ประวัติศาสตร์ล้านนา - รัฐหริภุญชัยสร้างความเข้มแข็งโดยอาศัยวิธีการ 3 ประการ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
01/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

รัฐหริภุญชัยสร้างความเข้มแข็งโดยอาศัยวิธีการ 3 ประการ

  • ประการแรก ความเชื่อพระพุทธศาสนา เป็นความเชื่อสากลที่รัฐหริภุญชัยนำมาใช้หล่อหลอมจิตใจของชุมชนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน พระนางจามเทวีสถาปนาพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงในแคว้นหริภุญชัยและ กษัตริย์พระองค์ต่าง ๆ มา ในราชวงศ์จามเทวีต่างสนับสนุนพระพุทธศาสนา ดังปรากฏมีวัดมากมายในเมืองลำพูน จนถือได้ว่าความโดดเด่นของแคว้นหริภุญชัยอยู่ที่พระพุทธศาสนา กษัตริย์หริภุญชัยอาศัยการทำนุบำรุงพุทธศาสนาเป็นสื่อผ่านความคิดสู่ประชาชน ในรัฐให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การจัดระเบียบสังคมในรัฐอาศัยการหล่อหลอมจากพุทธศาสนา ความเชื่อในพระพุทธศาสนาคือสิ่งที่ค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ความเชื่อ ซึ่งหลากหลายไปตามท้องถิ่น จากความเชื่อร่วมกันในพระพุทธศาสนาทำให้เมืองต่าง ๆ ในรัฐหริภุญชัยต่างสร้างวัดและศิลปวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาใน ลักษณะศิลปะที่มีเอกลักษณ์ ศิลปะหริภุญชัย มีสกุลช่างหริภุญชัยที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง

  • ประการที่สอง การจัดตั้งชุมชนเมือง รัฐหริภุญชัยสร้างความเปลี่ยนแปลงในที่ราบลุ่มน้ำปิง โดยกำเนินสังคมเมืองแทนที่สังคมระดับหมู่บ้านที่มีมาแต่ยุคชนเผ่า การจัดตั้งชุมชนเมืองสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในตำนานที่กล่าวถึงการเดินทาง จากละโว้มาสู่หริภุญชัยของพระนางจามเทวี เพราะพระนางได้สร้างบ้านแปลงเมืองมาตามรายทางบนสายลำน้ำปิง เมืองหริภุญชัยเป็นเมืองแรกสุด หลังจากนั้นได้สร้างเมืองต่าง ๆ ตามที่ราบลุ่มน้ำปิง การจัดตั้งชุมชนเมืองเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนตามที่ต่าง ๆ เคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่รวมกัน เกิดการรวมตัวเป็นหน่วยการเมืองที่ใหญ่ขึ้น จุดนี้คือการสร้างความเข้มแข็งแก่รัฐ รัฐหริภุญชัยสร้างเมืองโดยอาศัยชุมชนระดับหมู่บ้านที่มีมาแต่เดิมแล้ว หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าหรือการคมนาคมจะมีความเคลื่อนไหวทาง สังคมสูง จึงมีโอกาสก่อรูปเป็นชุมชนเมือง

  • ประการที่สาม การสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมและการค้า รัฐหริภุญชัยสร้างรูปแบบวัฒนธรรมของรัฐเป็นวัฒนธรรมหริภุญชัยที่มีเอกลักษณ์ ชุมชนต่าง ๆ ในรัฐมีรูปแบบวัฒนธรรมร่วมกันเป็นเครือข่ายทางวัฒนธรรม นอกจากเครือข่ายทางวัฒนธรรมแล้ว รัฐหริภุญชัยยังสร้างเครือข่ายทางการค้าโดยอาศัยชุมชนเมืองที่จัดตั้งขึ้น ตามที่ราบลุ่มริมน้ำเป็นหน่วยหรือสถานีการค้า การค้าจึงใช้วิธีเชื่อมต่อกันตามเมืองและชุมชนต่าง ๆ ด้วยวิธีการสร้างเครือข่ายวัฒนธรรมและการค้า ทำให้รัฐหริภุญชัยมีความเจริญและมั่งคั่ง