ประวัติศาสตร์ล้านนา - คำล้านนาเริ่มมีมาเมื่อใด

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
01/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

คำล้านนาเริ่มมีมาเมื่อใด

ในสมัยพระญามังราย ดินแดนในแถบลุ่มน้ำแม่กกคือเชียงราย เชียงแสนเรียกว่า แคว้นโยน (โยนก) หรือโยนรัฏฐ์ ส่วนดินแดนลุ่มน้ำปิงคือเมืองลำพูน เชียงใหม่เรียกว่า “ แคว้นพิง ” เมื่อพระญามังรายรวมสองแคว้นใหญ่ดังกล่าวเข้ากันแล้วเกิดเป็นรัฐใหญ่ที่มี อาณาเขตกว้างขวางขึ้น จากการตรวจสอบหลักฐานก็ไม่พบว่าพระญามังรายทรงเรียกรัฐใหญ่ที่พระองค์สร้าง ขึ้นใหม่ว่าอะไร นักประวัติศาสตร์ในสมัยหลังสร้างคำ “ อาณาจักรล้านนา ” เพื่อใช้กับรัฐที่ใหญ่โตแห่งนี้ แท้จริงแล้วในสมัยพระญามังรายยังไม่มีการใช้คำ “ ล้านนา ” เป็นคำเรียกชื่ออาณาจักร

คำ “ ล้านนา ” คงจะมีการเริ่มใช้ในสมัยพระญากือนา (พ.ศ. 1898 – 1928) เนื่องจากความหมายของพระนามกือนา “ กือ ” คือจำนวนร้อยล้าน “ กือนา ” คือร้อยล้านนา ต่อมาคำ “ ล้านนา ” ใช้เรียกกษัตริย์ผู้ครองดินแดนล้านนา โดยใช้ “ ท้าวล้านนา ” หรือ “ ท้าวพระญาล้านนา ” และเรียกประชาชนของรัฐว่า “ ชาวล้านนา ” ลักษณะคำดังกล่าวใช้กันแพร่หลายในสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. 1984 – 2030) นอกจากนั้นยังมีธรรมเนียมใช้ “ ล้านนา ” นำหน้าชื่อเมือง ซึ่งพบหลักฐานการใช้ในสมัยพระญาสามประหญาฝั่งแกน (พ.ศ.1945 – 1984) เช่น ล้านนาเชียงแสน ล้านนาเชียงใหม่ โดยเน้นเมืองนั้นอยู่ในอาณาจักรล้านนา ส่วนในตำนานสุวรรณคำแดงนั้นมีการระบุอย่างชัดเจนว่า บริเวณแห่งนี้ชื่อ “ ล้านนา ”

ล้านนา หรือล้านนาไทย

คำ “ ล้านนา ” เป็นคำเก่าแก่ที่สุด ในหลักฐานเก่าแก่นั้นใช้ล้านนา ส่วนคำล้านนาไทยนั้นเน้นความเป็นคนไทย ซึ่งใช้กันในสมัยหลัดด้วยเหตุผลทางการเมือง คนเมืองรู้ตัวดีว่าเขาเป็นคนไทยวน ดังนั้นการใช้คำเพียง “ ล้านนา ” ก็เพียงพอแล้ว แต่คนที่รักจะใช้ “ ล้านนาไทย ” ก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะใช้ตามที่ตนพอใจได้เช่นกัน

ล้านนา

ดินแดนล้านนา หมายถึงอาณาบริเวณที่ประกอบด้วยเมืองกลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กันทาง เครือญาติหรือทางวัฒนธรรม ในอดีตรัฐโบราณไม่มีอาณาเขตชัดเจน แต่ในสมัยที่อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรืองเคยมีอิทธิพลแผ่ออกไปอย่างกว้าง ขวางไปถึงดินแดนเชียงรุ้ง สิบสองพันนา และรัฐฉานตอนใต้ อย่างไรก็ตาม ดินแดนส่วนสำคัญของล้านนาอยู่ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ประกอบด้วยเมืองใหญ่น้อยแบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ออกเป็น สองกลุ่มคือ กลุ่มเมืองล้านนาตะวันตกซึ่งเป็นแกนสำคัญมีเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา เนื่องจากถูกผนวกเข้าด้วยกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังรายตอนต้น ครั้นในสมัยราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน กลุ่มเจ้านายเชื้อสายเจ้าเจ็ดตนได้แยกย้ายกันปกครองเมืองต่าง ๆ ดังนั้นเมืองด้านล้านนาตะวันตกจึงมีความสัมพันธ์ร่วมกัน

ส่วนกลุ่มล้านนาตะวันออกมีเมืองแพร่และเมืองน่าน ทั้งสองเมืองมีประวัติความเป็นมาคล้ายกัน คือ ในสมัยแรกเริ่มต่างมีฐานะเป็นรัฐอิสระ มีราชวงศ์ของตนเอง มีความใกล้ชิดกับอาณาจักรสุโขทัย และรัฐอาณาจักรล้านนาเพิ่งผนวกดินแดนแพร่และน่านได้ในสมัยพระเจ้าติโลกราช และอยู่ในอาณาจักรล้านนาได้ไม่นานนัก อาณาจักรล้านนาก็ล่มสลายลง ในสมัยพม่าปกครองก็ใช้วิธีแบ่งแยกเมืองต่าง ๆ ครั้นในสมัยฟื้นฟูบ้านเมืองยุครัตนโกสินทร์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่และเมืองน่านเป็นเจ้านายคนละสายกับเข้าเจ็ดตน จากประวัติศาสตร์ที่ไม่เกาะเกี่ยวกันนัก เป็นเงื่อนไขให้เมืองแพร่และน่านไม่ค่อยมีความผูกพันกับล้านนาเชียงใหม่

ด้วยเหตุผลดังกล่าว การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาจึงมีศูนย์กลางการศึกษาอยู่ที่เชียงใหม่เมือง หลวงแห่งล้านนา ส่วนเมืองแพร่และน่านมีการกล่าวพาดพิงไปถึงบ้าง การก่อรูปอาณาจักรล้านนาเริ่มในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อสถาปนานครเชียงใหม่ พ.ศ.1839 นับถึงปัจจุบันเชียงใหม่มีอายุกว่า 700 ปีแล้ว นครเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางความเจริญมาช้านาน โดยผ่านประวัติศาสตร์มาหลายยุคหลายสมัย การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาแบ่งตามพัฒนาการดังนี้