วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
01/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/

ล้านนา

ล้านนา ซึ่งมีศัพท์ภาษาบาลีกำกับ โดยเฉพาะในท้ายคัมภีร์ใบลานจากเมืองน่านและที่อื่นที่พบจำนวนไม่น้อยกว่า 50 แห่งว่า “ ทสลกฺเขตฺนคร ” ซึ่งแปลว่าเมืองสิบแสนนำ หมายถึงดินแดนที่มีจำนวนที่นานับล้าน คือมี ที่นาเป็นจำนวนมากเป็นคำคู่กับเมืองหลวงพระบางที่ชื่ออาณาจักร “ ล้านช้าง ” คือดินแดนที่มีช้างนับล้านตัว ซึ่งมีภาษาบาลีกำกับว่า “ สตนาคนหุต ” หรือช้างร้อยหมื่น

นอกจากนี้ยังพบความจากพระสุพรรณบัฏของพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 4 พระราชทานอิสริยยศแก่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (เจ้าชีวิตอ้าว) ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ มีราชทินนามดังนี้ “ เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ดำรงนพีสีนคร สุนทรทศลักษกระเษตร วรฤทธิเดชมหาโยนาง คราชวงษาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่ ” คำว่า ทรลักษกระเษตร แยกศัพท์ได้ว่าทศ – สิบ ลักษ – แสน กระเษตร – นา รวมความว่า “ สิบแสนนา คือล้านนานั่นเอง ”

อย่างไรก็ตาม อย่างช้าตั่งแต่ พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา ในหมู่นักวิชาการระดับสูงจำนวนหนึ่งพบคำว่า “ ล้านนา ” เป็นคำถูกต้องแล้ว และชัดเจนมากขึ้นเมื่อ ดร.ฮันส์ เพนธ์ เสนอบทความใน พ.ศ. 2523 ยืนยันการพบคำล้านนาในศิลาจารึกวัดเชียงสา (จารึกหลักที่ ชม.7 จากเชียงราย พ.ศ. 2096 ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้ตรวจสอบศิลาจารึกดังกล่าวแล้วเห็นว่า มีคำ “ ล้านนา ” คู่กับคำว่า “ ล้านช้าง ” จริง จึงเสนอให้ใช้คำ “ ล้านนา" ” แทนคำ “ ลานนา ” ใน พ.ศ. 2526 ความเห็นนี้สอดคล้องกับนักวิชาการในจังหวัดเชียงใหม่ที่เสมอให้ใช้ “ ล้านนาไทย ” เป็นชื่อหนังสืออนุสรณ์พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ที่ เชียงใหม่ พ.ศ. 2526 – 2527 หลังจากนั้นมา คำ “ ล้านนา ” ก็เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย

ในช่วง พ.ศ. 2530 มีการโต้เถียงกันอีกว่าคำว่า “ ล้านนา ” หรือ “ ลานนา ” เป็นคำที่ถูกต้อง และคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย มีศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธานการสอบชำระในที่สุดคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยได้ให้ข้อยุติ ว่า “ ล้านนา ” คือคำที่ถูกต้อง ในวงวิชาการจึงใช้ “ ล้านนา ” กันทั่วไป แต่ก็มีผู้ที่ยังพอใจจะใช้ “ ลานนา ” ต่อไปอยู่

ที่มาของปัญหาดังกล่าวเกิดจากในอดีต ธรรมเนียมการเขียนไม่เคร่งครัด การใส่วรรณยุกต์คือมักจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ ในคัมภีร์ใบลานจำนวนมากมาย จึงมีทั้งคำ “ ล้านนา ” และ “ ลานนา ” ทั้งนี้มีหลักฐานว่ามีการใช้รูปวรรณยุกต์ในอักษรธรรมล้านนามากขึ้นในระยะ หลัง คือช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 จึงทำให้ไม่ชินที่จะต้องใส่วรรณยุกต์ จึงใส่ก็ได้ไม่ใส่ก็ได้ จนเป็นที่เข้าใจกันของผู้คนในสมัยนั้น ธรรมเนียมการเขียนแบบไม่ต้องกำกับวรรณยุกต์โท แต่ให้อ่านออกเสียงเสมือนมีวรรณยุกต์โทกำกับนี้มีสืบมาจนถึงสมัยรัตน โกสินทร์ตอนต้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจว่า ดินแดนภาคเหนือคือ “ ลานนา ” นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า “ ลานนาหมายถึงทำเลทำนา ” คู่กับ “ ลานช้าง ” เพราะเชื่อว่า “ เมืองหลวงพระบางเป็นภูเขาห้วยป่าดงทำนองจะมีช้างมาก ” หลังจากนั้นมาคำ “ ลานนา ” ก็ใช้ในกรุงเทพฯ และแพร่หลายไปทั่วประเทศสยาม โดยใช้ในหนังสือแบบเรียนและเอกสารวิชาการต่าง ๆ คำ “ ลานนา ” จึงใช้กันมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ