ทอและสืบทอดศิลปะการทอในหมู่ญาติพี่น้องภายในครอบครัว ทำการทอผ้าตลอดทั้งปีโดยใช้ช่วงว่างจากการทำนาทำสวน การจำหน่ายมีทั้งปลีกและส่งตลาดสำคัญอยู่ที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนหนึ่งผู้ทอจะนำไปจำหน่ายเองในตลาดแต่ส่วนใหญ่จะผลิตตามยอดสั่งซื้อที่มีจำนวนมากที่บ้านมะม่วงปลายแขน

จากการสัมภาษณ์นางสาวละออง  บัวเพชร อายุ 42 ปี ผู้มีบทบาทสำคัญผู้หนึ่ง ในพื้นที่ พบว่าตนได้คุ้นเคยกับการทอผ้าซึ่งทอโดยญาติผู้ใหญ่มาตั้งแต่เด็ก และช่วงหนึ่งได้เคยเข้าทำงานที่โรงงานทอผ้า อำเภอพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นจึงกลับมาเริ่มประกอบอาชีพการทอผ้าของตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์การทอผ้าจากพ่อแม่โดยเป็นผู้ทอผ้าเพียงคนเดียวในขณะนั้น (พ.ศ. 2523 -2524) จนถึงปัจจุบันมีผู้หันมาทอผ้ามากขึ้นกิจการทอผ้าได้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงก่อน

ที่บ้านมะม่วงขาวและบ้านมะม่วงตลอด จากการสำรวจพบว่าทั้งสองหมู่บ้านมีการประกอบอาชีพทอผ้าพื้นเมืองเพียงหมู่บ้านละหนึ่งครัวเรือนเท่านั้นคือ หมู่บ้านมะม่วงตลอด มีครอบครัวของ นางช้อย ไตรพร อายุ 82 ปี ส่วนหมู่บ้านมะม่วงขาว มี นางสาววันดี  ปิละวัฒน์ อายุ 40 ปี โดยผู้ทอผ้าทั้งสองได้ใช้สถานที่ทอคือบ้านของตนเองชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งสองเคยได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานของท้องถิ่น เช่น ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนในรูปของการอบรมศิลปะการทอผ้ายกเมืองนคร ฯ แต่ดูจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเนื่องจากขาดความตื่นตัวในอาชีพนี้

สรุปได้ว่า การทอผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเคยมีชื่อเสียงมาแต่อดีต ในปัจจุยันไม่ค่อยมีผู้ทอมากเท่าใด เนื่องจากขาดการส่งเสริมหรือสืบทอดศิลปะการทอผ้า รวมทั้งกรรมวิธีการทอที่ยากใช้เวลานาน ทำให้ผู้ทอคิดว่าจะได้รายได้ไม่คุ้มกับความเหนื่อยและความพยายาม ผู้ทอที่เหลือส่วนใหญ่จึงเป็นผู้สูงอายุ ส่วนคนในวัยหนุ่มสาว มักจะหันไปประกอบอาชีพอื่นที่มีรายได้ดีกว่าอีกปัญหาหนึ่งก็คือการขาดการสนับสนุน และส่งเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในรูปของ


1.) การอบรมหรือถ่ายทอดศิลปะการทอผ้า และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับเอกลักษณ์หรือความต้องการของตลาด
2.) ขาดการสนับสนุนเรื่องของวัตถุดิบ เครื่องมือ และสถานที่ในการผลิตที่เหมาะสม
3.) ขาดการสนับสนุนทางด้านเงินทุนที่จะนำมาพัฒนาหรือปรับปรุงในเรื่องอื่นๆนอกเหนือจากสองข้อที่กล่าวมา

 

ผ้ายกเมืองนคร ลายดอกพิกุลใหญ่

 

นางช้อย ไตรพร  

 

ผ้ายกเมืองนครสมัยรัชกาลที่ 4

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/PHAYOK/PHAYOK1/PHAYOK2/phayok2.html