ความหมาย วัฒนธรรม - สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/09/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

ความหมาย แนวคิดและประเด็นที่เกี่ยวกับ “วัฒนธรรม”

พ.ค. ๔๘

“วัฒนธรรม” เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนเรานับแต่เกิดจนตาย แต่เมื่อจะให้ความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” ดูเหมือนจะมิใช่เรื่องง่าย และไม่มีคำตอบที่ตายตัว ด้วยว่าวัฒนธรรมโดยตัวมันเอง ก็มีความหมายหลายนัย และครอบคลุมไปทุกเรื่อง แม้แต่ในต่างประเทศเอง ก็ไม่มีคำตอบที่เฉพาะเจาะจงเช่นกัน สุดแต่ว่าจะพูดหรือเน้นในเรื่องใด ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้นำความหมาย ประเด็นแนวคิดที่เกี่ยวกับ”วัฒนธรรม” มาเสนอเพื่อทราบเป็นความรู้พอสังเขป ดังนี้

นายวีระ บำรุงรักษ์ ได้เขียนไว้ว่า “วัฒนธรรม” เป็นคำที่เกิดขึ้นในสมัยจอมพลป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ โดยมาจากคำเดิมภาษาอังกฤษคือ “Culture” ซึ่งในตอนแรกพระมหาหรุ่น แห่งวัดมหาธาตุได้แปลคำนี้ว่า “ภูมิธรรม” แต่กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเล็งเห็นว่าคำว่า ”ภูมิธรรม” มีความหมายค่อนข้างคงที่ พระองค์ท่านทรงมีความประสงค์ให้คำนี้มีความหมายในลักษณะเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงทรงแปลใหม่เป็น “วัฒนธรรม” และได้มีการนำมาใช้สืบต่อมาจนปัจจุบัน ซึ่ง”Culture” นี้มาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า “Cultura” มีความหมายว่า การเพาะปลูกหรือการปลูกฝัง อธิบายได้ว่า มนุษย์เป็นผู้ปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยให้เกิดความเจริญงอกงาม ส่วนคำว่า “วัฒนธรรม” เป็นคำสมาสระหว่างบาลีสันสฤต มาจาก คำว่า “วัฒนะ” ที่มีความหมายว่า เจริญงอกงาม รุ่งเรือง ส่วนคำว่า“ธรรม” ในที่นี้หมายถึงกฎ ระเบียบหรือข้อปฏิบัติ ซึ่งเมื่อรวมความแล้ว คำว่า“วัฒนธรรม”น่าจะหมายถึง ความเป็นระเบียบ หรือข้อปฏิบัติที่ทำให้เจริญรุ่งเรือง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มีผู้รู้ได้ให้ความหมายของคำว่า“วัฒนธรรม” อย่างหลากหลายยิ่งไม่ว่าในต่างประเทศหรือในประเทศ เช่น

Taylor
กล่าวว่า “วัฒนธรรม”เป็นส่วนทั้งหมดที่ซับซ้อน ประกอบด้วยความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ ศีลธรรม กฏหมาย ประเพณี และความสามารถอื่นๆที่มนุษย์ได้มาในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม

ส่วน Encyclopidia of Social Science ได้อธิบายคำว่า “วัฒนธรรม”ว่า เป็นคำที่ใช้ในวิชามานุษยวิทยาสมัยใหม่ และในด้านสังคมศาสตร์ หมายถึง มรดกสังคม เป็นลักษณะเฉพาะในการดำรงชีวิตของกลุ่มคนที่มาอยู่ร่วมกัน และได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เจริญตามยุคสมัย

ทางไทยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตพ.ศ.๒๕๔๒ ให้ความหมาย“วัฒนธรรม”ว่า สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมในการแต่งกาย หรือวิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมชาวเขา

จอมพลป. พิบูลสงคราม กล่าวว่า “วัฒนธรรมของชาติเป็นเครื่องแสดงให้เห็นความเจริญงอกงามใหญ่หลวงของชาติ วัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญมาก วัฒนธรรมไม่เป็นแค่เครื่องหมายภายนอก ไม่เป็นแค่เพียงสิ่งซึ่งอวดโลกว่าเป็นชนชาติเจริญเท่านั้น วัฒนธรรมมีผลลึกซึ้งเข้าไปถึงชีวิตจิตใจคน วัฒนธรรมเป็นเครื่องผดุงศีลธรรม เป็นปัจจัยแห่งความเจริญงอกงาม และความแข็งแรงมั่นคงของชาติบ้านเมือง”

พระยาอนุมานราชธน
ได้กล่าวว่า “วัฒนธรรม” คือ สิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงปรับปรุงหรือผลิตขึ้น สร้างขึ้นเพื่อความเจริญงอกงามในวิถีของส่วนรวม ถ่ายทอดกันไว้ เอาอย่างกันไว้ รวมทั้งผลิตผลของส่วนรวมที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาจากคนแต่ก่อนสืบต่อเป็นประเพณีกันมา ตลอดจนความรู้สึก ความคิดเห็น และกิริยาอาการ หรือการกระทำใดๆของมนุษย์ในส่วนรวมลงรูปเป็นพิมพ์เดียวกัน และสำแดงออกมาได้ปรากฏเป็นภาษา ศิลปะ ความเชื่อ ระเบียบประเพณี เป็นต้น

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ประยุตฺโต)ได้เคยให้ความหมายว่า “วัฒนธรรม” เป็นผลรวมของการสั่งสมสร้างสรรค์ภูมิธรรม ภูมิปัญญา ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาของสังคมนั้นๆ หรือกล่าวสั้นๆได้ว่า วัฒนธรรมคือประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถที่สังคมนั้นมีอยู่ หรือเนื้อตัวทั้งหมดของสังคมนั่นเอง

นายสาโรช บัวศรี กล่าวว่า“วัฒนธรรม”หมายถึง ความดี ความงามและความเจริญในชีวิตมนุษย์ ซึ่งปรากฏในรูปแบบต่างๆ และได้ตกทอดมาถึงเราในปัจจุบัน หรือว่าที่เราได้ปรับปรุงและสร้างสรรค์ขึ้นในสมัยเราเอง ( ได้แก่ศิลปกรรม มนุษย์ศาสตร์ การช่างฝีมือ การกีฬาและนันทนาการ และคหกรรมศาสตร์)

ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี กล่าวว่า “วัฒนธรรม” คือ พลังของสังคมทางภูมิปัญญา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ จิตใจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อมพร้อมกันไป

ส่วนนายนิคม มุสิกะคามะ ให้ความหมายว่า“วัฒนธรรม” คือวิถีชีวิตของคน เกิดจากกระบวนการอันซับซ้อนทางสังคมหรือกลุ่มชน โดยรวมเอามิติทางด้านจิตใจ วัตถุ ภูมิปัญญาและอารมณ์เข้าไว้ด้วยกันจนเป็นรูปแบบเอกลักษณ์ของสังคมนั้น มิใช่เพียงเรื่องของศิลปะและวรรณกรรม หากหมายรวมถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ระบบค่านิยม ตลอดจนขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี และความเชื่อต่างๆ

ในพ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๘๕ ได้ให้ความหมาย “วัฒนธรรม” ว่าหมายถึง ลักษณะที่แสดงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบ ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ส่วนความหมาย “วัฒนธรรม” ตามแนวทางในการรักษาส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมพ.ศ. ๒๕๒๙ กล่าวว่า “วัฒนธรรม”คือ วิถีชีวิต เป็นวิถีการดำเนินชีวิตของสังคม เป็นแบบแผนการประพฤติปฏิบัติและการแสดงออกซึ่งความรู้สึก นึกคิดในสถานการณ์ต่างๆที่สมาชิกในสังคมเดียวกัน สามารถแก้ไขและซาบซึ้งร่วมกัน ดังนั้น วัฒนธรรมไทย คือ วิถีชีวิตที่คนไทยได้สั่งสม เลือกสรร ปรับปรุง แก้ไข จนถือว่าเป็นสิ่งดีงามเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและได้ใช้เป็นเครื่องมือ หรือเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคม นอกจากนี้ยังว่า “วัฒนธรรม” คือ มรดกแห่งสังคม ซึ่งสังคมปรับปรุงและรักษาไว้ให้เจริญ งอกงาม วัฒนธรรมเกิดจากการประพฤติปฏิบัติร่วมกัน เป็นแนวเดียวกันอย่างต่อเนื่องของสมาชิกในสังคม สืบทอดเป็นมรดกทางสังคมต่อกันมาจากอดีต หรืออาจเป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ หรืออาจจรับเอาสิ่งที่เผยแพร่มาจากสังคมอื่นๆ ทั้งหมดนี้หากสมาชิกยอมรับและยึดถือเป็นแบบแผนประพฤติปฏิบัติร่วมกัน ก็ย่อมถือว่าเป็นวัฒนธรรมของสังคมนั้น

และในปีพ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ให้ความหมาย “วัฒนธรรม” ว่า หมายถึง ความเจริญงอกงาม ซึ่งเป็นผลจากระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสังคม และมนุษย์กับธรรมชาติ จำแนกออกเป็น ๓ ด้านคือ จิตใจ สังคม และวัตถุ มีการสั่งสมและสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่ง จนกลายเป็นแบบแผนที่สามารถ เรียนรู้และก่อให้เกิดผลิตกรรมและผลิตผล ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม อันควรค่าแก่การวิจัย อนุรักษ์ ฟื้นฟู ถ่ายทอด เสริมสร้างเอตทัคคะ และแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างดุลยภาพแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สังคม และธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอย่างมีสุข สันติสุข และอิสรภาพ อันเป็นพื้นฐานแห่งอารยธรรมของมนุษย์ชาติ

คณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยวัฒนธรรมและการพัฒนา ( The World Commission on Culture and Development) ได้นำเสนอรายงานเรื่อง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Our Creation Diversity) ต่อที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก เมื่อตุลาคม ๒๕๓๘ ว่า วัฒนธรรม เป็นปัจจัยในการถ่ายทอดพฤติกรรม และพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์ เสรีภาพ และความเป็นผู้ตื่นตัวต่อความแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตอยู่เสมอ และว่า วัฒนธรรม คือ พลัง จิตสำนึก อำนาจ ความรู้และความหลากหลายสำหรับชุมชนและสังคม ดังนั้น ปัญหาท้าทายมนุษยชาติปัจจุบัน คือ การปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และที่กำลังจะเปลี่ยนไปในอนาคต โดยเฉพาะการปรับแนวคิดใหม่ พฤติกรรมใหม่ การจัดระเบียบสังคมใหม่ และการส่งเสริมแนวทางการพัฒนาทั้งหลายบนพื้นฐานมิติทางวัฒนธรรม

กล่าวโดยสรุป “วัฒนธรรม” หมายถึง วิถีการดำเนินชีวิต (The Way of Life) ของคนในสังคม นับตั้งแต่วิธีกิน วิธีอยู่ วิธีแต่งกาย วิธีทำงาน วิธีพักผ่อน วิธีแสดงอารมณ์ วิธีสื่อความ วิธีจราจรและขนส่ง วิธีอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ วิธีแสดงความสุขทางใจ และหลักเกณฑ์การดำเนินชีวิต โดยแนวทางการแสดงถึงวิถีชีวิตนั้นอาจจมาจากเอกชน หรือคณะบุคคลทำเป็นตัวแบบ แล้วต่อมาคนส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติสืบต่อกันมา วัฒนธรรมย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขและกาลเวลา เมื่อมีการประดิษฐ์หรือค้นพบสิ่งใหม่ วิธีใหม่ที่ใช้แก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของสังคมได้ดีกว่า ซึ่งอาจทำให้สมาชิกของสังคมเกิดความนิยม และในที่สุดอาจเลิกใช้วัฒนธรรมเดิม ดังนั้น การรักษาหรือธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมเดิม จึงต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาวัฒนธรรมให้เหมาะสมมีประสิทธิภาพ ตามยุคสมัย

วัฒนธรรม
อาจแบ่งอย่างกว้างๆได้ ๒ ประเภท คือ วัฒนธรรมทางวัตถุ ได้แก่เรื่องเกี่ยวกับปัจจัยสี่ และวัฒนธรรมทางจิตใจ ได้แก่ เรื่องศาสนา ศิลปะ วรรณคดี กฎระเบียบต่างๆที่ส่งเสริมในเรื่องจิตใจ

ส่วน UNESCO ได้แบ่ง “มรดกวัฒนธรรม” ออกเป็น ๒ ส่วนคือ Tangible Cultural Heritage คือ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆ และ Intangible Cultural Heritage คือ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับภูมิปัญญา ทรัพย์สินทางปัญญา ระบบคุณค่า ความเชื่อ พฤติกรรมและวิถีชีวิต ซึ่งวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นี้ มีผู้เสนอว่าน่าจะใช้คำว่า “วิถีชน” จะเห็นภาพได้ชัดเจนกว่า

นอกเหนือจากความหมายข้างต้นแล้ว ยังมีข้อคิดเห็นของพระยาอนุมานราชธนที่เกี่ยวกับ “วัฒนธรรม” ที่น่าสนใจหลายประการ คือ ท่านว่า วัฒนธรรมของชนชาติใด เมื่อมีความเจริญสืบต่อกันมานาน แล้วหยุดชะงัก ไม่มีการริเริ่มสร้างสรรค์โดยนำสิ่งใหม่มาเพิ่มหรือต่อชีวิตให้แก่สิ่งเก่า เพื่อให้การวิวัฒนาการต่อไป สิ่งนั้นก็จะเสื่อมลง หรือแม้จะมีการนำสิ่งใหม่มาเพิ่มเติม แต่ไม่รู้จักสลัดสิ่งเก่าในส่วนที่ไม่เหมาะกับยุคสมัยออก ก็จะเกิดอาการอุ้ยอ้ายเคลื่อนไหวไม่สะดวก หรือหากนำสิ่งใหม่พอกสิ่งเก่าจนหนาเกินไป ผู้ที่เกิดใหม่ก็จะเกิดความรู้สึกเบื่อ เห็นว่ารุ่มร่าม และจะเกิดการปฏิเสธทั้งหมด วัฒนธรรมไม่ว่าของชนชาติใด ย่อมคลี่คลายเป็นวิวัฒนาการไปตามเงื่อนไขที่มีอยู่ และเมื่อมีการติดต่อคบค้าสมาคมกันระหว่างชาติต่างๆ วัฒนธรรมย่อมมีการปะปนกันมากขึ้น จนเกิดเป็นวัฒนธรรมสากล ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แรง และต้องแข่งขันกัน ถ้าชาติใดไม่รับไว้ ก็อาจเป็นอันตรายในแง่ที่ว่าแข่งกับความเจริญของโลกที่รุดหน้ารวดเร็วไปไม่ ทัน แต่การรับเอาวัฒนธรรมใหม่หรือวัฒนธรรมสากลที่ว่านี้ หากเกินพอดีก็อาจจะถอนรากวัฒธรรมเดิมของตนอันเป็นส่วนสำคัญที่คุ้มกัน อันตรายและเป็นความเจริญของชาติมาเป็นเวลาช้านานหลายปีให้กร่อนและค่อยๆหมด ไป ในที่สุดก็จะทำให้หมดบุคลิกลักษณะ ไม่มีรากฐานแห่งชาติของตนต่อไป เพราะวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์แก่ชาติ จะต้องเป็นวัฒนธรรมที่มีรากหยั่งลึก และมีอาการเคลื่อนไหวให้เป็นความเจริญก้าวหน้า ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ เปรียบได้กับต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขาได้กว้างขวางก็เพราะมีรากหยั่งลึก จึงไม่โค่นง่ายๆ แต่รากลึกอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีส่วนอื่นๆของต้นไม้ทำหน้าที่ประสานสัมพันธ์เพื่อรับอากาศ แสงแดดและอาหารอื่นจากภายนอกมาด้วย ต้นไม้จึงจะเจริญเติบโต เช่นเดียวกับวัฒนธรรม ที่อาจต้องรับวัฒนธรรมสากลไว้ เพื่อแทรกซึมหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมเดิมของตนให้ก้าวหน้าไปตามสมัย ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาวัฒนธรรมเดิมหรือรากฐานของตนไว้ เพื่อให้เกิดความสมดุลจึงจะเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับคนซึ่งเป็นผู้สร้างวัฒนธรรม โดยท่านเห็นว่าวัฒนธรรมเดิมและวัฒนธรรมสากลที่เรียกได้ว่าสมดุล นั้น ต้องเป็นวัฒนธรรมที่ทำให้คนส่วนใหญ่ในชาติได้รับประโยชน์ และมีความผาสุก อันได้แก่

๑. ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ต้องหวาดกลัวต่อภัยอันตรายหรือกลัวความอดอยาก

๒. มีความรู้สึกเป็นมิตรต่อกัน ไม่เกลียดชังริษยาซึ่งกันและกัน

๓. มีความสามารถสร้างและได้รับความบันเทิงจากสิ่งที่งาม และสิ่งที่ไพเราะ

๔. มีความสนใจเรื่องวิชาการอันนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและความแพร่หลายแห่งความรู้

สำหรับวัฒนธรรมที่เกิดใหม่ ย่อมมีทั้งผลดีและผลเสีย กล่าวคือ ถ้าวัฒนธรรมที่เกิดใหม่ตั้งอยู่บนรากฐานเดิม ก็จัดเป็นผลดี เพราะมีลักษณะที่สืบต่อจากของเก่า ทำให้ไม่ขาดตอน เหมือนต้นไม้เดิม แต่ผลัดใบใหม่ ให้ดูแปลก แต่ถ้าวัฒนธรรมใหม่ไม่ตั้งอยู่บนรากฐานเดิม ก็จัดอยู่ในผลเสีย เพราะสูญเสียบุคลิกลักษณะเดิมของตนไป กลายเป็นชาติที่ไม่มีอดีตหรือไม่มีชาติของตนได้ต่อไป

วัฒนธรรมไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ย่อมมีทั้งส่วนดีและไม่ดีอยู่ในตัว สิ่งเก่าไม่ใช่ว่าจะไม่ดีเสียหมด ขณะเดียวกันสิ่งใหม่ก็ใช่ว่าดีไปหมดเช่นกัน ท่านว่าสิ่งใดเป็นวัฒนธรรม สิ่งนั้นย่อมมีอายุ กล่าวคือถ้าคนยังนิยม สิ่งนั้นก็ยังคงอยู่ และยังขึ้นอยู่กับเงี่อนไขแห่งการศึกษา เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอื่นๆของคนด้วย สิ่งใดเป็นวัฒนธรรมเมื่อมีอายุมานาน หากไม่มีการปรับปรุงให้ก้าวหน้า สิ่งนั้นก็จะเสื่อมความนิยมกลายเป็นความเก่าคร่ำคร่า พ้นสมัย และค่อยๆตายไป หากจะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ หรือต้องการป้องกันมิให้ความเก่าคร่ำคร่าเข้าครอบงำ ก็ต้องมีสิ่งใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้แทรกซึมและประสานกับสิ่งเก่าให้กลายเป็นความพอดี สิ่งเก่านั้นก็จะฟื้นชีวิตและมีความงอกงามเป็นวิวัฒนาการซึ่งอาจจะดีกว่าของเก่าก็ได้

และสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมเก่า แม้ดีแต่หมดอายุกลายเป็นอดีตไปแล้ว หากจะทำให้อดีตหวนคืนมาเป็นปัจจุบันคงไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่อยากทิ้งขว้างวัฒนธรรมนั้น ก็อาจเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์เป็นโบราณวัตถุ หรือหากจะฟื้นฟูชั่วคราว เพื่อสืบต่อชีวิตแห่งปรัมปราประเพณีอันเป็นความหลังของส่วนรวมไม่ให้ขาดตอน เพื่อให้มีสะพานเชื่อมอดีตและปัจจุบัน เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ได้เห็นแบบอย่างเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงชาติภูมิอดีตของตนว่าเป็นมา และคลี่คลายมาได้อย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงและแก้ไขสิ่งในปัจจุบันที่เห็นว่าบกพร่องอยู่ ก็สามารถทำได้

ท้ายสุดท่านกล่าวว่า ผู้มีวัฒนธรรมระดับสูง และมีความปรารถนาให้วัฒนธรรมแห่งชาติของตนมีวิวัฒนาการไปด้วยดี คือ ผู้ที่รู้จักตนในปัจจุบัน ว่าตนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่ออดีตและอนาคต ซึ่งเป็นกาลเวลาที่ต่อเนื่องเป็นกระแสเดียวกัน ที่ว่าหน้าที่ต่ออดีตคือ เป็นผู้รู้คุณ มีกตัญญูกตเวทีต่อบุรพการีที่ได้มอบมรดกมีค่า คือ วัฒนธรรมไว้ให้กับตนซึ่งเป็นทายาทผู้สืบต่อ ตนจะต้องพิทักษ์รักษาและทำมรดกนั้นให้งอกงามทวียิ่งขึ้นกว่าเดิม และในคราวเดียวกัน ตนก็มีหน้าที่ต่ออนาคต คือ เป็นผู้สร้างสิ่งอันดีงามขึ้นไว้ เพื่อมอบเป็นมรดกของขวัญ ให้แก่ลูกหลานซึ่งเป็นทายาท จะได้มีความเจริญวัฒนาต่อไป อย่าให้ลูกหลานกล่าวติได้ว่า ตนไม่ได้สร้างสิ่งไรที่ดีงาม มอบไว้แก่ลูกหลานเพื่อเป็นสมบัติต่อที่ทำให้มีชีวิตอยู่ดีต่อไป

...........................................................

อ้างอิงที่มา : http://www.culture.go.th/study.php?&YY=2548&MM=5&DD=16

อ้างอิง ผู้เขียน : อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม