วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ผ้าแพรวาจังหวัดกาฬสินธุ์


   

ผ้าแพรวา ลายนาคหัวส้อง

 

 

ผ้าแพรวา ลายนาค

 

ผ้าแพรวา ลายหงส์

   
เอกลักษณ์ ลวดลาย และการใช้ประโยชน์

จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีการทอผ้าแพรวาที่งดงามโดยเฉพาะที่บ้านโพนอำเภอคำม่วงลวดลายที่ปรากฏบนผ้าทอแพรวาที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของผ้าประเภทนี้ จะประกอบด้วยตัวลายทั้งหมด  3  ส่วน ดังนี้

1. ลายหลัก คือ ลายที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งปรากฏอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ขอลายผ้า เช่น ลายนาคสี่แขน ลายพันธุ์มหา ลายดอกสา ฯลฯ

2. ลายคั่น คือ ลายที่มีขนาดเล็กอยู่ในแนวขวางผืนผ้า ทำหน้าที่เป็นตัวแบ่งลายใหญ่ออกเป็นช่วงสลับกันไป เช่น ลายตาไก่  ลายงูลอย ลายขาเข ฯลฯ

3. ลายช่อปลายเชิง คือลายที่ปรากฏอยู่ตรงช่วงปลายของผ้าทั้งสองข้าง ทำหน้าที่เป็นตัวเริ่มและตัวจบของลายผ้า เช่น ลายช่อขันหมาก ลายดอกบัวน้อย ลายใบบุ่นน้อย ฯลฯ

ที่ตำบลบ้านโพน อำเภอม่วง ซึ่งพบว่ามีการทอผ้าไหมแพรวากันอย่างแพร่หลายด้วยลวดลายต่าง ๆ ใน 3 ส่วนที่กล่าว ได้แก่ ลายนาค ลายหงส์ ลายนาคหัวส้อง ลายก้านก่อง ลายดอกซ่าน ลายช่อต้นสน ลายผีเสื้อ ลายดอกก้ามปู ลายนาคหัวจุ๋ม ลายช่อฟ้า ลายหัวขวาง ลายกาบแบดตัดช่อฟ้า ลายดอกดาว ลายช่อพันธุ์มหา ลายช่อดอกหมาก ลายแบดขอ ลายกระบวนเล็ก ลายนาคสี่แขน ลายอุ้มดาว โดยนำลายต่าง ๆ ดังกล่าวมาทอผสมกันอย่างงดงาม มักจะทอเพื่อทำเป็นผ้าผืน ผ้าคาดเอว ผ้าพันคอ ผ้าสไบ ฯลฯ

การสืบทอดทางวัฒนธรรม

การทอผ้าแพรวามีมาพร้อมกับวัฒนธรรมของชาวภูไท ซึ่งเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่แยกมาจากประเทศจีนตอนใต้ แล้วเคลื่อนย้ายผ่านเวียดนาม ลาว แล้วข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ทางภาคอีสานของไทย ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ในหลายอำเภอโดยแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอำเภอคำม่วง อำเภอกมลาไสย และกลุ่มอำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง    

ผ้าแพรวาเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มภูไท เป็นผ้าที่มีลักษณะพิเศษ ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากโครงการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวอำเภอคำม่วง

เมื่อปี พ.ศ. 2519 ได้ทอดพระเนตรเห็นชาวภูไท บ้านโพน แต่งตัวโดยใช้ผ้าแพรวาสะพายเฉียง ได้ทรงสนพระทัยมากจึงโปรดตั้งให้ นางคำใหม่ โยคะสิงห์ เป็นผู้นำหรือผู้ควบคุมการทอผ้าแพรวา ได้ส่งนางคำใหม่และชาวภูไท 3 คน เข้าไปฝึกอบรมการย้อมไหม ที่ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล้วยน้ำไทกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าการย้อมด้วยสีที่ซื้อในท้องตลาดโดยทั่วไป มีปัญหาเรื่องสีตกเมื่อได้ฝึกจนชำนาญแล้วก็ได้รับอุปกรณ์การย้อมสี น้ำยาเคมี และไหมจากสำนักพระราชวังเพื่อทอผ้าแพรวาถวาย โดยใช้เวลา  3 เดือน ซึ่งเป็นที่พอพระทัยมาก

เมื่อปี พ.ศ. 2524 ได้มีพระราชดำริให้ขยายหน้าผ้าให้กว้าขึ้น เพื่อที่จะได้นำไปใช้เป็นผ้าผืนสำหรับตัดเสื้อผ้าได้ อีกทั้งพัฒนาลวดลายให้เหมาะสมตามความต้องการของตลาด  สรุปได้ว่าการพัฒนาการทอผ้าแพรวาเกิดขึ้นเพราะพระบารมีของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถที่ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นความงาม และคุณค่าแห่งศิลปะชิ้นนี้ในครั้งนั้น

 
กระบวนการ ปัญหาและอุปสรรค ทางด้านการผลิตและการจำหน่าย

ที่ตำบลบ้านโพน อำเภอคำม่วง พบการทอผ้าแพรวาในเกือบทุกหมู่บ้านมีทั้งการทอเพื่อใช้เองและทอเพื่อจำหน่าย มีการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านทอผ้าเพื่อเป็นศูนย์กลางของการผลิตและจำหน่ายโดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการในรูปของการให้คำแนะนำในการผลิตและเงินทุนอุดหนุน เมื่อทอเสร็จแล้วจะนำส่งจำหน่ายที่ศูนย์วิจิตรแพรวาที่ตั้งอยู่ในตัวอำเภอเนื่องจากการทอผ้าแพรวาแต่ละผืนใช้เวลานาน จึงทำให้เป็นผ้าที่มีราคาจำหน่ายสูงกว่าผ้าประเภทอื่น ๆ ไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป การขายจะขายได้เฉพาะลูกค้าบางกลุ่มเท่านั้น

ปัจจุบันมีความพยายามขยายตลาดโดยส่งเข้ามาขายในกรุงเทพมหานครมากขึ้นความงดงามวิจิตรของผ้าแพรวาเป็นที่ยอมรับ มีผู้ดัดแปลงนำมาใช้เป็นผ้าแขวนผนัง ตกแต่งบ้านนอกเหนือจากการนำมาใช้เพื่อตัดเสื้อผ้า และได้ก่อให้เกิดการพัฒนาดัดแปลงลวดลาย และผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นและหลากหลายยิ่งขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตลาด

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/HOME/SAR/Phraewa/Phraewa1/Phraewa2/phraewa3.html

เนื้อหาและภาพ : ผ้าทอพื้นเมืองและผ้าทอพื้นเมืองในภาคอีสาน