ประวัติศาสตร์ล้านนา - ล้านนาสมัยปัจจุบัน

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
01/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ล้านนาสมัยปัจจุบัน

 

หลังจากคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แล้ว ต่อมา พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคใหม่ โดยหน่วยการปกครองระดับมณฑลเทศาภิบาลจำนวน 18 แห่งทั่วประเทศถูกยุบลง เหลือหน่วยการปกครองระดับจังหวัดเป็นหน่วยสูงสุด มณฑลพายัพสลายเป็นจังหวัดต่าง ๆ อยู่ตอนบนของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันประกอบด้วย 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน

ดินแดนภาคเหนือ ช่วง พ.ศ. 2476 – 2504 เป็นสภาวะคลี่คลายจากนโยบายรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ในระยะนั้น ดินแดนภาคเหนือถูกอำนาจรัฐส่วนกลางแทรกเข้าไปในระดับจังหวัดและอำเภอแล้ว แต่ในท้องถิ่นระดับล่าง อำนาจรัฐยังจำกัด อย่างไรก็ตามหลัง พ.ศ. 2504 อำนาจรัฐจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ กล่าวได้ว่า ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงประมาณ พ.ศ. 2504 อำนาจรัฐลงไปในล้านนาเป็นระลอกแรก ส่วนตั้งแต่ พ.ศ. 2504 จนถึงปัจจุบันเป็นระลอกที่สอง ซึ่งในครั้งหลังนี้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงมาก เพราะกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และวิธีชีวิตของชาวล้านนาที่สั่งสมกันมาหลายร้อยปีก่อนหน้านั้น

ภายใต้นโยบายพัฒนาประเทศ โดยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 1 เริ่ม พ.ศ. 2504 จนเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544) แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ฉบับที่ 1 – 3 (พ.ศ. 2504 – 2519) เน้นพัฒนาการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างทางหลวงเชื่อมกรุงเทพมหานครกับจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และเร่งรัดสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ เพื่อเป็นเส้นทางการขนส่งผลผลิตการเกษตรจากชนบทเข้าสู่เมือง และนำสินค้าอุตสาหกรรมจากกรุงเทพมหานครเข้าสู่ชนบท

นอกจากนั้นระยะนี้ยังทำเขื่อนขนาดใหญ่ และโครงการชลประทานขนาดกลางเพื่อพัฒนาการเกษตร โดยมีเป้าหมายการผลิตเพื่อสนองต่อความต้องการของตลาด ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีชีวิตชาวบ้านมาก เพราะต้องเร่งผลผลิตตามความต้องการตลาด มิใช่เพื่อบริโภคในครัวเรือนดังอดีต ในที่สุดการผลิตแบบทุนนิยมทำให้ชาวนาพึ่งตนเองไม่ได้ ผลจากการใช้แผนพัฒนาในระยะช่วงแรกก่อให้เกิดความยากจนในชนบท คนในชนบทมีรายได้ต่างกับคนในเมืองหลวงมาก และเมืองหลวงกับเมืองในภูมิภาคก็แตกต่างกันมาก จากความเจริญเติบโตของกรุงเทพมหานครที่รวดเร็วทำให้กลายเป็นเมืองโตเดี่ยว
นโยบายของรัฐที่จะแก้ไขปัญหาเมืองโต เดี่ยวของกรุงเทพมหานคร คือการกระจายความเจริญออกไปยังเมืองหลักตามภูมิภาค คือภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ โดยกำหนดให้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองหลักในภาคเหนือ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 – 2524) ดังนั้นรัฐจึงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับความเจริญเติบโต เช่น ถนน สะพาน ทางระบายน้ำ ฯลฯ เพื่อให้เชียงใหม่เป็นแหล่งจ้างงานและแหล่งบริการแก่พื้นที่โดยรอบ นโยบายให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางความเจริญในภูมิภาคนี้ประสบความสำเร็จมาก เพราะโดยพื้นฐานแล้วเชียงใหม่มีศักยภาพสูงในฐานะราชธานีอาณาจักรล้านนามา ก่อน จึงมีขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ประกอบกับมีภูมิประเทศสวยงาม จึงดึงดูดนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ ข้าราชการและผู้คนหลากหลาย จากต่างถิ่นสู่เชียงใหม่ทั้งมาเที่ยวชมและมาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร


เมืองเชียงใหม่เติบ โตอย่างมากหลังจากนโยบายเมืองหลัก โดยเฉพาะตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา เมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางภาคเหนือในทุก ๆ ด้าน และเจริญเติบโตแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ

ทั้งนี้ มีรายนามกษัตริย์และเจ้าเมืองเชียงใหม่ (ยกเว้นช่วงที่พม่าปกครอง) ดังนี้

1. พระญามังราย (พ.ศ. 1804 – 1854)  10. พระญายอดเชียงราย (พ.ศ. 2030 – 2038)
 2. พระญาไชยสงคราม (พ.ศ. 1854 – 1868)  11. พระญาเมืองแก้ว (พ.ศ. 2034 – 2068)

3. พระญาแสนพู (พ.ศ. 1868 – 1877)

 12. พระญาเมืองเกษเกล้า

ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2068 – 2081)

ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2086 – 2088)

 4. พระญาคำฟู (พ.ศ. 1877 – 1879)  13. ท้าวซายคำ (พ.ศ. 2081 – 2086)
 5. พระญาผายู (พ.ศ. 1879 – 1898)  14. พระนางจิรประภา (พ.ศ. 2088 – 2089)
 6. พระญากือนา (พ.ศ. 1898 – 1928)  15. พระไชยเชฏฐา (พ.ศ. 2089 – 2090)
 

7. พระญาแสนเมืองมา (พ.ศ. 1928 – 1944)

 

16. ท้าวแม่กุ (พระเมกุฏิ) (พ.ศ. 2094 – 2107)

 8. พระญาสามฝั่งแกน (พ.ศ. 1945 - 1984)  17. พระนางวิสุทธิเทวี (พ.ศ. 2107 – 2121)
 9. พระญาติโลกราช (พ.ศ. 1984 – 2030)