ประวัติศาสตร์ล้านนา - สมัยแว่นแคว้น-นครรัฐ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
01/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

สมัยแว่นแคว้น – นครรัฐ

ก่อนกำเนิดอาณาจักรล้านนาในพุทธศตวรรษที่ 19 ดินแดนล้านนามีรัฐต่าง ๆ กระจายตัวตามที่ราบระหว่างหุบเขาในภาคเหนืออยู่แล้ว เช่น แคว้นหริภุญชัยในเขตแม่น้ำปิงตอนบน แคว้นโยนหรือโยนกในเขตที่ราบลุ่มน้ำกก เขลางคนครในเขตลุ่มน้ำวัง เมืองแพร่ในเขตลุ่มน้ำยม เมืองปัวในเขตลุ่มน้ำน่าน และเมืองพะเยาในเขตลุ่มน้ำอิง แว่นแคว้น – นครรัฐ แต่ละแห่งมีลักษณะการตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ตามที่ราบระหว่างหุบเขา โดยมีเทือกเขาปิดล้อม จากการตั้งถิ่นฐานมาช้านานของรัฐใหญ่น้อยต่าง ๆ ก่อนกำเนิดอาณาจักรล้านนา ทำให้แต่ละรัฐต่างมีประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง

แว่นแคว้นสำคัญซึ่งเป็น จุดเริ่มต้นของอาณาจักรล้านนาคือแคว้นหริภุญชัยและแคว้นโยน ส่วนรัฐเล็กรัฐน้อย ได้แก่เมืองเขลาคนคร เมืองพะเยา เมืองแพร่และเมืองปัว – น่าน เป็นรัฐที่ผนวกตามมา กรณีนี้จะให้ความสำคัญต่อแคว้นหริภุญชัยและแคว้นโยน

แคว้นหริภุญชัย ใน เขตชุมชนที่ราบลุ่มน้ำปิงตอนบน เป็นดินแดนที่พัฒนาความเจริญได้ก่อนชุมชน อื่น ๆ ในล้านนา แคว้นหริภุญชัยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 แล้ว ความเจริญของหริภุญชัยเป็นพื้นฐานของอาณาจักรล้านนาที่จะก่อรูปเป็นรัฐ อาณาจักร

ก่อนกำเนิดรัฐหริภุญชัย ในบริเวณแอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน มีพัฒนาการเป็นรัฐขนาดเล็กหรือรัฐชนเผ่าเกิดขึ้นแล้ว พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชนเผ่าโบราณ ๒ กลุ่ม คือ ลวะและเม็ง

ลวะ ชาวพื้นเมืองในกลุ่มมอญเขมร ตั้งถิ่นฐานกระจายทั่วไปในภาคเหนือเลยไปถึงเมืองเชียงตุง เมืองยองและหุบเขาต่าง ๆ ทางตอนบนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชนเผ่าลวะมีมากมายหลายเผ่า ชนเผ่าอันหลากหลายนี้มีระดับความเจริญต่างกันมาก พวกที่อยู่บริเวณใกล้ที่ราบลุ่มน้ำปิงจะพัฒนาเป็นรัฐชนเผ่า ปรากฏชื่อ พระญาลวะ เช่น ขุนหลวงวิลังคะ ฤๅษีวาสุเทพ กลุ่มลวะในเขตที่ราบลุ่มน้ำกกและน้ำแม่สาย ได้แก่ กลุ่มปู่เจ้าลาวจก ส่วนลวะพวกที่อยู่ห่างไกลในเขตป่าเขาจะรับความเจริญได้ช้า ดังนั้นแม้ในปัจจุบันก็ยังมีชาวลวะอยู่ในบริเวณแนวตะเข็บของจังหวัด เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน

ชนเผ่าลวะในแอ่ง เชียงใหม่ – ลำพูน เป็นชนเก่าแก่อยู่มาช้านานก่อนที่ชนกลุ่มอื่นจะเข้ามา ในตำนานล้านนากล่าวถึงบริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นศูนย์กลางของชนเผ่าลวะ มีหลักฐานว่าชุมชนลวะนับถือดอยสุเทพ เพราะเป็นที่สิงสถิตของผีปู่แสะย่าแสะผีบรรพบุรุษของชาวลวะ ชาวลวะนับถือผีปู่แสะย่าแสะผู้พิทักษ์ดอยสุเทพและรักษาเมืองเชียงใหม่ จึงมีพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะเป็นประจำทุกปี ร่องรอยความเชื่อนี้ยังมีสืบมา

เม็ง ชาติพันธุ์มอญโบราณที่ตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือมาช้านานแล้วและเป็นกลุ่มเดียวกับมอญในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตำนานจามเทีวงศ์ เรียก ว่า “ เมงคบุตร ” ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน มักกระจายอยู่ตามที่ราบลุ่มน้ำปิง จึงพบคำเก่าแก่เรียงแม่น้ำปิงว่า แม่ระมิง หรือแม่น้ำเม็ง หมายถึงแม่น้ำที่มีชาวเม็งอาศัยอยู่

เม็งและลวะเป็นชนเผ่าโบราณที่เคยอยู่ในที่ราบลุ่มน้ำปิงด้วยกัน ตำนานจามเทวีวงศ์ หน้า 171 กล่าวถึงเม็งและลวะ หรือละว้าพร้อม ๆ กัน ดังความว่า ...เรื่องราวของพระราชาผู้ประเสริฐของคนป่ามีพวกเม็ง เป็นต้น แลละว้าลูกชาวป่า... เม็งเป็นพวกอาศัยอยู่ริมน้ำ มีปริมาณประชากรน้อยกว่าลวะ ส่วนลวะกระจายตัวทั่วไปทั้งที่ราบและบนดอยลวะจึงเป็นประชากรพื้นฐานสำคัญ ลวะและเม็งมีลักษณะต่างคนต่างอยู่ไม่ใกล้ชิดกัน แต่ก็ยอมรับความเป็นชนต่างชาติพันธุ์ เม็งค่อย ๆ หายไปจากดินแดนล้านนา คงเหลือร่องรอยหมู่บ้านเม็งเก่าแก่ไม่กี่แห่ง เพราะได้รับการผสมกลมกลืนให้เป็นคนไทยเช่นเดียวกับชนเผ่าลวะและชนเผ่าอื่น ๆ

  • เมืองหริภุญชัยสร้างราว พ.ศ.1310 – 1311 โดยฤๅษีวาสุเทพ แล้วได้เชิญพระนางจามเทวีเสด็จจากละโว้มาครองราชย์ เมืองหริภุญชัย เงื่อนไขของการกำเนิดเมืองหริภุญชัยเป็นผลมาจากการขยายตัวทางการค้าจากเมือง ท่าชายฝั่งเข้ามาสู่ดินแดนตอนในคาบสมุทร เมืองหริภุญชัยซึ่งอยู่ตอนในทำการค้าของป่ากับเมืองตอนล่างโดยอาศัยแม่น้ำ ปิง เมืองหริภุญชัยจึงเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญและสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากการ ค้าจนเป็นเมืองที่มั่งคั่ง การเกิดขึ้นของหริภุญชัยก่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแอ่งเชียงใหม่ – ลำพูนอย่างมาก เพราะเป็นการก้าวจากรัฐชนเผ่าสู่รัฐแบบนคร เปลี่ยนจากสังคมขนาดเล็กมาเป็นสังคมเมือง ซึ่งจัดระเบียบสังคมซับซ้อนขึ้นมาก การกำเนิดเมืองหริภุญชัยนับเป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้ง ใหญ่ ซึ่งนำความเจริญ รุ่งเรืองให้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในดินแดนล้านนา

  • พัฒนาการของรัฐหริภุญชัย แบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือ ยุคหริภุญชัยตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 14 – 16 ยุคนี้ได้สร้างบ้านแปลงเมืองหริภุญชัยและขยายออกไปสู่ที่ราบลุ่มน้ำวัง บริเวณโดยรอบเมืองหริภุญชัย พบแหล่งโบราณ คดีมีร่องรอยวัฒนธรรมหริภุญชัยประเภทเครื่องปั้นดินเผาลายขูดขีดไม่เคลือบ ศิลปะหริภุญชัย เช่น ที่วัดสันริมปิง บ้านศรีย้อย บ้านวังม่วง เมืองโบราณที่คาดว่าเริ่มต้นเติบโตยุคนี้ คือเวียงมโน อยู่ห่างจากเมืองลำพูนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 8 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางมาก นอกจากนั้นตามลำน้ำปิงตลอดถึงเมืองฮอดมีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณสมัยหริ ภุญชัย ดังปรากฏหลักฐานเมื่อพระนางจามาเทวีเสด็จจากละโว้มาตามลำน้ำปิงได้สร้าง เมืองตามรายทาง

  • ยุคหริภุญชัยตอนปลายพุทธ ศตวรรษที่ 17 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่รัฐหริภุญชัยมีความเจริญรุ่งเรืองการตั้งถิ่นฐานเติบโตขึ้นมาก ดังพบว่า มีการขยายออกไปทางตอนเหนือแอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ของชาวพื้นเมือง นอกจากนั้นในทางตอนใต้พบว่า เวียงท่ากานและเวียงเถาะขยายตัว โดยเฉพาะเวียงท่ากานเป็นชุมชนใหญ่ที่สำคัญรองจากหริภุญชัย ในช่วงนี้แคว้นหริภุญชัยมีความเจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองสงบปราศจากสงคราม มีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เช่น สร้างวัดและกัลปนาคนหรือที่ดินให้ไว้กับวัด กษัตริย์ที่สำคัญในสมัยนี้ คือ พระญาอาทิตตราชและพระญาสววาธิสิทธิ หลังจากสิ้นสมัยพระญาสววาธิสิทธิแล้วหริภุญชัยก็มีกษัตริย์ปกครองต่อมาจนถึง สมัยพระญายีบาหริภุญชัยก็สลายลง ในพ.ศ.1835 เพราะพ่ายแพ้แก่พระญามังราย