ชาติพันธุ์ล้านนา - ลื้อ, ไทลื้อ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ลื้อ


ลื้อ หรือ ลือ เป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไท คือ “ ไทลื้อ ” หรือ “ ไตลื้อ ” มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในเขตสิบสองพันนา ชาวไทลื้อนิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำและที่ราบระหว่างหุบเขา โดยมีแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญซึ่งชาวไทลื้อเรียกว่า “ น้ำของ ” ส่วนจีนเรียกว่า แม่น้ำล้านช้าง และเรียกคนไทลื้อว่า “ หลี่ ” หรือ “ สุ่ยไปอี่ ” ชาวลื้อหรือไทลื้อมีวัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อตลอดจนวิถีชีวิตที่คล้าย คลึงกับคนไทยล้านนาและคนลาวในล้านช้าง ที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักและนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทเช่นเดียว กัน

สำหรับประเทศไทย ไทลื้อได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตามหัวเมืองต่าง ๆ ในภาคเหนือตอนบน ในจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ตั้งแต่อดีตซึ่งได้กวาดต้อนไทลื้อจากสิบสองพันนามาจำนวนมาก บางส่วนได้อพยพเข้ามาเพิ่มเติมภายหลังเพื่อค้าขาย ติดตามญาติพี่น้อง แต่งงานและแสวงหาที่ทำกินที่เหมาะสมหรือหนีภัยสงคราม รวมทั้งอพยพเข้ามาด้วยเหตุผลทางศาสนาและการจาริกแสวงบุญ

ในเวียดนาม มีชุมชนไทลื้ออาศัยอยู่ที่เมืองบินลูห์ และบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำดำตามแนวพรมแดนที่ติดต่อกับจีน

ในเขตประเทศลาว ไทลื้อตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคเหนือแถบเมืองสิง เมืองลองในแขวงหลวงน้ำทา เมืองอูเหนือ อูใต้ งายเหนือ งายใต้ บุนเหนือ บุนใต้ในแขวงพงสาลี เมืองไซ เมืองแบง เมืองฮุก เมืองหงสาในแขวงอุดมไซ เมืองเงิน เมืองเชียงฮ่อน และเมืองหงสาในแขวงไชยะบุรี นอกจากนี้ยังตั้งชุมชนอยู่รอบ ๆ เมืองหลวงพระบางและกระจายกันอยู่แถบลุ่มน้ำอูและแม่น้ำโขง ในแขวงหลวงพระบางและแขวงบ่อแก้วอีกหลายหมู่บ้าน

อาณาจักรสิบสองพันนาในอดีตจัดแบ่งการปกครองออกเป็นระบบ พันนา (อ่าน ว่า “ ปันนา ” ) ซึ่งเป็นการควบคุมพื้นที่นาโดยใช้ระบบเหมืองฝาย ประกอบด้วยพันนาเมืองหลวง พันนาเมืองแช่ พันนาเมืองฮุน พันนาเมืองฮิง พันนาเชียงลอ พันนาเชียงเจิง พันนาเมืองพง พันนาเมืองลา พันนาเชียงทอง พันนาเมืองอู พันนาเมืองล่า และพันนาเชียงรุ่ง โดยมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นประมุขเรียกว่า เจ้าแสนหวีฟ้า ประทับ อยู่ที่เมืองเชียงรุ่ง ซึ่งจีนเรียกว่าเมืองเชอหลี่ นอกจากนี้ไทลื้อยังตั้งฐานอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉานในพม่าที่ เมืองเชียงลาบ เมืองเลน เมืองป่าแลว เมืองวะ เมืองนำ เมืองฐาน เมืองขัน เมืองพะยาก เมืองยอง เมืองยุ เมืองหลวย เป็นต้น

อาชีพหลักของไทลื้อ คือการกสิกรรมเป็นพื้นฐาน ได้แก่ การทำนาและปลูกพืชผักต่าง ๆ ส่วนการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพรอง ได้แก่ วัว ควาย ส่วนใหญ่เลี้ยงไว้ใช้งานและขายเป็นรายได้เสริมแก่ครอบครัว ส่วนหมู เป็ด ไก่ เลี้ยงไว้สำหรับประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ รวมทั้งเป็นอาหารในคราวออกแรงงานร่วมกัน ไทลื้อเป็นคนขยันทำมาหากิน ดังนั้นจึงมีฐานะทางเศรษฐกิจอีกว่าชนเผ่าอื่น ๆ ในปัจจุบัน ชาวไทลื้อบางส่วนได้หันมาประกอบการค้าขาย เช่น ที่เมืองสิงจะสังเกตเห็นว่าเด็กผู้หญิงอายุ 12 – 13 ปี ก็จะเริ่มค้าขายเล็กน้อย ๆ ในท้องถิ่น ส่วนผู้ใหญ่บางคนจะไปค้าขายต่างเมือง เช่น ซื้อสินค้าจากจีนไปขายหลวงน้ำทา อุดมไซ หลวงพระบาง หรือซื้อสินค้าไทยไปขายในท้องถิ่น และบางส่วนเข้าไปในจีนแถบเมืองมางและเมืองล่า สินค้าท้องถิ่นที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว กระเทียม หอม ยาสูบ ถั่วโอ (ถั่วหมักคล้ายเต้าเจี้ยว) และพืชผักต่าง ๆ

จารีตครรลองประเพณีที่สำคัญ

การเกิด

ตามปกติหญิงไทลื้อตั้ง ครรภ์ไม่มีข้อห้ามในเรื่องอาหารการกิน คงรับประทานอาหารได้ตามปกติ ครั้นเมื่อถึงเวลาเจ็บท้องใกล้คลอดลูก ผู้เป็นแม่จะนั่งใกล้ ๆ โดยมีผู้ทำคลอด ซึ่งอาจจะเป็นแม่ตัวเองหรือแม่สามีช่วยทำคลอดให้ เมื่อทารกตกถึงฟาก ผู้ทำคลอดจะใช้ป่านผูกสายสะดือใช้มีดตัด(ทำด้วยผิวไม้ไผ่) บรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่เจาะรูด้านข้างปิด อัดไว้ เพราะคนลื้อมีความเชื่อว่าถ้าหากไม่เจาะรู จะทำให้เด็กหายใจไม่ได้ หลังจากนั้นทำความสะอาดผู้เป็นแม่และเด็กน้อย แล้วก็ส่งให้แม่รับ ซึ่งจะเลือกจากหญิงที่ประวัติดี มีฐานะดีพอสมควร ไม่เป็นหม้ายหรือหย่าร้างมาก่อน แม่รับอุ้มเด็กไปวางในกระด้งที่เตรียมไว้ แล้วนำไปวางไว้ที่หัวบันไดพร้อมกับตะโกนด้วยเสียงดัง ๆ ว่า “ ผีจะกินก็กินเหแต่น้อย ผีบ่เล้งกูซิเล้ง ” จากนั้นก็เอามามอบให้แม่ของเด็ก สำหรับรกของเด็ก ผู้เป็นพ่อจะเลือกหาวันดีแล้วนำกระบอกใส่รกไปแขวนไว้ที่กิ่งไม้ในป่าข้าง บ้าน ขณะกลับถึงเรือน ถ้าเป็นลูกสาว พ่อของเด็กจะจับเครือที่ทอผ้าก่อน ถ้าเป็นลูกชายก็จะจับมีดตัดไม้ก่อนขึ้นเรือน ที่ทำเช่นนี้เพราะเชื่อว่าเมื่อเด็กเติบโตขึ้น จะมีความอดทนและขยันหมั่นเพียรในการทำงาน

ภายหลังคลอดจะต้อง อยู่กำ (อยู่ไฟ) มีกำหนด 30 วัน ภายใน 3 วันแรก จะรับประทานอาหารได้แต่ข้าวกับเกลือเท่านั้นเรียกว่า อยู่กำน้อย เมื่อครบ 3 วัน แล้วก็ทำพิธี ออกกำน้อย โดย นำเอาเกลือมาสู่ขวัญผูกข้อมือให้แก่แม่และเด็กน้อย ผู้เป็นสามารถออกไปนอกห้อง หรือซักเสื้อผ้าได้ อาหารของแม่ระหว่างอยู่กำ รับประทานได้แต่น้ำพริกข่าจิ้มผักต้มและไก่ที่มีขนสีดำ ห้ามอาหารประเภทไข่ เนื้อสัตว์ประเภทวัวควาย นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามเพิ่มเติมสำหรับคลอดบุตรคนแรก ซึ่งเรียกว่า ท้องหัวสาว มี ข้อห้ามต่อไปอีก 1 ปี คือห้ามรับประทานเนื้อความเผือก หมูแม่ต้อง (หมูที่มีลูกแล้ว) เนื้อเสือ เก้ง กวาง ปลาร้า ปลาไม่มีเกล็ด ปลาบก ปลาไน เป็นต้น เมื่อครบ 30 วัน จะไปเชิญหมอพรมาสู่ขวัญ ซึ่งต้องฆ่าไก่ 1 ตัว ทำพิธีสู่ขวัญแม่และเด็กน้อย โดยถือว่าวันออกกำเป็นวันเกิดของเด็กน้อยอีกด้วย หมอพรจะนำเด็กไปวางที่หัวบันไดบ้านเพื่อบอกผีสางนางร้ายมาดูพร้อมทำเสียงนำ เค้าแมวแล้วพูดว่า “ แก็ก ๆ กู้... หื้อมาเอิ้นมาเรียกเอาหลานสูคืนเมือถ้าปิ๋นลูกสูหลานสู หื้อมาเรียกเอาป้อกไปเหเดี่ยวบ่ต้องหื้อ เหลือจากวันนี้ก๋ายมื่อนี้วันนี้บ่หื้อมาเกี่ยวข้อง ปิ๋นลูกกูหลานกู ” แล้วกระทืบเท้าให้เด็กน้อยตื่นและพูดต่อไปว่า “ ถ้าตายก็หื้อตายเห หื้อใจขาด คันใจบ่ขาด ก๋ายสามบาทปิ๋นลูกกูหลานกู สูเอาบ่ได้แล้ว ”

หมายถึง ให้ผีร้ายมาเรียกเอาลูกหลานกลับคืนในวันนั้น หลังจากนั้นเป็นลูกคน ถัดจากนั้นก็กระทืบเท้าให้เด็กสะดุ้งตื่นแล้วพูดในทำนองว่า ถ้าจะตายก็ขอให้ขาดใจตายทันที ถ้าไม่ตายหลังจากนั้นก็จะเป็นลูกคน

หลังจากนั้นหมอพรจะทำ พิธีสวดมนต์ตัดขาดจากผี แล้วนำเด็กน้อยมาทำพิธีสู่ขวัญให้แก่ผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อแม่และญาติพี่น้องผูกข้อมือเพื่อให้เป็นลูกเป็นหลานต่อไป

การเลือกคู่ครอง

ชาวไทลื้อเมื่ออายุย่าง เข้าสู่วัยหนุ่มสาว จะมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกคู่ครอง ชีวิตคู่ระเริ่มจากประเพณีแอ่วสาว กล่าวคือ พอถึงยามค่ำคืนบรรดาชายหนุ่มจะไปปลุกสาวที่ตนชอบพอถึงหัวนอน หากสาวพอใจก็จะออกมาพูดคุยกันที่ชานบ้าน ถ้าเป็นยามฤดูหนาวบรรดาสาว ๆ จะนัดเพื่อนสาวละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงมาลงข่วงปั่นฝ้ายรอบ ๆ กองไฟบริเวณลานบ้าน หนุ่มลื้อก็จะชวนกันมาแอ่วสาวปั่นฝ้ายกลุ่ม ๆ ในระหว่างเดินทางหรือขณะพูดคุยกับสาว ๆ ก็จะขับลำนำเคล้าเสียงปี่ในเชิงเกี้ยวพาราสีโต้ตอบกันไปเรียกว่า “ ขับลื้อ ” พอถึงยากดึกต่างก็แยกกันกลับบ้าน โดยมีชายหนุ่มที่รักใคร่ชอบพอช่วยถือฝ้ายไปส่งถึงเรือน แล้วผู้สาวก็จะเชิญชวยหนุ่มขึ้นไปคุยกันต่อบนเรือน จนกระทั่งเลยสองยามอาจถึงสามนาฬิกาของวันใหม่จึงร่ำลากลับ เมื่อต่างฝ่ายรักใคร่จริงใจต่อกันแล้วก็จะบอกให้พ่อแม่ทราบ เพื่อขอความเห็นชอบและนัดเจรจาสู่ขอ

ตามธรรมเนียมของชาวไทลื้อนั้น ก่อนการสู่ขอ พ่อแม่จะไปหาผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้านช่วยพิจารณาชะตาของหนุ่มสาวเรียกว่า ทำ พิธีไขว่ หมาย ถึงการสืบสวนถึงประวัติการสืบสายโลหิตของทั้งสองฝ่าย ถ้าหากเป็นญาติใกล้ชิดชะตาจะขวางกัน แต่งงานกันไม่ได้ หากฝ่าฝืนจะเกิดภัยพิบัติแก่พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย อาจเป็นอัมพาตหรือมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับบุคคลเหล่านั้น ถือว่าเป็นข้อห้ามสำคัญซึ่งเป็นจารีตของสังคมไทลื้อ

เมื่อฝ่ายชายได้รับความ ยินยอมจากพ่อแม่แล้ว ก็จะมอบหน้าที่ให้ “ พ่อใช้ ” ซึ่งโดยปกติจะเป็นญาติหรือนายบ้านพร้อมญาติผู้ใหญ่อีกคนหนึ่งไปเจรจาสู่ขอ พิธีสู่ขอใช้ขันห้า คือ พาน มีดอกไม้และธูป 5 คู่ หมากพลู ในการเจรจาสู่ขอจะกล่าวเป็นคำกลอนที่คล้องจองกัน ฝ่ายหญิงอาจตอบตกลงหรือเจรจาถามความสมัครใจของลูกสาวก่อน โดยจะให้พ่อใช้ฝ่ายหญิงไปแจ้งข่าวภายหลัง

กินดองน้อย เมื่อ ทั้งสองฝ่ายตกลงเป็นเอกภาพกันดีแล้วก็จะนัดวันหมั้น ซึ่งเรียกว่า กินดองน้อย ในวันกินดองน้อย ฝ่ายหญิงจะฆ่าหมู 1 ตัว และไก่อีกจำนวนหนึ่ง จัดสำรับอาหารเลี้ยงต้อนรับญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชาย ส่วนฝ่ายชายจะมอบกำไลเรียกว่า ปลอกแขนขวัญ น้ำหนักเงิน 2 หมัน 5 บี้ ให้แก่คู่หมั้น ถ้าหากคู่หมั้นมีพี่ชายหรือพี่สาวที่ยังเป็นโสดจะต้องเตรียมอีก 2 หมัน 5 บี้ ใส่พานไปมอบให้เพื่อ “ ข่มขวัญอ้ายเอื้อย ” ภายหลังพิธีหมั้นแล้วฝ่ายชายจะอยู่ในฐานะเป็น เขยพราง คือ อยู่ไปพลางก่อน หลังจากนั้นก็ทำพิธีเซ่นไหว้บอกเทวดาเรือน (ผีเรือน) เขยพรางจะอยู่ในฐานะเป็น คนสองเรือน สามารถไปมาหาสู่นอนค้างคืนได้เพื่อช่วยการงานที่บ้านฝ่ายหญิง แต่ยังไม่มีสิทธ์หลับนอนด้วยกัน ในระหว่างนั้นชายจะไม่ไปเกี้ยวพาราสีหญิงอื่น ส่วนหญิงก็จะไม่ไปลงข่วงปั่นเหมือนแต่ก่อน ทั้งจะตั้งใจเก็บหอมรอมริบเพื่อสร้างฐานะครอบครัวเตรียมกายเตรียมใจที่จะ เข้าสู่พิธีแต่งดองเรียกว่า สู่ขวัญโอม ซึ่งเขยพรางจะ เปลี่ยนสถานภาพเป็นเขยสู่ เพื่ออยู่กินกันฉันสามีภรรยาต่อไปตามปกติ ระยะเวลาจากเขยพรางไปหาเขยสู่จะกินเวลา 3 เดือน ถึง 1 ปี

กินแขกแต่งดอง

เป็นพิธีแต่งงานของเผ่า ลื้อ นิยมทำกันหลังเทศกาลออกพรรษา คือ เดือนเกี๋ยง หรือเดือนยี่ คือราวเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมเป็นต้นไป นิยมทำในเดือนคู่ โดยให้พระสงฆ์หรือผู้รู้ในหมู่บ้านเลือกหามื้อใสวันดีให้เพื่อเป็นสิริมงคล แก่คู่บ่าวสาว พิธีกินดองของเผ่าลื้อจะที่บ้านของฝ่ายหญิง โดยให้ทั้งสองฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมกัน ส่วนที่นอนหมอนมุ้งฝ่ายหญิงจะจัดหาหรือทำเองเตรียมไว้เมื่ออยู่ในวัยสาว โดยปกติงานวันที่ฝ่ายหญิงจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้และอาหารบางอย่างไว้ ล่วงหน้าเพื่อเลี้งแขกในวันรุ่งขึ้น วันที่สองเป็นวัน “ กินดอง ” จะมีแขกซึ่งเป็นญาติของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงรวมทั้งชาวบ้านมาร่วมจำนวนมาก

พิธีกินดองเริ่มจากพิธีแห่เขยไปสู่เรือนเจ้าสาว เมื่อถึงหัวบันไดจะมีหญิงผู้หนึ่งที่เป็นกุลสตรีของหมู่บ้านเรียกว่า แม่คนดี รีบ เอาถุงเงิน ง้าว (ดาบ) และมีดอุ่ม (มีดเหน็บ) จากเจ้าบ่าว นำไปมอบให้ญาติผู้ใหญ่ของเจ้าสาว แล้วเข้าพิธีบายศรีเรียกว่า “ สู่ขวัญโอม ” ในพิธีสู่ขวัญโอมจะมีญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายมาผูกข้อมืออวยพรให้แก่คู่ สมรส หลังจากนั้นก็จะแห่สะใภ้มายังเรือนฝ่ายชาย ทำพิธีเซ่นไหว้เทวดาเรือนเพื่อขอรับเอาเขยไปอยู่เรือนของตน ในขณะเดียวกันญาติของฝ่ายชายก็จะทำพิธีสู่ขวัญรับสะใภ้ใหม่เพื่อเป็นสิริ มงคลแก่เจ้าสาว

ตามครรลองประเพณีของลื้อที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา เขยสู่ จะ อาศัยอยู่กับพ่อตาแม่ยาย 3 ปี แล้วจึงแต่งดองกลับคืนไปอยู่เรือนพ่อแม่สามีอีก 3 ปี เรียกว่า “ สามปีไป สามปีป้อก ” ในพิธีแต่งดองกลับคืน จะมีการฆ่าหมู 1 ตัว ไก่อีกจำนวนหนึ่งทำพิธีสู่ขวัญและเงินสินสอดอีก 15 หมัน ก่อนจะลงจากเรือน ก็ทำพิธีบอกกล่าวเทวดาเรือนเพื่อไปอยู่กับพ่อแม่ของสามีจนครบ 3 ปี จึงจะปลูกเรือนหลังใหม่ได้เพื่อแยกสร้างครอบครัว