วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ดำหัว

การดำหัวนี้อาจแปลได้สาม นัย คือ การสระผมเพื่อชำระสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ การสระผมตามพิธีกรรมเพื่อความเป็นสิริมงคล เช่น การสระผมในวันสังกรานต์ล่อง ( อ่าน “ สังขานล่อง ”) ซึ่งเมื่อสระผมแล้วจะต้องหันหน้าไปในทิศที่กำหนดและต้องทัดดอกไม้ที่กำหนดใน แต่ละปีอีกด้วย และประการหลังการดำหัวคือประเพรีในการขอขมาผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือหือการแส ดงคารวธรรมต่อผู้ที่มีบุญคุณแก่ตนในเทศกาลสงกรานต์

ในการดำหัวซึ่งเป็นการทำ ความสะอาดแก่ศีรษะนั้น ตามปกติชาวล้านนาโดยเฉพาะหญิงแล้วมักจะดำหัวหรือสระผมอาทิตย์และครั้ง โดยใช้ “ ยาสระผม ” ประกอบด้วยใบหมี่ ผลมะกรูดที่เผาบนถ่ายไฟแดงต้มในน้ำพอประมาณเพื่อให้ได้น้ำที่เป็นเมือกลื่น ซึ่งบางคนอาจเติมฝักส้มป่อย หรือใบของปอมื่นและใบเล็บครุฑเพื่อเพิ่มความลื่นยิ่งขึ้น ใช้น้ำที่ต้มนี้ชุบผมให้เปียกแล้วขยี้ให้ทั่วแล้วจึงใช้น้ำล้างออก ทั้งนี้อาจสระเช่นนี้หลายครั้งก็ได้ สูตรยาสระผมล้านนาอีกตำรับหนึ่งประกอบด้วย ๑ . ฝักส้มป่อยจี่ ๒ . ผลมะกรูดเผา ๓ . ผลกระคำดีควายหมกไฟพอให้สุก ๔ . รากของต้นฟักข้าวหรือหัวขี้กาแดง ๕ . รากแหย่งบดหยาบ ทั้งหมดผสมกับน้ำอุ่นหมักผมไว้สักระยะหนึ่งแล้วจึงล้างออก จะทำให้แก้คันหัว แก้รังแค แก้ผมร่วงและช่วยให้ผมดกดำ

ในการดำหัวซึ่งเป็นส่วน หนึ่งของพิธีกรรมในความเป็นมงคล เช่น เนื่องจากการร้องขวันหรือเรียกขวัญ และเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งทำได้ทั้งแบบย่อยและแบบเต็มรูป ในกรณีที่ดำหัวแบบย่อนี้ จะให้เจ้าชาตาหรือผู้ที่จะดำหัวหันหน้าไปทางทิศที่โหรกำหนด แล้วผู้ทำพิธีซึ่งอาจเป็นปู่อาจารย์หรือพ่อบ้าน จะใช้น้ำเข้าหมิ้นส้มป่อยพรมที่ศีรษะของผู้เข้าพิธีพร้อมกับกล่าวคำชัยมงคล เช่น

“ สัพพะเคราะห์ สัพพะภัย สัพพุอุบาทว์ สัพพะพยาธิ์แลกังวลอนตรายทังหลาย

ขอหื้อตกไพพร้อมกับสังกรานต์ เคราะห์ทางหลังอย่ามาอยู่ถ้า

เคราะห์ทางหน้าอย่ามาหา พุทธังถอด ธัมมังถอด สังฆังถอด หูรู หูรูสวาหาย ”

และในเทศกาลสงกรานต์ หากชาวบ้านจะดำหัวอย่างเต็มรูปแบบแล้วก็จะเตรียม “ ยาสระผม ” ดังที่กล่าวแล้วหรือจะซื้อจากตลาดก็ได้ เพราะมักจะมีผู้ทำมาขายเป็นชุดๆ ในวาระพิเศษเช่นนี้ โดยจะดำหัวในวันสังกรานต์ล่อง ซึ่งเมื่อได้ดำหัวแล้วจะต้องหันหน้าไปตามทิศ ดังมีกำหนดในประเพณีลานนาไทยและพิธีกรรมต่างๆ ดังนี้

ทั้งนี้ ยังมีคาถากำกับเพื่อเสกฝักส้มผ่อยว่า “ โอม สิริมา มหาสิริมา เตชยสลาภา อายุวณณา ภวนตุ เม ” ซึ่งเมื่อดำหัวและผินหน้าตามทิศแล้ว ก็จะหาดอกไม้ที่เป็นนามปีหรือพญาดอกมาทัดอีกจึงจะครบถ้วน

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า การดำหัวเนื่องในวันสังกรานต์ล่องนี้ อาจเป็นการกระทำเพื่อชำระสิ่งที่เป็นอัปมงคลทั้งหลายให้ตกไปตามปีเก่าเพราะ ในวันนี้จะมีการทำความสะอาดบ้านเรือน การสระสรงพระหรือการนำเอาพระเครื่องและวัตถุมงคล รวมถึงอาวุธคู่ใจมาสรงน้ำเข้าหมิ้นส้มป่อยในวันนี้ ซึ่งเป็นการกระทำในแนวคิดเดียวกันกับการสระผม

ส่วนในการดำหัวอันเป็น พิธีกรรมเพื่อขอขมาลาโทษผู้อาวุโสหรือแสดงคารวธรรมต่อผู้มีพระคุณแก่ตนนั้น อาจัดได้ว่ามีการกระทำสองระดับ คือการกระทำแบบธรรมดาและแบบพิเศษ ซึ่งการกระทำทั้งสองระดับนี้มีเจตนา กรรมวิธีและเครื่องประกอบพิธีเหมือนกัน แต่ที่ต่างกันนั้นขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของผู้ดำหัวและผู้รับการดำหัว จำนวนผู้ไปดำหัวและจำนวนหรือปริมาณของครัวดำหัวหรือเครื่องแสดงคารวะ

ในการดำหัวแบบธรรมดา ซึ่งใช้เป็นการดำหัวผู้มีคุณแก่ตน เช่น บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ หมอยา หมอตำแย เป็นต้นนั้น ผู้ดำหัวจะจัดครัวดำหัวอันประกอบด้วยของที่เป็นส่วนหลักในการดำหัว คือ พานใส่ข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน และน้ำเข้าหมิ้นส้มป่อยใส่ในก็อกหรือภาชนะอย่างถ้วยและส่วนที่ประกอบอันเป็น ของบริโภค เช่น ข้าวซึ่งบรรจุในห่ออาหาร เช่น ห่อหมกหรือปลาย่าง หมากพลูบรรจุในห่อ เมี่ยงและบุหรี่จัดใส่ซอง ขนมข้าวต้ม กระเทียม หัวหอม และอาจมีผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะปราง ส้มโอ แตงกวา มะพร้าวอ่อน กล้วย อ้อยและมักมีของใช้ เช่น เสื้อ ผ้านุ่ง ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดตัว หรือของใช้ในชีวิตประจำวันที่ไม่ใช่ของใหญ่แต่ดูงาม ซึ่งอาจมีเงินใส่ไปด้วยก็ได้

ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการ ดำหัวแบบพิเศษ ซึ่งมักใช้แสดงคารวธรรมต่อผู้มีพระคุณต่อคนในวงกว้างหรือผู้มีอำนาจในการ บังคับบัญชา เช่น พระสงฆ์ผู้ทรงคุณเป็นอเนก กษัตริย์ ราชวงศ์ชั้นสูง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารระดับสูงขององค์การต่างๆ เช่น อธิการบดีของมหาวิทยาลัย เป็นต้น ครัวดำหัวที่จัดไปนั้น คือสิ่งเดียวกันกับครัวดำหัวแบบธรรมดาแต่ขยายปริมาณของสิ่งของและขนาดของ เครื่องบรรจุภัณฑ์ของสิ่งเหล่านั้น เช่น ดอกไม้จัดเป็นพุ่มที่เรียกว่า ต้นดอก หรือในพานขนาดใหญ่ที่มีโครงเพื่อบรรจุดอกไม้ มีขันหรือพาน ซึ่งอาจเป็นพานเงินหรือพานไม้ใช้บรรจุข้าวตอกธูปและเทียน โดยที่ธูปนั้นเป็นธูปแบบล้านนาคือใช้เกสรดอกไม้บดเป็นผง ห่อเป็นหลอดเล็กและยาว ซึ่งส่วนมากจะใช้กระดาษลายทางสีน้ำเงินหรือสีแดงห่อให้บิดเวียนเป็นเกลียว เทียนควรจะใช้เทียนเหล้มบาท ซึ่งเป็นขี้ผึ้งแท้ฟั่นด้วยมือให้มีขนาดยาวประมาณหนึ่งคืบ น้ำเข้าหมิ้นส้มป่อยให้ใส่ในสลุง ( อ่าน “ สะหลุง ”) ทำด้วยเงินขนาดพออุ้มเดินได้

ส่วนของบริโภคนั้นให้จัดในปริมาณมาก เช่น มีข้าวเปลือกหรือข้าวสารใส่กระบุง ปลาบ้วง ( อ่าน “ ป๋าบ้วง ”) คือปลาริ้วขนาดใหญ่ทั้งตัว หรือปลาย่างหลายตับ หมาก ให้ทำเป็นหมากสุ่ม คือหมากแห้ง ซึ่งทำเป็นสายๆ นั้นให้ใช้หมากหมื่น คือจำนวนสิบพวงมัดให้เป็นตั้ง และหมากเบง คือใช้หมากดิบเป็นลูกๆ ประดับบนโครงไม้ทรงพุ่ม ทั้งหมากสุ่มหมากเบงนี้ มักจัดวางบนแคร่หามอันเดียวกัน พลูที่ใช้ให้จัดเป็นพลูสุ่ม ( อ่าน “ ปูสุ่ม ”) คือเรียงใบพลูเข้ากับโครงไม้แล้วจัดเป็นพุ่ม หรืออาจใช้พลูแหลบ ( อ่าน “ ปูแหลบ ”) คือ พลูดิบที่จัดเรียงไว้แล้วเป็นมัด ซึ่งมีประมาณ ๑๐๐ ใบ เหมี้ยงหรือเมี่ยงอาจจัดเป็นคำๆ แล้วเรียงเป็นพวงหรือใช้เหมี้ยงรัด ( อ่าน “ เหมี้ยงฮัด ”) คือ เมี่ยงหลายกำที่ห่อและรัดแน่นด้วยใบตอง หัวหอมและกระเทียม ให้จัดมาเป็นมัดแล้ววางบนชองอ้อย ( อ่าน “ จองอ้อย ”) หรือแคร่คานหามที่มีกระบะและมีขาสูงระดับเอว ส่วนผลไม้ เช่น กล้วย มะพร้าว ก็ให้จัดเป็นจำนวนมาก เช่น กล้วยน้ำว้าทั้งเครือ มะพร้าวอ่อนทั้งทะลาย โดยจัดใส่ไม้คานให้คนหามหรือวางบนชองอ้อย ส่วนของอย่างแตงกวาหรือส้มโอก็จัดให้มีจำนวนมากแล้วใส่ชองอ้อยให้คนหาม และอาจมีของอื่นๆ จัดไปด้วย เช่น อาจมีผ้าห่มเป็นมัดๆ ( เพื่อแจกต่อให้คนยากจน ) เป็นต้น

ซึ่งหากจะนับเฉพาะจำนวนของผู้ถือและหาบหามครัวดำหัวแบบพิเศษนี้แล้ว จะเห็นว่ามีไม่น้อยกว่าสิบห้าคน และในการนำครัวดำหัวไปยังที่อยู่ของผู้ที่รับการดำหัวนั้นก็มักจะมีการไป เป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งอาจมีการจัดขบวนแห่ มีเครื่องประโคมฆ้องกลองนำไปข้างหน้า ผู้ที่ไปนั้นอาจจัดกันเป็นกลุ่มเป็นพวกตามสังกัด ซึ่งอาจมีการฟ้อนรำทั้งฟ้อนเองเพราะฤทธิ์สุรา หรือฟ้อนโดยขบวนช่างฟ้อนก็ย่อมจะทำได้ และอาจยักเยื้องกันได้ตามที่เห็นสมควร


แม้จะจัดครัวดำ หัวแบบธรรมดาหรือแบบพิเศษดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ขบวนการและวิธีการในการดำหัวก็ยังเหมือนกัน คือเมื่อผู้ดำหัวไปถึงที่อยู่ของผู้รับการดำหัวแล้ว ผู้นำในขบวนดำหัวก็จะกล่าวขอขมาลาโทษที่อาจได้ล่วงเกินท่านผู้นั้นด้วย กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งด้วยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ซึ่งผู้รับการดำหัวจะกล่าวรับการขอขมานั้น และจะอวยพรแก่ผู้ที่ไปนั้น ดังที่จะขอยกตัวอย่างจากประเพณีลานนาไทยและพิธีกรรมต่างๆ มาสองสำนวน ดังนี้