ชาติพันธุ์ล้านนา - ลื้อห้วยเม็ง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ลื้อห้วยเม็ง

เมื่อ ปี พ . ศ . 2428 ลื้อเชียงแข็ง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “ เมืองสิงห์ ” ตั้งอยู่ในเขตประเทศลาว เมืองสิงห์หรือเชียงแข็งเวลานั้นเป็นอาณาเขตไทยแต่ไม่ยอมขึ้นกับไทย โดยอ้างตนว่าเป็นคนอยู่ในความปกครองของฮ่อยูนาน แต่ครั้นฮ่อจะใช้ทำอะไรกลับอ้างว่าอยู่ในเขตไทย ความจริงเมืองสิงห์เวลานั้น เป็นเมืองขึ้นของนครน่าน

เมื่อปรากฎการณ์เป็นเช่น นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านครน่านยกทหารขึ้นไปปราบปราม เจ้าอนันตวรธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน ได้กำลังพลศึก 3,300 คน ตั้งให้เจ้าสุริยะเป็นแม่ทัพให้เจ้าบัวเรียวเป็นปลัดทัพ ครั้น พ . ศ .2429 กองทัพนครน่านยกขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงของเหนือเวียง คือเวียงขั้นกลาง ( เวลานั้นยังเป็นป่าอยู่ ) ตั้งอยู่เชียงของได้ 1 ปี แม่ทัพจึงมีหนังสือให้ทูตถือไปทาบทามเจ้าฟ้าเมืองสิงห์ มีความตอนหนึ่งเป็นคำขาดว่า ให้ยอมขึ้นกับไทยเสียตามเดิม ถ้าไม่ยอมจะยกกำลังมาตีเมืองสิงห์ แต่เจ้าเมืองสิงห์ยืนยันว่าขึ้นอยู่กับฮ่อหาได้ขึ้นกับไทยไม่

พ . ศ . 2430 กองทัพนครน่านจึงได้ยกไปตั้งอยู่ ณ เมืองหลวงภูคา ทางเมืองสิงห์ทราบว่า กองทัพน่านที่ยกมาตีมีกำลังมาก เห็นจะต้านทานไม่ไหว จึงได้จัดดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการ พร้อมด้วยหนังสือมาถวายยอมอ่อนน้อมขอขึ้นกับไทยต่อไป เครื่องราชบรรณาการที่ทางเมืองสิงห์ส่งมาถวายนั้น มีสัตว์ประหลาด คือม้าลายเสือ 2 ตัว ม้าตาไฟ 1 ตัว ม้าลายเสือนั้นตัวหนึ่งเป็นลายพาดกลอนอย่างเสือลายพาดกลอน พื้นตัวเป็นสีดอกจำปี ลายที่พาดเป็นสีดำ เป็นรอยริ้วขนาด 2 นิ้วฟุต ตั้งแต่สันหลังพาดลงไปจนถึงท้องเป็นระยะ ๆ ไปตลอดทั้งตัว คือตั้งแต่หัวตลอดถึงก้น ขนหางเป็นสีดำ อีกตัวหนึ่งเป็นม้าลายตลับอย่างเสือลายตลับ พื้นเป็นสีขาวอ่อนทั่วทั้งตัว ลายเป็นจุดสีดำขนาดเท่าผลสะบ้า ตอนหัวเป็นจุดสีดำขนาดเท่าผลสะบ้า ตอนหัวเป็นจุดดำเล็ก ๆ ขนาดผลพุทรา ม้าทั้งสองตัวนี้เป็นม้าไทยขนาดใหญ่งาม มีขนาดเท่ากัน อีกตัวหนึ่งเป็นม้าตาไฟ สีน้ำตาลเวลากลางคืนถ้าอยู่ในที่มืดมองเห็นลูกตาทั้งสองข้างเป็นสีแดง เรื่อ ๆ คล้ายสีทับทิมอ่อน ถ้ากระทบกับแสงไฟจะเกิดเป็นสีรุ้งเป็นประกายคล้ายแสงหิ่งห้อย

เมื่อทางเมืองสิงห์ยอม อ่อนน้อมสวามิภักดิ์ต่อไทยแล้วกองทัพน่านก็ยกเข้าไปในเมือง พักอยู่ที่นั่นประมาณ 1 เดือน จึงยกทัพกลับเชียงของ ส่วนม้า 3 ตัวนั้นให้ตั้งกองดูแลอยู่ที่ท่าแม่โขง เรียกว่า “ ท่าผาถ่าน ” เวลานี้ยังเรียกว่าท่าผาถ่านตามเดิม ในระหว่างที่พักอยู่ท่าผาถ่านมีคนไปดูม้ากันมากทั้งกลางวัน ละกลางคืนไม่ขาดสายตลอดจนนำไปน่าน บรรดาผู้มีอาวุโสชาวเมืองเชียงของปัจจุบัน ได้เคยไปชมสัตว์ประหลาดเหล่านี้ทุกคน


 


ขณะเมื่อกองทัพนครน่าน ยังตั้งอยู่เมืองหลวงภูคา ลื้อพวกหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเขตสิบสองพันนาประมาณ 1,500 ครัวเรือนอพยพแตกฮ่อหนีมาหมายจะมาพึ่งเมืองสิงห์ ครั้นทราบว่าเมืองสิงห์ยอมอ่อนน้อมต่อไทยแล้ว จึงพากันอพยพครอบครัวติดตามกองทัพน่านมาตั้งภูมิลำเนาอยู่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายพวกที่อพยพมานี้มี 3 หมู่บ้าน คือบ้านบ่อ 1 บ้านคุ้ม 1 บ้าน งาน 1 ชนทั้งสามหมู่บ้านนี้ อยู่แขวงเมืองอูเขตสิบสองพันนา

พวกลื้อบ้านบ่อนั้น อพยพมาตั้งอยู่ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ ย้ายไปมา 2 แห่ง เห็นว่าทำเลที่อยู่ไม่เหมาะด้วยประการต่าง ๆ จึงพากันเลือกหาทำเลที่พอจะอาศัยทำมาหากินเลือกที่ราบได้แห่งหนึ่ง ทางทิศเหนือเชียงของริมแม่น้ำโขงมีลำห้วยชื่อ ห้วยเม็ง เห็นเป็นภูมิประเทศที่เหมาะพอจะประกอบอาชีพในการกสิกรรม ซึ่งเป็นอาชีพที่ถูกกับนิสัยของชนชาตินี้ จึงตกลงพากันตั้งหมู่บ้านขึ้นที่นั่น ให้นามหมู่บ้านนั้นว่า “ บ้านห้วยเม็ง ” ตามนามของลำห้วย ซึ่งพวกเขาอาศัยน้ำเป็นที่ประกอบการกสิกรรม และบริโภคใช้สอยมาจนถึงปัจจุบันนี้

บ้านห้วยเม็งนี้เป็นหมู่ บ้านใหญ่ มีผู้คนมากทวีขึ้นทุก ๆ ปี ภายหลังพื้นที่ตั้งบ้านคับแคบเข้า ไม่พออยู่และที่ประกอบการอาชีพ จึงแยกกันไปตั้งบ้านอยู่ท่าข้ามใต้ ตำบลม่วงยาย 1 หมู่บ้าน แยกกลับข้ามแม่น้ำไปอยู่เขตลาว 2 หมู่บ้าน คือหมู่บ้านท่าฟ้า 1 หมู่บ้านโป่ง 1 เมื่อปี พ . ศ .2492 แยกไปอยู่ทางทิศตะวันออกอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อีก 1 หมู่บ้าน เวลานี้ในหมู่บ้านห้วยเม็งคงเหลืออยู่ประมาณ 50 หลังคาเรือน บ้านท่าข้ามใต้แยกมาจากห้วยเม็งไปตั้งมีประมาณ 12 หลังคาเรือน หมู่บ้านแม่สายมีประมาณ 50 หลังคาเรือน บ้านท่าฟ้าและบ้านโป่งในเขตลาวทั้งสองหมู่บ้านนี้ หมู่บ้านหนึ่งมีประมาณ 50-60 หลังคาเรือน แต่หลังคาเรือนของพวกลื้อไม่เหมือนของไทย หลังคาเรือนหนึ่งอยู่กันหลายครอบครัวอย่างน้อยที่สุดต้องมี 3 ครอบครัว อย่างมากมีถึง 15 ครอบครัว

ส่วนพวกลื้อบ้านคุ้ม อพยพกลับไปถิ่นเดิมบ้าง ที่เหลือได้ไปตั้งเป็นหมู่บ้านอยู่ 2 หมู่บ้าน อยู่ในเขตตำบลครึ่ง 1 หมู่บ้านเรียกว่า “ บ้านพร้าวกุด ” อยู่ในเขตตำบลปอ 1 หมู่บ้าน เรียกว่า “ บ้านท่าข้ามเหนือ ” ส่วนพวกลื้อเมืองงาย ได้อพยพกลับไปอยู่ฝั่งซ้ายเขตลาวหมดไม่มีเหลือ เมื่อจะคิดหักจำนวนพวกที่อพยพกลับคืนไปยังอินโดจีนกับพวกอยู่ในเขตไทย พวกที่หนีไปมีประมาณ 2 ใน 5 พวกที่อยู่

 

ลื้อ ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านห้วยเม็ง ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายนั้น เดิมอยู่แขวงเมืองอูเขตสิบสองพันนา ( ยูนนาน ) เหตุที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้นเพราะไม่อาจทนการรุกรานของฮ่อ ฮ่อบางพวกได้กดขี่ข่มเหงโดยไม่เป็นธรรม เมื่อทนการรบกวนและการปกครองอย่างป่าเถื่อนไม่ไหว ก็จำเป็นต้องละทิ้งถิ่นเดิมเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริย์ไทย ลื้อพวกนี้ขณะอยู่เมืองอูนั้นแยกกันอยู่ 3 หมู่บ้าน คือพวกหนี่งอยู่บ้านบ่อ พวกหนึ่งอยู่บ้านคุ้ม พวกหนึ่งอยู่บ้านเมืองงาย ทั้งสามหมู่บ้านนี้เป็นชนเผ่าเดียวกันมีการทำมาหากินขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนการนับถือศาสนาอย่างเดียว เมื่อประเทศไทยประกาศใช้ พ . ร . บ . นามสกุลตั้งแต่ พ . ศ . 2456 ลื้อบ้านบ่อซึ่งมาตั้งอยู่บ้านห้วยเม็ง อำเภอเชียงของทั้งหมู่บ้าน ได้จดทะเบียนนามสกุลเป็น 2 สกุล คือ สกุลหงษ์ดำ กับสกุลจันทะคาต บ้านท่าข้ามใต้ ตำบลม่วงยาย ทั้งหมู่บ้านมี 1 สกุล คือ สกุลวงศ์ไชย แต่พวกบ้านคุ้มซึ่งตั้งอยู่บ้านพร้าวกุดและท่าข้ามเหนือนั้นมีหลายสกุลต่าง ๆ กัน

ทำเลและการตั้งหมู่บ้าน ของลื้อห้วยเม็ง ตั้งอยู่ในที่ราบซึ่งมีที่พอจะทำเป็นเรือสวนไร่นาได้ หมู่บ้านหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ 50 หลังคาเรือนขึ้นไป มีผู้ใหญ่บ้านปกครอง สิ่งที่แปลกก็คือพวกนี้ไม่มีรั้วบ้าน ซึ่งกั้นเป็นบริเวณของใครของมัน การที่ไม่ล้อมรั้วบ้าน เพราะพวกเขาต้องการอยู่ใกล้ชิดกัน มีลานอยู่หน้าเรือนไม่กว้างขวางนัก พอนั่งได้ 9-10 คน กลางคืนเดือนหงายพวกหญิงสาวมักจะลงมานั่งปั่นฝ้ายที่ลานนี้ บางบ้านก็นัดกันมานั่งปั่นฝ้ายแล้ว ชายหนุ่มจะไปเที่ยวสนทนาเกี้ยวพาราสีด้วย

ยุ้งข้าว เล้าไก่ คอกหมู ทำอย่างเดียวกับของชาวไทยในภาคเหนือ ส่วนคอกวัวควายนั้นไม่มี เพราะควายปล่อยปละละเลยให้อยู่นอนกับป่า ถ้าถึงเวลาทำนาปีหนึ่ง ๆ ก็ไปจับเอามา ทำนาเสร็จแล้วก็ปล่อยไปเช่นนี้ทุก ๆ ปี พวกลื้อไม่ชอบเลี้ยงวัว ฉะนั้นจึงไม่มีคอกวัว มีบ้างก็น้อยราย การเลี้ยงวัวควายโดยมากเขาทำกัน ดังนี้ ถ้าเป็นควายที่ใช้ไถนา เมื่อปลดแอกออกแล้วปล่อยให้หากินตามบริเวณท้องทุ่ง ตกค่ำก็ไปต้อนเอามาผูกติดกับเสาใต้ถุนเรือนหรือเสายุ้งข้าว พอรุ่งเช้าก็ปล่อยออกจากแหล่งไปหากินหรือไปเทียมไถอีก ส่วนหมูนั้นเขาปล่อยให้หากินตามบริเวณบ้านและป่าใกล้ ๆ บบ้าน ถึงเวลาให้อาหารเจ้าของเรียกและเคาะรางเป็นสัญญาณ หมูเมื่อได้ยินเจ้าของเรียกจะวิ่งมากินอาหารอิ่มแล้ว ก็พากันนอนตามใต้ถนเรือน ครั้นหิวก็ลุกขึ้นไปหากินตามลานบ้านหรือป่าใกล้ ๆ บ้านกลางคืนก็อาศัยนอนตามใต้ถุนเรือน

การตำข้าว ใช้ครกกระเดื่องอย่างเดียวกับชาวเหนือทุกอย่าง แบบแปลนเรือนของพวกลื้อห้วยเม็งปลูกสร้างบ้านเรือนผิดกับของชาวเหนือเล็ก น้อย คือฝาเรือนตั้งล้อมห่างเสาออกไปประมาณ 1 ศอก ที่เขาทำเช่นนี้เพื่อประสงค์ให้ภายในห้องกว้างออกไปอีก ตัวเรือนโดยมากทำยาวเป็นหลายห้อง เพราะพวกลื้อในหลังคาเรือนหนึ่งอยู่รวมกันหลายครอบครัว ตั้งแต่ 3-15 ครอบครัว ที่มีครัวเรือนครัวเดียวนั้นน้อยเต็มทีเกือบจะไม่มีก็ว่าได้ ที่รับแขกนั้น ถ้าหากแขกเป็นญาติใกล้เคียงคือกันเอง ก็รับกันในห้องตัวเรือนทางปลายที่นอน มีหน้าต่างหลังบ้าน หน้าต่างนี้เขาทำกนทุกหลังคาเรือน แต่มีเพียงหน้าต่างเดียว

ส่วนแขกต่างถิ่นใช้ห้อง นอน ซึ่งเขาทำไว้ไม่กั้นฝา 1 ห้องเรียกว่า “ หัวคอม ” หรือ “ เติ๋น ” ตรงกลางของเรือนภายในฝากั้นที่ใช้เป็นห้องนอนมีเตาไฟสำหรับทำครัว ถ้าเป็นเรือนหลังใหญ่ ๆ มี 3-4-5 เตาเรียงกันไปเพราะมีหลายครอบครัวการทำครัว พวกลื้ออยู่ร่วมหลังคาเดียวกัน ก็หาได้ทำอาหารการกินร่วมกันไม่ ต่างครอบครัวก็ต่างทำภาชนะเครื่องใช้ไม้สอยไม่ใช้ร่วมกัน ของกินของเล่นสำหรับเด็กต่างคนต่างมี เด็กเล็กครอบครัวอื่นเห็นก็ไม่รบกวนแย่งชิง เล่นกันไม่รังแกกัน เด็กคนหนึ่งมีของเล่น อีกคนหนึ่งไม่มีก็ไม่แบ่งปันเกื้อหนุน ได้ของกินของเล่นก็ให้แต่เฉพาะบุตรของตน

ห้องนอน ใช้ห้องใหญ่ภายในตัวเรือนเป็นห้องนอนไม่กั้นฝาแบ่งครอบครัว นอนเรียงครัวไปเป็นแถว หันหัวนอนไปชนฝาทางทิศตะวันออก ใช้มุ้งใหญ่ซึ่งย้อมสีดำกางครอบ มีช่องระหว่างที่นอนของครัวหนึ่งกับอีกครัวหนึ่ง ห่างกันประมาณ 1 เมตร ห้องน้ำนั้นทำไว้นอกห้องนอน

ห้องครัวของชาวลื้อห้วย เม็งไม่มีชั้นและที่วางอาหารที่ทำเสร็จก็ตักใส่ถ้วยชามวางลงบนภาชนะ เช่น ถาดเล็ก ๆ ที่สานด้วยไม้หรือหวายเรียกว่า ขันโตกข้าว หรือ “ โก๊ะข้าว ” เสร็จแล้วยกมารับประทาน อาหารที่เหลือเก็บไว้ใช้ฝาชีครอบ อาหารการกินมีต้ม แกง คั่ว น้ำพริก ลาบเนื้อ ลาบปลา แกงอ่อม ปิ้ง ทอด เหมือนอาหารชาวล้านนา

เครื่องนุ่งห่ม โดยมากทำใช้เอง การแต่งกายของชายหนุ่มแต่เดิมใช้กางเกงสีดำ ย้อมด้วยน้ำห้อมหรือคราม ที่ชายกางเกงมีผ้าสีต่าง ๆ เย็บติดแถบเป็นชั้น ๆ มี 5-6 สี ใช้ผ้าสีซึ่งทอเอาเองตัด เสื้อชายหนุ่มใช้ผ้าซึ่งทอย้อมสีดำอย่างเดียวกับกางเกง ที่ปลายแขนใช้ผ้าสีเป็นแถบเย็บติด แหวกข้างที่ตะเข็บชายเสื้อแล้ว ชายเสื้อใช้ผ้าสีแดงเย็บเป็นแถบ โดยมากเป็นเสื้อแหวกอกอย่างเสื้อกุยเฮง ที่สาบเสื้อทั้งสองข้างติดแถบด้วยผ้าสีอย่างปลายแขนมีกระดุม ป็นแถวหลายกระดุม ที่คอข้างหลังติดกระดุมไว้ 3-4 เม็ด ลูกกระดุมนี้บางรายทำด้วยเงินหรือเอาเหรียญมาทำก็มี ปัจจุบันการแต่งกายดังกล่าวของหนุ่มเลิกไปแล้ว การแต่งกายของชายสูงอายุยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก คือเสื้อและกางเกงใช้ผ้าที่ทอเอง ย้อมสีดำด้วยน้ำห้อมหรือครามทำใช้เอง หญิงสูงอายุใช้ผ้าซิ่นทอเป็นริ้วสีต่าง ๆ หลายสี อย่างเดียวกับชายกางเกงของชายหนุ่ม ชายเสื้อเย็บติดด้วย “ ลูกดอกผีด ” ซึ่งทำด้วยเงิน เสื้อและผ้าซิ่นย้อมด้วยห้อมหรือครามใส่ต่างหูอันใหญ่ ด้วยทอง หรือเงินฝังด้วยทับทิมหรือพลอยก็มี ทีแขนใส่กำไลด้วยเงินรูปร่างกลมเกลี้ยงเป็นเกลียวหรือโปร่ง เกล้าผมชอบปักปิ่นที่ทำด้วยทองคำหรือเงินเครื่องแต่งกายของเด็กชาย กางเกงและเสื้อใช้ผ้าทอย้อมสีดำ เด็กหญิงนุ่งซิ่นและสวมเสื้อใช้ผ้าย้อมสีดำเช่นกัน ซิ่นไม่ทำเป็นริ้วอย่างของผู้ใหญ่ เสื้อตัดแขนยาวรัดทรงอย่างผู้ใหญ่กางเกงของผู้ชายคล้ายกางเกงจีน แต่ทางโคนขาใหญ่กว้างทางปลายขาเล็กแคบ

ภาษาใช้อย่างเดียวกับชาว เหนือ แต่มีสำเนียงผิดเพี้ยนไปบ้าง ใช้คำนำหน้า เช่น ถ้าบวชเป็นพระเมื่อสึกแล้วเรียก “ นาน ” เป็นคำหน้าชื่อ หนานแก้ว ถ้าเป็นสามเณรเมื่อสึกแล้วเรียกว่า “ ใหม่ ” เป็นคำนำหน้าชื่อ เช่น ใหม่ทา เป็นต้น ตัวหนังสือใช้ตัวหนังสือไทเขิน ซึ่งคล้ายกับตัวอักษรธรรมล้านนา

เครื่องดนตรี พวกลื้อมีปี่ ( ปี่ก้อย ) รูปร่างคล้ายขลุ่ยทำด้วยไม้ไผ่ ใช้เป่าเข้ากับการขับ ( ร้องเพลง ) เวลามีงานบุญ เช่น บวชนาค ขึ้นบ้านใหม่ หรืองานรื่นเริงต่าง ๆ จะมีหญิงชายคู่หนึ่งขับแก้กันคล้ายกับการซอของเชียงใหม่ มีเป่าปี่คลอด้วย เรียกว่า “ ขับลื้อ ”

อาชีพของลื้อห้วยเม็ง ได้แก่ ทำนา ทำไร่ผัก พริก ไร่ฝ้าย พอใช้และพอเลี้ยงครอบครัว เหลือบ้างเล็กน้อยก็ขาย มีการทำไร่ยาสูบเพื่อขายให้โรงบ่มยาสูบที่เชียงของ

การเลี้ยงสัตว์ มีช้างและควาย ส่วนบ้านท่าข้ามเหนือ ท่าข้าใต้ ตำบลปอ นั้น นอกจากทำนา ทำสวนแล้ว ยังเลี้ยงเป็ด ไก่ วัว ควาย หมู่ ฯลฯ วัวควายเขาปล่อยให้หากินตามชายป่าและท้องทุ่ง ภายหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว พอถึงฤดูทำนาหรือจะใช้งานก็ไปจับมา ส่วนหมูให้หากินตามบริเวณบ้าน ให้อาหารเฉพาะตอนเช้าและเย็น กลางคืนผูกไว้ใต้ถุนเรือน ผู้มีบ้านริมน้ำเลี้ยงเป็ดด้วย แต่ไม่ได้เลี้ยงเพื่อขาย

ชาวลื้อห้วยเม็งมีความ สัมพันธ์กันดี เพราะแต่ละครอบครัวอยู่ใกล้ชิด ให้ความช่วยเหลือกันมา ทุกครอบครัวต่างมีบุตรธิดา เมื่อบุตรคลอดใหม่ ๆ ก็ปรึกษาหารือเลือกหาเด็กหญิงที่เป็นบุคนของเพื่อนบ้านมาเป็นพี่เลี้ยงดูแล การเลี้ยงเด็กในแต่ละวัน เช้าขึ้นเด็กตื่นนอนก็ล้างหน้า เด็กที่เป็นพี่เลี้ยงก็รับเด็กน้อยจากมารดาไปเที่ยว และพากันไปยังบ้านของคนส่วนบิดามารดาของเด็กน้อย จัดข้าวปลาอาหารขนมของเล่นของใช้มอบให้พี่เลี้ยงไปป้อนเด็กน้อย ขนาดพอกินไปวันหนึ่ง ๆ พอถึงเวลากินนมก็อุ้มมากินนมเสร็จแล้วก็พาไปอีก พอตกค่ำเมื่อพี่เลี้ยงอาบน้ำแต่งตัวป้อนข้าวแล้วจึงนำเด็กส่งบิดามารดา เป็นดังนี้ทุกวันจนกว่าเด็กน้อยจะเติบโต ในเวลาที่เด็กอยู่ในการเลี้ยงดูของพี่เลี้ยง พ่อแม่เด็กน้อยก็จัดเครื่องนุ่งห่มให้แก่พี่เลี้ยงเด็ก เมื่อพี่เลี้ยงโตเป็นสาวก็จัดเครื่องประดับให้ไปตามฐานะ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกันสืบต่อมา

บ้านหลังใดมีงาน เช่น ปลูกสร้างบ้านเรือน ยุ้งข้าวทำบุญ แต่งงาน การตาย หรือเจ็บป่วยก็ช่วยกันโดยไม่นิ่งดูดายได้เนื้อสัตว์ป่ามาก็แบ่งปันกัน ถ้าใครไม่แบ่งปันกันกินก็ต้องปรับครั้งละ 5 บาท เพื่อเก็บเข้ากองกลางของหมู่บ้าน ถ้าไม่ยอมเสียเงินก็ไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วยต่อไป

ชาวลื้อนับถือพุทธศาสนา อย่างแน่นแฟ้น ทำบุญแบบไม่เสียดาย แต่ปกติจะตระหนี่ต่อคนต่างถิ่น ชาวลื้อเป็นคนขยันขันแข็งในการทำงานทั้งชายและหญิง ลุกขึ้นตั้งแต่เช้ามืดหยุดงานเมื่อพระอาทิตย์ตกดินแล้ว ทุกวัน ทุกฤดู ตรงข้ามกับชาวลื้อที่อพยพมาอยู่ก่อนเมื่อ 140 ปีก่อน ซึ่งค่อนข้างเกียจคร้านจึงยากจน พวกมาภายหลังขยันมากขึ้น ส่วนใหญ่จึงพอมีอันจะกิน ชาวลื้อมีสุขภาพดีไม่ค่อยเจ็บป่วย เมื่อเจ็บป่วยก็ใช้ยาแผนปัจจุบันบ้าง แผนโบราณบ้าง การเซ่นผี มัดมือปัดเป่าโรคภัย ก็นับถืออย่างชาวเหนือ

การปลูกบ้านใหม่ ช่วยกันตั้งแต่การตัดฟันเสาเรือน ขนเครื่องเรือนมา ตลอดจนปลูกเสร็จโดยไม่มีการจ้าง เสร็จแล้วทำบุญขึ้นบ้านใหม่อย่างชาวเหนือ แต่ก่อนนิยมการเลี้ยงผี

ชาวลื้อทั้งชายและหญิง เป็นคนขยัน ไม่ค่อนสนใจเรื่องความงามของดอกไม้ ต้นไม้ ทำงานกันตั้งแต่เช้าจนพระอาทิตย์ตก เวลากลางคืนพวกหญิงสาวและหญิงชรานั่งปั่นฝ้ายเลือกฝ้ายขลุกอยู่กับการทำ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม พวกผู้ชายนั่งจักตอก ฟั่นเชือก สานตะกร้า กระบุง ฯลฯ จนดึกจึงนอน

การเที่ยวสาวมีประเพณี ดังนี้คือในจำนวน 3-5 หลังคาเรือน ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง จะทำข่วงแห่งหนึ่งไว้กลางลานบ้าน ตกกลางคืนเดือนหงาย พวกหญิงสาวจะนำเครื่องปั่นฝ้าย และเสื้อผ้าที่จะเย็บของใครของมันไปรวมทำกันในข่วงนี้ถ้าฤดูหนาวก็ก่อไฟผิง พวกหนุ่ม ๆ พากันไปเที่ยวพูดจาฝากรักที่ข่วงนี้ ถ้าเป็นคู่รักก็เข้าไปนั่งแอบทางด้านหลังเป็นคู่ ๆ ถ้าเป็นหน้าหนาวใช้ผ้าคลุมร่วมกันผืนเดียว ซึ่งมักเป็นผ้าของชายนำไป เมื่อไปถึงก็คลี่ผ้าห่มคลุมคนรักของตนแล้วนั่งแอบทางหลัง ถ้าไม่ใช่คนรักเขาจะไม่เปิดโอกาสให้ละลาบละล้วงการเที่ยวสาวนี้ ถ้าเป็นฤดูฝนหนุ่มสาวสนทนากันที่บนบ้านหญิงสาวที่ห้องนอก ( เติ๋น ) หรือห้องกลาง โดยมากที่ข้างเตาไฟ การแต่งวาน ทำอย่างลื้อแจ้งทุกอย่างเพียงแต่ไม่มีของขวัญเท่านั้น

เมื่อแต่งงานแล้ว ลื้อห้วยเม็งฝ่ายชนะจะพาภรรยาไปอยู่บ้านพ่อแม่ของตนตลอดไป แต่ลื้อบ้านท่าข้ามเหนือ บ้านพร้าวกุด หญิงไปอยู่บ้านสามี 3 ปี ก็พากันกลับไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง ทำมาหากินเลี้ยงฝ่ายพ่อแม่ฝ่ายหญิงอีก 3 ปี แล้วกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ของฝ่ายชายตลอดไป ถ้ามีเหตุจำเป็นพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะขอร้องให้บุตรเขยนำภรรยา ซึ่งเป็นบุตรของตน กลับไปอยู่กินที่บ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิงอีกก็ได้ การสร้างบ้านเรือนอยู่ต่างหากนั้นไม่มีกำหนดแน่นอน บางคนมีลูกหลายคนแล้วจึงแยกไปสร้างบ้านเรือนอยู่ใหม่ บางคนอยู่กับพ่อแม่จนตาย ชาวลื้อนิยมมีผัวเดียวเมียเดียว ไม่มีการทะเลาะกัน ในบ้านห้วยเม็งจึงไม่พบ “ แม่ร้าง ” เลย