ประเพณีล้านนา - การถวายและโอกาสเวนตาน

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

การถวายและโอกาสเวนตาน


พระพุทธศานา เป็นศาสนาที่มีคุณค่าอย่างยิ่งของโลก และเป็นศาสนาเก่าแก่มีอายุนับได้สองพันห้าร้อยปี พุทธศาสนิกชนที่นับถือย่อมสร้างขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวเนื่องกับศาสนา เป็นอันมาก ซึ่งผู้นำในการทำพิธีจะต้องมีความรู้จักและเข้าใจในพิธีนั้นให้ดี เพื่อแนะนำคนอื่นที่ไม่รู้ หรือสั่งสอนลูกหลานให้สืบต่อกันไปตามลำดับ หัวข้อนี้จักกล่าวถึงการถวายและโอกาสเวนทานโดยเฉพาะ ให้ผู้สนใจได้ศึกษาเอาระเบียบปฏิบัติอย่างถูกต้องเป็นแบบแผนอันเดียวกันทั่ว ล้านนาไทย คือภาคเหนือของเรา จะเริ่มจากพิธีกรรมเบื้องต้นของการถวายทานดังนี้

การถวายคืออะไร

การถวายก็คือทาน ได้แก่การให้ การแบ่งปันที่เรียกว่า จาคะ การมอบให้, การยกให้, การยื่นให้ เป็นเรื่องทานะ ภาษาโบราณนัยว่าคนไทยรับเอาคำว่า “ ถวาย ” มาจากเขมร หากจะกล่าวแบบไทยก็คือการให้หรือการหื้อปันนั่นเอง เนื่องจากไทยเรารับเอาภาษาเขมรมาใช้เป็นคำสำหรับราชาศัพท์ เช่น เสด็จ บรรทม เสวย เป็นต้น ถือเป็นคำชั้นสูงสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเจ้านายในพระราชวงศ์ ดังนั้นคำว่าถวาย นำมาใช้สำหรับคนชั้นสูงกว่าตน ประกอบด้วย

•  พระราชา และพราะราชวงศ์

•  พระสงฆ์

การทีเราจะนำเอาข้าวของ มีค่ามากหรือน้อยไปมอบให้แก่ท่านเหล่านี้ ต้องใช้คำว่า “ ถวาย ” เป็นการยกย่องเจ้าบ้านผ่านเมืองและพระสงฆ์ไว้เป็นบุคคลชั้นสูง ที่ตนควรเคารพยกย่องจึงต้องใช้คำว่า “ ถวาย ” กับการให้หลายอย่างหลายประการ

การประเคนคืออะไร

การประเคน ทางล้านนาเรียกว่า การเกน หรือการเคน หมายถึง “ การยกให้, การยื่นให้ ” เป็นเครื่องหมายแห่งการอนุญาตให้ข้าวของเครื่องใช้ของตนแก่พระภิกษุสงฆ์ทำไม จึงต้องมีการประเคนหรือการเกนในทางพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า พระภิกษุฉันอาหารที่ไม่ได้ประเคน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ พุทธประสงค์คงมีว่าพระสงฆ์สาวกของพระองค์เป็น ปรทัตตุปชีวีคือมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการให้ของคนอื่น การที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาตหมายถึงการไปเที่ยวขออาหารจากชาวบ้านเพื่อเลี้ยง ชีวิตของท่านหากชาวบ้านไม่ให้ต่อมือท่าน เอาข้าวของวางไว้ให้ถือเอาเองเป็นการหมิ่นเหม่ที่จะถูกกล่าวหาว่าลักขโมย กลายเป็นอทินนาทานไป เพราะการถือข้าวของที่เจ้าของไม่หยิบยื่นให้ ไม่แน่ใจจริง ๆ ย่อมทำไม่ได้หากไปจับถือเอาของที่เจ้าของไม่มีเจตนาให้พระภิกษุหยิบฉวยเอา ย่อมจะเดือดร้อนถึงโรงศาลได้ ดังนั้น การที่พระต้องรับประเคนก่อนจึงฉันหรือบริโภคของนั้น นับเป็นกุศโลบายที่ชาญลาดของพระพุทธเจ้า

ความเป็นมาของการถวาย

เนื่องจากประชาชนนับถือเทพเจ้า 3 พวก คือ

•  สมมติเทพ

•  อุบัติเทพ

•  วิสุทธิเทพ

- สมมติเทพ คือ เทวดาสมมติ ได้แก่พระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระราชวงศ์ถือว่าเป็นคนมีบุญบารมีได้สั่งสมมามาก จึงมาเป็นจอมคน ได้รับการยกย่องจากประชาชนในประเทศว่า เป็นสมมิเทพ คือแม้จะอยู่ในหมู่มนุษย์ก็มีความเป็นอยู่ฐานะสูงส่งกว่าคนทั้งหลาย เป็นดังเทพเจ้าได้จุติลงมาเกิด การจะให้สิ่งของอะไรแก่ท่านเหล่านี้จึงใช้คำว่า “ ถวาย ” หรือ “ ทูนเกล้าถวาย ” ให้สมศักดิ์ศรีของสมมติเทพ

- อุบัติเทพ เทวดาที่เกิดขึ้นด้วยความเป็นเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ มีพระอิศวร, พระพรหม, พระนารายณ์ เป็นต้น เรียกว่าสยัมภู ผู้เกิดเองเป็นเอง ใครต้องการความสุขพ้นจากความทุกข์มีความเจริญด้วยทรัพย์สินก็จะมาบำบวง เซ่นสรวง ยกยื่นสิ่งที่เคารพสักการะให้เพื่อขอพรอำนวยความสุขสวัสดี พลีกรรมที่ให้จึงเรียกว่า “ ถวาย ” ทางพุทธศาสนาเรียกการกระทำว่าสัมมานะการเทิดทูนยกย่องเทพเจ้าอย่างนี้ เป็นต้น เค้าเป็นมาของการถวายแต่อดีตกาลอันนานโน้น

- วิสุทธิเทพ ได้แก่เทวดาผู้บริสุทธิ์ หมายถึง พระพุทธเจ้า และพระอรหันตขีณาสพทั้งหลายหมดกิเลสตัณหาแล้ว คนทั้งหลายนำเครื่องสักการะสัมมานะมาให้ เราจึงเรียกการถวายปัจจุบันพระภิกษุสงฆ์ ลูกศิษย์ของพระองค์ประชาชนให้ของแก่ท่านเราก็เรียกว่าถวายเหมือนกัน

ความเป็นมาของการประเคน

การประเคน เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกตอนที่ นางสุชาดา ภรรยาของคฤหบดีเมื่อมคธ นำข้าวมธุปายาส ไปถวายเทพารักษ์ ซึ่งนางเคยบนบานไว้ขอลูกชายและได้สมปรารถนา ณ ต้นไม้โพธิพฤกษ์ ดังที่พระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้ พอได้เห็นพระพุทธเจ้า นางสำคัญว่าเป็นเทพารักษ์จำแลงมาจึงเอาข้าวมธุปายาส น้อมเข้าไปถวายแก่พระพุทธเจ้าอาการให้ด้วยความนอบน้อมของนางคือ การประเคนนั้นเอง ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วพ่อค้าชาวสุวรรณภูมิ 2 พี่น้อง ชื่อ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ ได้เอาข้าวสัตตุผง สัตตุก้อน ประเคนถวายแก่พระพุทธองค์อีกนับเป็นครั้งที่สอง การประเคนได้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นต้นมา

คำว่า ประเคน หรือเคน จึงใช้ตั้งแต่สมัยพุทธกาลเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันนี้

องค์ประกอบของการประเคน

พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า การประเคนที่ถูกต้องตามพระวินัย และเป็นระเบียบดีงามนั้น ต้องประกอบด้วยลักษณะ 5 ประการ คือ

•  อยู่ในหัตถบาสก์

•  ของมีน้ำหนักพอประมาณ

•  ของหนักเกินไปห้ามประเคน

•  น้อมให้ด้วยความเคารพ

•  ให้แล้วปล่อยมือ ไม่แตะต้องของนั้นอีก

- อยู่ในหัตถบาสถ์ หมายถึงอยู่ในบ่วงมือ คือการยืนอยู่ใกล้ ๆ กัน สามารถยื่นมือเข้าโอบกันได้ เรียกว่า ถือเอาระยะที่ห่างกันประมาณ 1 ศอกกับ 1 คืบ เป็นระยะที่ประเคนสะดวก

- ของมีน้ำหนักพแประมาณ ได้แก่วัตถุข้าวของที่เราถวายท่านต้องมีน้ำหนักยกพอหญิงหรือชายยกไปได้ เช่น อาหารปิ่นโต หรือเครื่องใช้ เช่น ผ้าจีวร ผ้าห่มนอนเป็นต้น

- ของที่หนักเกินประมาณยกคนเดียวไม่ไหว ท่านห้ามประเคน เช่น พระพุทธรูปขนาดใหญ่ สัตว์ใหญ่ ๆ เช่น ม้า ช้าง เป็นต้น ของใช้ใหญ่ ๆ เช่น เตียงนอน ธรรมาสน์ เป็นต้น คนโบราณท่านใช้สิ่งอื่นแทนคือกรวยดอกไม้ หรือขันนำทาน หมายถึงพานใส่ข้าวตอกดอกไม้ประเคนแทนวัตถุที่มีน้ำหนักมาก จึงถือกันมาจนเป็นประเพณี

- นอบม้อมให้ หรือให้ด้วยความเคารพ คือ กิริยาที่ประเคนต้องไม่แข็งกระด้าง กระโชกโฮกฮาก ต้องนุ่มนวล มีลักษณะเต็มใจมอบให้ มิใช่ให้อย่างเสียมิได้

- ประเคนแล้วปล่อยมือให้พระจับของนั้นไว้ เราต้องปล่อยให้เป็นสิทธิของท่านมิไปแตะต้องเคลื่อนย้ายอีก หากไปแตะต้องต้องประเคนอีกซึ่งเป็นการเสียเวลา



ผู้หญิงหรือชายถวายควรทำอย่างไร

การประเคนหรือการเคนนี้ ทำได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ต่างแต่วิธีการที่จะปฏิบัติดังต่อไปนี้

ผู้หญิงเวลาจะประเคน อาหารหรือของใช้แก่พระสงฆ์ ต้องยกของนั้นเข้าไปใกล้พระสงฆ์แล้วรออยู่จนกว่าพระสงฆ์จะเอาผ้ากราบรับการ ประเคน ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าอื่น ๆ ใช้แทนมือของท่าน มิให้รับประเคนมือต่อมือ เนื่องมาจากพระวินัยบัญญัติมิให้ภิกษุจับต้องกายหญิง หากเอามือหรือส่วนหนึ่งไปจับต้องจะเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งเป็นโทษหนักของพระภิกษุสงฆ์ เพื่อป้องกันเรื่องดังกล่าว พระจะต้องเอาผ้าวางลงตรงหน้าแล้วถือไว้ ห็ผู้หญิงเอาของที่จะถวายวางลงบนผ้านั้นแล้วปล่อยมือ พระภิกษุจะจับต้องของนั้นแล้วเคลื่อนย้ายเอง ส่วนผู้ชายประเคนให้ไม่มีปัญหาอะไรเพราะต้องยื่นของแก่ท่านแบบมืออยู่แล้ว เพียงแต่ยกของให้โดยความ

เคารพ มิให้ด้วยกระแทกกระนั้นหรือขาดความเคารพอ่อนน้อม เวลาประเคนแล้วปล่อยมือ อย่าจับต้องอีกเป็นใช้ได้

การประเคนนี้ไม่ว่า หญิงหรือชายต้องเข้าไปอยู่ใกล้หัตถบาสถ์ คือบ่วงมือห่างประมาณ 1 ศอก แล้วยกของประเคนหากอยู่ใกล้กว่านั้น จะไม่สะดวกและผิดหลักประเคน