วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
02/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ละว้า

ละว้า เป็นชื่อที่คนทั่วไปใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตนเองว่า “ ละเวือะ ” และชาวล้านนาถือว่า “ ลวะไ และ “ ละว้า ” เป็นชนกลุ่มเดียวกัน ประกอบกับการที่ชาวละว้าอ้างถึงประวัติความเป็นมาของตน โดยใช้ ตำนานสุวัณณะคำแดง และพิธีกรรมในล้านนาเป็นเครื่องสนับสนุนนั้น ในเอกสารหรือที่ปรากฏในพิธีกรรมก็กล่าวว่า “ ลวะ ” ซึ่งนักวิชาการยุคหลัง มักเรียกเป็น “ ลัวะ ” แต่เนื่องจากมีผู้ศึกษาเรื่อง ละว้าไว้อย่างดีมีระบบ ในที่นี้จึงใคร่จะเสนอเรื่อง ละว้า ไว้เพิ่มเติมจากเรื่องลวะ และเมื่อพิจาณาทางด้านภาษาแล้ว พวกละเวือะจัดอยู่ในกลุ่มภาษามอญ-เขมร สาขาย่อยปะหล่อง-ว้า ได้พบว่ามีผู้พูดภาษาละว้านี้อยู่ในสองจังหวัด คือเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน

  • ชาวละว้าเล่าวว่าชนเผ่า ของตนเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองเดิมที่ตั้งเป็นรัฐก่อนการเกิดของอาณาจักรล้านนา โดยกล่าวว่าความในตำนานสุวัณณะคำแดง และตำนานเชียงใหม่ปางเดิม ระบุ “ ละว้า ” หรือ “ ลวะ ” ตั้งอยู่ที่เชิงดอยสุเทพก่อนการตั้งเมืองเชียงใหม่ และกล่าวว่าประวัติศาสตร์ของละว้าสิ้นสุดในราว พ.ศ.๑๒๐๐ ที่ขุนหลวงวิลังคะพ่ายแพ้ต่อนางจามเทวี และปรากฎในตำนานของภาคเหนืออีกหลายฉบับที่ให้ข้อมูลและมีพิธีกรรมที่ยืนยัน ว่า “ ลวะ ” ตั้งอยู่ในท้องถิ่นนี้มาก่อนที่ชนเผ่ามอญมาตั้งที่ลำพูน และเผ่ายวนมาตั้งเมืองเชียงใหม่
  • ปัจจุบันพบว่าชาวละว้า ตั้งถิ่นฐานอยู่หนาแน่นในบริเวณหุบเขาแนวตะเข็บของจังหวัดเชียงใหม่และ แม่ฮ่องสอน และบางส่วนได้เคลื่อนย้ายมาอยู่ในบริเวณที่ราบมากขึ้น จากการที่กรมประชาสงเคราะห์ได้สำรวจเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ พบว่ามีชาวละว้าในเขตเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนรวม ๑๔,๑๕๒ คน
  • ภาษาของชาวละว้า เป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติคสายมอญ-เขมร โดยอยู่ในสาขาย่อยปะหล่อง-ว้า เป็นภาษาไม่มีระบบเสียงวรรณยุกต์ มีหน่วยเสียงสระ ๒๕ หน่วยเสียงประกอบด้วยสระเดี่ยว ๑๐ หน่วยเสียงและสระประสม ๑๕ หน่วยเสียง และพบว่าชาวละว้ามีความเจริญทางภาษามากสามารถสร้างวรรณคดีเป็นมรดกทาง วัฒนธรรมได้ มีวรรณกรรมมุขปาฐะของตนเรียกว่า “ ละซอมแล ” ซึ่งสามารถแยกย่อยได้ถึง ๗ ประเภทด้วยกัน
  • การแต่งกายของชาวละว้า สามารถจำแนกออกเป็นสองแบบ คือ การแต่งกายในชีวิตประจำวันและการแต่งกายในพิธีกรรมในชีวิตประจำวันนั้น หญิงละว้าจะสวมเสื้อขาวแขนสั้นกุ๊นด้วยด้ายสี สีพื้นของผ้านุ่งเป็นสีดำมีลายคั่นเป็นแถบในแนวนอน ลายนี้ได้จากการมัดลายขนาดต่างๆ ที่เชิงผ้าด้านล่างเป็นแถบใหญ่ซึ่งมักเป็นสีแดงหรือสีชมพูเหลือบด้วยสี เหลือง ลายมัดนั้นเป็นสีน้ำเงินแซมขาว มี “ ปอเต๊ะ ” (ผ้าพันแขน) และ “ ปอซวง ” (ผ้าพันแข้ง) หญิงละว้าไว้ผมยาวทำเป็นมวยประดับด้วยปิ่นหรือขนเม่นและปล่อยปลายยาว ส่วนหญิงสูงอายุนิยมมวยผมต่ำแต่ไม่ท้งปลายแบบหญิงสาว หญิงละว้านิยมสร้อยเงินเม็ดและลูกปัดสีแดง สีส้ม สีเหลืองหลายเส้นเป็นเครื่องประดับ มีต่างหู โดยเฉพาะนิยมต่างหูไหมพรมสีเหลืองแดงหรือส้มยาวจนถึงไหล่ หญิงส่วนใหญ่มี “ สกุนลอง ” คือกำไลฝ้ายเคลือบด้วยยางรักจำนวนหลายวง นอกจากนี้ยังมีกำไลแขนและกำไลข้อมือทำด้วยเงินอีกด้วย เครื่องใช้ประจำของหญิงละว้าอายุมากกว่า ๓๐ ปีขึ้นไปคือกล้องยาเส้นและยังนิยมสะพายย่ามเวลาเดินทางอีกด้วย ส่วนชายละว้านิยมสวมเสื้อยืด เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาวแบบคนพื้นราบทั่วไป แต่ส่วนใหญ่สะพายย่ามเป็นประจำ
  • ในพิธีกรรมนั้น หญิงละว้ามักแต่งกายเช่นเดียวกับในชีวิตประจำวัน แต่หากในพีเลี้ยงผีฟ้าผ่า การแต่งงานและงานศพ จะสวมเสื้อสีดำทับลงบนเสื้อขาว เสื้อสีดำนี้มีลายสีแดงแนวตั้งที่ข้างลำตัวเย็บในลักษณะเดียวกับเสื้อขาว บางหมู่บ้านมีลายปักตั้งแต่เชิงด้านล่างขึ้นมา ด้านหน้าปล่อยว่างไว้สำหรับใส่สายสร้อยเครื่องประดับที่มีอยู่มาก ในการแต่งงานของหญิงที่นับถือพุทธหรือผีจะมีผ้าสีแดงเหลืองหรือขาวคลุมหน้า มือทั้งสองยึดที่มุมผ้าไว้ ส่วนหญิงที่นับถือคริสต์จะนิยมใช้ผ้าบางสีขาวคลุมหน้า ผู้ชายใส่เสื้อขาวแขนยาวทับเสื้อยืด กางเกงคล้ายกางเกงขาก๊วยสีขาว เหน็บมีดด้ามงานช้าไว้ข้างลำตัว โพกศีรษะด้วยผ้าสีแดงหรือสีชมพู หากเป็นเจ้าบ่ายที่นับถือพุทธหรือผีจะนุ่งผ้าคล้ายโจงกระเบนทับกางเกง และพันเอวด้วย “ กะซี ” คือผ้าคาดเอวที่ใช้ใส่เงินตรา ชายละว้าสูงอายุมักเจาะรูที่หูเพื่อใส่ต่างหูงาช้าง นอกจากนี้ยังนิยมสักหมึกสีดำบริเวณลำตัวลงไปถึงหัวเข่า
  • ชาวละม้ามักตั้งถิ่นฐาน อยู่ในบริเวณหุบเขาที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๐๐๐ ฟุต มีที่นาและไร่ล้อมรอบในหมู่บ้านอาจมีวัดหรือโบสถ์คริสเตียนหรือคริสตัง มี “ เญียะยู ” หรือหอผี ซึ่งบางหมู่บ้านอาจมีสองหลังหรือมากกว่า แล้วแต่จำนวนตระกูลของคนในหมู่บ้านนั้น บ้านแบบดั้งเดิมของชาวละว้าเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง ๒.๐-๒.๕ เมตร มุงด้วยหญ้าคาคลุมเกือบถึงพื้นดิน ปูด้วยฟากไม้ไผ่ ใต้ถุนบ้านใช้เป็นคอกสัตว์และที่เก็บฟืน ด้านข้างเป็นที่ตั้งของครกกระเดื่อง การปลูกบ้านจะไม่ให้แนวหลังคาบ้านขนานไปกับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ หน้าจั่วประดับด้วยกาแลทั้งสองด้านภายในบ้าน มีห้องเดียว มีเตาไฟอยู่ภายในห้อง มีประตูปิดแน่นหนา แต่ที่ประตูมีช่องไว้ให้ชายหนุ่มที่สนใจจะเข้าไปคุยกับสาวในเรือนได้ง่าย จึงนับว่าห้องในเรือนนี้เป็นห้องสารพัดประโยชน์ ครอบครัวที่ถือผีจะมีเครื่องบูชาผีตั้งอยู่ที่มุมห้องทั้งหัวนอนและปลายเท้า สมาชิกในเรือนจะนอนในห้องเดียวกันทั้งหมด แต่หากบุตรชายแต่งงานแล้วก็จะแบ่งห้องตั้งแผงเตี้ยๆ ขึ้นมาและมีเตาไฟในบริเวณนั้น หากบุตรชายแต่งงานอีกคนก็จะตั้งเตาไฟเพิ่มที่นอกชาน และเมื่อลูกชายที่แต่งงานแล้วมีความพร้อม ก็สามารถปลูกเรือนอยู่เองได้

โดยทั่วไปชาวละว้าสุภาพ ใจเย็น ซื้อสัตย์และมีน้ำใจให้ความสำคัญในการต้อนรับแขก โดยจะจัดชุดหมากและเมี่ยงมารับแขก รวมทั้งอาหาร ซึ่งชาวละว้าจะให้แขกกินเสียงก่อนโดยเจ้าของบ้านกินทีหลัง เมื่อแขกออกจากบ้านก็จะได้รับของฝากเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขนม เมี่ยง พริก หรือฝักส้มป่อย หญิงละว้าอายุ ๓๐ ปีขึ้นไปมักนิยมสูบกล้อง ขณะที่ผู้ชายนิยมสูบบุหรี่มากกว่า

ทุกเช้าในช่วงหลังการเก็บเกี่ยว หญิงชาวละว้าจะออกไปตัดฟืนจากนั้นจึงจะหุงหาอาหาร ในฤดูแล้งมักปลูกผักในนาซึ่งเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว มีการปลูกพืชผักสวนครัวในไร่ โดยที่หญิงจะรดน้ำพรวนดิน ส่วนชายจะไปป่าทั้งล่าสัตว์และดูแลวัวควายที่ปล่อยให้ออกไปหากินเอง ปกติแล้วชาวละว้าจะขยันทำงานทั้งวัน ยามว่างชายจะทำเครื่องจักสาน หญิงจะทอผ้า

  • ชาวละว้านิยมเลี้ยงสัตว์ ทุกครัวเรือน เช่น หมูจะเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเอง เวลาเย็นจึงจะต้อนเข้าเล้า วัวควายก็จะเลี้ยงแบบปล่อยเช่นกัน โดยให้หากินหญ้าตามป่าและในท้องทุ่ง นานๆ จึงจะนำมาผูกไว้ที่บ้าน นอกจากนี้ก็มีการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ กับสุนัขและแมวอีกด้วย การเกษตรกรรมของชาวละว้านั้นมีทั้งการทำนาและทำไร่ โดยในไร่นั้นจะปลูกทั้งข้าวไร่และผักสวนครัวไปด้วยกัน เช่น มีการปลูกถั่ว งา พริก มะเขือ แตง ข้าวโพด ยาสูบ ฯลฯ โดยอาศัยเฉพาะน้ำฝนอย่างเดียว ชาวละว้าจะใช้ระบบการเพาะปลูกโดยวีหมุนเวียน เช่น หากหมู่บ้านมีพื้นที่ทำไร่อยู่ ๘ แห่ง แต่ละแห่งจะทำไร่ครั้งละหนึ่งปี การถางป่าฟันไร่จะเริ่มต้นโดยพิธีเปิดพื้นที่ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ มีการทำพิธีเสี่ยงทาย เลี้ยงผีและแบ่งพื้นที่ในการทำไร่ พอถึงปลายเดือนเมษายน – ต้นเดือนพฤษภาคม จึงลงมือปลูกข้าวและพืชสวนครัวในไร่ จากนั้น “ ซะมังสูงสุด ” จะทำพิธีของฝน และกิจกรรมในไร่จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงประมาณเดือนพฤศจิกายนก็จะเป็นฤดู เก็บเกี่ยว

ส่วนการปลูกข้าวในที่นา นั้นจะเริ่มกิจกรรมหลังจากการปลูกข้าวไร่แล้วสองเดือน โดยเป็นการทำนาในบริเวณที่ราบนอกหมู่บ้านและที่ลาดตามเชิงเขา ซึ่งมีการปรับให้มีลักษณะขั้นบันได ท่าดังกล่าวนี้เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็จะใช้เป็นที่ปลูกพืชผักในหน้าแล้งอีก ด้วย โดยนิยมปลูกผักกาดชนิดต่างๆ ต้นหอม ผักชีฯลฯ เมื่อเก็บผักกาดหมดแล้วก็จะปลูกยาสูบ

  • ในด้านการปกครองนั้น ชาวละว้าจะมีผู้นำตามธรรมเนียมเดิมและผู้นำที่ทางราชการแต่งตั้ง โดยผู้นำตามธรรมเนียมเดิมนั้นเรียกว่า “ โกยพี ” ได้มาจากการแต่งตั้งจากชนชั้นสูงที่สืบเชื้อสายมาจนปัจจุบัน ส่วนผู้นำที่ทางการแต่งตั้งคือ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำทั้งสองนี้จะทำงานประสานกัน
  • ในแง่การแต่งงานนั้น ชาวละว้าจะต้องแต่งงานกับคนที่มาจากสายตระกูลอื่น และอาจแต่งงานกับคนต่างเผ่าพันธ์ได้ ทั้งนี้ฝ่ายหญิงจะมีอายุมากกว่าหรือน้อยกว่าคู่สมรสอขงตนก็ได้ และชาวละว้านิยมการมีผัวเดียวเมียเดียว ขั้นตอนการแต่งงานจะเริ่มจากการที่หนุ่มจะไปจีบสาวโดยการเข้าไปหาหญิงถึงใน ห้องนอนซึ่งพ่อแม่ก็นอนอยู่ด้วย หากหนุ่มใช้เล็บจิกหัวแม่เท้าของหญิงและขับเพลงเชิงขอความรักถึงสามครั้ง แล้วสาวยังไม่ตื่นก็จะต้องกลับไป และหากมาอีกจนครบสามครั้งแล้วสาวยังไม่ตื่นก็จะต้องกลับไป และหากมาอีกจนครบสามครั้งแล้วสาวไม่ยอมลุกขึ้นคุยด้วย ก็แสดงว่าสาวไม่ยอมรรับชายหนุ่มผู้นั้น เมื่อหนุ่มสาวคุยกันจนถูกใจกันแล้ว หนุ่มก็จะเริ่มมอบของกำนัลแก่หญิงโดยให้ประมาณปีละสามครั้ง หากหญิงไปรักกับชายอื่นแล้วจะต้องคืนของกำนัลแก่ชายเป็นสองเท่า เมื่อตกลงปลงใจกันแล้วก็จะมีพิธีจับสาว คือแอบขึ้นไปฉุดสาวตามประเพณี ซึ่งในคืนนั้นฝ่ายหนุ่มก็จะทำพิธีขอขมาต่อพ่อแม่และผีบรรพบุรุษของฝ่ายหญิง จากนั้นจึงเตรียมการแต่งงาน ก่อนถึงวันแต่งงงานหนึ่งวัน ผู้นำทางพิธีกรรมจะทำพิธีส่งเคราะห์เมืองเพื่อบอกกล่าวให้ผีเมืองรับรู้ว่า จะมีครอบครัวใหม่อีกครอบครัวหนึ่งแล้ว เมื่อถึงวันแต่งงาน ฝ่ายเจ้าบ่าวและเพื่อนจะไปนอนเฝ้าเจ้าสาว ภายในวันงานจะมีขบวนเจ้าบ่าวและเจ้าสาวไปยังบ้านของเจ้าบ่าว และขบวนยายของเจ้าสาวกับญาติสูงอายุฝ่ายหญิง นำเครื่องใช้และเสื้อผ้าของเจ้าสาวไปส่งที่บ้านเจ้าบ่าว นอกจากนั้นยังมีขบวนชายตั้งแต่หนุ่มจนแก่นำเงินค่าตัวสาวไปส่งให้แก่ฝ่าย เจ้าบ่าว เมื่อถึงเวลาเย็นหลังจากที่มีขบวนนำเงินค่าตัวสาวแล้ว ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายก็จะนับเงินและเพิ่มเงินให้เป็นที่พอใจแล้วมอบให้ แก่คู่บ่าวสาวและสิ้นสุดพิธีการแต่งงาน แต่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวยังจะต้อนรับแขกต่อไป เมื่อแขกต่างหมู่บ้านลากลับ เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องนำเสื่อ อาหารและเครื่องดื่มไปส่งแขกที่ปากทางเข้าหมู่บ้านแล้วเลี้ยงดูแขกเป็นครั้งสุดท้าย