ผ้ามัดหมี่ - ตัวอย่างผ้ามัดหมี่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, จ.ขอนแก่น

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/08/2008
ที่มา: 
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com

ผ้ามัดหมี่จังหวัดขอนแก่น

ลายหมี่กง

เอกลักษณ์ ลวดลาย และการใช้ประโยชน์

สามารถอธิบายเอกลักษณ์ของผ้าไหมเหมืองขอนแก่นได้ด้งต่อไปนี้

1. ลายผ้าไหมมัดหมี่ ลายหมี่กง ลายขันหมากเบ็ง หรือเรียกอีกชื่อได้ว่าลายเชิงเทียนหรือลายขอพระเทพ สองลายนี้ถือว่าเป็นลายต้นแบบและเป็นลายเก่าแก่ของผ้าเมืองขอนแก่นนับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมเมืองขอนแก่น

2. สีสันและความประณีตของลาย
เป็นเอกลักษณ์พิเศษอย่างหนึ่งของผ้าไหมเมืองขอนแก่น สีที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมคือ สีม่วง สีแดง สีเขียว สีเม็ดมะขาม

3. การทอผ้าแบบ 3 ตะกอ
เป็นเอกลักษณ์พิเศษของการทอผ้าเมืองขอนแก่นผ้าที่ทอด้วยระบบ 3 ตะกอจะมีลักษณะหนา เนื้อผ้าแน่น ผ้าสองด้านจะมีโทนสีแตกต่างกัน

4. ผ้าหน้านาง
(ท้องถิ่นอื่นเรียกว่า “ปูม” ซึ่งเป็นผ้าที่ทอขึ้นสำหรับเจ้านายใช้นุ่ง มีลักษณะแบบโจงกระเบน ในสมัยโบราณนิยมใช้ในเขตอีสานใต้ ในประเทศลาวแถบแขวงเมืองจำปาสัก และเขมร) การทอผ้าไหมมัดหมี่ “หน้านาง” เป็นเอกลักษณ์ของการทอผ้าแบบหนึ่งของเมืองขอนแก่น ซึ่งได้มีการลอกเลียนแบบมาจากผ้าต้นแบบซึ่งเป็นผ้าของเจ้าเมืองชนบทคนแรกปัจจุบันผ้าผืนนี้ก็ยังปรากฏอยู่มีอายุกว่า 220 ปี เอกลักษณ์การทอผ้าหน้านางของเมืองขอนแก่นจะมีลวดลายสีสันวิจิตรพิสดารกว่าที่อื่น เนื่องจากได้มีการนำลายโบราณมาประยุกต์เข้ากับลวดลายไทยใหม่ ๆ ที่คิดสร้างสรรค์ขึ้น “ผ้าหน้านาง เมืองขอนแก่น”ได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1 ของการประกวดผ้าไหมไทยประเภท “ผ้าปูม” เมื่อ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2536จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งทอโดย นายสุรมนตรี ศรีสมบูรณ์ เป็นช่างทอผ้าอำเภอชนบท
   
5.
จากการสำรวจของวิทยาลัยการอาชีพจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้ศึกษาจากลายผ้าเก่าที่พอจะพบเห็นได้ในปัจจุบันในอำเภอชนบท สามารถจำแนกลายหมี่พื้นฐาน หรือ แม่ลายได้ทั้งหมด 7 ลาย ได้แก่ 1. ลายหมี่ข้อ 2.ลายหมี่โคม  3.ลายหมี่บักจับ 4.ลายหมี่กง 5.ลายหมี่ดอกแก้ว 6. ลายหมี่ขอ 7. ลายหมี่ใบไผ่ และยังสามารถแบ่งกลุ่ม ของการจัดวางลายได้เป็น 2 วิธี คือ การจัดวางแบบลายเดียวซ้ำกันทั้งผืน และการจัดวาง แบบมีเส้นแบ่งลายเป็นทางยาว มีทั้งทางด้านตั้งและด้านนอน เรียกเป็นภาษาพื้นบ้านว่า “หมี่คั่น” หรือ “หมี่ตา”

ลวดลายผ้าที่พบในจังหวัดนี้ได้แก่ ผ้าไหมและฝ้ายมัดหมี่ ลายหมี่ใบพัด ลายหมี่กง ลายหมี่น้ำพอง ลายหมี่ขอ ลายหมี่งูเหลือมใหญ่ ลายหมี่ปราสาทเสกกษัตริย์ ลายหมี่แปบ ผสมขอปลาหมึก ลายหมี่โคมเก้า ลายหมี่คั่นตาล็อค หลายหมี่กงห้าลายผสมกงเจ็ดสาย ลายหมี่จี้เพชรสอดไส้ปลาไหล โดยส่วนใหญ่ใช้ทอเป็นผ้าผืน ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจำพวกเครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ อาทิ ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง ผ้าพันคอ ฯลฯ

การสืบทอดทางวัฒนธรรม

อำเภอชนบท ได้มีการตั้งเป็นเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2326 มีกวนเมืองแสน หรือพระจันตะประเทศเป็นเจ้าเมืองคนแรก  ตามหลักฐานเดิมมีชื่อว่า “ชลบท” ซึ่งแปลว่าทางน้ำหรือเมืองที่มีน้ำล้อมรอบ ซึ่งประชากรมีการอพยพมาจากเมืองสุวรรณภูมิ ประเทศลาว (เมืองสุวรรณภูมิ อพยพมาจากแคว้นจำปาสัก ) จากการที่เมืองชนบทซึ่งมีชาติพันธุ์ไท – ลาวสายแคว้นจำปาสักนี้เองที่ทำให้ศิลปะการทอผ้าไหมไดมีการเผยแพร่ อนุรักษ์ และวิวัฒนาการเป็นมรดกตกทอดมาสู่รุ่นหลัง ทั้งนี้เนื่องจากแคว้นจำปาสักหรือแขวงจำปาสักของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปัจจุบันเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดในเรื่องการทอผ้าไหมโดยอำเภอชนบทนี้ถือว่าเป็นศูนย์รวมการทอผ้าที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดขอนแก่น ทุกอำเภอที่พบการทอผ้าจะได้รับการถ่ายทอดทางด้านลวดลายต่าง ๆ มาจากอำเภอชนบททั้งสิ้น

 
 ลายหมี่โคมเก้า

กระบวนการปัญหา และอุปสรรคทางด้านการผลิตและการจำหน่าย

อำเภอชนบท ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาวิธีการย้อมสีผ้าเป็นการย้อมทับไล่สีจากอ่อนไปเข้า และนิยมใช้โทนสีเดียวกัน ซึ่งผิดกับสีผ้าสมัยโบราณที่มักจะใช้สีสด หรือสีฉูดฉาด รวมทั้งลวดลายบางอย่างที่ทำยากหรือไม่เป็นที่นิยม ปัจจุบันก็จะไม่ค่อยมีผู้ทอ หรือไม่ทอเพื่อจำหน่ายแต่จะทอเพื่อใช้เอง ซึ่งทำให้อาจจะสูญไปในอนาคต เช่น ลายส่าว (ลายเฉียง) ลายหมี่คั่น (หมี่ตา) ในเรื่องของการจำหน่ายพบว่า มีร้านค้าจำหน่ายอยู่ทั่วไปมีทั้งปลีกและส่ง ในอีกกรณีหนึ่งนายทุนจะเป็นผู้กำหนดเรื่องลายและคุณภาพ ของผ้าจะมีการว่าจ้างช่างในหมู่บ้านทำหน้าที่ในการมัดย้อมเส้นไหม จากนั้นจะนำไหมที่มัดย้อมแล้วไปทอในจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานนอกเหนือจากในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วทุกอำเภอที่มีการสำรวจ จะพบว่ามีการใช้ไหมเป็นวัตถุดิบในการทอผ้าแทบทั้งสิ้น จะมีการใช้ฝ้ายแต่เพียงการทอเพื่อใช้เองในครอบครัวเท่านั้น

 

  ลายหมี่ใบพัด

แต่ที่อำเภอหนองเรือ พบว่ามีชื่อเสียงในเรื่องการทอผ้ามัดหมี่โดยใช้ฝ้ายที่ย้อม สีธรรมชาติจนถึงกับได้มีการรวมตัวให้เป็นกลุ่มทอผ้าขึ้น ชื่อว่าศูนย์ผลิตและจำหน่ายผ้าฝ้ายสีธรรมชาติ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองแวง ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ ได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยงานของรัฐบาลคือ กรมส่งเสริมการเกษตร มีการใช้กี่ขนาดใหญ่ยาว 2 – 3 เมตร เป็นกี่ตั้ง มี 4 ตะกอ การสร้างลาย จะทำโดยการเหยียบตะกอหรือเขาสลับกันไปเป็นคู่ ๆ แล้วแต่ลายบาง ลายจะใช้เทคนิคในการยึดเส้นด้วยแล้วแบ่งช่วงทอจนเกิดเป็นลาย บางลายอาจจะต้องยึดเส้นพุ่ง บางลายยึดเส้นยืนแต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากนักมีปัญหาเรื่องของตลาดรับซื้อ ส่วนหนึ่งคาดว่าอาจจะขาดการประชาสัมพันธ์

 

   ลายหมี่น้ำพอง

ที่อำเภอมัญจาคีรี อำเภอพระยืน อำเภอพล อำเภอภูเวียง อำเภอชุมแพ โดยสามอำเภอแรกมีพื้นที่ติดกับอำเภอชนบท ทำให้ได้รับอิทธิพลการทอผ้าไหมมัดหมี่มาด้วยและทั้งห้าอำเภอนี้เป็นสถานที่ที่นายทุนส่งผ้าที่มัดย้อมแล้วมาทอ เพราะฉะนั้นลวดลาย และเทคนิคต่างๆจึงเหมือนกับที่อำเภอชนบท

ที่อำเภอมัญจาคีรีนั้นมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการทอเพื่อใช้เอง และจะซื้อไหมจากโรงงานเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทอเพื่อจำหน่าย ที่อำเภอบ้านไผ่ พบว่ามีการจัดตั้งศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยรับมาจากอำเภอชนบท แต่ปัญหาที่ประสบอยู่คือ ขายได้ปริมาณน้อย เนื่องจากสินค้า มีต้นทุนที่สูงเพราะ มีการว่าจ้างทำงานหลายทอดส่งผลให้สินค้า มีราคาแพง อีกทั้งความต้องการของตลาดลดลง ซึ่งอาจถือได้ว่าขาดการพัฒนาทางด้านลวดลายและคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการ

    

    ผ้ามัดหมี่ ลายหมี่ขอ

ต้นฉบับ : http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_4/matmi1/matmi5/matmi5.html