ชาติพันธุ์ล้านนา - ลีซอ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ลีซอ

ลีซอ ซึ่งชาวล้านนารุ่นเก่ามักเรียกว่า แข่ หรือ แข่รีซอ เป็นชนเผ่าชาวเขาที่เรียกตนเองว่า “ลีซู” ( Li-su ) คนไทยเรียกตามชาวจีนยูนนาน (จีนฮ่อ) ว่า ลีซอ นอกจากนี้ยังมีคำเรียกชาวลีซออีกหลายคำ เช่น ลูซู (Lu-tzu) ยอยิน ( Yaw-Yin ) หลอยซู ( Loisu ) และในภาษาจีนกลางเรียกว่า Lisu
ประวัติความเป็นมา

ถ้าพิจารณาจากการกระจายตัวตลอดจนประวัติ ศาสตร์การอพยพย้ายถิ่นของชนชาวลีซอ ทำให้ได้ข้อสรุปว่าถิ่นกำเนิดชาวลีซออยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือ ของมณฑลยูนนานติดต่อกับพื้นที่สูงทิเบต การตั้งถิ่นฐานจะอยู่หนาแน่นระหว่างแม่น้ำหนู้ (สาละวิน) และแม่น้ำหลานฉาง (แม่น้ำโขง) จากหลักฐานของจีนกล่าวถึงชาวลีซอตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๓ ได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณดังกล่าวและบางพื้นที่ของมณฑลซีชวน (เสฉวน) และไกวเจา ในแง่การกระจายตัวในปัจจุบัน พบว่าชาวลีซอตั้งถิ่นฐานในแถบภูเขาของมณฑลยูนานของประเทศจีน พื้นที่ด้านตะวันออกของแคว้นเบงกอล ประเทศอินเดีย เหนือสุดของสหภาพพม่า และภาคเหนือของประเทศไทย

การอพยพเข้าสู่ประเทศไทยของชาวลีซอ จางถิ่นกำเนิดเดิมลงมาทิศใต้ มีสาเหตุมาจากการถูกกดดันด้านการปกครองถึงได้เกิดการสู้รบกัน ชาวลีซอบางส่วนจึงอพยพไปทางภาคเหนือของพม่า เหตุการณ์นี้เกิดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถึงต้นศตวรรษที่ ๒๐ ในระยะต่อมามีปัญหาทางการเมืองในสหภาพพม่า ประกอบกับขาดแคลนที่ทำกินชาวลีซอจึงได้อพยพจากตอนใต้ของเมืองเชียงตุ งเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่ดอยผาลั้ง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๒–๒๔๖๔ ต่อมากลุ่มนี้ได้อพยพตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านดอยช้าง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ภายหลังจึงมีชาวลีซออพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย บริเวณหัวน้ำแม่คำ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และบริเวณใกล้ดอยผ้าห่มปก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ การตั้งถิ่นฐานในระยะแรก ชาวลีซอจะตั้งบ้านเรือนอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ ๑,๐๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกฝิ่น

การกระจายตัวของหมู่บ้านลีซอได้เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ กลุ่มชาวลีซอหรือแข่รีซอ ได้อพยพลงไปทางทิศใต้สู่บริเวณพื้นที่สูงในเขตอำเภอเชียงดาว แม่แตง และพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ กลางปี พ.ศ. ๒๔๙๓ จนถึงกลางปี พ.ศ. ๒๕๐๓ มีจำนวนบ้านลีซอ ๑๒ หมู่บ้าน ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณจังหวัดตาก ปัจจุบันยังคงเหลือเพียง ๕ หมู่บ้าน มีบางหมู่บ้านที่ได้อพยพกลับขึ้นไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายและแม่ฮ่องสอน

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ พบว่ามีหมู่บ้านชาวลีซอตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยประมาณ ๖๐ หมู่บ้าน มีประชากร ๑๑,๐๐๐ คน ๑,๖๐๐ หลังคาเรือน เฉลี่ยจำนวนคน ๖.๘ คนต่อหลังคาเรือน ในระยะปี พ.ศ. ๒๕๒๑–๒๕๒๓ การกระจายตัวของประชากรชาวลีซอได้ถูกต้อง โดยทางรัฐบาลได้พยายามมีมาตรการในการควบคุมการอพยพ ดังนั้นการกระจายตัวของชาวลีซอจึงอยู่ในพื้นที่ ๑๐ จังหวัด แต่การอพยพยังมีอยู่โดยอพยพเป็นกลุ่มเล็กๆ จากหมู่บ้านหนึ่งโดยอาศัยความสัมพันธ์ทางเครือญาติ

การตั้งถิ่นฐานของชุมชน ชาวลีซอในปัจจุบัน จะตั้งบ้านเรือนบริเวณไหลเขา หุบเขาและที่ราบเชิงเขาระดับความสูง ๑๕๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่จังหวัดกำแพงเพชรจนถึงความสูง ๑,๔๐๐ เมตร ที่จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านส่วนใหญ่จะอยู่ในระหว่างระดับความสูง ๖๐๐-๑,๒๐๐ เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวและพืชเมืองหนาว จากสถิติประชากรชาวเขาที่รวบรวมโดยสถาบันวิจัยชาวเขา ปี พ.ศ.๒๕๓๕ พบว่ามีชาวลีซอในประเทศไทยทั้งสิ้น ๑๒๔ หมู่บ้าน ๔,๑๒๔ หลังคาเรือน และมีประชากรรวม ๒๒,๗๔๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๔ ของประชากรชาวเขาในประเทศไทย(๕๗๓,๓๖๙) เป็นลำดับที่ ๗ ของจำนวนประชากรชาวไทยเรียงจากมากไปหาน้อย คือ กระเหรียง แม้ว มูเซอ เย้า อีก้อ ถิ่น ลีซอ กระจายตัวในพื้นที่ ๑๐ จังหวัด

เมื่อเปรียบเทียบปี ประชากรชาวลีซอที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศจีนประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน สหภาพพม่า อินเดีย ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คน มีผู้รู้ได้คาดคะเนว่าประชากรชาวลีซอทั้งหมดมีประมาณ ๑ ล้านคน (มนัส มณีประเสริฐ ลีซอ พ.ศ. ๒๕๓๙)
การแบ่งกลุ่มย่อย

สำหรับชาวลีซอในประเทศ ไทยมีเพียงกลุ่มเดียว ไม่มีกลุ่มย่อย ภาษาลีซอเป็นภาษากลุ่มเดียวกับภาษามูเซอและอีก้อ ซึ่งแยกสายมาจากกลุ่มภาษาโลโล ( Loloish ) สัมพันธ์กับกลุ่มภาษาทิเบต-พม่า ( Tibeto-Burman ) และโยงกับตระกูลภาษาใหญ่จีน-ทิเบต ( Sino-Tibetan) (มนัส มณีประเสริฐ ลีซอ พ.ศ. ๒๕๓๙)

การแต่งกายตามประเพณี

ผู้ชายชาวลีซอทุกคนมี ร่างกายบึกบึน เท้ามือใหญ่หนาเพราะเดินและทำงานมาก หน้าตากว้างกลม แฝงด้วยความซื่อ บางคนห้อยเครื่องรางไว้ที่คอ ไพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวบ้าง สีดำบ้าง บางคนสวมหมวกกลมๆ มียอดจุดสีดำอย่างเดียวกันกับหมวกชาวจีนยูนนาน ผู้ชายชาวลีซอปัจจุบันไว้ผมสั้นซึ่งตามจารีตเดิมของเขา จะไว้จุกตรงขวัญย่อมเล็ก และโกนผมโดยรอบอย่างเดียวกันกับชาวแม้วหรือชาวอีก้อ บางคนโพกผ้าสีขาว-ดำ เวลางานประจำปี ผู้ชายชาวลีซอในเขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ นิยมโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาว-ดำปักเป็นลายสีขาว ซึ่งมองดูไกลๆ คล้ายๆ ลายของงูเหลือมที่ขดตัวเป็นวงกลม

เครื่องแต่งกายของผู้ชาย นอกจากหมวกและผ้าโพกศีรษะมีเสื้อกางเกงและสนับแข้ง เสื้อสีดำและสีขาว กระดุมโลหะเงินติดไว้ตอนบน อกผ่าไขว้มาทางซ้ายเรียบมาใต้รักแร้จดเอวข้าเสื้อยาวลงไปปิดท้อง มีกระเป๋าข้าง เสื้อแขนยาวหุ้มข้อมือแต่กว้างกางเกงสีดำหรือขาว บางทีน้ำเงินยาวลงไปใต้หัวเข่าเล็กน้อย ที่น่องสวมสนับแข้งด้วยผ้าสีดำขอบขลิบด้วยผ้าสีขาว

เสื้อของเด็กหนุ่มประดับ ด้วยลูกกระดุมโลหะเงิน ทางด้านหน้าอกบนเป็นแถวสี่เหลี่ยมแผ่นใหญ่ และติดที่ไหล่ทั้งสองข้างเป็นรูปสามเหลี่ยม ๓ เม็ด ด้านหลังติดกระดุมโลหะเงินเป็นย่อมๆ ระยะห่างกันประมาณ ๓ นิ้ว กางเกงสีดำหรือขาว บางคนใช้สีน้ำเงินสีเขียว เอวคาดเข็มขัดด้วยผ้าถักเป็นเส้นกลมๆ สีแดง ๒ สาย ห้อยปลายเป็นพู่เส้นเล็กๆ ด้วยด้ายสีดำติดดอกไม้ ซึ่งทำด้วยโลหะเงินสวยงาม พู่นี้ปิดใต้ท้องหน้าลงมาถึงระหว่างหัวเข่าหน้าทั้งสอง ด้านหลังใส่พู่ใต้เอวกลางเหนือตะโพกลงมาแลดูแล้วคล้ายๆ หางม้า สนับแข้งใช้เชือกผูกตอนบน ส่วนตอนล่างมักติดแถบด้วยผ้าสีขาว เด็กหนุ่มชอบโพกศีรษะด้วยผ้าสีฟ้า สีชมพู สีขาว

ผู้หญิงชาวลีซอ หวีผมแสกกลางเอามวยผมไว้ข้างหลังเหนือท้ายทอย เส้นผมแห้งสีน้ำตาลไหม้ ไม่ใส่ต่างหู นิยมเคี้ยวหมากปากเปรอะ ทุกคนห้อยเครื่องประดับเล็กๆ ที่คอเสื้อตามปกติใช้สีดำกับสีน้ำเงิน สีฟ้า สีเขียว เป็นบั้งๆ ผ่าอกข้างไขว้ไปทางรักแร้ซ้าย ที่คอเสื้อทำเป็นผ้าขอบสีขาวสลับดำเล็กๆ ๒-๓ ชั้น ที่บ่าประดับด้วยผ้าสีดำ ใต้ลงมาสีน้ำเงินหรือเขียวทั้งผืนยาวลงมาปิดถึงหัวเข่าด้านหน้า ส่วนด้านหลังยาวกว่าด้านหน้า แต่ผ่าเอวตอนหน้าทั้งสองข้างจนถึงใต้เข่า แขนเสื้อยาวและกว้างถึงข้อมือ ติดผ้าสลับสีกันเป็นชั้นๆ ระหว่างสีน้ำเงิน ดำ เขียว และขาว สวมกางเกงกว้างก้นลึกเกือบเป็นถุง ยาวจากเอวลงไปแค่ใต้เข่ามีผ้าคาดเอวสีดำ เครื่องแต่งตัวของผู้หญิงออกเป็น ๒ อย่าง คือเครื่องแต่งตัวสำหรับแต่งเวลาปกติใช้อยู่บ้านธรรมดาอย่างหนึ่ง กับเครื่องแต่งตัวใช้ในการประกอบรื่นเริงประจำปีใหม่ หรืองานเลี้ยงผีหลวงอีกแบบหนึ่ง

เครื่องแต่งกายผู้หญิง สำหรับงานพิธีรื่นเริง เช่น งานวันปีใหม่ งานเลี้ยงผีหลวงหรือผีหมู่บ้าน มีส่วนแตกต่างกับการแต่งกายเวลาปกติหลายอย่าง ใช้เสื้อและกางเกงชุดเดียวกันอย่างธรรมดา คือเสื้อที่มีสลับสีดำ ขาว เขียว น้ำเงิน เป็น บั้งๆ ในเวลาปกติ มีเครื่องแต่งกายเพิ่มเติม ซึ่งวิจิตรพิสดารยิ่งกว่านั้น คือการโพกศีรษะให้มีขนาดใหญ่ด้วยผ้าสีดำ ความกว้างของผ้าดำใช้โพกศีรษะเท่ากับผ้าธรรมดาทั่วไป แต่ความยาว ๘–๑๒ เมตร ใช้ผ้าสีดำล้วน การโพกทำกันอย่างประณีตบรรจงเพื่อความสวยงาม เขาใช้เส้นด้ายสีขาวถักรวมกันโตขนาดเท่านิ้วมือ ๖ เส้นใหญ่ ติดปอกโลหะเงินระดับเดียวกันทุกสาย ผูกไขว้เป็นรูปเป็นรูปวงเดือนบนผ้าโพกศีรษะอีกชั้นหนึ่งบนเสื้อที่คอสวม เครื่องประดับด้วยโลหะเงินแผ่นกลมๆ บ้าง แผ่นสี่เหลี่ยมบ้าง และมีกระดุมเงินกลมๆ ร้อยเป็นพวงเป็นแถวตารางติดเต็มหน้าอก บางคนประดับเหรียญตราหรือเงินแบบโบราณห้อยพะรุงพะรัง สิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ในการแต่งกายของผู้หญิงชาวลีซอ คือห่วงคอ หรือกำไลคอชนิดกลมโค้งเป็นรูปวงเดือนหรือรูปแบะแบนอย่างพระจันทร์ครึ่ง เสี้ยว บางคนสวมห่วงคอหรือกำไลคอเงินถึง ๕ ห่วง บางคนสวมห่วงเดียวตามแต่ฐานะของเขา คนมั่งมีสวมมากหน่อย แต่อย่างมากไม่เกิน ๖ ห่วง

ผู้หญิงชาวลีซอสวมกางเกง ขากว้าง ก้นลึก ยาวแค่ใต้หัวเข่า เครื่องแต่งกายเวลาปกติ โดยปล่อยให้เสื้อยาวลงมาปิดกางเกง ที่ผ้าคาดเอวสีดำนั้น บางทีใช้ผ้าเย็บติดกระดุมเปลือกหอยเต็มพืดไปหมดคาดไว้อีกชั้นหนึ่ง บางคนทำผ้าสีเหลี่ยมสีดำคล้ายเอี๊ยมหรือผ้ากันเปื้อนของแม่ครัวยาวถึงข้อ เท้า ติดกระดุมเปลือกหอยสีขาวไว้ชายผ้าและที่ใต้เข่าลงไป มีสิ่งแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือเขาเอาเส้นด้ายสีดำถักเป็นเส้นเล็กๆ หลายสิบเส้นทำเป็นพู่ห้อยลงมาปิดข้างหลังคล้ายหางม้าหรือหางหมาป่า (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ๓๐ ชาติในเชียงราย พ.ศ. ๒๔๙๓)

ปัจจุบันยังพบว่าการแต่งกายตามประเพณีของชาวลีซอชอบใช้เสื้อผ้าสีฉูดฉาด ผู้ชายสวมกางเกงสามส่วนขากว้าง เป้ายานคลุมเข่า นิยมใช้สีฟ้า น้ำเงิน ส่วนผู้สูงอายุนิยมสีดำ เสื้อผู้ชายจะติดกระดุม เงินกับพู่ไหมพรมที่กระดุมเสื้อด้านหน้า ปกติผู้ชายลีซอจะสวมเสื้อยืดหรือเสื้อเชิ้ตที่ซื้อจากตลาด ผู้หญิงลีซอทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะสวมกางเกงสีดำยาวถึงเข่า สวมเสื้อคลุมแขนยาวทับ มีสีฟ้า ม่วงและเขียว คอป้าย รอบคอเป็นผ้าสีดำเย็บต่อด้วยแถบผ้าสีต่างๆ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีสีเขียว แดง ดำ เป็นต้น แขนเสื้อนิยมใช้ผ้าสีแดง รอบเอวทำด้วยผ้าสีดำ บริเวณน่องจะสวมผ้าพันแข้ง ผู้หญิงวีซอนิยมเครื่องประดับ ประด้วยตุ้มหูเงิน กำไลข้อมือ แหวน ตุ้มหู

ในงานพิธีปีใหม่ หญิงสาวจะพันผมด้วยผ้าโพกหัวสีดำ ประกอบด้วย ดอกไม้กระดาษ หรือดอกไม้ผ้าอย่างสวยงาม

เครื่องใช้ที่ประกอบการ แต่งกายที่ชาวลีซอนิยมใช้ในยามปกติ คือย่าม ทำด้วยผ้าทอพื้นสีขาวอย่างดี ใช้ได้ทนทานมีลายสีฉูดฉาด เช่น สีเหลือง แดง เขียว ฟ้า ทางแนวดิ่งขอบย่ามเย็บด้วยผ้าเป็นริ้วสีต่างๆ ย่ามชามลีซอนี้ทำยากและใช้เวลามาก (มนัส มณีประเสริฐ ลีซอ พ.ศ. ๒๕๓๙)
การตั้งบ้านเรือน

ชาวลีซอตั้งบ้านเรือนเรียงรายสูงๆ ต่ำๆ ตามพื้นดินที่เทลาดจากยอดเขาลงสู่ห้วยลำธาร ใกล้เคียงกับรั้วหมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ห่างประมาณ ๑ เส้น รั้วทำอย่างหยาบๆ คือเอาไม้ไผ่ปักเป็นเสาขนานกันทั้งด้านนอกและด้านใน เอาลำไม้ไผ่วางตามทางยาวซ้อนกันสูงขึ้นไปราว ๒ เมตร ไม่มีประตูสำหรับให้สัตว์เดินอย่างประตูหมู่บ้านของชาวอีก้อ เพราะชาวลีซออยู่ห่างจากเส้นทางเดินที่แยกไปยังหมู่บ้านอื่น และไม่เลี้ยงวัว ม้า ลา อย่างหมู่บ้านชาวไทใหญ่ สัตว์ที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด คือไก่กับหมู ส่วนสุนัขมีบ้านละตัวสองตัว

ทำเลที่ตั้งหมู่บ้านของชาวลีซอ มักอยู่ใกล้เคียงกับน้ำตก เพื่อจะได้ใช้ลำไม้ไผ่หรือไม้ซางทะลุกลางปล้องตลอดต่อกันอย่างท่อน้ำประปา จากภูเขา นำน้ำมาใช้ในหมู่บ้านได้ทั่วถึงกันไม่ต้องลำบากไปตักเอาน้ำในห้วยลำธาร เพราะลำไม้ซางหรือลำไม้ไผ่ที่ใช้แทนท่อน้ำประปานี้ ทำติดต่อกันทั่วทุกหลังคาเรือน (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ๓๐ ชาติในเชียงราย พ.ศ.๒๔๙๓)

ในสมัยที่มีการปลูกฝิ่น กันอย่างแพร่หลาย ชาวลีซอนิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ ๑,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป เมื่อทางรัฐบาลได้ห้ามไม่ให้มีการปลูกฝิ่นและได้ส่งเสริมให้ปลูกพืชเงินสด ที่เหมาะสมกับภูมิอากาศ จึงมีการอพยพลงไปตั้งถิ่นฐานในระดับความสูงต่ำลงมา แต่ความเชื่อในการตั้งทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านและตัวบ้านยังคงอาศัยหลักความ เชื่อเดิม (มนัส มณีประเสริฐ ลีซอ พ.ศ. ๒๕๓๙) ที่ตั้งหมู่บ้าน หมู่บ้านลีซอไม่มีการวางแผงผังที่แน่นอนตายตัว ปลูกบ้านไม่เป็นระเบียบ กลุ่มเครือญาติและเพื่อนบ้านจะสร้างบ้านอยู่ใกล้กัน ตัวบ้านจะปลูกต่ำกว่าบริเวณที่ประกอบพิธีตามศาสนา คือศาลผีประจำหมู่บ้าน การเลือกที่ตั้งบ้านมีหลักสำคัญ ได้แก่ ใกล้แหล่งน้ำ ห่างจากคนเผ่าอื่น ใกล้ตลาดและเส้นทางคมนาคม ปัจจุบันพื้นที่ภูเขามีประชากรเพิ่มขึ้น มีหลายหมู่บ้านที่มีผู้คนหลายเผ่าอาศัยอยู่ปะปนกัน เช่นในพื้นที่จังหวัดเชียงราย บางหมู่บ้านมีชนเผ่าลีซอ มูเซอ อีก้อ อาศัยอยู่ด้วยกัน (มนัส มณีประเสริฐ ลีซอ พ.ศ. ๒๕๓๙) ลักษณะภายในหมู่บ้าน หมู่บ้านลีซอแทบทุกแห่งประตูบ้านจะไม่ตรงกัน เพราะหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษซึ่งอยู่ภายในตัวบ้านอยู่ตรงกับประตู หากอยู่ตรงกับบ้านอื่นจะทำให้ผู้คนในบ้านอยู่ไม่สบาย อีกประการหนึ่ง ประตูหน้าจะต้องไม่กับศาลผีประจำหมู่บ้านด้วย ตามเส้นทางเข้าหมู่บ้าน มักจะมีศาลพักริมทางปลูกสร้างให้ผู้คนได้พัก เป็นพิธีกรรมเรียกขวัญในการรักษาความเจ็บป่วย บางครั้งจะสร้างสะพานข้ามลำห้วย จุดมุ้งหมายก็เหมือนกับการสร้างศาลาเช่นกัน

ลักษณะบ้าน บ้านชาวลีซอมุงด้วยหญ้าคา มาชายคาต่ำหุ้มลงมาแทบจะจดพื้นดิน ฝาไม้ไผ่สับแผ่นสานไขว้กันและขนานกันด้วยไม้ไผ่ลำเล็กๆ หันข้างไปสู่ลานดินที่ใช้เป็นถนนภายในบ้าน แบ่งออกเป็นด้านยาว ๓ ห้อง ห้องหนึ่งยาว ๖ ศอก ด้านกว้าง ๒ ห้อง ขนาดยาวเท่ากัน เสากลางสูงประมาณ ๕ เมตร ใช้ไม่ไผ่ลำโตเป็นขื่อ พื้นดินเกลี่ยให้เรียบเสมอกันอย่างพื้นถนน ภายในแบ่งเป็นห้องนอนอยู่ ติดกันโดยใช้ฝากั้น ตรงกลางมีแท่นบูชาอยู่ติดฝาด้านตรงกันข้ามกับประตูเจ้าบ้าน ห้องขวามือตรงกลางเป็นพื้นดินมีเตาไฟที่สุมไว้ตลอดคืนสำหรับใช้ทำอาหาร ถัดเข้าไปอีกร้านไม้ไผ่สูง ๑ ศอก ทำเป็นที่นั่งและนอนเพื่อต้อนรับแขก มีความกว้างยาวประมาณ ๒ เมตรสี่เหลี่ยมและมีฝาผนังกั้น ๓ ด้าน ไม่มีประตู มุมห้องทางขวามือมีร้านไม้ไผ่สำหรับชาวบ้านมานั่งสนทนากันอยู่ตรงหน้าเตาไฟ มีความความสูงขนาดเดียวกัน บริเวณนอกนั้นเป็นพื้นดินทั้งหมดเหนือเตาไฟขึ้นไปเบื้องบน มีหิ้ง ๒ ชั้น สำหรับเก็บพันธุ์ผัก พันธุ์ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฟัก พริก ใบชา เกลือ แป้ง สุรา เนื้อแห้งและหน้าไม้ ฯลฯ ข้างประตูบ้านมีกระบอกไม้สำหรับใส่น้ำไว้ทำอาหารและรับประทานวางผิงข้างฝา ผนัง ๓-๔ กระบอกชาวลีซอหรือชาวเย้าไม่นิยมการดื่มน้ำดิบๆ เขาต้มให้สุกเสียก่อนจึงจะรับประทาน โดยตั้งกาน้ำร้อนเอาไว้ข้างเตาไฟใส่ชาและเกลือลงไปในกานั้นเพื่อให้น้ำต้มมี รสชวนดื่ม

ฝาผนังห้องกลางซึ่งอยู่ ตรงกับประตูเข้าบ้าน มีห้องกั้นไว้เป็นพิเศษต่างหาก ซึ่งมองเห็นเป็นจุดแรกขณะย่างเท้าเข้าไปในบ้านขอบชาวลีซอทุกหลัง ฝาทั้งสามด้านที่อยู่ในช่องหนึ่งตรงกับประตูบ้านมีไม้ทำเป็นรูป ๒ ชั้น รูปร่างคล้ายตู้ขายสินค้าธรรมดา แต่ไม่มีฝาตู้หรือกระจก มีเสาเพียง ๔ เสากับไม้กระดานวางเป็นชั้น ๆ ตั้งอยู่ติดฝาสูง ๒ เมตร บนชั้นมีถ้วยสุราลายมังกรสีน้ำเงินวางอยู่ ๖ ใบ ที่ริมขอบชั้นสูงสุดนั้นติดกระดาษเงินกระดาษทอง ๒ แผ่น ปล่อยให้ห้อยลงมาชั้นนี้คือแท่นบูชาสำหรับดวงวิญญาณของผีบ้านหรือบรรพบุรุษ ของเขาสิงสถิตอยู่ ชาวลีซอผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวมักไปพนมมือถือไม้ธูปขึ้นเหนือศีรษะ และกล่าวพึมพำถึงความปรารถนาต่อพระผู้เป็นเจ้าที่เขานับถือเสมอ (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ๓๐ ชาติในเชียงราย พ.ศ.๒๔๙๓)

ปัจจุบันพบว่าบ้านของ ชาวลีซอนิยมสร้างมี ๒ แบบคือแบบปลูกคร่อมติดพื้นดินกับแบบปลูกยกพื้น ทั้งนี้แล้วแต่ความนิยมของแต่ละบุคคล แต่ส่วนใหญ่เท่าที่พบแบบบ้านปลูกคร่อมดินจะนิยมปลูกบริเวณพื้นที่ภูเขาสูง เพราะให้ความอบอุ่นกับผู้อยู่อาศัย แบบบ้านยกพื้นจะนิยมปลูกบนพื้นที่ที่มีระดับต่ำลงมา แต่ทั้งนี้จะยึดเห็นหลักตายตัวไม่ได้ เพราะบางหมู่บ้านอาจจะพบแบบบ้านทั้งสองแบบปะปนกัน วัสดุที่ใช้จะหาได้ในท้องถิ่น เช่น เสาบ้านใช้เสาไม้เนื้อแข็งหรือไม้เนื้ออ่อน หลังคาสังกะสี ฝาบ้านใช้ไม้ไผ่สร้างเป็นแผ่นหรือสานขัด บางแห่งอาจใช้ไม้กระดานหรือใช้ดินเหนียวผสมฝาง ประตูบ้านใช้ไม้ไผ่สับเป็นแผ่นปูพื้น ถ้าเจ้าของบ้านมีฐานะดีพื้นบ้านจะปูด้วยไม้กระดาน นอกจากนี้ชาวลีซอที่มีฐานะดีอาจจะปลูกบ้านแบบชาวพื้นราบทั้งแบบชั้นเดียวและ สองชั้น จะพบมากในหมู่บ้านลีซอที่ตั้งใกล้กับชาวพื้นราบ

ชาวลีซอ เป็นชาวเขาที่รักความสงบ รักพวกพ้อง นับถือจารีตประเพณีดั้งเดิม ตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันด้วยความปกติสุขไม่เบียดเบียนลักขโมยหรือทำร้ายฆ่า ฟันซึ่งกันและกัน ด้วยความเคารพยำเกรงต่อผู้มีอาวุโสกว่า ถือเสมือนเป็นบิดามารดาบังเกิดเกล้า เชื่อฟังและอยู่ในโอวาทของหัวหน้า เมื่อเกิดการทะเลาะวิวาทก็พากันไปหาหัวหน้า ๆ จะต้องทำหน้าที่เป็นตุลาการคอยไกล่เกลี่ยและตัดสินความ โดยมิต้องให้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นโรงขึ้นศาล

ผู้หญิงชาวลีซอแทบทุกคน มีบุตรมาก บางคนมีบุตรถึง ๑๒ คน แต่บุตรเหล่านี้มีชีวิตรอดอยู่ได้เพียง ๔ - ๕ คนเท่านั้นการเลี้ยงบุตรของเขาทำกันอย่างง่าย ๆ เมื่อเด็กร้องเนื่องจากเหตุใดก็ตาม เขาจะเอานมให้บุตรกิน เวลาเด็กยังอ่อนอยู่ก็นำเด็กไปไร่ด้วย โดยเอาสะพายไว้ข้างหลัง เด็กโตมีอายุ ๒ ขวบขึ้นไปจึงหย่านม ปล่อยอยู่บ้านกับพวกเด็ก ๆ เพื่อนบ้านข้างเคียงตามลำพัง เล่นกันไปตามประสาของเด็กด้วยการถือหน้าไม้ยิงตอไม้หรือดินบ้าง เล่นกาจับหลักหรือเศษไม้บนลานดิน โดยมีชายชราสูงอายุในบ้านนอนสูบฝิ่นอย่างสบาย คอยโผล่ศีรษะมาดุบ้างเป็นครั้งคราว

ผู้หญิงเป็นคนขยันขันแข็งในการทำงานและอดทนมากกว่าผู้ชาย เพราะทำงานสารพัดอย่าง

ต้องตื่นแต่เช้ามืดนึ่ง ข้าวทำอาหาร เอาข้าวโพดที่แช่ไว้ในกระบอกให้หมู เอาข้าวเปลือกให้ไก่ หลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้ว ต้องเดินทางสะพายตะกร้าหวายถือมีดพร้า จอบ ขวานไปไร่ ถ้าเป็นไร่ใหม่ต้องตัดฟันโค่นต้นไม้ใหญ่ ทำไร่ ถางป่า ถางหญ้าและปลูกพืช กรีดยางฝิ่น เก็บยางฝิ่นกลับมาตอนเย็น ทำอาหาร ตำข้าว เอาข้าวให้หมูให้ไก่ พร้อมด้วยกันนั้นก็เลี้ยงดูลูกไปด้วย ถ้ามีเวลาว่างนั่งทอผ้าและปักผ้าด้วยมือของตนเอง ส่วนผู้ชายมีหน้าที่ทำไร่ ต้มสุราต้อนรับแขกและนอนสูบฝิ่น บางทีออกไปล่าสัตว์ตามป่า

การตั้งชื่อชาวลีซอ เช่น ถ้าเป็นผู้หญิง ลงท้ายว่า “ ม่า ” ขึ้นต้นว่า “ อา ” ใช้นำหน้าได้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็กและผู้ใหญ่ ชื้อของผู้หญิงชาวลีซอ เช่น อารุม่า อาเรม่า อาซือม่า อามิม่า อาบ่าม่า อาจุ่ยม่า ฯลฯ สำหรับชื่อของผู้ชาย คำลงท้ายไม่ตรงกัน เช่น อาลอยแป๋ อาไฉ่โป๊ะ อาซือผ่า อาเป๋เจ อาซะพะ อาเรพะ อาซ่าโรพะ ฯลฯ

ชาวลีซอโดยเฉพาะผู้ชายทุกคนรู้ภาษาพูดจีนฮ่อหรือจีนกลาง ภาษามูเซอ ภาษาไทใหญ่ กับ

ภาษาลีซอของเขาบางคนรู้ ภาษาพม่าเพราะเคยอาศัยอยู่ในเขตพม่า รัฐฉานหรือยูนนานมาก่อน ปัจจุบันยังมีชาวลีซอที่ไม่ยอมอพยพเข้ามาสู่เขตไทย อาศัยอยู่ในดินแดนเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างคำพูดของชาวลีซอ เช่น คำว่า เมียน - คน อึมย่า - น้ำ กาซา - ข้าวโพด ย่า - ข้าว อะน่า - สุนัข ลุกกือ - ถ้วยน้ำชา มูขู่ - ยาสูบ อะแว่ - หมู จาข้าจ่าข้า - สบายดี หรือ ราจึ - พริก อะยาจึ - แมว อาระยิล่า - ไปที่ไหนมาหรือ มาระจา - อยู่ที่ไหน อะโต๊บ - เตาไฟ ยูเพอะ - สุรา นัวอะซีเย่ - ทำงานอะไร อีมิวน่าเรบะ - ชื่ออะไร ฮะเมียคว๊ะเย่ - ทำสวนกี่ไร่ ยาอะว่อ - รับประทานอาหารแล้วหรือยัง ซ่ำมึจ่อ - มีภรรยาแล้วหรือยัง ฯลฯ

ผู้หญิงชาวลีซอพูดภาษา อื่นไม่ได้ ทั้งนี้เพราะจารีตประเพณีห้ามมิให้หญิงทำการติดต่อสนทนากับชนชาติอื่นยกเว้น แต่ชนชาติเดียวกันกับตน จึงขาดการคบค้าสมาคมกับชาวเขาหรือชาติอื่นที่ไปติดต่อหรือเยี่ยมเยียน โดยมากหน้าที่การรับแขกเป็นของผู้ชาย

ดนตรีและการเต้นรำ

ชีวิตความเป็นอยู่ของ ชาวลีซอในแต่ละวันเต็มไปด้วยการงาน มีเวลาว่างเพียงเวลาค่ำ หลังจากรับประทานอาหารแล้วใช้เวลานั่งสนทนากันร้านไม้ไผ่ที่หน้ากองไฟ พวกเด็กๆ ฝึกหัดเป่าแคน ดีดเครื่องดนตรีซึบึ เพื่อปลุกกล่อมชีวิตอันเงียบเหงาในเวลากลางคืนให้สดชื่นขึ้น

เครื่องดนตรีชนิดหนึ่งมี รูปร่างคล้ายแมนโดลินหรือซึง ๔ สายของชาวเหนือ ซึ่งมีส่วนต่างกับแมนโดลินโดยมีสายเพียง ๓ สาย คันยาวกว่า มีลูกบิด ๓ อัน และมีสายสะพายสำหรับคล้องคอ ชาวลีซอเรียก “ ซึบึ ” คำว่า “ ซึ ” แปลว่า “ สาม ” ส่วนคำว่า “ บึ ” แปลว่า “ สาย “ หรือ “ สามสาย ” เครื่องดนตรีซึบึ ตัวกระโหลกเล็กกลมแบนทำด้วยไม้แกะสลักเป็นดอกลวดลายงดงามทางด้านหลัง ส่วนด้านที่วางสายทองเหลืองนั้นเอาหนังตะกวดหุ้ม ( ตัวตะกวดมีชุกชุมในป่า ) ชาวลีซอเรียกว่า “ โกแก ” เครื่องดนตรีซึบึนี้เวลาดีดร้องเพลงคลอเบาๆ บางทีดีดพร้อมกับออกไปเต้นรำตามจังหวะเพลงด้วย เต้นรำกันบนพื้นดินในห้องกลางเป็นคู่ๆ บ้าง เรียงหนึ่งเป็นรูปวงกลมบ้างสำหรับแคน เป่าคลอให้เข้ากับซึบึในเวลาเดียวกันก็ได้ แต่ต้องใช้คนถึง ๒ คน โดยมากนิยมเป่าเฉพาะแคนอย่างเดียว คนเป่าแคนไม่ได้นั่งอยู่นอกวงเต้นรำ แต่ต้องไปเต้นรำนำหน้าด้วย

การเต้นรำเป็นสิ่งจำเป็น อย่างหนึ่งที่ชาวลีซอทุกคนต้องเรียนรู้ เพราะเวลามีงานรื่นเริงประจำปี ถ้าผู้ใดไม่เต้นรำจะถูกฉุดมือไปเต้นรำจนได้ เมื่อเสียงแคนดังขึ้นครั้งใดเป็นอันทายล่วงหน้าได้ว่าบ้านนั้นเต้นรำกันอยู่ ถ้าเข้าไปดูจะเห็นชายผู้สูงอายุเจ้าของบ้านเป็นคนเป่าแคนนำหน้า บรรดาเด็กหนุ่มและหญิงสาวสลับกันไปเต้นรำข้างกองไฟเป็นรูปวงกลม ถ้าคนข้างหน้ายกเท้าอย่างไร คนข้างหลังทุกคนต้องทำตามอย่างพร้อมเพียงกันให้เข้ากับจังหวะเสียงแคน หรือเครื่องดนตรีซึบึ การเต้นรำของผู้ชายชาวลีซอหนักไปในทางโยกตัวส่ายศีรษะ เอาเท้าก้าวตบบนพื้นดินแรงๆ ให้ไดยินเสียงดังสนั่นคล้ายกระโดดไปกระโดดมา ก้าวกระทืบพื้นดินไปทางซ้าย เอียงตัวไปทางด้านนั้นแล้วก้าวกระทืบไปทางขวา โยกตัวตามไปด้วยกระโดดถอยหลังให้เข้าจังหวะเท้า และเอนตัวอ่อนไหวไปตามเสียงดนตรี ถ้าเต้นในงานรื่นเริงผู้ชายจะจับมือเต้นกันอยู่รอบนอก ส่วนผู้หญิงอยู่วงในจับมือกันเป็นวง แต่ไม่ได้เต้นโยกตัวกระโดดไปมาอย่างชาย เขาจะค่อยๆ ก้าวไปข้างสืบเท้าไปชิดเท้า ก้าวไปในทำนองนี้แล้วแต่เพลง ทั้งนี้ทุกคนก้าวพร้อมกันดูสวยงามหน้าดูและมีศิลป์ดีไม่น้อย บทเพลงที่ใช้เต้นรำมีกว่า ๑๐ บท การเต้นรำวางเท้าไม่เหมือนกัน บางเพลงทำนองเนิบนาบ การก้าวเท้าเต้นรำจึงช้าไปด้วย บางเพลงจังหวะเร็ว บางเพลงปานกลาง การเต้นรำก็คล้อยตามเพลง บางเพลงคู่เต้นหลอกล่อคนข้างหน้า

การรับแขก

เมื่อมีแขกมารับที่บ้าน เจ้าของบ้านจะจัดแจงเก็บสิ่งของที่วางเกะกะบนแผง หรือร้านไม้ไผ่สำหรับรับแขกออกแล้วนำเอาผ้าขนสัตว์อย่างดีหรือเรียกว่า “ ผ้าเจี๋ยน ” ตามภาษาไทใหญ่ ซึ่งทำด้วยขนแกะมาปู่ที่ร้านไม้ไผ่เชื้อเชิญให้แขกนั่งลงบนพรมขนสัตว์นั้น ด้วยความเต็มใจ นำสุราข้าวโพดมาวางไว้และรินน้ำชาให้ดื่ม ชาวลีซอผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวแทบทุกบ้านทุกบ้านได้พากันมาพบปะสนทนาด้วย

เวลามีแขกต่างถิ่นมาพัก อาศัยอยู่ภายในบ้าน เขาจะทำพิธีค่าไก่เอากระดูกไก่มาปักเสี่ยงทายดูว่ามาร้ายหรือมาดี โดยเอาไม้เล็กๆ แทงลงไปในกระดูกขาไก่ ถ้ารูกระดูกลงทางต่ำถือว่าไม่ดี เจ้าของบ้านและชาวบ้านต้องระมัดระวัง ผู้ประกอบพิธีนี้ คือผู้เฒ่าอาจารย์ไสยศาสตร์ประจำหมู่บ้าน

ศาลาข้างทาง

ก่อนที่จะเดินทางย่าง เข้าสู่หมู่บ้านชาวลีซอ จะพบศาลาข้างทางตั้งอยู่ห่างไกลจากหมู่ล้านประมาณ ๕๐๐ เมตร อยู่กลางป่าริมเหวหรือตรงทางแยก ซึ่งทำเป็นกระท่อมทับนั่งพักมีกระบอกไม้ซางใส่น้ำวางไว้หลายกระบอก เพื่อให้คนเดินทางได้ดื่มแก้กระหาย มีใบกล้วยป่าหลายสิบก้านผูกติดตามเสาธงทิวเล็กๆ ทำด้วยกระดาษสาปักอยู่ตามเสาและฝาผนังศาลาที่บนร้านไม้ไผ่ทำสูงกวาระดับพื้น ดิน ๑ เมตรนั้น มีกาบกล้วยป่าขดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด ๑ ฟุต กระบะเล็กๆ ภายในบรรจุดินปั้นรูปสัตว์และก้อนข้าวดอกไม้ธูปเทียนบูชา ซึ่งชาวเหนือเรียกว่า “ สะตวง ” หรือที่ปล่อยเคราะห์สำหรับประกอบพิธีปล่อยผีห่าซาตานที่สิงสถิตอยู่ในร่าง กายของผู้ที่เจ็บป่วย ขับไล่ความอัปมงคลทั้งหลายแหล่ให้ออกไปจากร่ายกาย ลงสู่ตัวสัตว์ที่ปั้นด้วยดินนั้น โดยใช้ข้าวปั้นล่อ

หน้าศาลาข้างทางมีไม้ไผ่ ลำเล็กๆ ยาว ๓ เมตร ปักเฉลียงอยู่ตรงปลายไม้ไผ่ผูกกระบะไม้ สานขัดแตะแบนๆ ห้อยลงมา มีดอกไม้และก้อนข้าววางอยู่ ใช้เป็นเครื่องเซ่นแก่ดวงวิญญาณของผีทั้งหลาย ที่เดินผ่านไปมาบนเส้นทางสายนั้น เพราะเข้าใจว่าถ้าผีปีศาจร้ายไม่อดอยากจริงๆ แล้วจะไม่สิงสู่ร่างมนุษย์ การทานศาลาเพื่อล้างซวยหรือเพื่อขับไล่ดวงวิญญาณของปีศาจร้ายซึ่งนำโรคภัย ไข้เจ็บมาสู่ ตามความเข้าใจของเขาจึงเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายของบรรดาชาวลีซอโดยทั่ว ไป

หลังศาลามีแท่นไม้บูชา โดยใช้ไม้ลำเล็กๆ ปักอย่างการกระทำพิธีบวงสรวง เพื่อวางเครื่องสังเวยแก่ผีป่า เพื่อหาที่ดินทำไร่ คือมีกระดาษสาตัดยาวห้อยลงมาอย่างธงทิวหางว่าวใช้ในการทำพิธีเซ่นเครื่อง สังเวย แก่บรรดาผีป่าหรือเจ้าป่า ศาลาเหล่านี้ เราพบอยู่ทั่วไปบริเวณใกล้เคียงกับหมู่บ้านชาวลีซอ ถ้าพบศาลาแล้วก็เป็นอันทราบว่าอีกไม่กี่นาทีเราจะถึงหมู่บ้านของเขา ที่ศาลาพักเหนื่อยข้างทางมักมีชาวเขาชาติต่างๆ และผู้คนเดินทางผ่านไปมาแวะนั่งพักเสมอ ซึ่งชาวลีซอจะตักน้ำใส่กระบอกเอาวางไว้เป็นทานแก่ผู้คนเดินทางทุกวัน

ฝาผนังศาลาใช้ไม้ไผ่สาน เป็นแผ่นและขัดด้วยลำไม้ไผ่ไม่ใช้ตาปู หลังคาใช้ไม้ผ่ากลางประกบกัน บางทีมุงด้วยใบหวายหรือใบก้อหรือใบคา ครั้นเสร็จแล้วทำพิธีบวงสรวงผีป่าหรือเจ้าป่า สะเดาะเคราะห์ไล่ผีห่าซาตานที่สิงสถิตในร่างกายคนเจ็บให้ออกไป มีการฆ่าหมูหรือไก่ พร้อมสุราข้าวเปลือก สุราข้าวโพด ๑ ขวด สำหรับหมูแล้วแต่การเจ็บป่วยมากหรือน้อย ถ้าเจ็บป่วยหนักเรื้อรังมานาน ต้องฆ่าหมูตัวใหญ่ ๑ ตัว ถ้าเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยฆ่าไก่เพียง ๑ ตัวก็พอ บรรดาญาติพี่น้องทำแคร่ไม้หามคนเจ็บมายังศาลาใหม่ที่ทำทานนั้น ก่อนออกจากบ้านต้องยิงปืนขึ้นท้องฟ้าเสียก่อน เมื่อมาถึงศาลาเริ่มด้วยการทำพิธีบวงสรวงผีป่าเพื่อทำไร่ คือนำเครื่องเซ่นสังเวยไปวางไว้ต่อหน้าแท่นบูชาที่จัดทำไว้ คนป่วยนั่งยองๆ หน้าแท่นบูชา ยกมือขึ้นท่วมศีรษะพร้อยด้วยธูปไม้ กล่าวคำวิงวอนขอร้องต่อผีทั้งหลายให้บันดาลให้เขาหายจากโรคภัยไข้เจ็บในเร็ว วัน พวกลีซอทำธูปได้เอง โดยเอาเปลือกไม้หอมชนิดหนึ่งซึ่งมีในป่าใกล้เคียง ทุกบ้านมักทำธูปเตรียมไว้เสมอ

เมื่อทำพิธีศาลาเซ่น เครื่องสังเวยเจ้าป่าหรือผีป่าสะเดาะเคราะห์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงให้คนป่วยขึ้นนั่งบนแคร่ไม้ ยิงปืนขึ้นท้องฟ้าดังสนั่นหวั่นไหว หามกันมายังบ้าน ครั้นถึงบ้านนำอาหารมาเลี้ยงกัน ถ้าเป็นหมูตัวใหญ่ ก็เรียกชาวบ้านมาร่วมกันดื่มสุรา รับประทานอาหาร หลังจากการทำพิธีทานศาลาแล้ว บางรายหายป่วย บางรายมีอาการหนักยิ่งขึ้นจนล้มตายไปก็มี และแทนที่คนลีซอจะเข้าใจว่าตนรักษาคนป่วยโดยไม่ถูกวิธีก็กลับเห็นว่าเจ้าพ่อ ผีป่าและผีบ้านทำให้เจ็บป่วยล้มตาย การรักษาของเขาไม่มีอะไร นอกจากการฆ่าไก่บ้าน หมู เซ่นผีบ้านผีป่า ถ้าเจ็บปวดตามร่างกายก็สูบฝิ่นระงับความเจ็บปวดอันเป็นเหตุให้ติดฝิ่น โรคที่เป็นกันมากที่สุด คือไข้มาลาเรีย ไข้รากสาด ไข้เจ็บอก ฯลฯ

การบูชาผีบ้าน

ผีบ้านหรือดวงวิญญาณแห่ง บรรพบุรุษต้นตระกูลอันเป็นที่นับถือของชาวลีซอ จะได้รับเครื่องเซ่นจากหัวหน้าครอบครัวอยู่เสมอ เวลาผู้คนภายในบ้านเจ็บป่วยไม่สบาย เขาจะฆ่าไก่ ๑ ตัว นำมาเซ่นแด่ผีบ้านพร้อมทั้งสุราข้าวโพด หรือสุราข้าวเปลือก ๑ ขวด เพื่อวิงวอนต่อดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ หรือผีบ้านบันดาลให้เขาและผู้อยู่ในบ้านหายจากเจ็บป่วยในเร็ววัน ชาวเจ้าของบ้านจะยกเอาเครื่องเซ่นวางไว้ต่อหน้าแท่นบูชา เอามือพนมถือไม้ธูปขึ้เหนือศีรษะระลึกถึงบรรพบุรุษผู้เป็นต้นตระกูลที่เขา นับถือ เมื่อเซ่นผีบ้านและดวงวิญญาณของบรรพบุรุษเรียบร้อยแล้วโรคยังไม่หาย จึงเชิญหมอผีมาร่ายเวทมนตร์คาถา เรียกขวัญปัดเป่าและขับไล่ตัวเคราะห์ร้ายให้ออกไปจากร่างกาย และการฆ่าไก่ หมู เซ่นผีบ้านพร้อมสุรา เพื่อการทำพิธีเซ่นผีบ้าน ผีป่า ผีหมู่บ้าน มักมีอยู่เสมอ เช่น เวลาขึ้นบ้านใหม่ งานปีใหม่ งานเลี้ยงผีหลวงทำไร่ ฯลฯ

ในบรรดาพวกลีซอนั้น ไม่มีผู้ใดที่เป็นหมอได้ด้วยความรู้ของตนเอง คำว่า “ หมอผี ” หมายถึง บุคคลที่ผีซึ่งเป็นหมอเข้าสิงร่างกายของคนที่เป็นหมออีกทีหนึ่งแล้วจะทำการ รักษาเสร็จกิจการแล้วผีก็ออกจากร่างของหมอ วิธีเอาผีเข้าและทำการรักษาพยาบาล คือก่อนเข้าผี เจ้าของบ้านจะต้องทำการสักการะที่แท่นผี เอาธูปและเทียนขี้ผึ้งมาปักไว้ เหล้าใส่ไว้ในถ้วยชาวางไว้บนหิ้ง แล้วก็มานั่งคุกเข่า เอามือทั้งสองยันข้างหน้าพูดดังๆ คล้ายเชื้อเชิญผี เสร็จแล้วหมอผีก็จะขึ้นไปทำการสักการะแล้วจุดธูปกำไว้ นั่งคุกเข่าหรือบาทีก็นั่งยองๆ หันหน้าไปทางหิ้งผีแล้วร้องเพลงขึ้นดังๆ คล้ายจะเชิญผีเข้าสิงตน เสียงเพลงนั้น เมื่อเร่มิร้องเป็นเสียงสูงแล้วลดต่ำลงมา จนถึงต่ำที่สุด แล้วขึ้นต้นเสียงสูงใหม่อีกอย่างนี้เรื่อยไป ถ้าผีเข้าช้าเขาจะจิบเหล้าที่บนหิ้งแล้วนั่งว่าต่อไป แล้วร่างกายก็เริ่มสันน้อยๆ เสียงเพลงก็ต้องสั่นตามไป เมื่อสั่นมากขึ้นๆ คล้ายๆ ว่าประสาททุกส่วนจะได้บีบชักกระตุก แล้วจะกัดฟันดังกรอดๆ จนในที่สุดการร้องเพลงจะหยุดคล้ายๆ มีอะไรมาจุกคอหอยทำให้ร้องไม่ได้ และตอนนี้เขาจะยืนขึ้นโก้งโค้งโยงโย่ สั่นอยู่ผับๆ คล้ายคนเป็นไข้จับสั่นอย่างมากๆ แล้วจะหันหน้ามาทางผู้ป่วย บางทีเขาพูดออกมาคำหนึ่งหรือสองคำ ตอนนี้ผู้มีอาวุโสหรือหัวหน้าครอบครัวนั้นจะเข้าไปเอามือเท้าลงกับพื้นแล้ว เอาหัวโขกพื้น ๒ - ๓ ที แล้วพูดขึ้นว่า “ ลูกคนนั้น หลานคนนี้เจ็บไข้ไม่สบายขอให้เจ้าพ่อช่วยรักษาให้ด้วย ” ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของหมอผีทำการพยาบาล คนป่วยจะนั่งหันหลังให้หิ้งผี หันหน้าเข้าเตาไฟ ไฟจะต้องสุมให้มีถ่านมากๆ ขั้นแรกหมอผีเริ่มด้วยการสั่นอยู่ตลอดเวลา มือซ้ายถือถ้วยเหล้า มือขวาถือเทียนซึ่งจุดแล้ว และก็ร้องเพลงด้วยทำนองสูงสุดมาหาต่ำสุด เมื่อจบตอนหนึ่งก็อมเหล้าแล้วพ่นใส่ไฟให้ลุกพรึบบนหัวผู้ป่วย เมื่อไฟดับจะเปลี่ยนเทียนใหม่จากที่จุดไว้หลายแท่งที่หิ้ง ถ้าหล้าหมดก็เปลี่ยนถ้วยใหม่ที่หิ้งเช่นกัน จะมีคนคอยเติมเหล้าและจุดไฟเสมอ รักษาด้วยวิธีนี้ประมาณ 5 นาที แล้วก็เปลี่ยนอีกถือเอาดาบทู่มาร่ายรำกวัดแกว่งฉวัดเฉวียนไปข้าง ๆ คนป่วยพร้อม ๆ กับร้องเพลงคาถาไปประมาณ 2 – 3 นาที ก็เปลี่ยนอีกทีนี้เขาจะเดินลงไปบนถ่านแดงแล้วขึ้นมาเหยียบหลังผู้ป่วยบางที ก็ทาบเท้าลงที่คอ อก แขน หรือที่ไหนต่อไหนสลับไปเมื่อเห็นว่าทั่วแล้วก็เปลี่ยนอีก ทีนี้เอาก้านธูปซึ่งไหม้ไฟไม่หมดชุบลงในเหล้า เขียนลงไปบนกระดาษสาเป็นรอยขยุกขยิกคล้าย ๆ เด็กที่ซุกซนคว้าดินสอไปเขียนลงบนกระดาษ หรือสมุดให้เป็นวงขยุกขยิก ซึ่งจะไม่เป็นตัวอักษรใด ๆ แล้วเขาจะเอามาพันกับด้ายผูกที่คอผู้ป่วยเป็นอันเสร็จพิธีการพยาบาลของผีที่ มีต่อคนป่วย คนป่วยก็จะทำการคารวะเอาหน้าโขกพื้นส่วนหมอผีจะหันหน้าไปทางหิ้งผี เริ่มสั่นอย่างมากอี ก้มตัวโงนเงน ๆ พอทะลึ่งขึ้นอีกทีจะมีคนสองคนช่วยรั้งไว้ไม่ให้สั่นต่อไป ก็เป็นอันว่าผีออก หมอบางคนค่อนข้างอ่อนแอ จะนั่งลงกับพื้นซึมไปเป็นเวลานานด้วยความอ่อนเพลีย

การปลูกบ้านใหม่

การปลูกบ้านใหม่ของ ชาวลีซอนาน ๆ มีครั้งหนึ่ง ในกรณี เช่น บุตรชายมีภรรยาต้องการแยกครัวเรือนอยู่ต่างหาก ก็ไปตัดไม้เสามาเตรียมไว้ ๑๑ หรือ ๑๒ ต้น นอกนั้นเป็นไม้ไผ่ ไม้ซาง เก็บใบก้อ หรือหญ้าคารวมเอาไว้ แจ้งให้ชาวบ้านมาช่วยกันปลูกสร้างบ้าน บางทีเครื่องมือทำบ้านเรือนเหล่านี้ทั้งหมดไม่ต้องหามา ขอร้องให้ชาวบ้านนำเอามาจากป่าคนละไม้ละมือ เมือเครื่องเรือนครบปลูกสร้างได้แล้วก็ไปเชิญหมอผีประจำหมู่บ้านมาปรึกษาหา ฤกษ์งามยามดี โดยเสียค่าธรรมเนียมด้วยเงินจำนวนเล็กน้อย หรือไม่ก็ให้ฝิ่นไปสูบ ให้หมู ไก่ ไปรับประทาน กำหนดวันแล้วจึงแจ้งให้ชาวบ้านทราบให้มาช่วยกันทำบ้าน

ครั้นถึงวันปูลกสร้าง ชาวบ้านทั้งหญิงชายหยุดงานการไปไร่ มาช่วยการปูลกสร้างบ้านทั้งหมด ช่วยกันคนละไม้ละมือบ้านบางหลังเสร็จในชั่วระยะเวลาเพียงวันหรือสองวัน การปลูกบ้านไม่ใช้ตะปูเลยแม้แต่เล่มเดียว ไม่ต้องเสียค่าจ้างรางวัลให้แก่ชาวบ้าน แต่เจ้าของบ้านต้องต้มกลั่นสุรา ฆ่าหมูตัวใหญ่ ๑ หรือ ๒ ตัว ทำอาหารมาเลี้ยงแก่บรรดาผู้ที่ไปช่วยปลูกสร้างบ้านเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทำแท่นบูชาปิดกระดาษเงินกระดาษทอง ทำพิธีเชื้อเชิญผีบ้านหรือดวงวิญญาณบรรพบุรุษมาประทับให้ความดูแลคุ้มครอง ครอบครัวของตน ด้วยการกระทำพิธีฆ่าหมู ฆ่าไก่ นำมาเป็นเครื่องเซ่นสังเวยแก่ผีบ้าน พร้อมด้วยสุรา 1 ขวด ถ้วยสุรา 1 ชุด หลังจากเสร็จพิธีเซ่นผีบ้านแล้วก็นำเอามาเลี้ยงระหว่างบรรดาชาวบ้านที่ช่วย งาน การขึ้นบ้านให้มีการเป่าแคน ดีดเครื่องดนตรีซึบึ เต้นรำ ร้องเพลง หยอกล้อ กันอย่างสนุกสนาน

การตำข้าว

ชาวลีซอใช้ครอกกระเดื่อง ตำข้าวเหยียบด้วยเท้า ซึ่งตั้งอยู่กลางลานพื้นดิน ไม่มีที่กำบังแดดหรือฝน เพราะนิยมตำข้าวเวลาเย็นและเวลากลางคืน พวกที่ตำข้าวเวลาเย็นเป็นผู้หญิงที่มีเรือนแล้ว ส่วนพวกสาวๆ ยังไม่มีคู่ครองชอบตำข้าวเวลากลางคืน

หลังจากอาหารค่ำผ่านไป ได้ประมาณครึ่งชั่วโมง หญิงสาวจะแต่งตัวอย่างสวยงาม โพกผ้าสีดำบนศีรษะ หิ้วกระบุงใส่ข้าวเปลือกมาตำตามลำพังท่ามกลางแสงจันทร์ หรือความมืดภายใต้แสงอันริบหรี่ของดวงดาว เสียงครกกระเดื่องกระกับข้าวในครก คล้ายเป็นสัญลักษณ์เรียกร้องให้พวกหนุ่มๆ บ้านใกล้เรือนเคียงกระวนกระวายใจ รีบแต่งตัวเอาผ้าโพกศีรษะสวมเสื้อประดับด้วยกระดุมเงิน แล้วออกจากบ้านไปหาหญิงสาวที่ตำข้าวอยู่นั้น ถ้าเป็นคืนเดือนมืดเวลาเดินไปถึงครกตำข้าวจะต้องทำเสียงกระแอมให้หญิงสาว ทราบว่าตนไปหา หญิงสาวได้ยินเสียงจะหยุดตำข้าวแล้วกล่าวทักทายไต่ถามเกี้ยวพาราสีกันพร้อม กับตำข้าวไปด้วย ถ้าหญิงสาวไม่เล่นด้วยก็ปลีกตัวไปเที่ยวเกี้ยวพาราสีหญิงอื่นๆ ตามครกตำข้าวต่อไป หญิงสาวที่ชอบพอรักใคร่จะยอมให้ชายหนุ่มช่วยตำข้าวอยู่ใกล้ๆ บางทีจะทิ้งกระบุงข้าวไว้จูงมือกันไปนั่งสนทนานอกรั้วหมู่บ้านท่ามกลางความ มืดสลัวของรัตติการ

การเลี้ยงผีหลวง

ชาวลีซอเชื่อว่ามีผีหลวง อยู่ทุกหมู่บ้าน ทำนองผีประจำเมือง ผีหลวงมีหน้าที่ดูแลให้ความคุ้มครองป้องกันภัยต่างๆ แก่บรรดาชาวบ้าน การเลี้ยงผีหลวงต้องแล้วแต่เหตุการณ์ เช่น เกิดมีการเจ็บป่วย หรือเป็นโรคชนิดหนึ่งชนิดใด แทบทุกหลังคาเรือนก็นัดประชุมระหว่างหัวหน้าครอบครัว ทั้งนี้โดยมากมักจะเข้าใจว่าเกิดอาเพศขึ้น เช่น ชาวลีซอในหมู่บ้านคนใดคนหนึ่งไปทำให้ผีหลวงไม่พอใจ จึงบันดาลให้ชาวบ้านต้องประสบเคราะห์ร้าย มีอาการเป็นไปต่างๆ สมควรทำพิธีเลี้ยงผีหลวง เมื่อตกลงกันแล้วก็รวบรวมเงินจากหัวหน้าแต่ละครอบครัว คนละเล็กละน้อยให้ได้เงินพอดีกับราคาของหมูตัวใหญ่ที่สุด ๑ ตัว โดยจัดหาบังคับซื้อในหมู่บ้านนั้น และเกณฑ์ให้ทุกหลังคาบ้านฆ่าไก่ ๑ ตัว สุรา ๑ ขวด เมื่อฆ่าต้มเสร็จแล้วก็นำเครื่องเซ่นไปถวายให้แก่ผีหมู่บ้านหรือผีหลวง ทำพิธีคล้ายกับการเซ่นผีป่า คือปักไม้เล็กๆ ทำแท่นบูชา มีธงทิวหางว่าวห้อยลงมา อัญเชิญผีหลวงลงมารับเครื่องสังเวยโดยหัวหน้าครอบครัว ทุกคนนั่งยองๆ พนมมือถือธูปไม้เหนือศีรษะ หมอผีกล่าวคำอัญเชิญและวิงวอนขอให้ผีหลวงบันดาลให้พวกเขาอยู่สุขสบายพ้นจาก โรคภัยไข้เจ็บ และเอากระดาษเงินกระดาษทองหรือกระดาษสาปิดที่แท่นบูชา เมื่อทำพิธีเสร็จแล้วก็นำเอาเครื่องเซ่นสังเวยกลับมายังบ้านหัวหน้าเพื่อทำ อาหารเลี้ยงกัน

วันขึ้นปีใหม่

ก่อนจะถึงวันขึ้นปีใหม่ ๑ วัน เป็นวันเตรียมหรือจัดหาสิ่งของเพื่อเอาทำรับประทานในวันรื่นเริงปีใหม่ ในวันนี้ชาวบ้านทุกคนจะหยุดงานการไปไร่ และการทำงานปกติอย่างอื่นภายในบ้านที่ไม่จำเป็น ทั้งชายหญิงจะช่วยกันตำข้าวปุกหรือข้าวเหนียวให้แหลกละเอียดเป็นแป้งผงสีขาว ครั้นแล้วเอาใบตองกล้วยป่ามาห่อ (แบบชาวจีนทำขนมเข่ง) เป็นห่อขนาดเล็ก เป็นจำนวนมากน้อยแล้วแต่จำนวนคน บางทีปั้นเป็นก้อนกลมๆ วางบนใบตองผึ่งไว้ก็มี ผู้ใดอยากรับประทานก็เอาไปปิ้งไฟรับประทาน

วันเตรียมหรือวันก่อนถึง วันปีใหม่ เขาเรียกว่าวันตำข้าวปุก ทุกบ้านเรือนตำข้าวเหนียวที่ครกตำข้าวกลางลานบ้าน โดยหัวหน้าหมู่บ้านเริ่มตำเป็นคนแรกก่อน ถัดจากนั้นหัวหน้าครอบครัวจะนำสมาชิกภายในครอบครัวตำแป้งข้าวเหนียวเป็น หมู่ๆ ผลัดกันตำผลัดกันกิน ดื่มสุราอาหารและยิงปืนขึ้นฟ้าดังสนั่นหวั่นไหวตลอดเวลา การยิงปืนเพื่อเรียกขวัญผีหมู่บ้านและผีบ้าน ทุกๆ กลุ่มที่ตำข้าวอยู่จะยิงปืนแข่งกันเป็นระยะๆ ผู้ใดยิงมากถือได้ว่ามีฐานะดีในหมู่บ้านนั้น ลูกปืนที่ยิงนั้นทำขึ้นภายในหมู่บ้านไม่ได้ซื้อหาจากแห่งอื่น เมื่อตำข้าวเหนียวจนแหลกละเอียดเป็นแป้งแล้วก็นำกลับบ้าน เอาแป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนๆ บางทีห่อด้วยใบตอง เวลาจะรับประทานก็นำเอาเผาไฟหรือนึ่งรับประทาน ถ้าแขกมาก็นำเอามาเลี้ยง ข้าวเหนียวที่ทำเป็นแป้งนี้จะคลุกกับงาเสียก่อน เรียกกันว่า ข้าวปุก

วันตำข้าวปุก หรือก่อนถึงวันปีใหม่ ทุกหลังคาเรือนมีการฆ่าหมูตัวใหญ่ที่สุดและไก่หลายตัว มากน้อยตามฐานะของแต่ละบุคคล คนมั่งมีฆ่าหมู ๒-๓ ตัว คนยากจนฆ่าหมู ๑ ตัว ไก่นั้นสุดแล้วแต่ความพอใจ วิธีฆ่าหมูตัวใหญ่ใช้หอกแทงตรงหน้าอกระหว่างกลางหรือสองขาหน้า หมูตัวเล็กใช้แทงคอ นำไปเผาไฟขูดขนออก เสร็จแล้วใช้มีดผ่าแล่กลางอก

ก่อนจะนำเอาหมู ไก่ ไปเซ่นผีหมู่บ้าน ต้องต้มให้สุกเสียก่อนแล้วจึงนำเอาใส่ถาดอาหาร มีสุรา ๑ ขวด ถ้วย 1 ใบ เจ้าของบ้านนำไปวางไว้ตรงหน้าแท่นบูชาในบ้าน พร้อมด้วยธูปไม้ ข้าวเหนียวหรือข้าวปุก ถ้วยใส่น้ำชา ๑ ถ้วย กระดาษเงินกระดาษทอง เจ้าบ้านนั่งยองๆ ยกมือขึ้นพนมก้มศีรษะลง ๓ ครั้ง แล้วกล่าวอัญเชิญผีบ้านมาเสวยเครื่องเซ่น จากนั้นรินสุราใส่ถ้วยเทบนพื้นดินกับน้ำชาแล้วยกเอาถาดอาหารพร้อมด้วยข้าว เหนียว หมู ไก่ สุราเหล่านั้นออกมาวางไว้บนพื้นไม้ไผ่ เชื้อเชิญบรรดาชาวบ้านและแขกที่ไปพักบ้านของเขาเพื่อร่วมรับประทานอาหาร พร้อมทั้งสุราและน้ำชา มีการเล่นการพนัน สูบฝิ่น ร้องเพลง เต้นรำ เป่าแคน ดีดเครื่องดนตรีซึบึ ชาวลีซอบางคนเดินทานไปเที่ยวหาเพื่อนฝูงและญาติของตนในหมู่บ้านลีซอบนเขาลูก อื่นๆ ถ้าไปเที่ยวเยี่ยมเยียนชาวเขาระหว่างวันขึ้นปีใหม่จะได้รับการต้อนรับเป็น อย่างดี ชาวลีซอไม่มีการทำซุ้มประตูเฉลวปิดห้ามไม่ให้เดินผ่านหมู่บ้านอย่างชาวเขา พวกอื่น

ในย่ำรุ่งของวันขึ้นปี ใหม่จะได้ยินเสียงจุดประทัด เสียงยิงปืนขึ้นฟ้า เสียงจุดพรุ จุดระเบิด ดังอย่างหูดับตับไหม้ ผู้หญิงผู้ชายพากันแต่งกายสวยงาม โพกศีรษะด้วยผ้าสีดำเป็นแผ่นวงกลมใหญ่แบะแบนอย่างขนมโดนัท ใส่ห่วงคอทำด้วยโลหะเงินซ้อนกันหลายห่วง ตามหน้าอกซื้อเต็มไปด้วยเหรียญเงินสมัยโบราณ กระดุมเงินเย็บติดกันเป็นแผ่น ห้อยเครื่องประดับกายพะรุงพะรัง ใส่พู่หางม้าไว้ที่ใต้พุง และสะโพกหลังเหมือนสัตว์จำพวกมีหาง เสื้อด้านหลังติดกระดุมโลหะเงินเป็นระยะๆ วันงานพิธีปีใหม่เป็นวันที่ทุกคนแต่งกายสวยงาม วันนี้งดเว้นการทำงานและการฆ่าสัตว์ทุกชนิด ได้แต่ชวนกันไปเยี่ยมทุกหลังคาเรือน ผู้ใดอยากสนทนาเกี้ยวพาราสีผู้หญิงสาวหรือแม่หม้ายก็ไปสนทนากันที่ไหนก็ได้ ไม่มีการถือสาอะไรกันทั้งนั้น ผู้ชายบางคนพากันไปเที่ยวงานปีใหม่ยังหมู่บ้านอื่น มีการต้อนรับอย่างอบอุ่น พรั่งพร้อมด้วยสุรา อาหาร ข้าวเหนียวปิ้งและน้ำชาร้อนๆ

ตั้งแต่เช้าตรู่จน กระทั่งเย็นของวันขึ้นปีใหม่ มีการเต้นรำตามลานดินของหมู่บ้าน ไม่ว่าคนแก่ แม่เรือน เด็กหนุ่มสาวเต้นรำกันหมดทุกคน ผู้ใดไม่ไปเต้นหรือไม่ไปสนุกสนานรื่นเริงจะถูกจับไปเอาโคลนและดินหม้อทาหน้า มอมแมม แล้วเอาน้ำรดเปียกแล้วเปียกอีก ให้ดื่มสุราและเต้นรำจนได้ การเต้นรำนั้นหัวหน้าหมู่บ้านเป็นคนเต้นนำก่อน เสียงกระเทียบเท้าเดินหน้าถอยหลังตามจังหวะเพลงพร้อมๆ กันของชาวลีซอจะได้ยินอย่างชัดเจน ทุกคนที่ขึ้นไปเที่ยวหรือพบเห็นจะถูกบังคับให้ร่วมวงสนุกสนานด้วย เสียงแคน ดีดเครื่องดนตรีซึบึ เสียงร้องเพลง เฮฮา จุดระเบิด ยิงปืน ดังไม่ขาดระยะตั้งแต่เช้าตรู่จนตะวันตกดินจึงทยอยกลับบ้าน เวลากลางคืนสุมไฟกองใหญ่ที่ลานบ้านหลายกอง เต้นกระทืบเท้าจนน้ำค้างตกหมอกลงถึงจะเลิกรากันไป วันขึ้นปีใหม่นี้ ผู้เป็นหัวหน้าต้องเตรียมสุรา อาหารโดยฆ่าหมู ไก่ ไว้เลี้ยงชาวบ้านและแขกต่างถิ่นจำนวนมาก เพราะจะมีชาวบ้านมาเต็มบ้าน ดื่มสุรา รับประทานอาหารร้องเพลง เล่นการพนัน บางทียังขอสูบฝิ่นด้วย

วันถัดต่อมาชาวลีซอจะฆ่า หมู ไก่ เพื่อประกอบพิธีเลี้ยงผีหมู่บ้านหรือที่เขาเรียกกันว่าผีเมือง ซึ่งมีศาลอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๓๐ เมตร เครื่องเซ่นประกอบด้วย หมู่ ไก่ สุรา น้ำชา ธูป กระดาษเงินกระดาษทอง ถ้วยชา ถ้วยสุรา และแป้งข้าวเหนียวปิ้งและนึ่ง แห่ไปทั้งหมู่บ้านทำพิธีเซ่นอย่างเดียวกับพิธีสรวงผีบ้านและผีป่า มีการเต้นรำถวายแด่ผีหมู่บ้าน แล้วยกเอาเครื่องสังเวยนั้นไปเลี้ยงกัน หัวหน้าจะอวยพรแก่บันดาลูกบ้านของตนด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ต่อจากนั้นหัวหน้าเต้นรำนำหน้ายกขบวนแห่ไปเยี่ยมเยียนทุกหลังคาเรือน เมื่อไปถึงบ้านใดก็เอากิ่งไม้ปักลงกลางดินข้างบ้าน เต้นรำไปรอบๆ เจ้าของบ้านนำเอาสุราอาหารมาเลี้ยงพวกที่มากับขบวนแห่นั้น ต่างก็จิบสุรา อาหารเล็กน้อยแล้แห่กันไปบ้านถัดต่อไปจนครบทุกบ้านแล้วย้อนกลับมาบ้านหัว หน้าอีก ดื่มสุรา รับประทานอาหาร ขนม ข้าวเหนียวปิ้ง วนเวียนกันเช่นนี้เรื่อยไปไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ สนุกกันอย่างเต็มที่จนครบ ๓ วัน ๓ คืน

ระหว่างงานปีใหม่มีการ เรียกขวัญ เพราะการเรียกขวัญมักจะกระทำแก่ผู้ที่ไม่ค่อยสบายเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เป็นนิจ ถือกันว่าขวัญอ่อนอันเป็นเหตุให้ผีเข้าสิงสู่ร่างกายทำให้เจ็บป่วยได้โดย ง่าย และผีเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายทำให้เจ็บป่วยได้โดยง่าย และเมื่อผีเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายผู้ใดก็มักสูบโลหิตกินทุกวันจนผู้นั้นสูบ ผอม บางทีถึงแก่ความตาย ต้องทำพิธีเรียกขวัญมาปลุกเสกเวทมนตร์ให้กล้าแข็งสำหรับต่อสู้กับวิญญาณของ ผีปีศาจร้ายนั้นได้ เพราะเชื่อว่าบรรดาโรคร้ายตลอดจนการเจ็บป่วยต่างๆ จะหายไปในเร็ววัน ถ้าผู้ใดใคร่ทำพิธีเรียกขวัญต้องฆ่าหมู ๑ ตัว หมอผีจะบอกให้จัดถาดอาหารวางหมู่ที่ต้มเสร็จแล้วพร้อมสุรา ๑ ขวด ถ้วยสุรา ๑ ใบ ถ้วยชา ๑ ใบ โดยรินสุราน้ำชาให้เต็มถ้วย ห่วงคอของผู้ที่ต้องการเรียกขวัญกับเส้นด้ายและเงิน ๑-๑๐ เหรียญรูปี ใส่ถาดดอกไม้ไปตั้งไว้ตรงประตูบ้านเรือนตรงด้านในของผู้ที่ต้องการทำพิธี เรียกขวัญนั้น ปักกิ่งไม้ ๕ กิ่งรอบตัว หมอผีซึ่งเข้าไปนั่งยองๆ อยู่ในเขตที่ปักกิ่งไม้นี้พร้อมด้วยถาดอาหาร หมอผีจะยกมือถือธูปขึ้นเหนือศีรษะ กล่าวเวทมนตร์คาถาไล่ผีห่าซาตานลงสู่สะตวงหรือเครื่องสะเดาะเคราะห์ ให้ผู้ต้องการเรียกขวัญนั่งข้างหน้า ครั้นแล้วก็หยิบเอาเส้นด้ายมาร่ายเวทมนตร์พึมพำ แล้วเอาผูกคอและข้อมือทั้งสองข้าง เอาห่วงคอสวมที่คอของเจ้าของ ในขณะที่กำลังทำพิธีอยู่นี้ ถ้ามีชาวบ้านโผล่เข้าไปก็เอาเส้นด้ายผูกคอและข้อมือให้หมดทุกคน

เมื่อเสร็จพิธีเจ้าของ บ้านเอาสตางค์ให้หมอผี ๕๐ สตางค์ เป็นค่าธรรมเนียมในการเรียกขวัญ ยกสำรับหมู ไก่ สุรา เหรียญเงินนั้นคืนไป นำเอาอาหารมาเลี้ยงหมอผีจนอิ่มหนำสำราญ เวลาหมอผีจะลากลับบ้านก็ตัดเอาหมูให้ไป ๑ กิโลกรัม

งานศพ

ถ้าชาวลีซอคนหนึ่งคนใดใน หมู่บ้านถึงแก่ความตายเขาจะสวมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของผู้ตายซ้อนกันให้ อีกหลายๆ ชั้น แล้วเอาผ้าขาวหรือผาห่มนอนพันศพวางไว้ตรงหน้าแท่นบูชา โดยมีลำไม้ไผ่ขนาดโต ๓-๔ อัน วางรองใต้ศพปักธูปเทียนไว้ที่ตรงหัวนอน วางขวดสุรา น้ำชาไว้ ถือว่าสุราเป็นเครื่องดื่มโปรดปรานอย่างที่สุดของวิญญาณทุกดวง เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวของผู้ตายทุกชิ้นไม่เอาเก็บไว้ ถ้าเหลือจากสวมใส่ก็ม้วนพับวางข้างศพ

เจ้าของบ้านคนตายจะฆ่า หมูตัวใหญ่ที่สุด ถ้าเป็นเด็กก็ฆ่าหมูตัวเล็ก สำหรับไก่นั้นต้องฆ่าทุกวัน มากหรือน้อยแล้วแต่เพื่อนบ้านจะไปร่วมงานศพ ถ้าศพไว้นานวันก็เสียหมู ไก่ หลายตัว เพื่อนำไปเซ่นศพ และนำมาเลี้ยงชาวบ้าน โดยมากมักเอาศพไว้บ้าน ๓ วัน ถ้าเป็นเด็กเอาไว้เพียงคืนเดียว เพราะถ้าเอาไว้นานลำบากคนอยู่ ต้องฆ่าหมู ไก่ ทุกวัน ในเรื่องศพไว้บ้านกี่วันนั้นสุดแล้วแต่ฐานะของแต่ละบุคคล และอาการนั้นเป็นไปอย่างไร ถ้าตายโดยตกต้นไม้หรือเรียกว่าตายโหงก็เอาศพไว้เพียงวันเดียว หรือตายวันนั้นเอาไปวันนั้น ถ้าตายอย่างธรรมดา เจ้าบ้านมีฐานะดีก็เอาไว้นานวัน นากจากเลี้ยงสุราอาหารแก่บรรดาชาวบ้านแล้ว ต้องเลี้ยงฝิ่นต่อบรรดาคนเฒ่าคนแก่ที่ติดฝิ่นมาร่วมงานนั้นด้วย กลางวันต่างคนต่างทำงาน มีแต่เวลากลางคืนที่ชาวลีซอไปเป็นเพื่อนสนทนาด้วย ผู้ที่เป็นญาติพี่น้องหรือลูกหลาน บุตร สามี ภรรยา ต้องเปลี่ยนเวรร้องไห้รำพันต่างๆ นานา ซึ่งผู้อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงได้ยินถนัด บางทีพลอยร้องไห้เศร้าโศกเสียใจไปตามคำกล่าวรำพันของญาติผู้ตายไปด้วย บรรดาญาติต่างผลัดกันไปนั่งยองๆ ต่อหน้าศพแล้วร้องให้แล้วร้องไห้รำพังถึงความดีของผู้ตาย เปลี่ยนเวรกันเช่นนี้แทบตลอดวันตลอดคืน ญาติผู้ใดไม่ร้องไห้รำพันก็โกรธเคืองหาว่าไม่รักกัน เอาของบ้านนำเอาสุรา อาหาร มาเลี้ยง มีการพนันเอาเงินกันระหว่างเด็กหนุ่ม ไม่มีการเต้นรำ เป่าแคน หรือร้องเพลง

พอถึงเวลานำศพไปยัง ป่าช้า เจ้าของบ้านจะขอแรงผู้ชายชาวบ้านช่วยไปนำโลงใส่ศพให้ หลังจากรับประทานอาหารเช้าผ่านไปแล้ว ต่างก็ถือมีดพร้า ขวาน เลื่อย เข้าไปในป่าช่วยกันตัดไม้ท่อนที่ล้มลงตามธรรมชาติ ตัดออกเป็นท่อนยาวขนาดทำโลง ได้แล้วเอาขวานสับตรงหัวไม้ท่อนนั้น เอาไม้ลิ่มตอกทำเป็นแผ่นกระดานโดยไม่ใช้เลื่อย ไม้กระดานที่ได้นี้ไม่บางและไม่เรียบ เมื่อได้จำนวนพอที่จะเป็นโลงแล้วกก็นำเอามายังบ้านคนตายช่วยกันทำเป็นโลงโดย ไม่ใช้ตะปูเลย นำเอาศพขึ้นใส่โลง

เวลาบ่ายของวันนั้นเองก็ นำศพเคลื่อนที่ไปยังป่าช้า ป่าช้าของลีซอก็คือป่าธรรมดาบนยอดเขานั่นเอง เพียงแต่ไม่ได้ฝังรวมกัน เพราะทำเลหลุมแต่ละศพนั้นได้จากการเสี่ยงทาย โดยหมอผีประกอบพิธีขึ้นในบ้าน คือทำพิธีจุดธูปไม้ไหว้ศพแล้วเสี่ยงทายหาทิศทางว่าดวงวิญญาณของผู้ตายให้นำ ไปฝังที่ไหน แล้วให้โยงไม้ไผ่หรือทำโดยวิธีอย่างอื่น เมื่อทราบทิศทางแล้ว หมอผีก็นำชาวบ้านเดินทางถือจอบเสียมไปเลือกทำเล แล้วขุดหลุมเตรียมเอาไว้ขนาดบรรจุโลงลงไปได้ทั้งโลง

พอได้เวลานำศพไป หมอผีจะเอาตะกร้าไม้ไผ่บรรจุเสื้อผ้าของคนตายกับถ้วยสุรา ถ้วยน้ำชา กระป๋องยาสูบ หมาก กล้องยาฝิ่นหรือของที่ผู้ตายที่ผู้ตายใช้เสมอในขณะที่มีชีวิตอยู่ใส่ถุงย่าม ถ้าของมากให้คนหอบหามเอาไป ถ้ามีม้า ลา ก็ให้บรรทุกบนหลังจูงไปด้วย หมอผีเองเป็นคนสะพายย่ามนั้น ในมือถือขันไม้ไผ่ แขวนธงทิวหางว่าวเดินนำหน้าขบวนศพ ชาวบ้านจะช่วยกันหามโลงที่บรรจุนั้นขึ้นใส่บ่า ก่อนเคลื่อนศพออกจากบ้านมีการยิงปืน ยิงหน้าไม้ ขึ้นฟ้าดังสนั่นหวั่นไหว ในระหว่างทางที่ญาติพี่น้อง บุตร ภรรยา หรือสามีของผู้ตายร้องไห้ออกมาดังๆ และรำพันให้ชาวบ้านได้ยิน เมื่อไปถึงที่ฝังศพจึงทำพิธีไหว้ศพแล้วนำลงฝังทั้งโลง พร้อมทั้งเครื่องใช้ที่ผู้ตายเคยใช้เป็นประจำ ตลอดจนเสื้อผ้า หันศีรษะไปทางทิศตะวันออก เอาดินกลบเป็นรูปหลังเต่าให้ด้านหัวนอนสูงกว่าทางด้านเท้า แล้วเอาก้อนหินวางทับด้านบน ต่างพากันนั่งยองๆ ยกมือขึ้นเหนือศีรษะอีกครั้งหนึ่ง จึงพากันกลับบ้าน

เมื่อนำศพไปฝังที่ป่าช้า เรียบร้อยแล้ว ผู้เป็นญาติหรือมีส่วนเกี่ยวพันกับผู้ตายเอามีดกรีดเสาทำเป็นเครื่องหมายไว้ ที่บ้านของตนว่า ตายวันข้างขึ้น ข้างแรมกี่ค่ำ เดือนอะไร การนับเดือนของเขา ไม่ได้นับเป็นวันอาทิตย์ วันจันทร์อย่างเรา เขารู้แต่เพียงว่า วันนี้ขึ้นกี่ค่ำ แรมกี่ค่ำ โดยอาศัยดูพระจันทร์ในท้องฟ้า ในเรื่องการนับเดือน เลข เช่น เดือน ๕ เดือน ๖ เดือน ๗ จนครบ ๑๒ เดือน เป็น ๑ ปี การนับเดือนก็ไม่ตรงกัน เช่น เดือนเมษายน ไทยเราว่า เป็นเดือน ๕ ส่วนเขาเป็นเดือน ๗ เหมือนกับการนับในล้านา

เมื่อวันคืนได้ผ่านพ้นไป จนครบปี ตรงกับวันที่ผู้ตายได้สิ้นใจตายไปแล้ว บรรดาผู้สืบสกุลหรือผู้เป็นญาติเกี่ยวพันกันกับผู้ตาย จะฆ่าหมู ไก่ ทำสุรา นำไปเซ่นเป็นเครื่องสังเวย ณ หลุมฝังศพ ช่วยกันแผ่วทางหญ้า ตัดต้นไม้ที่ขึ้นมาปกคลุมออกให้หมด แล้วขุดเอาดินมาถมตรงที่ยุบลงให้เต็มเป็นรูปหลังเต่า ทำตอนหัวนอนสูงกว่าทางด้านปลายเท้าศพเหมือนเดิม

เครื่องเซ่นที่นำถวายแก่ ดวงวิญญาณของผู้ตายและหลุมฝังศพที่ป่าช้าบนยอดเขานั้น จะมากน้อยอย่างไรก็แล้วแต่ความสำคัญของคนที่ตาย ถ้าผู้ตายเป็นหัวหน้าครอบครัวก็ฆ่าหมูตัวใหญ่ที่สุด ๑ ตัว สุรา ๑ ขวด ถ้าเป็นบุตรยังเล็กอยู่ก็ฆ่าเพียงไก่ ๑ ตัว ถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัวจะมีชาวบ้านและญาติพี่น้องที่ใกล้และไกลไปร่วมทำบุญ ด้วย เมื่อไปถึงป่าช้าหลังจากพิธีเซ่นถวายแก่ดวงวิญญาณคนตายแล้ว ก็นำเครื่องสังเวยกับสุรารวมกับที่จัดหาเตรียมไปจากบ้านเป็นพิเศษนั้นมา เลี้ยงกันที่ข้างๆ หลุมฝังศพ มีการเต้นรำ เป่าแคน เอาดินที่เปียกน้ำ ถ่านไม้ และดินหม้อป้านหน้ากันมอมแมมทั้งหนุ่มสาวเฒ่าแก่ ดื่มสุราร้องเพลงสนุกเฮฮาสั่นป่า เขาทำการเซ่นหลุมฝังศพเช่นนี้เพียง ๓ ปี นับตั้งแต่ปีแรกที่ฝัง ต่อจากนั้นก็งดการทำพิธีตลอดไป เพราะเขาเชื่อว่าดวงวิญญาณผู้ตายไปเกิดใหม่แล้ว ( บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ๓๐ ชาติในเชียงราย พ . ศ . ๒๔๙๓ )
ครอบครัวและเครือญาติ

สังคมของชาวลีซอเป็น สังคมระบบเครือญาติแบบแซ่สกุลสืบสายทางฝ่ายชาย บุคคลที่ใช้แซ่สกุลเดียวกันจะนับถือเป็นญาติพี่น้องกัน ระบบครอบครัวมักเป็นครอบครัวเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ ชายหญิงที่มากจากแซ่สกุลเดียวกันไม่สามารถแต่งงานกันได้ เมื่อชายหญิงแต่งงานกันแล้วจะอาศัยอยู่กับครอบครัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนระยะเวลาหนึ่งอาจจะแยกครอบครัวเป็นของตนเอง แต่ทั้งนี้ขึ้นกับความยินยอมของพ่อแม่ฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชาย หรือเมื่อฝ่ายชายจ่ายเงินค่าสินสอดหมดแล้ว โดยทั่วไปชาวลีซอนิยมผัวเดียวเมียเดียว มีน้อยรายมากที่ภรรยาสองคนผู้ชายจะมีสถานภาพสูงกว่าผู้หญิง การตัดสินใจทีสำคัญ เช่น การตัดสินคดีในหมู่บ้านการติดต่อกับบุคคลภายนอกหมู่บ้าน ทำพิธีทางศาสนา การย้ายถิ่น งานช่างตีเหล็ก งานฆ่าสัตว์ใหญ่ ส่วนผู้หญิงจะทำกิจกรรมงานบ้านควบคุมการใช้จ่ายเงิน เป็นต้น แต่ในบางกรณีฝ่ายชายจะปรึกษาฝ่ายหญิงหากมีปัญหาในครอบครัว

ชาวลีซอมีการเคารพกันตาม ลำดับญาติพี่น้องและเคารพผู้ที่มีวัยวุฒสูงกว่าหากไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกัน บุตรจะต้องเคารพพ่อแม่และผู้อาวุโส ชาวลีซอทุกวันมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างทัดเทียมกัน ชาวลีซอนิยมมีบุตรชายมากกว่าบุตรหญิง ทั้งนี้เนื่องจากบุตรชายนั้นจะได้เป็นที่พึ่งของพ่อแม่ยามชรา เป็นผู้สืบตระกูล สำหรับบุตรสาวเมื่อแต่งงานแล้วมักจะอยู่กับฝ่ายชาย

( มนัส มณีประเสริฐ ลีซอ พ . ศ . ๒๕๓๙ )

อาหาร

ชาวลีซอทำอาหารกันอย่าง ง่ายๆ ชอบรสจืดๆ ไม่มีรสเผ็ด ขนบธรรมเนียมในการับประทานไม่ต่างอะไรกับจีน เขาตักอาหารใส่ถ้วยวางไว้บนถาดหวายกลมแบบสูงประมาณ ๑ ศอก เรียกว่า “ ฮางเตีย ” คดเอาข้าวเจ้านึ่งซึ่งมีเมล็ดกลมๆ สั้นๆ ใส่ในกระบะไม้ไผ่มีรูปร่างคล้ายชามก้นลึกวางไว้กลางถาด ตักแกงใส่ถ้วยสังกะสีวางไว้ตรงข้างถาดข้าว วางตะเกียบตามจำนวนคน ใช้ถ้วยสำหรับตักข้าวขนาดถ้วยแกงธรรมดา เสร็จแล้วยกไปตั้งกลางพื้นดิน เลื่อนเอาตั่งหวายเตี้ยๆ วางไว้ให้นั่ง สุราข้าวโพดอย่างดี ถ้วยสุรา ถ้วนน้ำชาและกาน้ำร้อนวางไว้พร้อม การรับประทานจะต้องนั่งที่ตั่งหวายชันเข่า หยิบถ้วยขึ้นใช้ตะเกียบพุ้ยข้าวลงใส่ถ้วยนั้นแล้วข้าวใส่ปากอย่างชาวจีนรับ ประทานอาหาร อาหารของเขาไม่มีอะไรมาก มีแต่แกงผักกาดอย่างเดียว เพราะขนบธรรมเนียมของชาวลีซอถึงจะมั่งมีแต่การรับประทานอาหารประหยัดที่สุด ไม่รับประทานฟุ่มเฟือยหลายอย่าง ไม่ใช้น้ำปลา ใช้เกลือ ๒ - ๓ เม็ดแทน ชาวลีซอแทบทุกคนชอบเคี้ยวหมาก เขาเคี้ยวหมากภายหลังจากรับประทานอาหารผ่านไปแล้วสักครึ่งชั่วโมง เครื่องประกอบของหมากไม่ได้ปลูกหรือจัดทำขึ้นเองในหมู่บ้าน แต่หาซื้อเอามาจากหมู่บ้านชาวล้านนาซึ่งอยู่ตีนเขา นอกจากเคี้ยวหมากแล้วยังชอบสูบบ้องยา บางคนสูบฝิ่นอีกด้วย

( บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ๓๐ ชาติในเชียงราย พ . ศ . ๒๔๙๓ )

ประเพณีสำคัญในรอบปี

ประเพณีของชาวลีซออาจจะแยกเป็น ๒ ประเภท คือประเพณีของชุมชนและประเพณีในครัวเรือน

งานพิธีประเพณีที่สำคัญ ได้แก่ ประเพณีฉลองปีใหม่จะตรงกับวันตรุษจีน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ บางหมู่บ้านอาจจะช้ากว่า ๑ เดือน เนื่องจากการนับวันคลาดเคลื่อน การนับวันชาวลีซอนับตามระบบจันทรคติเหมือนกับการนับวันเดือนปีของชาวจีน

ระยะเวลาดังกล่าวเป็น ช่วงที่เสร็จจากงานไร่ ทุกครัวเรือนมีอาหาร รายได้จากการขาย พืชสัตว์ และอื่นๆ ที่จะซื้อผ้าใหม่ให้กับสมาชิกในครัวเรือน กลุ่มที่เดินทางออกไปทำงานนอกหมู่บ้านทั้งหญิงและชายจะเดินทางกลับมาร่วมใน พิธีนี้

การเตรียมงานปีใหม่นี้ แต่ละครอบครัวจะเตรียมเย็บเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายใหม่สำหรับบุคคลในครัวเรือน เฉพาะเครื่องแต่งกายหนุ่มสาวนั้นพิถีพิถันนั้น นอกนั้นแต่ละครัวเรือนจะเตรียมเหล้า หมู ไก่ ตำข้าวเหนียวทำขนม เป็นต้น งานปีใหม่จะได้เวลา ๓ - ๗ วัน แล้วแต่ขนาดของหมู่บ้าน งานปีใหม่นี้จะเป็นโอกาสหนึ่งที่ใช้ชายหนุ่มหญิงสาวได้มีโอกาสพบปะกัน เป็นการนำไปสู่การแต่งงานต่อไป

งานพิธีปีใหม่น้อย ( เอ้อ ยี ป่า ) จะตรงกับขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๒ ของการนับแบบจีน นับจากวันปีใหม่ ตรงกับเดือนมีนาคม ๑ เดือน ๗ วัน เป็นงานเฉพาะของผู้ชายและสืบสายจาแซ่สกุลลีซอ จีน ใช้เวลา ๑ วัน

งานพิธีไหว้ที่ฝังศพของบรรพบุรุษ ( หลี่ ฮี ชัว ) ตรงกับวันเช็งเม้งของจีน เดือนสามของจีน ประมาณเดือนเมษายนและพฤษภาคม แต่ครอบครัวจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ไปคารวะที่หลุมฝังศพเพื่อผู้ตายอยู่ อย่างเป็นสุข และให้ลูกหลานอยู่สบาย

งานพิธีไหว้เจ้าที่ ( อิ้ ด้า มา ) ตรงกับเดือน ๔ ของจีนประมาณเดือนพฤษภาคม เพื่อเซ่นไหว้ผีเจ้าที่ผู้ดูแลพื้นที่ป่า ภูเขา อาณาเขต ของหมู่บ้าน ให้ปกปักรักษาผู้คน สัตว์เลี้ยง พืชไร่ ให้อยู่สบายและได้รับผลผลิตดี

งานพิธีกินข้าวโพดใหม่ ตรงกับวันที่ ๑๒ เดือน ๗ ของจีน ประมาณเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม เป็นเวลาที่ข้าวโพดกำลังออกฝัก พืชไร่หลายอย่างกำลังให้ผล จุดประสงค์ของพิธีนี้ เพื่อเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษของตระกูลตัวเอง และเป็นการขอบคุณที่ให้ทุกสมาชิกในครัวเรือนอยู่อย่างสบาย มีผลผลิตที่ดี จะมีการตกแต่งประดับหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษด้วยต้นข้าวโพด ผักต่างๆ ที่ปลูกในไร่

งานพิธีกินข้าวใหม่ ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม เวลาได้ข้าวใหม่มาเก็บไว้ยังบ้านเรียบร้อยแล้วมีการทำพิธีทานข้าวใหม่โดย ปลูกสร้างศาลาร่วมกันที่ริมทางเดินบนเขา เมื่อเสร็จแล้วก็ให้หมอผีเอาข้าวใส่ในกระบะแบนปักแขวนไว้ข้างทาง เพื่อให้ผีที่เที่ยวไปมากินก้อนข้าวซึ่งเอาใส่ไว้ในกระบะนั้น ต่างฆ่าไก่บ้านละ ๑ ตัว สุรา ๑ ขวด เอาไปเซ่นผีป่าที่ต้นไม้ข้างศาลาเอาต้นกล้วยป่าผูกติดเสาพร้อมทั้งปักธงทิว หางว่าวซึ่งทำด้วยกระดาษสา วางกระบอกไม้ใส่น้ำไว้หลายกระบอกเพื่อให้คนเดินทางได้ดื่ม เอาธูปเทียนจุดทำพิธีถวายเครื่องเซ่นแก่ผีป่า

วันเวลาการทำพิธี แต่ละครัวเรือนจะกำหนดตามความสะดวก แต่ส่วนใหญ่จะเลือกวันดีที่สุดสำหรับทำพิธี ความประสงค์ของพิธีกินข้าวใหม่นี้ เพื่อให้ผู้อาวุโสกล่าวอวยพรให้ลูกหลานมีความเจริญมีผลผลิตข้าวดีพอกินตลอดปี

ความสัมพันธ์กับคนในล้านนา

ในสมัยก่อนความสัมพันธ์ ของชาวลีซอกับชาวมูเซอจะใกล้ชิดกันมาก นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์กับชาวจีนฮ่อ โดยเฉพาะวัฒนธรรมหลายอย่าง เช่น ภาษา ความเชื่อ พิธีกรรม การนับวัน เดือน ปี ใช้ระบบเดียวกับของชาวจีน ชาวลีซอมักสามารถพูดภาษาชาวมูเซอและจีนฮ่อได้ดี มีการแต่งงานระหว่างชาวลีซอกับมูเซอ ชาวลีซอกับชาวจีนฮ่อ จะได้โดยทั่วไปบนพื้นที่สูง อีกประการหนึ่งการติดต่อค้าขายฝิ่นจะมีพ่อค้าชาวจีนฮ่อมารับซื้อ อาจจะตั้งร้านค้าขายสินค้าต่างๆ ที่จำเป็นในหมู่บ้านชาวลีซออยู่เสมอ

เมื่อการคมนาคมติดต่อกับ พื้นที่ราบสะดวกขึ้น จึงมีความสัมพันธ์ติดต่อกับชาวพื้นที่ราบมากขึ้น การติดต่อค้าขายสินค้าพืชผล ติดต่อกับทางราชการ องค์กรอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการเดินทางไปทำงานในตัวอำเภอ จังหวัด จนถึงต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย ไต้หวัน เป็นต้น การศึกษาของเด็กชาวลีซอ ได้รับการศึกษามากขึ้น มีความนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนต่อในตัวจังหวัดเพิ่มมากขึ้น มีชาวลีซอหลานคนที่สำเร็จการศึกษาถึงขั้นอุดมศึกษา ในปัจจุบันวัฒนธรรมบางอย่างของไทยได้เป็นที่ยอมรับในชาวลีซอ เช่น การไหว้แสดงความเคารพต่อกัน การรับข่าวสารจากทางวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ทำให้การรับรู้ของชาวลีซอได้ทราบความเคลื่อนไหวของ สังคมภายนอกมากยิ่งขึ้น