ประเพณีล้านนา - ประเพณีเข้าพรรษา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ประเพณีเข้าพรรษา

    

 

วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา ธรรมเนียมของสงฆ์มีอยู่ว่าพระสงฆ์ทุกรูปที่บวชใหม่ และบวชมานานมีพรรษาจะอยู่แห่งหนใดก็ตาม เมื่อถึงฤดูฝนจะต้องทำพิธีอธิษฐานพรรษา กล่าวคืออธิษฐานเพื่ออยู่ประจำในวัดใดตลอดเวลา 3 เดือนในฤดูฝน

สถานที่จำพรรษานั้น พระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้จำพรรษา ในกลางแจ้ง ในโพลงไม้ และในตุ่ม ซึ่งไม่ใช่เสนาสนะ คือไม่ใช่ที่อยู่อาศัย ทรงอนุญาตให้จำพรรษาที่มีกุฏิบัง มีหลังคา และฝารอบข้าง ต้องอยู่ให้ครบ 3 เดือน หากอยู่ไม่ครบ 3 เดือน “ พรรษาขาด ” ต้องอาบัติ คือ โทษอาบัติทุกกฏ ถ้ามีเหตุจำเป็นเช่นน้ำท่วม หรือชาวบ้านอพยพไปอยู่ที่อื่นเสียเป็นต้น ก็ไม่เป็นไรไม่เป็นอาบัติ หรือมีกิจจำเป็น เช่น ญาติผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ เจ็บป่วย เป็นต้น ก็อนุญาตให้ไปด้วย แต่ต้องกลับภายใน 7 วัน พรรษาจึงไม่ขาด

เกี่ยวกับกิจการเข้า พรรษา ชาวบ้านที่นับถือพุทธศาสนา ก็ถือการเข้าพรรษา และออกพรรษาเป็นงานสำคัญของงาน คือการหยุดทำสิ่งไม่ดี เช่น ดื่มสุรายาเมา เล่นการพนัน ประพฤติเสเพลต่างๆ โดยถือเหตุแห่งการหยุดตอนเข้าพรรษาเป็นเกณฑ์

การหยุดเพื่อให้มีโอกาส บำเพ็ญความดี การไปวัดรับศีล ฟังเทศน์ การบำเพ็ญภาวนาเหล่านี้ เป็นกิจที่สำคัญของชาวพุทธ บางคนงดการดุด่า หรือพูดจาหยาบคาย สิ่งเหล่านี้เป็นความดีที่ทุกคนต้องกระทำ คือ การหยุดตอนเข้าพรรษานี้เอง บางคนอธิษฐานใจด้วยตนเอง บางคนปฏิญาณตนต่อหน้าพระสงฆ์เป็นพยานแล้วก็ปฏิบัติตามคำอธิษฐาน หรือคำปฏิญาณนั้นตลอด 3 เดือน