ชาติพันธุ์ล้านนา - ถิ่น

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ถิ่น

ชาวเขาเผ่าถิ่น ซึ่งแต่เดิมรู้จักกันในชื่อ “ ขมุ ” มีชื่อเรียกหลายชื่อ
เช่น ชาวดอย ข่าไฟ ข่าถิ่น ลวะไพ่ ถิ่น มาลและลวะถิ่น
ส่วนคนไทยพื้นราบในจังหวัดน่านมักจะเรียกชาวเขาเผ่าถิ่นว่า “ ลวะ ”
ชื่อดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดการสับสนว่า
เป็นชาวเขากลุ่มเดียวกับชาวลวะที่อาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัด
เชียงใหม่ จึงจัดอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกัน 

แต่ชาวเขาทั้ง ๒ กลุ่มนี้ ต่างมีภาษาที่เป็นของตนเอง นอกจากนี้ยังมีลักษณะสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การสื่อภาษาของทั้ง ๒ เผ่า ไม่สามารถกระทำกันได้ ดังนั้นชาวเขาเผ่าถิ่นและชาวเขาเผ่าลวะจึงเป็นคนละเผ่ากันและมีความแตกต่าง กัน ในการเขียนครั้งนี้จะเน้นที่ข้อมูลในจังหวัดน่าน

ประวัติความเป็นมา

ชาวเขาเผ่าถิ่นซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบ ภูเขา รอยต่อระหว่างจังหวัดน่านกับแขวงชัยบุรี ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น มีประวัติความเป็นมาของเผ่าที่ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากชาวถิ่นไม่มีภาษาเขียนของตนเอง จึงไม่มีการจดบันทึกประวัติความเป็นมาที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งข้อสงสัยดังกล่าวแยกเป็น ๒ แนวทาง คือชาวเขาเผ่าถิ่นเป็นชนชาติดั้งเดิมซึ่งตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทยก่อนแล้ว และอีกแนวหนึ่งว่าอพยพมาจากประเทศลาว ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ นักวิชาการท่านหนึ่งได้เขียนไว้เมื่อปี พ . ศ . ๒๕๐๗ คาดคะเนว่าชาวถิ่นได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเมื่อ ๔๐ – ๘๐ ปีมาแล้ว อีกท่านหนึ่งได้เขียนไว้เมื่อปี พ . ศ . ๒๕๐๖ ว่าชาวถิ่นกลุ่มแรกได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเมื่อปี พ . ศ . ๒๔๗๑ และยังได้คาดคะเนไว้อีกว่าชาวถิ่นอาจจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก่อนที่คนไทยจะ อพยพจากประเทศจีนมาอยู่ในแหลมอินโดจีนนี้เสียอีก

บางท่านคาดว่าชาวถิ่น ได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยในปี พ . ศ . ๒๔๑๙ ในระยะนั้นอยู่ในช่วงที่พวกข่ากระด้างกระเดื่อง และทางประเทศลาวได้ทำการปราบที่เมืองงอย (Muangngoi) จึงทำให้ชาวถิ่นอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาในภายหลังอีกกลุ่มหนึ่ง จึงอาจจะเป็นไปได้ว่าชาวถิ่นได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้วกลุ่มหนึ่ง และมีอีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพตามมาในภายหลังซึ่งก็ใกล้เคียงกับที่พระวิภาค ภูวดลได้เขียนไว้เมื่อปี พ . ศ . ๒๔๓๒ ว่าในระหว่างการสำรวจจัดทำแผนที่ประเทศไทย ในขณะที่เข้าไปสำรวจยังเมืองเต้งได้พบกับชาวเขาหลายกลุ่ม “… เผ่าที่รู้จักกันดีมีขมุ ขแม (Kame) ปาย (Pai) ละเม็ด (Lamet) บิด (Bit) และฮก (Hok) ซึ่งครั้งหนึ่งพวกเหล่านี้เคยติดต่อแต่เฉพาะกับหลวงพระบาง แต่หลังจากกบฎแล้วกว่า ๒๐ , ๐๐๐ คน ได้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานในเขตเมืองน่าน …” ซึ่งจากงานเขียนดังกล่าว กลุ่มที่ชื่อว่า ปาย (Pai) น่าจะเป็นชาวถิ่นกลุ่มย่อย “ ปรัย ” ในปัจจุบัน ดังนั้นโดย


สรุป
ชนชาวถิ่นจึงน่าจะเป็นกลุ่มชนที่อยู่ดั้งเดิมในบริเวณรอยต่อระหว่างประเทศ ไทยและประเทศลาว ซึ่งแต่ก่อนไม่มีการแบ่งเขตแดนแน่ชัด และมีการอพยพเคลื่อนย้ายไปมาอยู่ในบริเวณนี้