ชาติพันธุ์ล้านนา - ลื้อเชียงคำ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ลื้อเชียงคำ

       

อำเภอเชียงคำ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งที่อยู่ของชาวลื้อเชียบคำหลายหัวเมืองซึ่งอพยพมาจากเมืองพง เมืองหย่วน เมืองมาง เมืองยั้ง เมืองเงิน เมืองเชียงคาน ฯลฯ ในเขตมณฑลยูนนานตอนใต้และลาวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยตั้งหมู่บ้านเป็นหมู่ ๆ ใช้ชื่อเมืองที่อยู่เดิมตั้งเป็นชื่อหมู้าน เช่น บ้านหย่วน บ้านมาง บ้านเชียงคาน บ้านเล้า ฯลฯ บ้านเรือนคล้ายคลึงกับลื้อแจ้ง ผู้ชายแต่งกายชุดสีดำ สวมกางเกงขายว ตรงปลายมีแถบแขนเสื้อ เสื้อยาว มีแถบแพรอยู่ตอนปลาย พันศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือสีอ่อน ๆ บางทีใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าฝ้ายธรรมดาพัน เวลาออกจากบ้านสวมหมวกใบใหญ่เดรียกว่า “ กุ๊บ ” สะพายดาบ ถือร่ม เดิมนิยมสักหมึกตามตัวแต่ปัจจุบันเลิกแล้ว ผู้หญิงสวมเสื้อพื้นสีดำ ติดแถบสีอ่อน ๆ ปักลวดลายริมขอบเสื้อ ผ่าอก ปิดป้ายมาทางอกข้าง แขนเสื้อยาว นุ่งผ้าซิ่นสีดำมีแถบมน และริ้วลายตอนกลางเป็นชั้น ๆ คาดเข็มขัดเงินสลักรูปต่าง ๆ สวยงาม เครื่องประดับกาย มีต่างหู ปิ่นปักผม ซึ่งทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ สวมกำไลข้อมมือเงิน

ภาษาลื้อเชียงคำมีผิด เพี้ยนภาษาไทยกลางเล็กน้อย เช่น หม้อแกง - หม้อแค บุหรี - เบารี วัว - โง น้ำพริก - น้ำแจว ยุ้งข้าว - เล้าข้าว ผ้าขาวม้า - ผ้าโหะ ไปไหนมา - ไปไหนป้อก เมื่อสาย - เมื่องาย ฯลฯ

  • ชาวลื้อเชียงคำมีอาชีพ ทางกสิกรรม ทำนา ทำสวน มีจารีต ประเพณีนับถือผีต่างกันเพียงเล็กน้อย เช่น ลื้อเมืองพงนับถือผีกินหมู ส่วนลื้อบางพวกนับถือผีกินวัว ต่างแยกกันอยู่เป็นหมู่บ้านตามประเภทของผีที่ตนนับถือ แต่ลื้อทุกเผ่าเหล่านี้นับถือศาสนาพุทธพร้อมกันกับนับถือผี ขนบธรรมเนียมการเลี้ยงผีเมือง 3 ปีต่อหนึ่งครั้ง เครื่องเซ่นใช้หมู เริ่มทำพิธีในเดือน 7 หรือเดือนพฤษภาคม มีการเล่นการพนัน ปิดเฉลวที่ประตูหมู่บ้าน 3 วัน เรี่ยไรเงินจากชาวบ้านทุกครอบครัวนำไปซื้อหมูตัวใหญ่ทำการฆ่าต้มให้สุก นำไปเซ่นผีที่นับถือของตนที่ศาลเจ้าข้างหมู่บ้าน เสร็จแล้วเอาเลี้ยงกันในที่นั้นจดหมด ไม่ยอมให้เหลือกลับไปบ้าน งานนี้จะเป่าปี่ตีฆ้องอัญเชิญผีเมืองเข้าทรงหญิง ซึ่งถือเป็นที่นั่งแล้วไต่ถามถึงความเป็นไปของบ้านเมืองและเหตุการณ์อนาคต ซึ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ของเขา กำหนดงานเลี้ยงผีของชาวลื้อบางพวกปีละครั้ง บางเมือง 2 ปีต่อครั้ง ๆ ละ 3 วัน ลื้อเมืองล้าเลี้ยงผีเป็นเวลา 7 วัน ทุก ๆ 3 ปี หนุ่มสาวพากันแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงามนำเรือออกพายร้องเพลงขับโต้ตอบ กันไปตามลำแม่น้ำ เวลากลางคืนมีการโยนบ่ากอน ( ถุงใส่เม็ดมะขาม ) เล่นไล่จับกันข้างกองไฟกลางลานบ้านทั้งหญิงชาย

งานทำบุญบวชนาคของชาว ลื้อเชียงคำนั้น เขาจะทำร้านไว้ที่บ้าน เชื้อเชิญญาติพี่น้องชาวบ้านไปร่วมทำบุญ การฟังเทศน์นิยมเดือน 9 ขึ้น 15 ค่ำ งานทำบุญถวายทานก๋วยสลากมีงานในเดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ เริ่มตั้งต้นวัดใหญ่ก่อน ชาวบ้านต่างทำเครื่องไทยทานเป็นรูปช้าง ม้า วัว ควาย ต่าง ๆ นำแห่กันไปถวายทานแกพระสงฆ์โดยวิธีจับสลาก

งานขึ้นปีใหม่เริ่มแต่ กลางเดือนเมษายนทุกปี ในวันสงกรานต์ หนุ่มสาวชาวลื้อเชียงคำชวนกันไปเที่ยวหาหน่อไม้ในดิน ซึ่งเขาเรียกว่า “ หน่อไม้แป่ ” ตามป่าริมห้วยลำธารหรือที่ธารน้ำตก วันรุ่งขึ้นทำขนมอาหารเตรียมทำบุญ วันถัดมาพากันไปถวายทานด้วยถาดอาหารแก่พระอธิการเจ้าวัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับแล้ว อย่างเดียวกันกับชาวเหนือตอนสายนำเอาก๋วย ( รูปร่างคล้ายตะกร้า แต่เล็กกว่า ) ใส่เครื่องไทยทาน มีมะพร้าว กล้วย หมาก ส้ม ธูปเทียน เงิน ฯลฯ นำไปถวายพระสงฆ์อีก เสร็จแล้วพากันเที่ยวรดน้ำ มอมหน้า ดื่มสุรา เลี้ยงอาหารตามบ้านอื่น ๆ ตอนบ่ายตีฆ้องกลองกลองฟ้อนรำแห่บ้องไฟไปจุด มีการละเล่นต่าง ๆ ร้องเพลงขับกันจนดึกดื่นตลอดวันตลอดคืน รุ่งขึ้นพากันแห่งบ้องไฟที่จุดแล้วพร้อมกับนำต้นกัลปพฤกษ์ไปดำหัวผู้เป็น เจ้าฟ้าประจำเมือง ตลอดจนผู้ใหญ่บ้าน คนเฒ่าคนแก่ หนุ่มสาวเล่นโยนบ่ากอน ( คล้ายหมอนเล็ก ๆ ภายในบรรจุเม็ดมะขาม ) หญิงสาวชายหนุ่มอยู่คนละฝ่ายถ้าชายหนึ่งแพ้ หญิงสาวคู่โยนจะแย่งเอาแหวน กำไลมือ มี ฯลฯ ของชายหนุ่มไปบ้าน ชายนั้นต้องเงินไปไถ่ ถ้าของมีราคาแพงต้องไถ่ในราคาสูง เช่น ราคา 100 เหรียญ ไถ่ 10 เหรียญ ถ้าไม่ไปไถ่ตามธรรมเนียมชาวลื้อถือว่าชายหนุ่มพอใจ อยากได้หญิงสาวเป็นภรรยา ของที่ยึดไว้เป็นเสมือนสินหมั้น ส่งญาติผู้ใหญ่ไปเจรจาตกลงนัดกำหนดวันประกอบพิธีแต่งงานวัดถัดต่อมา มีการนำเอาสิ่งของ เช่น หมาก พลู ผ้า ธูปเทียน น้ำส้มป่อย ฯลฯ ไปดำหัวญาติผู้ใหญ่และผู้มีบุญคุณต่อตน การดำหัว คือการเอาสิ่งของไปให้ ขอขมาที่ล่วงเกินด้วยความเคารพระลึกถึงบุญคุณ และจะได้รับพรเป็นการตอบแทน

  • การปลูกสร้างบ้านใหม่ เขาช่วยเหลือกันตลอดเวลาจนเสร็จเป็นหลัง มีพิธีขึ้นบ้านใหม่ เลี้ยงสุราอาหาร ร้องรำทำเพลง ถ้าเป็นบ้านของเจ้าฟ้าเจ้าเมือง จะเรียกหญิงสาวทุกคนในเมืองหรือหมู่บ้านนั้นมานั่งเรียงราย มีการร้องเพลงขับเกี้ยวพาราสีหยอกเย้ากันระหว่างหนุ่มสาว การชกต่อยหึงหวงกันไม่มี ชายใดพอใจรักใคร่หญิงสาวคนใดก็เข้าไปเกี้ยวพาราสีได้ไม่หวงกัน

เมื่อเจ็บป่วย ชาวลื้อเชียงคำทำพิธีเรียกขวัญ เครื่องประกอบพิธีมีขนม กล้วย ไข่ไก่ ไก่ต้ม หมาก บุหรี่ เส้นด้าย ฯลฯ ถ้าคนป่วยกำลังจะตายเขาจะบอกให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พอตายลงนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ให้ศีลให้พรบังสุกุล เทศน์ชาดก ทำบุญให้แก่ผู้ตาย เอาศพไว้ราว 2-3 วัน จึงไปฝัง มีญาติร้องไห้รำพัน นาน ๆ จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตายสักครั้งหนึ่ง

  • การเที่ยวสาวนั้น หญิงสาวปั่นฝ้ายรอชายหนุ่มอยู่กลางลานบ้านข้างกองไฟเวลากลางคืน ชายหนุ่มไปทักทายเกี้ยวพาราสี ด้วยถ้อยคำร้อยกรองเป็นปริศนาอันไพเราะ ถ้าหญิงสาวชอบพอรักใคร่จะเรียกให้นั่งไต่ถามปัญหาข้องใจ และเล่านิทานโบราณสู่กันฟังหลายครั้งต่อหลายครั้ง จนเป็นที่แน่ใจชายหนุ่มก็คือเอาเป็นบ้านของตนเองเสียเลย บางคนกว่าจะกลับบ้านก็ดึกดื่นหรือจวนสว่าง บางทีก็เอนศีรษะนอนที่บ้านหญิงสาวหลับเพลินไปจนตะวันขึ้น บิดามารดาหญิงสายเลยทึกทักเอาเป็นเขย หรือหญิงสาวจะแจ้งให้บิดาของตนทราบเอง และส่งญาติผู้ใหญ่ไปแจ้งแก่บิดามารดาฝ่ายชายว่าใหม่คนนั้นมา ” สู้มักฮักแพง ” บิดามารดาฝ่ายชายจะเรียกบุตรชายมาถามความสมัครใจ ถ้าชายไม่อยากได้หญิงมาเป็นภรรยาก็บอกฝากไปว่า ปีนี้ไม่กรรมเวร ขอรอปีหน้าก่อน ถ้าชายหนุ่มรับเอาเป็นภรรยา ก็ส่งญาติฝ่ายตนไปเจรจาวางสินสอดทองหมั้นตามแต่ฐานะ หรือถ้าชายยากจนไม่ต้องมีอะไรเลยก็ได้ ทั้งสองฝ่ายนัดวันแรงงาน ถ้าชายผัดไปหลายเดือนหลายปี ต้องมีการหมั้นด้วย เพื่อเป็นประกันไม่ให้หญิงสาวต้องพลาดหวังในการรอคอย


  • การแต่งงาน ญาติทั้งสองฝ่ายเป็นทูตเจรจาตกลงกันถึง 3 หน เพื่อย้ำคำมั่นสัญญาให้แน่นแฟ้นโดยถามว่าชายจะเป็นบุตรเขตอยู่กี่ปี ชายแสร้งตอบว่า 3 ปี ฝ่ายหญิงบอกว่าไม่ได้ต้องเป็นลูกเขยตลอดชีวิต ฝ่ายชายจะต่อรองลงมา 8 ปี เมื่อหญิงไม่ยอม ก็จำต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะเป็นบุตรเขตตลอดชีวิต ปัญหาถัดมาก็ต่อรองกันอีกว่า คู่ผัวเมียจะอยู่บ้านบิดามารดาฝ่ายไหนกี่ปี อยู่บ้านฝ่ายใดก่อนหรือหลัง ต่อรองกันถึง 3 หน เป็นอันตกลงอยู่บ้านฝ่ายหญิงก่อน 3 ปี แล้วจึงมาอยู่บ้านฝ่ายชาย 3 ปี ปีถัดไปปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ต่างหาก การแต่งงาน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ฝ่ายชายเป็นฝ่ายออกมากกว่าฝ่ายหญิง โดยหาหมูวัว ควาย 1 ตัว หรือถ้าฐานะทั้งสองฝ่ายจากจนก็ใช้เป็ด ไก่ แทน แต่ต้องมีสุรา 1 ไห หมาก 1 มัด นำมามอบแก่บิดามารดาหญิง หญิงสาวชาวบ้านไปช่วยทำอาหาร มีแกงอ่อม ลามเนื้อ แกงฟัก ฯลฯ พอได้ฤกษ์งามยามดีชาวบ้านแห่นำเอาเจ้าบ่าวไปส่ง ผู้เฒ่าฝ่ายเจ้าบ่าวจะพูดกับบิดามารดาของเจ้าสาวว่า “ เอาลูกเป็นพ่ออ้ายจากเฮินมาหอบหื้อ ” บิดาเจ้าสาวกล่าวตอบรับวา “ เออ ดีแล้ว เอาลูกมาหื้อก็ยินดี จะเอาเป็นลูกอ้ายจายเฮิน ” แล้วจูงมือเจ้าบ่าวไปนั่งคู่กับเจ้าสาว โดยเจ้าบ่าวนั่งทางด้านขวาเจ้าสาวนั่งด้านซ้ายท่านผู้เฒ่าเอาเส้นด้ายมาทำ พิธีมัดมือเรียกขวัญ และนำเอาถาดอาหารซึ่งบรรจุไก่ต้ม 1 ตัว สุรา 1 ขวด นอกจากนั้นมีข้าว กล้วยน้ำว้า ให้คู่บ่าวสาวป้อนให้แก่กัน ท่านผู้เฒ่าให้พรแขกให้ของขวัญแก่คู่บ่าวสาว โดยเขาจัดพานเงินไว้ 3 พาน พานหนึ่งนั้นบรรดาเจ้าฟ้า พญา แสน หรือจ่า นำไปแบ่งกัน แขกผู้ร่วมงานทุกคนเมื่อเวลาดื่มสุราจะดื่มติด ๆ กัน 2 แก้ว แก้วหนึ่งเพื่อเจ้าบ่าว อีกแก้วหนึ่งเพื่อเจ้าสาว มีการเป่าปี่เล่มเดียวร้องเพลงลื้อหยอกเย้าเกี้ยวพาราสี และอวยพรคู่บ่าวสาวให้อยู่ด้วยกัน มีบุตรหลานเต็มบ้านเต็มเมือง เจ้าบ่าวเจ้าสาวเมื่อมัดมือเรียกขวัญป้อนข้าวให้แก่แก่กันแล้ว ผู้ใหญ่ก็จูงมือเข้างานแต่งงานเขาเลี้ยงบรรดาชาวบ้านผู้ไปร่วมงานอย่างอิ่ม หนำสำราญ ขนบธรรมเนียมเหล่านี้ ยังใช้กันอยู่ในดินแดนลาวและยูนนานใต้ แต่สำหรับลื้อเชียงคำปัจจุบันบางเหล่าหันมานิยมขนบธรรมเนียมทางภาคกลางแทน และบรรดาบุตรหลานของชาวลื้อเชียงคำได้กลายเป็นชาวเหนือเสียโดยมาก

ถ้าต้องการเดินทางไป แหล่งที่อยู่เดิมของชาวลื้อเชียงคำในดินแดนยูนนานใต้ไปได้ 3 ทาง ทางหนึ่งคือรัฐฉานของพม่าโดยออกจากอำเภอแม่สายไปเมืองพะยาก ผ่านเมืองยองสู่เมืองเชียงรุ่ง แล้วร่องเรือถ่อตามลำน้ำโขงถึงเมืองฮา เดินทางด้วยเท้าไปเมืองหย่วน เมืองพง ฯลฯ อีกทางหนึ่งออกจากอำเภอเชียงแสนโดยเรือยนต์ตามลำน้ำโขงประมาณ 2-3 ชั่วโมง ก็ถึงบ้านห้วยทราย ซึ่งในอดีตเป็นที่ตั้งค่ายทหารของฝรั่งเศสตรงข้ามอำเภอเชียงของของไทย

จากบ้านห้วยทรายเดินทาง ด้วยเท้าผ่านที่ราบและขึ้นเขาสูงเรื่อย ๆ 7 วัน ถึงเมืองสิงห์ ระหว่างทางพักค้างแรมบ้านโป่ง ( หมู่บ้านลื้อแบบห้วยเม็ง มี 30 หลังคาเรือน ) บ้านสอด ( หมู่บ้านข่าม มี 10 หลังคาเรือน ) บ้านท่าฟ้า ( หมู่บ้านลื้อ 120 หลังคาเรือน ) บ้านปู่แว ( หมู่บ้านข่ามุ ) บ้านภูคา ( หมู่บ้านข่ามุ ) ศาลาป่าคา ( กลางยอดเขาไม่มีบ้านคน ) รุ่งขึ้นถึงเมืองสิงห์

เมืองสิงห์อยู่ในเขตลาว ด้านติดกับยูนนานเป็นแหล่งที่อยู่ของชาวลื้อ ซึ่งมีขนบธรรมเนียมต่างกับลื้อห้วยเม็งแต่คล้ายกับลื้อเชียงรุ่งหรือเมือง เลน มี 10 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ที่ราบมีถนนตัดกันเป็นตาราง มีต้นหมากมะพร้าวขึ้นสลอนคล้ายสภาพบ้านหย่วน บ้างมาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย ที่เมืองสิงห์นี้มีทางแยกไปหลายเมือง ถ้าไปเมืองเชียงรุ่งต้องผ่านเมืองหย่วน ( 2 หมู่บ้าน มีพระญาหย่วน ) เมืองนุน ( ตั้งแต่ตีนเขาริมน้ำคาบมี 2 หมู่บ้าน ๆ หนึ่ง 200 หลังคาเรือน ) จากเมืองนุนไปเมืองฮำ (30 หมู่บ้านเป็นชาวลื้อล้วน ๆ ) จากเมืองฮำนังเรือถ่อขึ้นไปตามลำน้ำโขงไปเชียงรุ่งเป็นเวลา 1 วัน แต่ละเมืองและหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนที่ราบเป็นที่อยู่ของชาวลื้อบนเขาข้าง ทาง เป็นที่อยู่ของพวกข่ามุและชาวเขาอื่น ๆ แต่พวกข่ามุตั้งบ้านเรือนอยู่ 10 –20 หลังคาเรือน ตลอดทางต้องขึ้นเขาเลียบตามห้วยลำธารมีที่ราบเล็กน้อย เฉพาะบริเวณที่ชาวลื้อตั้งหมู่บ้านอยู่เดินทางออกจากเมืองสิงห์ไปเชียงรุ่ง ใช้เวลา 6 วัน โดยทางเข้า

เมืองพง เมืองมาง เมืองล้า ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองสิงห์ เมืองพงอยู่ใกล้เคียงเมืองหย่วน เมืองมาง ( มี 7 หมู่บ้าน ) เมืองล้า ฯลฯ แต่ละเมืองเหล่านี้ มีพระญาติหรือเจ้าเมืองปกครองเรียกว่า พระญาพง พระญาหย่วน พระญาล้า ฯลฯ เมืองหย่วนตั้งอยู่เหนือเมืองสิงห์ ใช้เวลาเดินทาง 2 วัน ถัดไปทางทิศตะวันออกเป็นเมืองมาง ใช้เวลาเดินทาง 1 วัน จากเมืองมางไปเมืองพง 2 วัน เมืองล้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพง ใช้เวลาเดินทาง 2 วันเช่นเดียวกัน

การเดินทางไปหมู่บ้านชาว ลื้อ อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย ช่วง พ . ศ .2493 ไปได้ 2 ทาง คือจากอำเภอเมืองเชียงราย ช่วง พ . ศ .2493 ไปได้ 2 ทาง คือจากอำเภอเมืองเชียงราย ผ่านอำเภอเทิงทางหนึ่งกับทางพะเยาทางหนึ่ง ทางจากอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีถนนเกวียนเดินได้ตลอดเป็นระยะทาง 62 กิโลเมตร อีกทางหนึ่งนั่งรถยนต์จากพะเยาไปลงที่บ้านห้วยเข้าก่ำไประยะทาง 43 กิโลเมตร จากห้วยเข้าก่ำไปเชียงคำเป็นทางหลวงจังหวัด บางตอนรถยนต์เดินไม่ได้ต้องใช้เกวียน ระยะทาง 30 กิโลเมตร ในบริเวณเมืองเป็นหมู่บ้านของชาวลื้อ มีตระกูลใหญ่อยู่ 1 ตระกูล คือตระกูลวงศ์ใหญ่ มีญาติพี่น้องมาก มีนิสัยใจคออบอ้อมอารีต่อแขกต่างถิ่น