ประเพณีล้านนา - รดน้ำดำหัว ล้านนา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

รดน้ำดำหัว ล้านนา

" วันปากปี '' ตรงกับวันที่ 16 เมษายนของทุกปีเพราะเป็นวันเริ่มต้นของปีใหม่ สองฉบับก่อนได้เล่าถึงประเพณีสงกรานต์ของล้านนาไทยตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ถึงวันที่ 15 เมษายน ว่าเขาทำอะไรบ้างก่อนจะกล่าวถึงเรื่องดำหัวอย่างละเอียด จะขอเล่าถึงวันที่ 16 เมษายน ว่าเขาทำอะไรบ้าง

วันนี้คนล้านนาไทยเรียกว่า " วันปากปี '' คล้ายกับ " ปากประตู '' คือช่องเป็นที่เริ่มเข้าสู่ในบ้านเรือน ในวันนี้ตอนเช้าประชาชนจะพากันไปบูชาข้าวของลดเคราะห์ที่วัด โดยนำเสื้อของสมาชิกในครอบครัวไปด้วยเพื่อเอารองไว้ใต้ "สะตวง" อันเป็นภาชนะสำหรับใส่เครื่องบูชา ทางวัดมีคำกล่าวบูชาโดยเฉพาะ โดยนำเอาวิธีของพราหมณ์มาแก้ไขให้เป็นวิธีพุทธ ถือว่าถ้าได้กระทำเช่นนี้จะอยู่ดีมีสุขตลอดปี บางบ้านก็นิมนต์พระมาเทศน์คัมภีร์ที่เป็นมงคล หรือทำพิธีสืบชาตาที่บ้าน

วันนี้ถ้าหากว่าการดำหัว เมื่อวานนี้ยังไม่เสร็จเรียบร้อย ก็จะใช้วันนี้เป็นวันดำหัวอีกวันหนึ่ง การรดน้ำกันยังคงมีประปรายเฉพาะพวกที่ไปดำหัวด้วยกัน หรือเมื่อเจอกับคณะอื่น ก็จะสาดน้ำรดน้ำกันอย่างมีความสุข

การรดน้ำ กันตามประเพณีนั้นน่าจะพูดไว้เสียที่นี้ เพื่อให้คนรุ่นหลังรู้และเข้าใจว่าความจริงการรดน้ำกันนั้น คนโบราณเขาทำกันอย่างสุภาพมีวัฒนธรรมโดยให้ศีลให้พรกันไปในตัวทีเดียว เช่นชายหนึ่งรดน้ำหญิงสาวขณะที่หลั่งน้ำลงรดที่ไหล่หรือที่หลังก็ตามปากมัก จะพร่ำพูดให้พรต่าง ๆนานา เช่น "พลันได้พลันมี สารภีซ้อนกาบ พลันได้หาบได้คอน พลันได้นอนหมอนคู่ พลันได้อยู่ทวยกัน พลันได้เอาสวรรค์เป็นบ้าน เถิดหนอ"

ผู้หญิงจะรดน้ำตอบบ้าง ก็จะอวยพรให้เช่นกันเป็นต้นว่า  "น้ำใสใจจริง ไหลลงสู่เนื้อเปียะเปียกเสื้อ เพราะหลั่งจากใจน้ำหยดนี้ บ่แห้งเหยไหน ขอฝากติดไปรอดเติงเถิงบ้าน"  เป็นต้น หรือแล้วแต่โวหารที่จะพูดออกมา ส่วนมากเป็นคำดีมีความหมายหาได้เหมือนปัจจุบันนี้ไม่ เพราะเท่าที่เห็นเป็นการทารุณต่อผู้ที่ได้รับรดน้ำเหลือเกิน ไม่เป็นสิ่งเชิดชูใจแต่ประการใด ถ้าคนโบราณทำเช่นนี้ ประพณีสงกรานต์คงไม่มีสังคมยอมรับและเหลือมาถึงเราเป็นแน่ขอฝากไว้ช่วยชี้ แจงแก่คนปัจจุบันและชาวต่างถิ่นด้วย

กลับมาถึงขั้นตอนของการ ดำหัวในแบบฉบับของล้านนาโบราณ คำว่า "ดำหัว" ในภาษาล้านนามีความหมายว่า "สระผม '' พจนานุกรมล้านนาไทยฉบับแม่ฟ้าหลวงหน้าที่ 444 ให้ความหมายว่าสระผมหรือพิธีแสดงความเคารพผู้มีอาวุโสหรือผู้มีบุณคุณ ในประเพณีสงกรานต์ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ . ศ . 2542 หน้าที่ 405 ให้ความหมายว่า เป็นประเพณีทางภาคเหนือซึ่งกระทำในวันปีใหม่ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือและรักใคร่ และยังอธิบายต่ออีกว่า วิธีดำหัวคือเอาสิ่งของและน้ำที่ใส่เครื่องหอมเช่นน้ำอบไทยไปให้แก่ผู้ที่ เคารพและขอให้ท่านรดน้ำใส่หัวของตนให้อยู่เย็นเป็นสุข

จากพจนานุกรมทั้งสองฉบับ จะเห็นได้ว่าประเพณีดำหัวเป็นประเพณีของทางล้านนาไทยอย่างชัดเจน ความเชื่อของของทางล้านนาคือผู้ที่เราเคารพผู้อาวุโสผู้มีบุญคุณแก่เราทาง เหนือล้านนานิยมใช้น้ำที่ใส่ขมิ้นส้มป่อยมีสีเหลืองมีกลิ่นหอมน่าขลัง ศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับน้ำที่สรงน้ำพระ หรือองค์พระธาตุ เป็นน้ำที่ใช้ดำหัว สำหรับน้ำอบน้ำหอมนั้นมาทีหลังซึ่งเป็นของทางภาคกลาง

ส่วนวิธีการของทางล้านนา จริง ๆ หลังจากให้พรเสร็จแล้ว ผู้ที่ถูกดำหัวก็จะใช้มือของตนเองจุ่มลงไปในน้ำแล้วลูบหัวตนเอง ซึ่งมีความเชื่อเหมือนกับการรับสูมาคาราวะที่ผู้คนที่มาดำหัวได้ทำอะไรที่ ไม่เป็นมงคล ด้วย กาย วาจา ใจ ไม่ได้ขอให้นำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาใส่หัวของตนเอง นอกจากท่านจะกรุณา สะบัดนิ้วมือที่มีน้ำติดอยู่ใส่หัวของผู้ที่ไปดำหัวซึ่งสุดแล้วแต่ท่าน ไม่ได้เจาะจงดั่งเช่นที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกล่าวไว้

อีกประการหนึ่งที่ พจนานุกรมทั้งสองฉบับไม่กล่าวถึงคือสิ่งที่ผู้ใหญ่ทั้งในภาคกลางและภาคเหนือ ที่เป็นข้าราชการทำก็คือ การรดน้ำใส่มือของผู้ที่เรามาดำหัว ในความเป็นจริงแล้วเราจะเห็นบ่อยมากส่วนมากท่านเหล่านั้นเป็นระดับสูง ๆ ทั้งนั้น ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีผู้ว่าราชการจังหวัดลงมาจนถึงระดับผู้นำท้องถิ่น ซึ่งบางคนผู้นำเหล่านั้นก็เป็นคนล้านนาแต่ก็ยังยอมให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับ บัญชาที่ไม่รู้เรื่องประเพณีล้านนาทำอย่างไม่ถูกต้อง ไม่เชื่อก็คอยดูในทางโทรทัศน์ในปีนี้รับรองได้เห็นแน่นอน ไม่มีเอกสารฉบับไหนของล้านนากล่าวถึงประเพณีรดน้ำดำหัวว่าผู้ที่มาดำหัวต้อง รดที่มือ นอกจากประเพณีของทางภาคกลางที่รดน้ำมือคือประเพณีแต่งงานเพื่ออวยพรคู่บ่าว สาวและรดน้ำที่มือศพ ซึ่งถือว่ารดน้ำศพ
ส่วนทางของล้าน นาไม่นิยมในการที่จะรดน้ำที่มือในการอวยพรใด ๆ ทั้งสิ้น ( เพราะมีความรู้สึกเหมือนรดน้ำศพของทางภาคกลาง ยิ่งเมื่อมือโดนน้ำรดมาก ๆ แล้วลักษณะของมือก็จะซีดเหมือนมือของคนที่ตายแล้วจึงไม่ นิยมทำกัน ) หลังจากที่ให้พรเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่ถูกดำหัวก็จะออกมายืนอยู่ที่ตรงชายบ้าน ซึ่งบ้านทางล้านนาโบราณจะต้องมีชานบ้านทุกหลังคาเรือน เพื่อไว้ทำประโยชน์หลายอย่าง เช่นเป็นที่อาบน้ำ ตากเสื้อผ้า และก็เพื่อใช้ในประเพณีดำหัว แล้วท่านที่มาดำหัวก็จะออกมารดน้ำที่ไหล่ท่านพร้อมกับอวยพรให้ท่านอยู่เย็น เป็นสุขมีอายุยืนยาว

อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะ กล่าวถึงก็คือความเชื่อของการรดน้ำดำหัว ในทางล้านนาก็คือผู้ที่อาวุโส เคารพนับถือเท่านั้นที่เราจะรดน้ำดำหัว ที่นิยมก็คือ บิดามารดา พระสงฆ์ ผู้อาวุโสที่มีคุณงามความดี อยู่ในศีลสัตย์ ผู้นำที่เสียสละมีบุญคุณต่อแผ่นดินครูอาจราย์ที่ให้วิชาความรู้แก่เรา ไม่จำกัดว่าผู้คนเหล่านั้นจะมีตำแหน่งหน้าที่อะไร การดำหัวของล้านนาจึงเหมือนกับบอกคุณค่าของคน เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของผู้ใหญ่ในสมัยนั้นเป็นอย่างดี

ดังนั้นการกระทำในการดำ หัวจะไม่มีการกระเกณฑ์คนโดยแบบบังคับให้มาเหมือนปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่ไปดำหัวจะต้องมีความเกี่ยวพันกับผู้ที่เราไปดำหัวในด้านใดด้าน หนึ่งและเปี่ยมล้นไปด้วยความรักนับถือและศรัทธาไม่ใช่ไปเพื่อสร้างภาพแสดง พลังให้ยิ่งใหญ่ของบุคคลนั้น โดยกระบวนการที่ลิ่วล้อของท่านเหล่านั้นจะเป็นผู้จัดการระดมเกณฑ์คน โดยที่ท่านเหล่านั้นแทบจะไม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร บางทีพอเห็นภาพผู้คนมากมายก็ทำให้ท่านทั้งหลายหลงลืมตนเองคิดว่าตน้องเป็น ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งบางท่านกว่าจะสรุปบทเรียนได้ก็ต่อเมื่อตนเองหมดตำแหน่งหน้าที่ในยศถา บรรดาศักดิ์ หมดอำนาจวาสนาที่ไม่เคยจีรังและยั่งยืน ประเพณีดำหัวจึงจะบอกท่านเหล่านั้นให้รู้ว่าตนเองมีคุณค่าแค่ไหน

ดังนั้นเราจะเห็นภาพที่ เห็นอยู่เป็นประจำไม่ว่าทางโทรทัศน์ ทางหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วไป คือคนเฒ่าคนแก่ที่ที่ถูกผู้นำระดับล่างกะเกณฑ์มานั่งยอง ๆ ยกมือไหว้ใครก็ไม่รู้ที่ตนเองก็ไม่รู้จัก และที่สำคัญที่สุดคนที่ยกมือไหว้นั้นยังอายุหนุ่มกว่าน้อยกว่า บางคนก็เป็นรุ่นลูก รุ่นหลาน ซึ่งเป็นภาพที่เห็นแล้วน่าสมเพชเวทนาเป็นอย่างยิ่ง

จากที่เล่ามาทั้งหมดผู้ เขียนมีเจตนายากจะให้คนรุ่นใหม่ ได้รู้ถึงกระบวนการขั้นตอนความเชื่อของประเพณีรดน้ำดำหัวของทางล้านนาจริง ๆ เขาทำอย่างไร เชื่ออย่างไรและอีกอย่างหนึ่งที่จะฝากไว้สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ยิ่งใหญ่มี ตำแหน่ง สูง ๆไม่ว่าระดับไหนก็ตามถ้าเป็นคนล้านนาแล้ว ควรจะปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างตามแบบของความเชื่อในประเพณีโบราณของล้านนา อย่างน้อยก็เป็นตัวอย่างต้นแบบเพื่อให้ลูกหลานล้านนาได้เห็นและจะได้ปฏิบัติ สืบต่อไป

เป็นอย่างไรครับประเพณี ปีใหม่เมืองอันยิ่งใหญ่ของล้านนาในอดีต ที่สื่อความหมายและจุดประสงค์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของกระบวนการทางสังคม ผสมกับการกระทำที่เป็นศิริมงคลแก่ผู้อื่นและตนเอง ให้กำลังใจแก่ตนเองที่จะต่อสู้กับชีวิตในปีต่อไปนับเป็นอุดมการณ์ที่ยิ่ง ใหญ่ และแน่นอนที่สุดคือแตกต่างจากจุดประสงค์ของงาน เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ อารยธรรมล้านนา และ 5 ประเทศที่กำลัง เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้อย่างสิ้นเชิง

ก่อนจบบทความฉบับนี้จึงขอยกตัวอย่าง " คำพร "( อ่านว่ากำปอน ) ของอาจารย์สิงฆะ

วรรณสัยซึ่งเขียนไว้ เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาเป็นฉบับย่อ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาถึงความหมายของมัน จะได้เข้าใจเจตนาที่แท้จริงของประเพณีดำหัวของล้านนาไทย

ดีแล อัชชะในวันนี้ก็เป็นวันดี ศรีสุภมังคละอันประเสริฐ ล้ำเลิศยิ่งกว่าวันและยามดังหลาย บัดนี้หมายมี …. เป็นเค้า มาเลงหันสังขานต์ …. ปีเก่าล่วงไปพลัน เถิงวันพญาวันปีใหม่ จุจอดไคว่เถิงมา เป็นกาละเวลาเล่นม่วน ล่นเล้าร่วนเทียวกองตามทำนองปางก่อน ได้สืบสอนคำหอม หื้อน้ำขมิ้นส้มป่อยข้าวตอก ตั้งดอกไม้ธูปเทียนงาม โภชนาหารหลามหลากพร้อม ลางพร่องก็หาบเปียดพร้อมบุงกาน มโนหวานใจใฝ่ เตียวตางไต่ตามกัน พ่อแม่ไผมันไปไคว่ ดังผู้ใหญ่และผู้สูง ปู่ป้าอาว์ผู้เฒ่า พากันไต่เต้าไปหาครูบาอาจริยะ บ่เลยเลิกละปาเวณี ยามเมื่อถึงเดือนชีปีใหม่ มีมโนใฝ่ใจสุนทร์ หมายมุ่งบุญบ่หื้อเคียด เกิดส้มเสียดโกธา แต่งสรีระกายานุ่งหย้อง เหน็บดอกช้องใส่เตมหัว ประดับเนื้อตัวหื้อใหม่ เสื้อผ้าใส่จันทร์มัน อู้เล่นกันเหยาะหยอก ตักน้ำถอกหดกันดี ตั้งสาวจี๋และบ่าวหนุ่ม เปียะน้ำชุ่มตึงตัว ฝูงสาวใคร่หัวเหิดเล่น ฝูงบ่าวตื่นเต้นกำ
กันบวย เทียวตามทวยทางไต่ ประเพณีปีใหม่ถึงต้นหดน้ำกันตามสุภาพ หลั่งหลดอาบตามสังขานต์ คำจำหวานอู้อ่อย ปันพรย่อยแก่กัน สนุกเนืองนันตามจารีต เป็นปราณีตบ่เหยหาย

บัดนี้เจ้าตั้งหลายทุก ถ้วนหน้า มาเลงเห็นผู้ข้ามีแก่น เป็นผู้นำ ทำดีมีศีลอยู่บ่ขาด ในศักราชปีเก่าว่าไป แม้นมีกายใจวาปรามาส ได้ล่วงล้ำพลาดเวลา ได้เทียวไปมากราบย่ำ ยามเฮาอยู่ที่ต่ำเทียวกายหัว บ่ได้น้อมนอบตัวก้มหน้า ได้เอิ้นทักกลางท่ากลางทาง เกิกทางขวางเทียวไต่ บ่จงใจใฝ่ปองหันมาสางเทื่อฟังเตียวล่นล้นย่ำเทียวแป้นเฮือนดัง ว่าบ่ฟังเหลือกำ เอิ้นคำด่าข้ามไปมา ยามเมื่อมีโกรธากริ้วโกรธ กลัวเป็นโทษบาปกรรมแปดใจดำด่างพร้อย มาขอลดโทษปล่อยขมา บัดนี้มาเถิงปีใหม่แล้ว เป็นปีใหม่แก้วพญาวัน มาขอปลงปันอนุญาต ที่ได้ปรามาส ด้วยกายวาจาใจ ก็มีมโนมัยใจผ่อง ลดโทษคู่อัน บ่หื้อมีแก่กันพึงสองฝ่าย หื้อขอค้ายจากลาหนี หื้อสูเจ้าจำเริญดีปายหน้า อายุยืนยิ่งกวาร้อยชาว วรรณะเปิงปาวขาวผ่องเป็นที่ถูกต้องใจคน เปนหน้าไปตังใดไกลใกล้ หื้อเป็นที่รักใคร่คนหุม อันธพาลจุมหมู่ร้าย หื้อได้หลีกค้ายหนีไกล หื้อมีความสุข กายใจอย่าขาด โรคร้ายนิราศคลาดคลาไป สมดังมโนมัยใฝ่อ้าง มีแรงยิ่งกว่าช้างพังพลาย เป็นที่คนทังหลายรักชอบ แม้นประกอบการงานใด หื้อสัมฤทธิ์ดังใจใฝ่อ้าง มีใจกว้างสันปัตติ กองสมดังมโนผองอ้างใฝ่ ที่คิดไว้จุอัน สมกำบาลีว่า
สัพพีติโย วิวัชชันตุ ฯลฯ อายุวัณโณสุขังพลัง .
 
ข้อมูล : ปารเมศ วรรณสัย